ปัญหาเรื่องข้าวเรื้อรังมาเป็นระยะเวลานาน เพื่อให้การดำเนินการในการพัฒนาศักยภาพ และการแก้ปัญหาสินค้าข้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศ เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล เป็นประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการข้าว (นบข.) ตามคำสั่ง คสช.
โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้า คสช. เป็นประธานกรรมการ ส่วนคณะกรรมการอื่นๆ ประกอบด้วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ อีก 3 ท่าน
สำหรับ นบข. มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
1) กำหนดกรอบนโยบาย แผนงาน และมาตรการเกี่ยวกับสินค้าข้าว เพื่อให้การบริหารจัดการสินค้าข้าวสอดคล้องกันทั้งระบบ และมีการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพ และประสิทธิผลอย่างต่อเนื่อง
2) อนุมัติแผนงานโครงการ และมาตรการเกี่ยวกับการผลิต และการตลาดข้าว
3) ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มคุณภาพ ลดต้นทุน และส่งเสริมการผลิตข้าวที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก
4) พิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุน ช่วยเหลือเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการโรงสี ผู้ค้า และผู้ส่งออกข้าว เพื่อให้การบริหารจัดการข้าวทั้งระบบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
5) ติดตาม กำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย มาตรการ และโครงการที่อนุมัติ
6 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน และคณะที่ปรึกษา เพื่อดำเนินการด้านการผลิต การตลาด การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับข้าว หรือที่ได้รับมอบหมาย
7) เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และความเห็น รวมทั้งส่งเอกสารหลักฐาน ที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการฯ
นอกจากนี้ อีกประเด็นที่ต้องเร่งตรวจสอบคือจำนวนข้าวในสต็อกของรัฐบาล ที่มีข้าวหาย อันเป็นประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องเรียกตัวผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้เข้าชี้แจงรายละเอียดเพิ่ม แม้จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมายืนยันว่าข้าวไม่ได้หาย แต่หากยังไม่ได้ตรวจสอบให้แน่ชัดก็ยังไม่สามารถยืนยันใดๆ ได้ อีกทั้งการให้ข้อมูลเรื่องสต็อกคงค้างแก่ผู้สื่อข่าวแต่ละครั้งของบรรดาผู้รับผิดชอบเรื่องข้าวนั้นไม่ตรงกัน (รายงานล่าสุดยอดคงค้างอยู่ที่ 16 ล้านตัน) ทาง คสช. จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ เพื่อให้การดำเนินงานของ นบข. ในการพิจารณาเรื่องการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐเป็นไปด้วยความรอบคอบ โปร่งใส เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์แก่เกษตรกร โดยมี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานอนุกรรมการ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นรองประธานฯ ส่วนคณะอนุกรรมการอื่นๆ ประกอบด้วยหัวหน้าภาคส่วน และตัวแทนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องของการรับจำนำข้าวที่ผ่านมา ทั้งนี้ได้มีตัวแทนจากฝ่ายทหาร แม่ทัพภาคที่ 1-4 ร่วมด้วย
คณะอนุกรรมการฯ จะมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบข้าวคงเหลือของรัฐทั้งปริมาณและคุณภาพข้าวให้เป็นไปตาความเป็นจริง แต่งตั้งคณะทำงานและที่ปรึกษาเพื่อดำเนินงานตามที่คณะอนุกรรมการเห็นสมควร เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และความเห็น รวมทั้งส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ และปฏิบัติงานอื่นตามที่ นบข. มอบหมาย และรายงานผลการดำเนินงานต่อ นบข. ต่อไป
โดยรวมแล้วโครงสร้างและการทำงานของคณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการข้าว หรือ นบข. นั้นมีความคล้ายคลึงคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เดิม ด้านคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐนั้นก็มีอำนาจหน้าที่ใกล้เคียงกับคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงปริมาณข้าวคงเหลือขององค์การคลังสินค้าและองค์กรตลาดเพื่อการเกษตร ที่เป็นผู้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบปริมาณข้าวคงเหลือในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ล่าสุด ในการประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ในวันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน 2557 ณ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม มีผู้ตรวจราชการประจำกระทรวง หัวหน้าภาคส่วน และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง พล.