ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าแบงก์ชาติ เผยใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายตอนนี้เหมาะสมแล้ว

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าแบงก์ชาติ เผยใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายตอนนี้เหมาะสมแล้ว

16 กรกฎาคม 2014


เมื่อ 15 กรกฎาคม 2557 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงนโยบายการเงินครึ่งปีหลังว่า ธปท. จะให้น้ำหนักและเทียบเคียงความเสี่ยงสองอย่าง คือ ความเสี่ยงเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจกับความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อและเสถียรภาพทางการเงิน ที่ผ่านมาปัญหาการเมืองในช่วงครึ่งปีแรกทำให้ความเสี่ยงต่อการเติบโตเศรษฐกิจพิ่มขึ้น ขณะที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อยังมีแรงกดดันไม่สูงมากนัก ประกอบกับเสถียรภาพทางการเงินยังเข้มแข็ง แม้จะมีส่วนที่เปราะบางอยู่บ้าง เช่น หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นและปัญหาเรื่องความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต ทำให้ดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายได้

“ตอนนี้ปัจจัยเสี่ยงการเติบโตของเศรษฐกิจได้ผ่อนคลายลงไปมากแล้ว ตัวชี้วัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการอุปโภคบริโภคหรือความเชื่อมั่นของธุรกิจก็ดีขึ้น การท่องเที่ยวคาดว่าช่วง high season จะดีขึ้น ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายที่มีอยู่เหมาะสมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคตจะพิจารณาปัจจัยเสี่ยงของอันนี้เป็นหลักและปัจจัยจากต่างประเทศอื่นๆ”

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ทั้งนี้ กรณีคำเตือนของBank of International settlements (BIS) ที่กังวลถึงความเสี่ยงของการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเป็นระยะเวลานานจะส่งผลต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ดร.ประสารกล่าวว่า โดยรวม BIS จะเน้นไปที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่มากกว่าประเทศไทย และประเทศไทยเองก็มีสถานะที่ดีที่จะดำเนินนโยบายผ่อนคลายได้ พร้อมยกตัวอย่างรายงานของ MIF ที่ได้ระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับความเชื่อมั่นระดับมหภาคอยู่ และทำให้สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินได้

“การดำเนินนโยบายการเงินไม่ใช่สูตรอัตโนมัติ ซึ่งเราคิดว่าตอนนี้ดีสำหรับประเทศที่จะผ่อนคลายบ้าง แต่ไปถึงจังหวะเวลาหนึ่ง เมื่อปัจจัยอื่นๆ ทำงาน นโยบายการเงินอาจจะปรับได้ ไม่ใช่ตายตัวแบบนี้ ขณะที่กนง. นัดกันทุก 6 อาทิตย์อยู่แล้ว เพื่อประเมินข้อมูลใหม่ และการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้ผู้คนในตลาดการเงินลดความเชื่อมั่นลง” ดร.ประสารกล่าว

ดร.ประสารได้กล่าวเพิ่มเติมถึงความเปราะบางทางการคลังของไทยในระยะยาวว่ามี 2 ประเด็น คือ 1) แนวโน้มรายได้ระยะยาวจะเพิ่มช้ากว่ารายจ่าย โดยเป็นผลจากฐานภาษีที่น้อยและส่วนใหญ่มักจะผันผวนไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจและมีจำนวนน้อยกว่าที่ควร ต่างจากภาษีฐานสินทรัพย์ที่จะผันผวนน้อยกว่า ขณะที่ด้านรายจ่ายงบประจำข้าราชการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เบียดบังงบลงทุนออกไป ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของไทย 2) ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายนอกงบประมาณมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำไปใส่ไว้ในสถาบันการเงินเฉพาะกิจหรือออกเป็นพระราชกำหนด เป็นการเพิ่มน้ำหนักของปัญหาและต้องมีการจัดการ

ดร.ประสารกล่าวว่า ในเรื่องค่าเงินบาท หลักการที่ ธปท. ใช้คือจะพยายามดูแลให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าค่าเงินบาทที่ระดับใดจึงจะเหมาะสม ถ้าช่วงไหนมีความผันผวนมากจนคิดว่าเป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจ ธปท. จึงจะดูแลเพื่อไม่ให้มีผลกระทบรุนแรงนัก ทั้งนี้ ครึ่งปีแรกค่าเงินบาทมีเสถียรภาพดีเมื่อเทียบเคียงกับประเทศในภูมิภาค ขณะที่ความพยายามที่อยากให้ค่าเงินอ่อนเพื่อส่งเสริมการส่งออกก็จำเป็นต้องดูปัจจัยอย่างอื่นประกอบด้วย เพราะถ้าค่าเงินอ่อนไปก็จะทำให้ประเทศมีภาระในด้านการนำเข้าสินค้าสำคัญอย่างเช่น น้ำมัน หรืออาจจะเป็นอุปสรรคต่อการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ

“อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องของความน่าเชื่อของตลาดการเงิน ตัวอย่างง่ายๆ คือถ้ามีใครก็แล้วแต่ไปทำให้เงินบาทอ่อนกว่าปกติขึ้นมา มันก็จะเป็นเชื้อที่ทำให้นักเก็งกำไรเอาเงินทุนไหลเข้ามามากๆ แล้วถ้าเงินทุนไหลเข้ามันก็จะสวนกับที่อยากเห็นกลายเป็นทำให้เงินแข็ง เมื่อมันกลับไปเป็นอ่อนปกติก็จะได้เงินบาทเยอะ ก็หวังว่าจะได้กำไร เพราะรู้ว่านี่มันอ่อนผิดปกติ อันนี้เป็นหลักคิดการดำเนินนโยบายของเรา เวลานี้ไม่ได้คิดว่าเป็นอุปสรรคเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน” ดร.ประสารกล่าว

ด้านสถานการณ์ตลาดการเงิน นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อค่าเงินบาทและราคาพันธบัตรในระยะต่อไปที่ต้องจับตามอง คือ ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ทั้งจากอุปสงค์ในประเทศ และการส่งออก ความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาล และความสำเร็จในการปฏิรูปเศรษฐกิจการเมือง

ส่วนปัจจัยต่างประเทศ คือ แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศหลักๆ รวมทั้งจีน และความไม่แน่นอนในทิศทางนโยบายการเงินของประเทศหลัก เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา ที่อาจกลับมาเร็วกว่าที่ตลาดคาด และการผ่อนปรนนโยบายการเงินมากขึ้นในยุโรป เป็นต้น

ค่าเงินบาท ครึ่งปีแรก

สำหรับภาวะตลาดการเงินไทยในช่วงครึ่งปีแรก ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1.3% จากสิ้นปีก่อน สอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค โดยสิงคโปร์แข็งค่าขึ้น 1.5% ฟิลิปปินส์ 1.6% มาเลเซีย 2.4% ขณะที่ความผันผวนเฉลี่ยปรับลดลงมาอยู่ที่ 4.3%

อัตราแลกเปลี่ยน

ส่วนสาเหตุที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น เนื่องมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่มีความรุนแรง เช่น การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ไม่มีเหตุรุนแรง การยกเลิกพระราชกำหนดฉุกเฉินในเดือนมีนาคม ขณะที่การเมืองเริ่มชัดเจนขึ้นหลัง 22 พฤษภาคม และแนวโน้มเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ขณะที่ปัจจัยภายนอก คือ การแข็งค่าตามเงินหยวน ก่อนที่จะปรับขยายเป็น 2% การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ส่งผลให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง

“ช่วงต้นปีเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องจากปีก่อน เนื่องจากมีความกังวลต่อเหตุการณ์ที่ไม่สงบทางการเมือง และความกังวลต่อเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ในบางประเทศ รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์ เช่น กรณีความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย ซึ่งส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนและราคาสินทรัพย์ ก่อนที่จะกลับมาแข็งค่าหลังจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น” นางจันทวรรณกล่าว

ด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย นางจันทวรรณกล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเป็นเงินไหลออกสุทธิ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเริ่มไหลกลับมาบ้าง โดยเงินลงทุนในตลาดพันธบัตรไหลออกสุทธิ 42,000 ล้านบาท และตลาดหุ้นไหลออกสุทธิประมาณ 41,000 ล้านบาท และสัดส่วนการถือครองพันธบัตรภาครัฐของนักลงทุนต่างชาติล่าสุดอยู่ที่ 9.7% ลดลงจาก 10.34% ในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา โดยสัดส่วนสูงสุดเคยสูงถึง 13% ในเดือนมีนาคม-เมษายน ปี 2556 และต่ำสุดในช่วงปี 2553-2553 ประมาณ 2.7%

อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยในภูมิภาค

“ในช่วงครึ่งปีแรก ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับเพิ่มขึ้น 14.4% จากสิ้นปีก่อน โดยครึ่งปีแรกนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิ 41,000 ล้านบาท แต่เงินเริ่มไหลกลับ สอดคล้องกับภูมิภาค ตามความเชื่อมั่น และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชียที่ปรับดีขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การเมืองคลี่คลาย และมีการวางแนวทางปฏิรูปทางการเมือง และเศรษฐกิจหลังเดือนพฤษภาคม” นางจันทวรรณกล่าว