วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
การคิดค้นประดิษฐ์ตัวเลขเมื่อกว่า 5 พันปีก่อนถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมของโลกที่มีความสำคัญยิ่ง อย่างไรก็ดีตัวเลขในทุกเรื่องมี “จุดโหว่” ที่ต้องระวังทั้งสิ้นหากไม่ต้องการตกลงไปในหลุมดำแห่งความเข้าใจผิดซึ่งอาจสร้างความเสียหายได้มาก
เรื่องแรกคือเรื่อง BMI (Body Mass Index) ซึ่งเป็นดัชนีวัดว่าบุคคลใดผอมหรืออ้วนเกินไป BMI ของแต่ละคนมีค่าเท่ากับน้ำหนักเป็นกิโลกรัมหารด้วยค่ายกกำลังสองของความสูงที่เป็นเมตร เช่น หนัก 68 กิโลกรัม สูง 1.65 เมตร BMI จะเท่ากับ 68 หารด้วย 2.7225 (มาจาก 1.65 x 1.65 = 2.7225) ซึ่งมีค่าเท่ากับ 24.98
BMI คิดค้นขึ้นโดย Adolphe Quetelet นักสถิติชาวเบลเยี่ยมในปี ค.ศ. 1832 และถูกใช้อย่างกว้างขวางในอีกกว่า 100 ปีต่อมาโดยบริษัทประกันชีวิตและวงการสุขภาพ เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน ฯลฯ ซึ่งงานวิจัยจำนวนมากยืนยันว่าโรคเหล่านี้เกี่ยวพันกับความอ้วน
ในปี 1998 National Institutes of Health ในสหรัฐอเมริกาให้คำจำกัดความว่าน้ำหนักเกินความเหมาะสมหาก BMI เท่ากับ 25 หรือสูงกว่าสำหรับผู้ใหญ่ชาย และ 27 สำหรับผู้หญิง คำจำกัดความนี้มาจากการศึกษางานวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง BMI กับความเสี่ยงในการเป็นโรคดังกล่าวโดยคำนึงถึงคำจำกัดความของ WHO และองค์การอื่นประกอบด้วย
ในปัจจุบัน หาก BMI ต่ำกว่า 18.5 ถือว่าขาดอาหาร 18.5-24.9 ถือว่าปกติ 25-29.9 ถือว่าน้ำหนักเกิน และถ้าเกินกว่า 30 ก็คืออ้วน
ตัวเลข BMI เหล่านี้ถูกใช้กันเกร่อเพราะง่ายต่อการจำและการนำไปใช้ โดยไม่คำนึงถึงว่ามันเป็นค่าที่มิได้นำเอาอายุ เผ่าพันธุ์มาพิจารณาประกอบแต่อย่างใด ผู้คนทั้งหลายต่างรับตัวเลขนี้ไปใช้อย่างขาดการไตร่ตรองในรายละเอียด
ตัวอย่างเช่น คนผิวดำอเมริกันมีกระดูกและโครงสร้างใหญ่กว่าคนผิวขาวและคนเอเชีย ดังนั้นจึงมีน้ำหนักมากกว่าระดับปกติสำหรับคนที่มีความสูงเท่ากัน สำหรับคนเหล่านี้ถึงแม้จะมีค่า BMI สูง แต่ในความเป็นจริงแล้วก็มิใช่คนอ้วนแต่อย่างใด
ตอนที่ Arnold Schwarzenegger เป็น Mr. Universe (กล้ามใหญ่งามอย่างต่างจาก Miss Universe) BMI ของเขาเท่ากับ 32 ซึ่งถ้าใช้เกณฑ์นี้ถือได้ว่าเป็นคนอ้วน แต่แท้จริงแล้วมิใช่คนอ้วนอย่างแน่นอน
หากใครเชื่อตัวเลขง่ายๆ อย่างนี้ จากคนที่เคยคิดว่าตนเองเป็นคนรูปร่างดีพอควรและมีสุขภาพดี ก็จะกลายเป็นคนมีน้ำหนักเกินพอดีไปทันที มีความทุกข์ใจเพราะกลัวเจ็บป่วย และต้องเสียเงินลดน้ำหนัก
แพทย์ปัจจุบันพบว่าน้ำหนักประกอบด้วยกล้ามเนื้อ กระดูก น้ำ และไขมันในร่างกาย การดูแต่เกณฑ์ BMI อย่างเดียวจะผิดพลาดอย่างฉกรรจ์ เพราะความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคที่กล่าวถึงนั้นผูกพันกับปริมาณไขมันในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบางชนิดของไขมัน visceral fat หรือไขมันที่สะสมอยู่ในช่องท้องโดยอยู่ระหว่างอวัยวะภายใน ถ้ามีมันมากก็อยู่ในสภาวะลงพุงดังที่ฝรั่งเรียกว่า pot belly หรือ beer belly กล่าวคือพุงยื่นออกมาจนมีลักษณะคล้ายลูกแอปเปิ้ลคือกลมอยู่ตรงกลาง ซึ่งแตกต่างจากพวกอ้วนไม่ลงพุงที่มีลักษณะคล้ายลูกแพร กล่าวคือไขมันสะสมอยู่บริเวณสะโพกและก้น (เรียวลงมาแล้วอ้วนที่ข้างล่าง) โดยเป็นไขมันที่อยู่ใต้ผิวหนังและกระจายอยู่ระหว่างกล้ามเนื้อซึ่งมีชื่อว่า subcutaneous fat มีวิธีการ วัดปริมาณ visceral fat ง่ายๆ กล่าวคือ ถ้าเป็นชายและวัดรอบพุง (ผ่านสะดือ) ต่ำกว่า 90 เซนติเมตรและหญิงต่ำกว่า 80 เซนติเมตรก็ถือว่ามี visceral fat ในระดับที่ไม่เกินเกณฑ์
ตัวเลขนี้ก็มีข้อบกพร่องอีกเช่นกันตรงที่ไม่คำนึงถึงอายุ และเผ่าพันธุ์ เราเห็นชาวหมู่เกาะแปซิฟิก คนอิตาลี คนอินเดียจำนวนมากที่ลงพุงแต่มีอายุยืน ถ้าจะให้แน่นอนว่าร่างกายมี visceral fat มากเพียงใด ในปัจจุบันสามารถใช้เครื่องชั่งน้ำหนักสมัยใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยี MRI บอกน้ำหนักและขนาดของ visceral fat ในร่างกายด้วย
ตัวอย่างที่สองที่ตัวเลขมี “จุดโหว่” ก็คือเรื่องของการยิง ณ จุดโทษของฟุตบอลระดับโลก สถิติของการยิงเข้าประตูของการแข่งขันฟุตบอลในระดับนี้คือ 75% (ความเป็นไปได้ที่จะยิงเข้าประตูได้คือ 0.75) ด้วยความเร็วประมาณ 80 ไมล์ต่อชั่วโมง ระยะห่างจากประตู 12 หลา ประตูกว้าง 8 หลา สูง 8 ฟุต ด้วยความหินขนาดนี้ถ้าจะป้องกันได้ผู้รักษาประตูต้องพุ่งตัวไปด้านใดด้านหนึ่งทันทีที่ลูกถูกเตะออกมาจึงจะมีโอกาสปัดลูกได้ทันบ้าง ประเด็นจึงอยู่ที่การคาดเดาของผู้รักษาประตูว่าผู้ยิงจะยิงไปทางด้านใด
เป็นที่ทราบกันดีจากสถิติว่าผู้ยิงมักยิงไปทางด้านขวาของผู้รักษาประตู 57% (57 ครั้งใน 100 ครั้งจะยิงไปด้านขวาเนื่องจากส่วนใหญ่ถนัดเท้าขวา) ทางด้านซ้ายของผู้รักษาประตู 41% และยิงตรงตัว 2%
ถ้าเชื่อตัวเลขเช่นนี้ ผู้รักษาประตูก็ควรพุ่งตัวไปทางขวาบ่อยมาก เพราะมีโอกาสเดาถูกมากกว่าทิศทางอื่น อย่างไรก็ดี ไม่มีโค้ชคนใดที่เขลาขนาดเอาตัวเลขนี้มาใช้ในทุกรณี เพราะมันเป็นตัวเลขที่มี “จุดโหว่”
ในการดวลยิงลูกโทษเพื่อเข้ารอบหรือชิงชนะเลิศซึ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดในแต่ละการยิงนั้น โค้ชที่ดีจะมีสถิติการยิงลูกโทษของแต่ละคนของฝ่ายตรงข้ามว่าชอบยิงไปทางทิศใดมากเป็นพิเศษเพื่อให้คำแนะนำแก่ผู้รักษาประตูในการพุ่งตัวออกไปทันทีในทิศทางที่มีโอกาสคาดเดาถูกต้องมากที่สุด
“จุดโหว่” ของตัวเลขในสองเรื่องนี้เตือนใจให้ผู้ใช้ตัวเลขต้องมีสติในการใช้ตัวเลขด้วยความเข้าใจคำจำกัดความและข้อจำกัดของตัวเลขอย่างแท้จริง มิฉะนั้นอาจเกิดความเสียหายใหญ่หลวงได้
ผู้ที่เชื่อตัวเลขที่อ้างอิงกันในสื่อหรือข้อเขียนอย่างสนิทใจโดยไม่ระแวงสงสัยในความถูกต้อง อุปมาเหมือนกับคนที่เอาผ้าผูกตาและเดินอย่างสบายใจเข้าไปในบ้านคนอื่นเพราะรู้สถิติดีว่าหมาบ้านนั้นกัดคนแปลกหน้าน้อยครั้ง
ตีพิมพ์ครั้งแรก: คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 24 มิ.ย. 2557