จากนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)โดยพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.)ได้ระบุว่าคสช.มียุทธศาสตร์ในการผลิตข้าวและการตลาด โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรผลิตข้าวคุณภาพดี ขายได้ในราคาเหมาะสม และในอนาคตเรื่องของประกันราคาข้าวและการจำนำข้าว จะไม่มีการพิจารณาใช้ แต่จะเน้นให้เกษตรกรปลูกข้าวที่มีคุณภาพ รวมถึงปลูกพืชอื่นๆทดแทนด้วย
ทั้งนี้หลังจากเกิดวิกฤติชาวนากรณีโครงการจำนำข้าว ขายข้าวแล้วไม่ได้เงิน ขณะนี้เริ่มมีการขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปการผลิตข้าวที่ชัดเจนขึ้น แม้แต่ตัวชาวนาเองหลายกลุ่มได้ฉุกคิดและปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิถีการทำนาที่พึ่งพาตนเองมากขึ้น ซึ่งนับเป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส
ต่อแนวคิดในการปฏิรูปชาวนา นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานกรรมการมูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค (มจส.)ผู้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกษตรไทยเข้มแข็งจาก โครงการ “ทายาทเกษตรกร” ให้สัมภาษณ์ของสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าว่า
“ชาวนาไทยที่ประสบความสำเร็จก็มีนะ แต่ประสบความล้มเหลวก็เยอะ เราคงจะต้องไปดูว่าคนที่ประสบความสำเร็จทำไมเขาประสบความสำเร็จ คนที่ล้มเหลวนี่ล้มเหลวเพราะอะไร ในฐานะที่อยู่ ธ.ก.ส. มานาน ผมใช้วิธีสังเกตจากคนที่ไม่ล้มเหลว เพราะคนที่ล้มเหลวมันเยอะ คนที่ไม่ล้มเหลวมันน้อย เราก็ไปสังเกตดูว่าคนที่ไม่ล้มเหลวทำไมเขาไม่ล้มเหลว” พร้อมให้มุมมองถึงลักษณะชาวนาที่ประสบความสำเร็จว่า
“1. เขาขยัน ถ้าคนขี้เกียจนี่จบเลย 2. เขาใฝ่รู้ เขาจะไม่หยุดเรื่องความรู้ เรื่องนี้ยังไม่รู้ใครเขารู้เราต้องไปเรียน สนใจใฝ่รู้ 3. รู้จักวางแผน จะทำอะไร ทำเมื่อไร จะทำอย่างไร ทำแล้วถ้าให้ดีจะมีวิธีการอย่างไรซึ่งจะพัฒนาจากข้อใฝ่รู้ หากเอามาใช้ในการวางแผน รวม แม้แต่ทำแล้วจะไปขายที่ไหน แล้วจะขายราคาเท่าไร ถ้าไปขายราคาเท่านี้จะขาดทุนหรือกำไร เพราะฉะนั้น 4.ต้องมีการเก็บข้อมูล จดบันทึกเพื่อประเมินตนเองตลอดเวลา”
ดั้งนั้น 4 ข้อนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญในแง่ของ “ตัวบุคคล” ผมสังเกตดูคนที่สำเร็จ อย่างน้อยต้องมี 4 ข้อนี้ ส่วนข้ออื่นๆ จะเป็นเรื่องความเสี่ยงบางอย่าง ซึ่งชาวบ้านไม่สามารถดูแลตัวเองได้มากนัก อาทิ เกิดภัยแล้ง เกิดโรคระบาด หรือน้ำท่วม พวกนี้มันเกินกว่าที่ชาวบ้านจะสามารถแก้ไขได้โดยตรง
จากข้อสังเกตส่วนตัวของผมเห็นว่า การคิดล่วงหน้า การวางแผนจะคิดเผื่อไว้ก่อน ทำให้คนเก่งพวกนี้จะสามารถบรรเทาให้เรื่องมันไม่แย่มาก ไม่ประสบปัญหาหนักเช่นคนอื่นๆ
“แต่ผมคิดไล่เรียงแล้วไปตรงกับสิ่งที่ในหลวงบอกหมดเลย คำที่ในหลวงใช้ ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ มันตรงกับสิ่งพวกนี้หมด ในหลวงบอกว่าต้องพอประมาณ ไม่โลภ ต้องมีเหตุมีผล ต้องมีภูมิคุ้มกันโดยใช้ข้อมูลความรู้ แล้วก็คุณธรรม”
