ThaiPublica > เกาะกระแส > หลักนิติธรรมตามแนวในหลวงรัชกาลที่ 9 ‘เครื่องมือ’ เชื่อมร้อยหลากเป้าหมายสังคม จากฐานรากสู่รากฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน

หลักนิติธรรมตามแนวในหลวงรัชกาลที่ 9 ‘เครื่องมือ’ เชื่อมร้อยหลากเป้าหมายสังคม จากฐานรากสู่รากฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน

17 กรกฎาคม 2017


ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาในงาน TIJ Public Forum หัวข้อ หลักนิติธรรมกับการพัฒนาโดยศึกษาแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งจัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยหรือ TIJ วันที่ 17 กรกฎาคม 2560 โดยกล่าวว่า

“ผมขอขอบคุณสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยหรือ TIJ ที่ให้เกียรติและไว้วางใจให้ผมมาพูดเรื่อง “หลักนิติธรรมกับการพัฒนา” ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทั้งที่ผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ”

ปัจจุบันนักวิชาการและผู้บริหารในหลายประเทศทั่วโลกยอมรับว่า “หลักนิติธรรม” เป็น “รากฐาน” ในการสร้าง “ความสงบและความเป็นธรรม” หรือ “Peace and Justice” ซึ่งไม่เพียงเป็น 1 ใน 17 “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ แต่ยังเป็น “เครื่องมือ” หรือ “Enabling factor” ที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายอื่นด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่ง “หลักนิติธรรม” เป็นเสมือน “เส้นด้าย” ที่ร้อยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน

โชคดีที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยทรงรับเป็นพระราชภาระ และทรงเป็นประธานกรรมการที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของ TIJ ที่มีวิสัยทัศน์ส่งเสริมหลักนิติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย จึงเป็นสิ่งที่ควรยกย่อง และได้รับการสนับสนุนจากสังคมในวงกว้าง

มองย้อนไปในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ พบว่า มนุษย์พยายามหาวิธีที่จะอยู่ร่วมกัน เช่น ในอารยธรรมตะวันตกที่เคยให้ผู้นำเป็นผู้กำหนดกติกา หรือ “Rule by men” สุดท้ายต้องเผชิญกับปัญหาดังที่ Lord Acton นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษกล่าวว่า “Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely.” หรือ “อำนาจฉ้อฉลฉันใด อำนาจเบ็ดเสร็จย่อมนำมาซึ่งความฉ้อฉลสุดประมาณฉันนั้น” เพราะไม่มีใครควบคุม

ต่อมาจึงกำหนดกฎหมายขึ้นมาเป็นกติกาสำหรับอยู่ร่วมกัน แต่ตัวบทกฎหมาย หรือ “Rule by law” เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะผู้สร้างกฎเป็นเพียงปุถุชนธรรมดา ย่อมมีทั้งดีและไม่ดี อาจมีอคติ หรือฉ้อฉล จึงเกิดการพัฒนาหลักคิดที่ว่า “กฎหมายที่จะนำพาสังคมไปสู่สันติสุขนั้น” กฎหมายต้องอยู่ภายใต้หลักความถูกต้องหรือ “ธรรมะของกฎหมาย” ซึ่งก็คือ “หลักนิติธรรม” หรือ “Rule of Law”

และมองกลับเข้ามาในอารยธรรมตะวันออกที่การปกครองได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนามาก ดังที่ปรากฏในพระไตรปิฎกตอนหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าทรงสอน “พระเจ้า

ปเสนทิโกศล” ว่า “วิสัยพระราชาต้องไม่ประมาทในราชกิจทั้งหลาย ดำรงพระองค์เสมอด้วยมารดาบิดาของชาวแว่นแคว้น ละอคติเสีย ครองราชย์สมบัติโดยทศพิธราชธรรม” และ “หลักทศพิธราชธรรม” ได้เป็นแนวการปกครองที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงยึดถือตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย

สำหรับในหลวงรัชกาลที่ 9 ผมคิดว่า พวกเราสามารถยอมรับอย่างไม่มีข้อกังขาว่า พระองค์ทรงเป็น “พระราชาผู้ทรงธรรม” ซึ่งสะท้อนพระราชปณิธานตั้งแต่พระปฐมบรมราชโองการที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม” ซึ่งไม่ใช่โดยอำนาจตามอำเภอใจ ไม่ใช่โดยกฎหมาย และไม่ใช่เพื่อพระองค์เอง แต่ “เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