อ. สกนธ์ สัจจานิตย์ ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. นางพิรมล เจริญเผ่า รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ พล.ต.อ. เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจ พล.ท. ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 นายสมชาติ สร้อยทอง อธิบดีกรมการค้าภายใน นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายวิทยา อาคมพิทักษ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ช. นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์กรคลังสินค้า ผู้แทนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้แทนองค์กรตลาดเพื่อการเกษตร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบการดำเนินงานที่ 2 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น
ภายหลังการประชุม ม.ล.ปนัดดาเปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า การทำงานของคณะอนุกรรมการฯ เป็นการเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในส่วนของปริมาณข้าวที่คงค้างอยู่ในสต็อกว่ามีตัวเลขตรงกับกระทรวงพาณิชย์หรือไม่ ในเบื้องต้นได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์รวบรวมข้อมูลเพื่อส่งมอบให้กับคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปปริมาณข้าวภายในสิ้นเดือนนี้ ในระยะนี้จึงได้ออกมาตรการให้แต่ละจังหวัดระงับการโยกย้ายข้าว รวมไปถึงการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ก็ต้องชะลอไปก่อน เพื่อให้การตรวจสอบข้อมูลเป็นไปอย่างถูกต้อง
ทั้งนี้เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีการดูแลข้าวที่ต่างกัน และบางหน่วยงานยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการตรวจสอบข้าวระหว่างรอการรวบรวมข้อมูลจากทางกระทรวงพาณิชย์ จึงได้มีการอบรมหน่วยงานที่จะเข้าไปตรวจสอบข้าวในโกดังต่างๆ ทั่วประเทศทั้ง 1,800 โกดัง ก่อนเริมปฏิบัติงาน โดยชุดปฏิบัติงานเป็นการร่วมมือกันของสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย และกำลังพลจากกองทัพ โดยจะแบ่งเป็น 100 ชุด ดำเนินการตรวจสอบโกดังข้าวทั้ง 4 ภาค
นอกจากนี้ ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้ประสานขอเข้าร่วมสังเกตการณ์การตรวจสอบข้าว ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ มีความยินดี และเชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมให้การตรวจสอบข้าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้านมาตรการการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการฯ ยังไม่ขอเปิดเผยขั้นตอน แต่จะมีการประชุมความคืบหน้าเป็นระยะๆ
ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยเมื่อวันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน 2557 พล.อ. ประยุทธ์ได้กล่าวถึงเรื่องความคืบหน้าในการจ่ายเงินจำนำข้าว และมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรว่าได้จ่ายเงินให้แก่ชาวนาไปแล้ว 6 แสนกว่าราย เป็นจำนวนเงินประมาณ 70,000 ล้านาท คิดเป็นร้อยละ 79 ซึ่งตนคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 22 มิถุนายน 2557 ตามกำหนดการที่วางไว้ (ธ.ก.ส.คาดว่าการดำเนินการจ่ายเงินแก่ชาวนาจะแล้วเสร็จก่อนแผน คือในวันที่ 18 มิถุนายนนี้)
ด้านแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร ได้กล่าวถึงการจัดตั้ง นบข. รวมถึงได้มีการกำหนดและหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยในรายละเอียดของมาตรการ พล.อ. ประยุทธ์ระบุว่ากำลังอยู่ในขั้นพิจารณาเพื่อตกลงสั่งการ ซึ่งจะกำหนดให้ครอบคลุมไปถึงผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆ ด้วย
การประชุมร่วมกันระหว่าง คสช. กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา แหล่งข่าว ได้เปิดเผยผลการประชุมว่า เป็นการหารือเพื่อที่จะเข้าไปดูแลชาวนา โดยมีประเด็นอยู่ที่การกำหนดมาตรการช่วยเหลือ เบื้องต้นจะมีมาตรการทั้งหมด 3 ระยะ คือระยะสั้นกลาง และยาว
แต่ในวาระเร่งด่วน กรอบฤดูการผลิตนาปี 57/58 ที่กำลังจะถึงนี้ เรื่องที่จะต้องไปดูแลคือ การช่วยเหลือชาวนาให้ได้ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น และดูแลเรื่องเสถียรภาพราคาสินค้าข้าว ให้มีเสถียรภาพด้านราคา
ส่วนมาตรการระยะกลางและระยะยาวนั้น เป็นประเด็นของการให้ความรู้ และการสร้างผลิตภาพ เพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้กับเกษตรกร ตลอดจนการวางระบบชลประทาน และอาจนำไปสู่การจัดระบบ (Zoning) อันเป็นประเด็นที่ทางนักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เสนอแก่ คสช.