ถ้าเราจะไปช่วยชาวบ้าน ก็ต้องปรับใช้เศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงนี่แหละ และต้องให้เขาสามารถเอาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้จริงได้ ส่วนมากคนท่องเฉยๆ แต่ไม่สามารถเอาไปอธิบายได้ว่าแต่ละข้อมันเอาไปลงกับชีวิตของตัวเองได้อย่างไร ตรงนี้เป็นหัวใจ
ทั้งนี้ การปฏิรูปจะมี 4 ตัวละคร คือ ตัวละครที่ 1 ตัวชาวนาเอง ไม่ว่าเราจะปฏิรูปหรือจะช่วยเหลือชาวนาข้อแรกเลยต้องให้ความรู้ ให้ข้อมูล แล้วก็ต้องฝึกให้เขามีทักษะจนกระทั่งสามารถเป็นปัญญาเอาตัวรอดได้ ดังนั้นการให้ความรู้สำคัญมาก โดยให้เกษตรกรเข้าใจก่อนว่าตัวเองมีความสามารถ สามารถที่จะกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง รู้ว่าตนเองขาดอะไร ต้องการอะไร หากคิดแต่ว่าพอมีปัญหาเราก็ไปเดินขบวน หรือไปร้องเรียน ส.ส. ไปทำเนียบ แล้วเดี๋ยวเขาก็ช่วยมาเอง ถ้าคิดแบบนี้จบ
“ให้ปฏิรูปที่ตัวคน คือปฏิรูปวิธีคิดก่อนว่าต่อไปนี้เราจะไม่พึ่งนักการเมือง เราจะไม่รอว่านายกฯ ว่าคนไหนจะให้มากกว่ากัน พรรคไหนจะจ่ายอะไร ชีวิตนี้เราขึ้นกับนายกฯ เหรอ แล้วเห็นไหมจำนำข้าว นายกฯ ช่วยอะไรได้ไหม คนผูกคอตายไปแล้วกี่คน นักการเมืองพอถึงเวลาเขาก็ปัดมือบอกไม่มีหน้าที่ ไม่เกี่ยว ดั้งนั้นต้องเริ่มที่คน เจ้าของชีวิตเขาเอง”
ชาวบ้านยังขาดความใฝ่รู้ ไม่สนใจ ทำไปมั่วๆ ไม่มีข้อมูลด้วยซ้ำไป ไม่เคยจดเลยว่าตัวเองทำอะไรมากน้อยขนาดไหน แล้วไม่เคยมาทบทวนเลยว่าทำไมปีที่แล้วเราขาดทุน ก็ไม่รู้ขาดทุนเพราะอะไร หลายคนก็ไปที่คนอื่น ในหลวงถึงใช้คำว่าให้ “พึ่งตนเอง”
เมื่อให้ความรู้แล้วต้องไปให้สุดทาง เขาจะต้องรู้จักเปรียบเทียบข้อมูลที่พบเจอ เพราะว่าไม่มีใครมีความรู้ที่เป็นสากล หรือมีความรู้นี้แล้วนำไปใช้ได้กับทั้งหมด เป็นไปไม่ได้ แต่ความรู้เหล่านี้เป็นเรื่องของหลักการที่ควรจะทำ แล้วเจ้าตัวต้องเอามาเทียบกับข้อมูลของตนเองแล้วจึงนำไปปรับลงมือทดสอบทำดูว่ามันใช่หรือเปล่า แล้วเหมาะกับตัวเองหรือเปล่า ทำครั้งแรกมันอาจจะเก่งไม่เก่งนิดหน่อย แต่ถ้าฝึกมากๆ เข้ามันจะเป็นทักษะไป
“คุณชัยพรปีแรกๆ เขาก็ไม่ได้เก่งแบบนี้ เขาทำแล้วเขาได้ทักษะแล้วเขาประเมินคิดอยู่เรื่อยๆ จนกลายเป็นทักษะ ต่อไปก็เกิดปัญญา ความรู้คือปัญญา มีปัญญาแสดงว่าเอาตัวรอดได้ แล้วก็พัฒนาตนเองได้”
ไทยพับลิก้า: มองว่าในส่วนนี้เป็นหน้าที่ของทางรัฐที่จะต้องเข้ามาสนับสนุน
ใช่ รัฐต้องให้การสนับสนุน สนับสนุนเรื่องให้เขามีปัญญาเอาตัวรอดได้ แล้วก็อันนี้ผมใช้หลัก 2 หลัก คือ do and don’t รัฐบาลควรทำอะไร คือ do ส่วน don’t ก็คือห้ามทำ อีกประการคือ apply to all (ใช้ได้กับทั้งหมด) จะให้ทำตามคนที่สำเร็จทุกประการก็ไม่ใช่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่เหมือนกัน ทุกอย่างไม่เหมือนคุณชัยพรหมดหรอก แต่รัฐบาลทำอย่าง apply to all เป็นประจำเราถึงได้เจ๊งอยู่เรื่อยๆ มักจะไปฉวย แล้วสั่งทั้งประเทศอาชีพทำนาก็ต้องทำอย่างนี้หมด อาชีพชาวไร่ก็ต้องทำอย่างนี้หมด อาชีพชาวสวนก็ทำอย่างนี้หมด
สำหรับคำว่า “ความรู้”ผมหมายถึงทั้งกระบวนการเรียนรู้เลย ซึ่งมันต้องมีทั้งข้อมูลมีทั้งความรู้ แล้วก็ต้องสร้างทักษะมันถึงจะกลายเป็นปัญญาที่เอาตัวรอดได้
ข้อ 2 ก็คือหน้าที่ สิ่งที่รัฐบาลควรทำ ปฏิรูปรัฐบาลหรือข้าราชการที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เราต้องพูดถึงตัวละครคนที่จะทำ ปฏิรูปโครงสร้างนั่นนี่ มันไม่ทำที่ตัวคนมันไม่สำเร็จหรอก เพราะคนมันเป็นคนไปทำโครงสร้าง
คือคนที่ไปมีอิทธิพลต่อชาวนา คือข้าราชการ คือรัฐบาล ใช้หลัก do and don’t เหมือนกัน คำว่า “รัฐ” คือตัวคน คือข้าราชการหรือนักการเมืองที่เป็นรัฐมนตรี ที่ไปสร้างปัญหาหรือทำให้ดี ขึ้นอยู่กับคนพวกนี้
“จากประสบการณ์ที่ผมทำงานกับนายกรัฐมนตรีมาหลายท่าน ผู้มีอำนาจวาสนาทั้งหลาย ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี หรือข้าราชการปลัดกระทรวง อธิบดี ไม่เคยรู้จักชีวิตเกษตรกรที่แท้จริง ไม่เคยรู้จักชาวนา ว่าปัญหาชีวิตจริงชาวนาเขาใช้ชีวิตอย่างไร อาชีพการผลิตเขาเป็นอย่างไร ดินน้ำลมไฟเขาเป็นอย่างไร ที่นั่นเป็นอย่างไร ไม่เคยรับรู้ เมื่อคุณไม่เข้าใจคุณบอกจะไปพัฒนาเขา คุณรู้ไม่จริงไง”
เช่นเดียวกับหมอ มีหมอเยอะเลยนะที่ให้ยาแล้วคนไข้แล้วป่วยหนักกว่าเดิมก็มี เป็นเพราะไม่รู้ หรือมีเวลานั่งคุยกับคนไข้น้อย บางทีเข้าไป 5 นาทีสั่งยาเลย ไม่มีเวลา เพราะคนเยอะ เรามีสถิตินะ ผมเป็นกรรมการสุขภาพแห่งชาติครบเลย ฤดูที่หมอจบใหม่มาตรวจคนไข้ สถิติคนตายคนไข้เยอะมาก
พวกเขาไม่เคยรู้เลยว่าเรื่องจริงของชาวบ้านคืออะไร แล้วก็ไม่ฟังข้าราชการ ข้าราชการที่พยายามอธิบายเขาก็บอกไม่ต้องพูดมาก ยาว… บอกมาเลย คุณอธิบายยุ่ง คือไม่รับฟัง แล้วใช้อำนาจตัวเอง ตัดสินใจด้วยวิถีของตัวเองแล้วก็สั่งการไป ปูพรมทั้งประเทศ เรื่องนี้ทำอย่างนี้เหมือนกันทั้งประเทศทั้งหมด
“คนพวกนี้ไปเห็นอะไรดีนิดหนึ่งก็บอกว่าผมเห็นมาแล้วเรื่องจริง ผมลงไปเองมาแล้ว เห็นเองมาแล้ว ทำไมไม่ทำเหมือนลุงคนนี้ คุณชัยพรบอกมา เอ้าจด เอ้าก็อปปี้ทั้งประเทศ ใครทำอะไรต้องทำแบบคุณชัยพรหมด มันถึงเจ๊งไง”
ในหลวงจึงใช้คำว่าต้องพัฒนาสอดคล้องกับภูมิสังคม ในหลวงสอนเยอะมากเลยนะ บอกว่าแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ทำไมในหลวงถึงรู้เพราะในหลวงลงหมดทุกที่ ไปเจอชาวบ้าน นั่งคุยกับชาวบ้าน ไปเห็นชีวิตเขาในหลวงจึงรู้ว่าอันนี้ควรจะทำ
ดังนั้นสิ่งที่ต้องดูก็คือ สิ่งที่ข้าราชการ หรือคนมีอำนาจเสนอนโยบาย คุณต้องรู้จริงในสิ่งที่คุณจะสั่งการ แล้วคุณต้องไม่เอาไปใช้ทั้งหมด (apply to all) ห้ามทำ (don’t)
ข้อที่ 3 อีกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับชาวนา คือ พ่อค้า เพราะชาวนาส่วนมากปลูกข้าวเสร็จแล้วไม่ได้ขายเอง นำไปส่งโรงสี หรือไม่ก็ขายพ่อค้าคนกลางที่เขามาตระเวนซื้อข้าวเปลือกเพื่อเอาไปขายต่อโรงสีอีกทอดหนึ่ง คนพวกนี้จะทำหน้าที่มาซื้อแล้วก็กินส่วนต่าง
“สิ่งที่พ่อค้าพวกนี้ต้องทำก็คือ คุณต้องคิดว่าชาวนาเหล่านี้เป็นต้นทางที่จะทำให้คุณมีอาชีพต่อ ถ้าคุณคิดว่าเขาเป็นแค่ชาวนาคนหนึ่ง เป็นคนที่เราคิดแค่ว่าทำอย่างไรจะโกงเขาได้เยอะๆ กดราคาให้มากๆ เพื่อเอากำไร คุณกำลังทำลายแหล่งรายได้ของคุณเอง เพราะชาวนาเขาแย่ลง ต่อไปใครเขาจะขายให้คุณ จะไม่มีคนปลูกข้าวให้คุณมาซื้อขายด้วยซ้ำ โรงสีก็เช่นกัน อาศัยว่าชาวนาเยอะ ล้มหายตายจากไปยังมีชาวนาคนใหม่ แต่ต่อไปเรื่อยๆ ไม่รอดหรอก ประเทศก็ไม่รอด”
สิ่งสำคัญคือ ต้องมี “สำนึก” (do) มองว่าเขากับเราพวกเดียวกัน มีความเชื่อมต่อกัน เขาเป็นผู้ผลิตเราเป็นโรงสีผู้แปรรูป หรือเราเป็นพ่อค้าที่มาซื้อ ถ้าเขาไม่รอดต่อไปเขาจะไหวเหรอ คุณกำลังผ่าท้องห่านทองคำเอาไข่ทองคำมารวดเดียวเลย แทนที่ถ้าเขาอยู่ได้เรื่อยๆ เราจะมีกินในอาชีพนี้ต่อไปได้
และสิ่งที่ห้ามทำ (don’t) ก็คือการโกงกินชาวนา อย่าไปเบียดเบียนเขาเลย โกงตาชั่งหักเปอร์เซ็นต์ความชื้น หักสิ่งเจอปน ทำให้ชาวนาย่ำแย่ตลอดชีวิต
นี่คือ 3 ส่วนที่สำคัญ ที่เกี่ยวข้องในแง่ของระบบชาวนา เราต้องดูว่าใครที่เกี่ยวข้อง คนเหล่านี้คือคนที่เกี่ยวข้องโดยตรง (ชาวนา รัฐ พ่อค้า)
ไทยพับลิก้า : คสช. เข้ามา คิดว่าตัวละครมันจะเปลี่ยนไปบ้างไหมสำหรับคนที่จะมาเสริมคนสุดท้ายก็คือ ข้อ 4 นักวิชาการ เป็นผู้ที่ให้การสนับสนุน เป็นคนนอกที่ไม่มีโอกาสมาโกงชาวบ้าน แต่ในขณะเดียวกันคุณจะเป็นคนช่วยเสริมปัญญาต่อยอดกับภูมิปัญญาที่เราพูดกัน มันคือ “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” นักวิชาการจะช่วยต่อยอดเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนาทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น
ไทยพับลิก้า: ตอนนี้ก็มีกรมวิชาการเกษตร
กรมพวกนี้ต้องยอมรับว่าระยะก่อนหน้านี้ดี เนื่องจากตอนจัดตั้งเขามีจิตใจดีงาม แต่ระยะหลังเราเห็นได้ชัดว่า นักวิชาการเหล่านี้ถูก อบรมอีกอย่างหนึ่ง เห็นได้จากกระทรวงเกษตรฯ กรมใหญ่มากเลยคือ กรมส่งเสริมการเกษตรแต่กรมวิชาการเกษตรกลับค่อยๆ เล็กลง มีเจ้าหน้าที่น้อย ทุกอย่างน้อย ทั้งที่ควรมีงบให้เขามาทดลอง ซึ่งการทดลองต้องใช้เวลา
“สมมุติเขาจะคิดพันธุ์ข้าว อาทิ กรมการข้าว กว่าจะได้พันธุ์ที่มันใจว่ามันมีความแน่นอน ไม่แปรปรวน ใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 ปี อย่างต่ำ แต่งบพวกนี้ถูกตัดหมด งบพวกนี้ถูกเอาไปจัดงานหมด โดยเฉพาะช่วงหลังมีการดึงจากงบประมาณจากกรมเหล่านี้ไปจัดงานต่างๆ เพื่อเสริมบารมีรัฐมนตรี”
ทำให้ข้าราชการการที่เป็นสายวิชาการลดจำนวนลง บางคนก็เกษียรก่อนกำหนด (early retire) เด็กเข้ามาใหม่ก็ขาดประสบการณ์ เมื่อขาดประสบการณ์แล้วไม่เข้าใจ แล้วไม่ได้รักเกษตรกร ตามข้อที่ 2 เลยข้าราชการจะต้องรักชาวบ้าน โจทย์วิจัยที่เอามาทำก็ไม่เคยคุยกับชาวบ้านไม่เคยลงสำรวจแปลงชาวนา ว่าชาวนาจริงๆ เขาอยากได้อะไร
ครูอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีอาจารย์กี่คนที่ลงไปคุยกับชาวบ้านจริงๆ ว่าช่วงนี้ ปีนี้ๆ ชาวบ้านเขาอยากได้เรื่องนี้ เราควรจะค้นคว้าหรือวิจัยหาข้อมูล หรือเอามาเทียบกับทฤษฎีที่มี ขณะเดียวกันจะการลงไปคุยกับชาวนาก็อาจได้ทฤษฎีบางอย่าง
“ส่วนใหญ่แล้วชาวนาอย่างคุณชัยพร อาจารย์มหาวิทยาลัยมักไม่ให้ความสนใจ เหตุผลด้านการศึกษา เป็นเพียงชาวนาจบ ป.4 จะเอาแต่อ้างอิงนักวิชาการต่างชาติ ไปค้นในกูเกิลแล้วก็ไปซื้อตำรามา นั่นมันตำราฝรั่ง ภูมิสังคมคนละอย่าง ทำไมถึงไม่ลงข้างล่าง ไม่ติดดิน ถ้าทำอย่างนั้นได้ คุณจะสามารถได้กรณีศึกษา แล้วนำมาเป็นตัวอย่างต่อ มาคิดต่อได้ เป็นตัวอย่างของคนไทยด้วยนะ”
เราจะสังเกตได้ว่าตำราในมหาวิทยาลัย เวลาเอามาสอนทฤษฎีก็ของฝรั่ง ตัวอย่างก็ของฝรั่ง ทำไมไม่มีกรณีศึกษาของหนองหมาว้อ ทำไมมีแต่กรณีศึกษาจากฮาวาร์ด เพราะฉะนั้นคนที่ 4 เป็นผู้เสริม 3 คนแรก เพื่อให้มีการพัฒนาและต่อยอดได้
ไทยพับลิก้า: ในแง่นี้ก็ยังเป็นการที่รัฐให้การสนับสนุนอยู่
ใช่แล้ว และข้อสำคัญของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดารัฐบาล ซึ่งไม่ได้หมายถึงราชการอย่างเดียวนะ เพราะว่ารัฐบาลโดยภาพรวมเป็นการรวมศูนย์อำนาจ งบประมาณต่างๆ รวมอยู่ที่กระทรวง เพื่อให้รัฐมนตรีสั่งการ อย่างที่บอก ยิ่งสั่งการเป็นพิมพ์เขียวเดียวลงไปยิ่งแย่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรจะทำก็คือ “กระจายอำนาจ” ให้เขาสามารถไปจัดการให้เหมาะกับพื้นที่ อาทิ จัดการน้ำ ภาคเหนือก็จัดการอย่างหนึ่ง ภาคอีสานก็จัดการอย่างหนึ่ง ภาคใต้ก็อีกอย่างหนึ่ง จะบ่นว่าจะไปคิดแผนละเอียดขนาดนั้นได้อย่างไร คำถามคือ ทำไมคุณไม่กระจายลงมาข้างล่างเล่าให้รัฐบาลท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล จัดการ คุณกระจายอำนาจให้เขาลงไป แล้วคุณคอยติดตามดูว่าเขาเบี้ยวหรือเปล่า คุณก็ไม่เหนื่อยมากด้วย แล้วคุณก็ไม่ต้องไปคิดแทนเขา ถ้าเขาโกงคุณก็จัดการเขา
แต่สิ่งที่ทำอยู่เป็นการรวบอำนาจมาเพื่อที่จะได้โกงได้ เอามารวมเป็นก้อนโต พอสั่งบอกว่าทำเรื่องน้ำ อ้างในหลวงบอกว่าต้องมีบ่อน้ำ สั่งการไป 28,000 บ่อ มาประมูลที่กรุงเทพฯ แล้วก็ไปขุดมั่ว ไม่ตรงสเปก เกิดเป็นปัญหาการทุจริตขึ้น
“เรื่องแบบนี้ชาวบ้านต้องเป็นคนร้องเรียนเอง เพราะเป็นผู้เสียหาย แต่ชาวบ้านกลับบอกว่าฟ้องไม่ได้ เดี๋ยวถูกตัดชื่อ งวดหน้าเวลากรมนี้จะมีเรื่องอะไรมาตัดชื่อผมทิ้งเลยนะ ถ้าผมไปร้องเรียน ต่อไปก็ไม่ต้องลงหมู่บ้านนี้แล้ว หมู่บ้านนี้ทำอะไรแล้วยังมาฟ้องอีก ยังมาร้องเรียนอีก ตัดหมู่บ้านนี้ทิ้งไป”
“คสช. เข้ามาสั้นมาก แต่อย่างน้อยเขาได้ใจคนไปแล้ว ได้ใจชาวนา แล้วก็คนที่ไม่ใช่ชาวนา ซึ่งสงสารชาวนามาก คนพวกนี้เขาก็ให้คะแนนสงสารไปแล้ว ส่วนที่คสช.บอกว่าจะช่วยเรื่องลดต้นทุน ไปบอกให้ลดปุ๋ยเท่านั้น ลดค่าเช่านา ดอกเบี้ย ธ.ก.ส. เหล่านี้ก็ได้ใจไปอีกส่วนหนึ่ง ตรงนี้ก็ช่วยได้ส่วนหนึ่ง ช่วยได้จริงแต่มันเฉพาะหน้ามาก ยังช่วยไม่มากนัก เป็นการคำนวณโดยเฉลี่ยแล้วออกมาที่ 4,700 บาท/ไร่ จะลดเหลือ 4,300 บาท/ไร่ ลดไป 450 บาท ประมาณนี้”
“และโดยประมาณการ คุณต้องปลูกข้าวได้ถึง 1 ตัน/ไร่ เพราะเขาบอกว่าคำนวณมาจากต้นทุนเท่านี้ คำนวณจากที่คาดว่าจะขายได้ราคา 8,500-9,000 บาท/ตัน แสดงว่าเมื่อเทียบกันแล้วต้องทำให้ได้ถึง 1 ตัน ต้องมีฝีมือจึงจะได้กำไร แต่ คสช. เพิ่งจะมาแค่2เดือนจะให้เขาไปทำอะไรได้มาก ผมคงไม่ว่า คสช. เพราะช่วงแค่นี้ก็คงทำได้แค่นี้แหละ”
แต่ในฤดูต่อไปจะต้องมีการวางมาตรการรองรับ เวลาจะช่วยต้องคิดจนครบ จนชาวบ้านได้เงิน แล้วหักกลบลบกันแล้วมีกำไร คนส่วนใหญ่คิดเพียงเสี้ยวเดียว เหมือนรัฐบาลที่แล้วไปคิดเสี้ยวเดียว คือ ให้ขายได้ราคาดี ไม่เกี่ยวกับต้นทุน ปรากฏว่าราคาปุ๋ยก็ขึ้น ราคาค่าเช่าที่ดินก็ขึ้น ทุกอย่างขึ้นหมด เขาคิดเสี้ยวเดียวคือได้ราคาดีก็จบ
คสช. เข้ามาตอนนี้ระยะเวลาสั้นมาก เขายังคิดอะไรไม่ออก แต่อย่างน้อยเขาก็ช่วยลดต้นทุน แต่ลดต้นทุนแล้วจะกำไรหรือเปล่า จะขายได้ราคาที่ตั้งเป้าไว้หรือเปล่า ก็ต้องไปดูว่า แผนระยะสั้น ระยะปานกลาง ระยะยาว เพราะว่าแต่ละแผนไม่เหมือนกัน ผลที่จะเกิดขึ้นก็ไม่เหมือนกัน
ไทยพับลิก้า: จะต้องรับมืออย่างไรกับการเปิด AEC
เรื่อง AEC ผมคิดว่าต้องรอขึ้นปี 2559 ประมาณ 1 มกราคม 2559 ซึ่งชัดเจนคาดว่าชาวนารายย่อยเจ๊งแน่ๆ เพราะฉะนั้นเหลือเวลาอีกประมาณปีกว่าๆ ตรงนี้จะต้องมาเร่งทำอะไรบางอย่าง เพื่อเตรียมไว้รองรับปัญหาที่จะเกิดปัญหาที่จะเกิด
“แน่นอนก็คือว่า ผลผลิตเกษตร ผลผลิตต่างๆ จากประเทศข้างเคียงจะทะลักเข้ามา หากผมเป็นเจ้าของโรงสีผมก็ไม่ซื้อหรอกของชาวนาไทย ผมก็ซื้อของเขมร ชาวนาลาว มันจะถูกกว่า พวกพ่อค้ารอด ผมทำวิจัยมาแล้ว คุยมาแล้วเตรียมการมาหลายปีแล้ว พ่อค้าเขาก็บอกว่าไม่เป็นไร AEC ไม่เป็นไรเพราะว่าเขาจัดการได้”
แต่เกษตรกรตอนนี้ยังไม่รู้ตัวเลยว่าตัวเองจะเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องรีบเร่งทำอะไรบางอย่าง จากภาพใหญ่ ผมมองว่าเราต้องปรับหลายเรื่อง แต่ต้องทำหลายๆ เรื่องพร้อมกัน ระบบมันจะต้องทำ 3 อย่างพร้อมกัน
ผลจะเกิดช้าหรือเร็วก็ตาม สำคัญคือ ต้องรีบทำเดี๋ยวนี้ ทำพร้อมกันทั้งตัวชาวนาและชุมชนชาวนา และระบบการทำนา ต้องรีบทำตั้งแต่ตอนนี้ ปีกว่าๆ สั้นมากเลย แต่ยังดีกว่าไม่ทำ
“ทำไมต้องทำทั้ง 3 ระบบ เพราะว่าคนส่วนมากเวลาแก้ปัญหามักจะคิดส่วนเดียว จะไปมุ่งก็ไปมุ่งที่ชาวนา หรือมุ่งที่เป็นชุมชน หรือมุ่งที่ระบบทำนา ต้องเดินแล้วสอดคล้องกันด้วยนะ เพราะฉะนั้นตัวชุมชนให้เริ่มจากตัวชาวนาทำอย่างไรที่เราจะสามารถแยกแยะได้ว่าชาวนาประเทศไทยเรามีกี่กลุ่ม”
กลุ่มยากจน กลุ่มที่มีทำกินน้อย หรือไม่มีที่ดินทำกินต้องเช่าเขา มีสักเท่าไรอยู่ที่ไหน กลุ่มชาวนาที่มีเป็นร้อยไร่อย่างคุณชัยพร รวยแล้วไม่ต้องมีใครมาช่วยแถมเขายังยินดีจะช่วยคนอื่น อยู่ที่ไหน มากน้อยขนาดไหน เขาเก่งอย่างไร และกลุ่มตรงกลาง เช่น มีที่ดินต่ำ สมมุติว่ามากกว่า 10 ไร่ แต่ไม่ถึง 50 ไร่ อยู่ที่ไหนอย่างไร เพราะว่าเราต้องมีข้อมูลก่อน ถ้าไม่มีข้อมูลแล้วไม่แยกแยะกลุ่มคุณ ทำแบบเหมารวมก็เจ๊งอีก
เมื่อมีข้อมูลเหล่านี้แล้ว ต่อไปดูข้อมูลที่เจาะลงไปว่าเราจะช่วยเขาได้อย่างไร แล้วปัญหาเขาคืออะไร เขาต้องการอะไร ขาดอะไร จัดให้ยาตรง ซึ่งแต่ละกลุ่มใช้ยาไม่เหมือนกัน เช่นนี้แล้วจะให้เขาช่วยกันเองได้บ้างไหม ชาวนาในหมู่บ้านไม่ใช่ว่าทุกคนรวยเหมือนกัน หรือจนเหมือนกันหมด มันก็มีอย่างนี้ 3 กลุ่มในหมู่บ้าน หมู่บ้านนี้ก็เหมือนกันมีคุณชัยพรแล้วก็มีคนที่แย่สุดๆ ในหมู่บ้านเดียวกับคุณชัยพร ทำอย่างไรให้เขามานั่งร่วมกันคิดได้หรือเปล่า
ไทยพับลิก้า: แต่มันค่อนข้างยาก
“พอเป็นเรื่องยากเราเลยไม่ทำ รัฐบาลก็ไม่ทำ ผมพูดกับนายกฯ มากี่คน ทุกคนบอกว่ามันยาก บอกว่าคุณเอ็นนูคิดดี ถูกต้องมาก แต่ไม่ถูกใจ จะไปทำอย่างนี้มันยากกว่าจะเข้าเรื่องได้นะ คะแนนเสียงผมก็ไม่ได้สิ คุณเอ็นนูช่วยบอกผมหน่อยอะไรที่เร็วๆ ทำ 3 เดือน 6 เดือน ผมได้คะแนนเสียง รัฐบาลเราชื่อเสียงโด่งดัง บอกคุณเอ็นนูคิดให้หน่อย..ผมไม่ใช่พ่อมดนะ”
จึงต้องลองเสี่ยง ต้องมีคนไปปลุกระดม ให้เกิดความร่วมมือกันในหมู่บ้าน ไม่เช่นนั้นก็จะมีคนโกง คนทุจริต จะมีคนลักขโมย มีคนอดตายในหมู่บ้าน มีคนต้องหนีไปทำอยู่ที่อื่นทิ้งลูกหลาน ปู่ย่าตายายไว้ แล้วหมู่บ้านเราจะเป็นอย่างไรล่ะ
ไทยพับลิก้า: เท่าที่สังเกตดูช่วงนี้เกษตรกรรายย่อยค่อนข้างเข้มแข็งขึ้น
ผมยืนยันว่าขณะนี้เกษตรกรรายย่อยดีขึ้น แต่ก็เหมือนดวงดาว มีดาวเหนือ มีดาวที่สว่างอยู่ไม่กี่ดวง แต่ดาวทั่วท้องฟ้ามีเป็นหมื่นเป็นแสน เพราะว่าพวกนี้เขาต่อสู้ดินรนด้วยตัวเขา รัฐบาลไม่ได้มาสนใจเลย ไม่สนับสนุน มีปราชญ์ชาวบ้าน มีกลุ่มวิสาหกิจที่เข้มแข็งเกิดขึ้น ประมาณ 10% เพราะนโยบายไม่เอื้อ ผมถึงบอกว่านโยบายต้องเอื้อ
ถ้านโยบายเอื้อ จะขยับขึ้นจาก 10% กลายเป็น 30% 40% หรืออาจถึง 50% ผมไม่ได้หวัง 100% เพราะเมื่อเสนอนโยบายข้าราชการก็ต้องปรับตัวเช่นกัน นากยกฯ และรัฐบาลไปทางนี้ ก็ต้องเรียนรู้แล้วว่าจะไปทำอย่างนี้ได้ไง
“ระบบของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน กพ.) ต้องเปลี่ยนการประเมินใหม่ ประเมินคุณภาพของงาน ไม่ใช่ประเมินปริมาณของงาน และนโยบายของรัฐบาลต้องออกมาแบบนี้ข้าราชการจะได้สอดคล้อง มันโยงกลับมาหาตัวละครที่ 1 2 3 ที่ผมว่าเมื่อกี้หมดใช่ไหม มันจะวนกลับมา ถ้าเราทำแบบเดิมก็จะวนมาที่เดิม ต้องจัดตัวละครให้ตรงจุดก่อน”
โดยใช้ยุทธศาสตร์ 3 ยุทธศาสตร์ ยุทธศาสตร์ที่ 1 คือ สร้างคน ที่พูดไปแล้ว อันที่ 2 โครงสร้างระบบ คือระบบการผลิต ระบบการแปรรูป ระบบการตลาด ระบบการส่งเสริม ระบบต่างๆ ที่ถูกต้องที่เหมาะสม อันที่ 3 คือปรับโครงสร้างพื้นฐานของชาวบ้าน ดินเขาเป็นอย่างไร แต่ละที่เราจะสนับสนุนให้ดินเขาดีขึ้นได้อย่างไร
เกษตรกรไม่มีน้ำจะทำอย่างไร เดี๋ยวนี้มันมีแต่น้ำท่วมประจำ จะทำอย่างไรให้เขาไม่ท่วม ต่อมาคือ ขายที่ไหน เขามีตลาดไหม หากต้องไปขายไกลค่าน้ำมันก็ไม่คุ้มแล้ว ทำอย่างไรถึงจะมีตลาดทางเลือกอยู่ในชุมชน สมมุติให้มีท่าข้าว ที่พอค้าจะมารวมตรงนั้นแล้วชาวบ้านขนไปไม่ไกล ไม่เกิน 10 กิโลเมตร มีไหม ทุกที่ที่มีชาวนาเยอะๆ จะมีท่าข้าว พ่อค้าเองก็ไม่ต้องไปตระเวนซื้อ ไม่ต้องไปจ้างคนตระเวนซื้อ จากนั้นมาดูโครงสร้าง โครงสร้างการแปรรูป โครงสร้างการตลาด โครงสร้างพื้นฐาน
ไทยพับลิก้า: ราคาข้าวในปัจจุบันที่มันตกแล้วมันขยับขึ้นมาเกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง
อันนี้มันชัดเจน มันคือหลักของตลาด กฎที่หนึ่งคือ ของมากราคาจะลด ของน้อยราคาจะขึ้น กฎที่สอง ของคุณภาพดีจะราคาหนึ่ง ของคุณภาพต่ำจะราคาต่ำ และกฎข้อที่สาม ความเชื่อหรือจิตวิทยา ชัดเจนที่บ้านเรานี่เห็นชัดเลย เกิดราคาตกเพราะอะไร เพราะทุกคนเกิดความเชื่อ เพราะบ้านเราผลิตเกินบริโภคภายใน มันต้องขายตลอด เป็นเหตุผลมาจากโครงการรับจำนำ
แต่ก่อนนี้ปกติแล้วเราจะผลิตข้าวปีหนึ่งประมาณ 31-32 ล้านตัน หลังจากมีจำนำข้าวผลผลิตเพิ่มเป็น 38 ล้านตัน เพราะฉะนั้นผู้ส่งออกกับผู้ซื้อในต่างประเทศแย่เลยคราวนี้ แต่ช่วงที่ผ่านมาไม่กระทบโดยตรง เพราะข้าวยังไม่ออกมา รัฐบาลเอาไปเก็บกักไว้
ตอนนี้ก็ยังมีอยู่ถ้าตามตัวเลข คือ 18 ล้านตัน (ของจริงอาจไม่ถึง) อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งปกติแล้วผู้ส่งออกปีหนึ่งๆ เขาค้าขายได้เพียง 8-9 ล้านตัน ดังนั้นต่างประเทศจึงมองว่ายังไงประเทศไทยก็ต้องขาย รอช้าอีกนิดราคาก็ยิ่งตก ยิ่งเสียค่าเก็บ ข้าวก็เสื่อมคุณภาพ จึงเป็นปัญหา วันนี้ที่ราคาขยับขึ้น เพราะว่ารัฐบาลถูกล้มไปแล้ว ต่อไปจะไม่มีโครงการแบบนี้อีกแล้ว คสช. บอกมาแล้วไม่มีจำนำ ที่เคยหวังไว้สงสัยไม่เป็นไปตามนั้นแล้ว ก็เริ่มลองซื้อ
“ความเชื่ออีกอย่างหนึ่ง คือ ข้าว 18 ล้านตัน เก็บไว้ตั้งแต่ปี 44/45 สงสัยคุณภาพไม่ค่อยดี ซื้อเหมือนกันแต่ซื้อราคาต่ำๆ ก็เริ่มขายได้ เพราะหลักการตลาดมีอยู่ 3 ข้อนี้เท่านั้น มันอธิบายได้หมดเลยว่าทำไมเกิดปรากฎการณ์นี้”
ไทยพับลิก้า: มาตรการยุ้งฉางของ ธ.ก.ส.
อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าทำยุ้งฉางได้จะเป็นการกระจายสต็อก ไม่ให้อยู่ในมือรัฐบาลแต่อยู่ในมือชาวบ้าน ประหยัดค่าใช้จ่ายไปมหาศาล ชาวบ้านเก็บไว้เองก็จะรู้ว่าระยะเวลาที่ข้าวจะเสื่อมคุณภาพ รู้ว่าควรจะทยอยสี ทยอยกิน ทยอยขาย
แต่การที่มาเก็บสต็อกรวมของรัฐบาล หากรัฐบาลที่ทุจริต หรือไม่เข้าใจ ก็เป็นการสร้างปัญหา การทำจำนำข้าวให้ได้ผลนั้นมีเป็นการรับจำนำเฉพาะยุ้งฉาง ซึ่ง ธ.ก.ส. ก็เคยทำสำเร็จมาแล้ว
ไทยพับลิก้า: มาตรการระยะยาวของ คสช. สร้างความยั่งยืน
ถือว่าเป็นแนวคิดที่ดีขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง แต่มันยังไม่ครบ เราต้องตามดูว่าวิธีปฏิบัติจริงลงมือทำอย่างไร ถ้าเรายังใช้ข้าราชการเหมือนเดิม แล้วก็วัดผลเหมือนเดิมนะมันจะกลับไปรูปเดิม ก็ตาม 4 ตัวละครที่ผมอธิบาย ยังไงก็ต้องปรับในระบบนั้นก่อนเป็นอันดับแรก
ไทยพับลิก้า: สิ่งที่ชาวนาไทยควรทำ
หลังจากนี้ไปก็คือ ชาวนาต้องรู้ตัวเองก่อน เอาของในหลวง ง่ายๆ เลย มีสติรู้ตัว มีปัญญารู้คิด มีชีวิตพอเพียง มีสติรู้ตัวก่อนว่า ณ วันนี้เราอยู่อย่างไร ตัวเราอยู่กันระดับไหน เราทำนาแล้วเรากำไร หรือเราขาดทุน เราวางแผนตัวเองบ้างหรือยัง ถ้ายังไม่วางแผนก็ต้องหัดวางแผน ถ้าเรายังไม่รู้ต้องหัดรู้ จึงจะมีปัญญารู้คิด
มีเรื่องอะไรบ้าง น้ำท่วม ฝนแล้ง ไปขายโรงสีไหน เปลี่ยนได้ไหม ไม่เคยคิดจะแก้ไขด้วยตัวเอง เคยแต่คิดจะขอ ส.ส. มาช่วย รัฐมนตรีมาช่วย เคยแต่คิดจะขอให้นายกฯ ช่วยเลิกคิดได้ไหม ต้องหัดหาทางออกเองก่อน และสุดท้ายคือมีชีวิตพอเพียง ไม่โลภมาก อย่าฝันหวานว่าใครเขาจะช่วยคุณตลอดชีวิต คุณสามารถปรับตัวเองได้ ลองใช้แนวทางของในหลวงดู
“แต่ข้อสำคัญอยู่ คือต้องมีสติรู้ตัวก่อน ต้องรู้ตัวว่าเราอยู่ตรงไหน ตัวเราเป็นอย่างไร เราควรจะแก้ไขตัวเองไหม ถ้าจะแก้จะแก้ตรงไหน มีปัญญารู้คิด คือ จากข้อเมื่อสักครู่เราจะวางแผนแก้แบบไหนจะแก้เรื่องอะไรก่อน เรื่องอะไรหลัง วางแผน แล้วทดลองทำดู มันได้ผลจริงหรือเปล่า”