ตลอด 70 ปีในรัชสมัย พระองค์ทรงงาน “พัฒนา” ด้วยหลักทศพิธราชธรรมด้วยความเมตตา ความจริงใจ ความเพียร อดทน อดกลั้น และเที่ยงธรรม เพื่อให้พสกนิกรของพระองค์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เมื่อได้ศึกษาพระราชดำรัส องค์ความรู้ หลักคิด หลักการทรงงาน และพระจริยวัตรในการประกอบพระราชกรณียกิจ จะเห็นว่า พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับ “หลักนิติธรรม” มาก ในฐานะที่เป็นปัจจัย “รากฐาน” ของการพัฒนาประเทศ สะท้อนจากพระราชดำรัสจำนวนมากที่มีต่อบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ นักกฎหมาย ตำรวจ และอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นหนึ่งในกลุ่มที่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสด้วยมากที่สุด

พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับกฎหมาย โดยทรงเห็นว่า

“กฎหมายนี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับบ้านเมือง เพราะว่าเป็นหลักของการเป็นอยู่ร่วมกันในชาติบ้านเมือง เพื่อให้การเป็นอยู่มีระเบียบเรียบร้อย และให้ทุกคนที่อยู่ในชาติสามารถที่จะมีชีวิตที่รุ่งเรือง”

และถ้ายิ่งพิจารณาให้ลึกซึ้งจะพบว่า ในหลายวาระพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสถึงลักษณะกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมหลายประการที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา ผมขอหยิบยกลักษณะสำคัญ 3 เรื่อง ดังนี้

เรื่องแรก กฎหมายนั้นต้องใช้โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริง และบริบทของสังคม กล่าวคือ กฎหมายเป็นแค่ “เครื่องมือ” หรือ “มรรคา” ที่จะนำพาสังคมไปสู่ความถูกต้องและความยุติธรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อ “… สร้างสรรค์ ความผาสุกและความเป็นปึกแผ่นก้าวหน้าของประชาชน และบ้านเมือง…”

“…กฎหมายมิใช่ตัวความยุติธรรม หากเป็นแต่เพียงบทบัญญัติ…ที่ตราไว้”

“…การใช้ … ต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาความยุติธรรม ไม่ใช่เพื่อรักษาตัวบทของกฎหมายเอง และการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดิน … ต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยาตลอดจนเหตุและผลตามความเป็นจริงด้วย …”

ที่สำคัญ พระองค์ทรงยกตัวอย่างการวินิจฉัยกฎหมายตามหลักนิติธรรม เช่น “…กฎหมายป่าสงวนไปบังคับคนที่อยู่ในป่า … กลายเป็นผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย” หรือ

“คนรุกป่า” พระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า

“ป่าสงวนนั้นเราขีดเส้นบนแผนที่ … ราษฎรจะทราบได้อย่างไรว่าที่ที่เขาเข้ามาอาศัยอยู่เป็นป่าสงวน … เป็นหน้าที่ของผู้รู้กฎหมายที่จะต้องไปทำความเข้าใจ ไม่ใช่ไปกดขี่ให้ใช้กฎหมายโดยเข้มงวด …”

“… กฎหมายมีไว้สำหรับให้มีความสงบสุขในบ้านเมือง มิใช่ว่า กฎหมายมีไว้สำหรับบังคับประชาชน…”

พระราชวินิจฉัยช่วยชี้แนะทางออกแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง และช่วยให้ประชาชนที่สุจริตได้รับความเป็นธรรม

เรื่องที่สอง กฎหมายต้องเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจ พระองค์ทรงมองกฎหมายอย่างมี “พลวัต” หรือ “มีชีวิต” ดังพระราชดำรัสที่ว่า

“… ตามหลักของกฎหมายเอง กฎหมายก็จะมีความเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่ว่าเพราะชราภาพ แต่เพราะว่าคนที่ปฏิบัติตามกฎหมายนั้นเปลี่ยนไป และสังคมของโลกเปลี่ยนไป…”

“…กฎหมายที่ไม่เหมาะสมแก่เหตุการณ์ ก็จะต้องพยายามที่จะศึกษาเพื่อที่จะให้ปรับปรุงให้ดี …”

“…เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงในสังคม ก็จะต้องเปลี่ยนคำ เปลี่ยนกฎเกณฑ์บางอย่าง หรือบทลงโทษ … การลงโทษอาจไม่สอดคล้องกับอาชญากรรมที่ได้ประกอบขึ้นมา…”