ทั้งนี้ประเด็นต่างๆ ที่แต่ละฝ่ายได้นำมาหารือคือ กระทรวงพาณิชย์มีอำนาจตามกฎหมายที่จะดูแลในมาตรการควบคุมราคาสินค้า ซึ่งก็จะเป็นเรื่องของราคาเคมีเกษตร ราคาปุ๋ย ส่วนกระทรวงเกษตรจะดูแลเรื่องเมล็ดพันธุ์ ด้าน ธ.ก.ส. มีประเด็นในการดูแลชาวนาต่างๆ เบื้องต้นมี โครงการประกันภัยนาข้าวที่จะสร้างความมั่นใจให้กับชาวนาเรื่องการบริหารความเสี่ยงกรณีเกิดภัยพิบัติ ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบด้วย และมีการเตรียมนำเรื่องเสนอ คสช.ให้จัดทำเป็นมาตรการออกมา
โลโคลแอคเปิดภาระหนี้ชาวนา
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2557 โลโคลแอคหรือกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน (www.landactionthai.org) เปิดเผยผลการศึกษา ภาวะหนี้สินที่ส่งผลต่อการสูญเสียที่ดินของชาวนาภาคกลาง โดยพบว่า ในพื้นที่ภาคกลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดเพชรบุรี ชาวนาอายุเฉลี่ยสูงขึ้นถึง 65 ปี ในชุมชนมีภาวะสุ่มเสี่ยงขาดการสืบทอดอาชีพชาวนา ระบบเกษตรกรรมกำลังเผชิญกับความถดถอยที่ลูกหลานเกษตรกรปรับเข้าสู่ระบบแรงงานรับจ้างมากกว่าสร้างการผลิตของตนเอง ปัจจัยหลักที่ทำให้ชาวนามีหนี้สินมากขึ้น เกิดจากแรงกดดันจากการถือครองที่ดิน ปัญหาหนี้สินชาวนากลายมาเป็นนโยบายหาเสียงของรัฐบาล แต่จากการศึกษาพบว่าชาวนามีข้อสรุปว่าโครงการช่วยเหลือของรัฐไม่สามารถนำสู่การแก้ไขปัญหาได้ โดยเฉพาะปัญหาจากสถาบันการเงิน แหล่งเงินกู้ของเกษตรกร
นางสาวพงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ผอ.กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญของภาวะหนี้สินคือแรงกดดันจากการถือครองที่ดินของเกษตรกรและต้นทุนการผลิตที่สูง เพราะเกษตรกร 45-85 % ต้องเช่าพื้นที่ทำนาและต้องจ่ายค่าเช่าสูงถึงไร่ละ 1,500-2,500 บาทต่อไร่ต่อรอบการผลิต คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 20-25% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ในขณะที่ต้นทุนการผลิตรวมทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี มีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 30-45% ของต้นทุนการผลิต รวมไปถึงการกว้านซื้อที่ดินแปลงใหญ่ของนายทุนในพื้นที่ภาคกลาง ที่ทำให้เกิดการกระจุกตัวของที่ดินและมีชาวนาไร้ที่ดินเพิ่มมากขึ้น
จากการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี พ.ศ. 2554 พบว่า มีเกษตรกรที่เช่าที่ดินผู้อื่นเป็นพื้นที่ร้อยละ 19.6 ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด 149.25 ล้านไร่ พบในภาคกลางสูงที่สุดประมาณร้อยละ 36 ถึงร้อยละ 40 ของพื้นที่ และพบสูงที่สุดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่มีการเช่าที่ดินมากถึงร้อยละ 72 ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมดซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน ที่พบว่ามีเกษตรกรนาเช่าในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปี 2555 สูงถึง 85 %
นอกจากปัญหาการสูญเสียที่ดินแล้ว ชาวนาส่วนใหญ่ยังมีสัดส่วนหนี้สินเพิ่มสูงขึ้น รายได้จากการทำนาไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต โดยสถานะหนี้สินชาวนาปัจจุบันจากข้อมูลตัวเลขหนี้สินของเกษตรกร(รวมถึงชาวนา) ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2554/55 ชี้ให้เห็นว่า ครัวเรือนภาคการเกษตรทั้งหมดมีหนี้สินเพิ่มขึ้นจาก 204,117 ล้านบาท ในปี 2542 เป็น 456,339 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาของกลุ่มโลโคลแอค ที่พบว่าชาวนาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีหนี้สินเฉลี่ยถึง 401,679 บาทต่อครอบครัว และชาวนาในจังหวัดเพชรบุรี มีหนี้สินเฉลี่ยถึง 371,091 บาทต่อครอบครัว
นายทรงชัย วิสุทธิวินิกานนท์ กลุ่มฟื้นฟูเกษตรกรเมืองเพชรบุรี สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย(สค.ปท.) ได้กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรว่า ต้องแก้ที่ต้นเหตุคือลดต้นทุนการผลิต ด้วยการสนับสนุนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพที่ผลิตเอง การควบคุมโรคและแมลงด้วยวิธีธรรมชาติ หรือการเข้าถึงแหล่งปุ๋ยอินทรีย์ การทำนาแบบลดต้นทุนการผลิตควรอยู่บนพื้นฐานการพึ่งตนเอง และเพิ่มความหลากหลายของพืชและอาหารในแปลงนาเป็นสำคัญ และคิดว่านโยบายประกันราคาผลผลิตเป็นสิ่งที่เกษตรกรต้องการเพราะรัฐก็ยังสามารถขายข้าวได้ตามกลไกราคาตลาด ส่วนปีใด หากเกิดภัยพิบัติธรรมชาติ เกษตรกรยังได้รับการคุ้มครองผลกระทบภัยพิบัติจากราคาประกัน สำหรับผู้ที่ประสบปัญหาไม่มีที่ดินทำกิน ต้องมีกองทุนซื้อที่ดินในราคาที่เป็นธรรมและให้เกษตรกรทำสัญญาเช่า-ซื้อระยะยาวผ่อนชำระได้ตามความสามารถโดยที่ดินนี้ต้องไม่ให้ขายแต่สืบทอดในการทำกินได้