เรื่องที่สาม การตรากฎหมายต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของคนในสังคม (Stakeholders participation) เพราะเป็นกติกาสำหรับอยู่ร่วมกันของคนในชาติบ้านเมือง และทรงตรัสว่า

“… สมัยโบราณจะให้ทราบเรื่องอันใดเขาต้องตีกลอง มาสมัยผู้ใหญ่ลีก็ยังตีกลอง แต่วันนี้ไม่มีผู้ใหญ่ลีจะตีกลอง ประกาศด้วยปากหน่อยเดียวก็เหมือนยังไม่มีกฎหมาย จึงไม่ใช่เรื่องที่จะไปว่าเขาว่าไม่ทราบกฎหมาย … และ … ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่กฎหมายเพราะต่างคนต่างมีผิดมีถูกด้วยกันอยู่ …”

“…ถ้ามีอะไรที่น่าจะแก้ไขได้ พิจารณาดู แล้วก็คุยกัน ถกเถียงกัน แล้วอาจเสนอ … ให้ “ประชาชน” ทราบ ให้ทางผู้ใหญ่ทราบ … ท่านก็อาจรับเอาไว้พิจารณาเข้าสภานิติบัญญัติแล้วก็ดัดแปลงกฎเกณฑ์ในกฎหมายได้เป็นผลสำเร็จ จะทำให้การดำเนินคดีเรียบร้อยขึ้น มีความยุติธรรมมากขึ้น …”

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงห่วงใยในเรื่องการทำงานร่วมกันของคนในชาติ ดังพระราชดำรัสที่ว่า

“… พูดกันว่า ส่วนตุลาการก็ตุลาการ ไม่เห็นใจฝ่ายอื่นๆ
ส่วนปกครองก็ไม่เห็นใจทางอื่นๆ ด้วย
ฝ่ายทหารเขาก็จะให้ทหารเป็นใหญ่
ฝ่ายการเมืองเขาก็อยากให้พรรคเป็นใหญ่
ฝ่ายค้นคว้าในทางวิทยาศาสตร์ … ก็ … ต้องการห้องทดลอง … ”
เป็นต้น

ตัวอย่าง การดำเนินโครงการพระราชดำริต่างๆ พระองค์ทรงเน้นให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจว่า “ชีวิตของประชาชนเป็นอย่างไร” กล่าวคือ “…การไปช่วยเหลือประชาชนนั้น ต้องรู้จักประชาชน ต้องรู้ว่าประชาชนต้องการอะไร ต้องอาศัยความรู้ในการช่วยเหลือ…” และทรงนำหลัก “ประชาพิจารณ์” มาใช้ หากจะทำโครงการใดจะทรงอธิบายถึงความจำเป็นและผลกระทบที่เกิดขึ้น พร้อมเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายทั้งสาธารณชน ประชาชน หรือเจ้าหน้าที่ทุกระดับได้เข้ามาร่วมกันแสดงความคิดเห็น เมื่อประชาชนในพื้นที่เห็นด้วยแล้ว หน่วยราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและร่วมดำเนินการมีความพร้อม จึงจะพระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินโครงการนั้นๆ ต่อไป

พระองค์ทรงเคยมีพระราชดำรัสแนะนำวิธีทำงานร่วมกันว่า

“…สำคัญที่สุดจะต้องหัด ทำใจให้กว้างขวางหนักแน่น รู้จักรับฟังความคิดเห็น แม้กระทั่งความวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่นอย่างฉลาด เพราะการรู้จักรับฟังอย่างฉลาดนั้นแท้จริงคือการระดมสติปัญญาและประสบการณ์ อันหลากหลายมาอำนวยการปฏิบัติบริหารงานให้ประสบความสำเร็จที่สมบูรณ์นั่นเอง…”

ผมขอสรุปสั้นๆ ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่เพียงทรงมีความลึกซึ้งและทรงแตกฉานใน “หลักนิติธรรม” แต่ยังสามารถประยุกต์ “หลักนิติธรรมกับการพัฒนา” ให้โครงการในพระราชดำริต่างๆ จนเกิดผลสัมฤทธิ์ และ “หลักคิด” ของพระองค์ยังคงทันสมัย สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิรูปและแก้ปัญหาของประเทศในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการทับซ้อนในที่ดินทำกิน หนี้ที่ไม่เป็นธรรม และการปรับปรุงกฎหมายให้เท่ากันกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ล้วนมีความสำคัญต่อประเทศในอนาคต การจะทำให้สำเร็จต้องอาศัยความพยายามร่วมกันด้วยความมุ่งมั่น อย่างไม่ย่อท้อ และผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน