กนง. เสียงแตก 4 ต่อ 3 ให้คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.25% โดยกรรมการส่วนใหญ่ห่วงนโยบายไร้ประสิทธิผล และการเมืองเสี่ยงระยะสั้น ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจแกร่งรองรับผลกระทบได้ แต่ปรับลดจีดีพีปี 57 โตแค่ 3% จากเดิม 4%
ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 22 มกราคม 2557 มีมติเสียงแตก 4 ต่อ 3 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% โดยคณะกรรมการฯ ส่วนน้อยเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เนื่องจากเห็นว่า ภายใต้อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ระดับต่ำ นโยบายการเงินสามารถผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อดูแลความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีมากขึ้นได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และพร้อมจะดำเนินนโยบายอย่างเหมาะสม
กรรมการส่วนใหญ่ห่วงกระสุนด้าน
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า การประเมินภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของกรรมการทุกคนไม่ได้ต่างกันมาก แต่มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นถกเถียงค่อนข้างมากว่าในสถานการณ์แบบนี้การปรับลดดอกเบี้ยจะมีผลเพียงไรในการดูแลการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
โดยกรรมการเสียงข้างมากมีความเห็นว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะด้านการลงทุน การอุปโภคบริโภค มาจากปัจจัยที่ไม่ใช่ทางเศรษฐกิจ แต่มาจากความไม่สงบทางการเมือง เพราะฉะนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยอาจไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควร
ส่วนกรรมการเสียงข้างน้อยมีความเห็นว่า การลดดอกเบี้ยจะเป็นเครื่องมือเข้าประคองการชะลอตัวของเศรษฐกิจได้ แม้ประสิทธิผลยังไม่ชัดเจน
“ในภาพรวมไม่ได้เห็นต่างกันว่าเศรษฐกิจชะลอตัวลงค่อนข้างมาก และมีความจำเป็นต้องดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ แต่ว่า ผลจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่ที่จังหวะเวลากับการใช้เครื่องมือของเรา ความสมดุลเครื่องมือต่างๆ ความเห็นตรงนี้จะต่างกัน” ดร.ประสารกล่าว
ขณะที่ประเด็นความเป็นห่วงเรื่องเงินไหลออก และการเก็บกระสุนไว้ใช้ยามจำเป็น เป็นเหตุผลหนึ่งทำให้คณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่มีมติคงอัตราดอกเบี้ยหรือไม่นั้น ดร.ประสารระบุว่า ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่วิธีพิจารณาของกรรมการคือ พยายามพิจารณาด้านต่างๆ อย่างรอบด้าน ดูความสมดุล ดูสาเหตุของสถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้ และดูว่า เครื่องมือต่างๆ ใช้แบบไหนจะมีผลมากที่สุด
“ที่สำคัญ เป็นการวิเคราะห์เป็นความเห็นของกรรมการว่า ดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันยังส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ ถ้าเราสามารถคลี่คลายปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่ปัจจัยทางเศรษฐกิจ แต่กรรมการก็ทราบดีถึงความรับผิดชอบว่า ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปจำเป็นต้องใช้เครื่องมือนี้ขึ้นมาก็พร้อมจะดำเนินการ” ดร.ประสารกล่าว
ปรับลดจีดีพีปี 2557 เหลือโตแค่ 3%
สำหรับการประเมินภาวะเศรษฐกิจ ประธาน กนง. กล่าวว่า คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า เศรษฐกิจโลกขณะนี้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการประชุมครั้งก่อน โดยเศรษฐกิจกลุ่มจี 3 คือ สหรัฐอเมริกา กลุ่มยูโรโซน และญี่ปุ่น มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นกว่าครั้งก่อน ซึ่งคราวนี้นำโดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีจากอุปสงค์ในประเทศของเขา ส่วนเศรษฐกิจจีนยังขยายตัวได้ดี ขณะที่การส่งออกของเอเชียเริ่มฟื้นตัวขึ้นโดยเฉพาะเอเชียทางเหนือ
ส่วนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 คณะกรรมการฯ คาดว่าจะขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิม เหตุผลจากอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลง ส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2556 ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน และความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองก็มีผลให้ความเชื่อมั่นเอกชนลดลง ซึ่งส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป การส่งออก แม้จะมีสัญญาณการฟื้นตัวในบางกลุ่มอุตสาหกรรมแต่โดยรวมก็ยังขยายตัวในอัตราต่ำ
สำหรับการลงทุน คณะกรรมการฯ มีการวิเคราะห์ที่เห็นชัดเจน คือ การลงทุนภาครัฐ ถ้าแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ งบประจำ คงไม่มีปัญหาอะไรยังสามารถเบิกจ่ายได้ ส่วนงบลงทุนทั้งในงบประมาณและนอกงบประมาณน่าจะล่าช้าออกไป ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนถ้าส่วนใดสัมพันธ์กับภาครัฐก็มีโอกาสจะชะลอไป แต่ส่วนอื่นๆ เท่าที่ดูตัวเลขก็มีมากพอสมควร เพียงแต่รองจังหวะเวลาของที่ได้รับอนุมัติแล้ว หรืออนุมัติอยู่ แต่ในระยะสั้น แน่นอน การลงทุนภาครัฐและเอกชนจะชะลอหรือเลื่อน
“ปี 2556 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะหย่อนกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ครั้งก่อนคือต่ำกว่า 3% ส่วนปี 2557 คราวที่แล้วประมาณ 4% แต่ตอนนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 3% จะเห็นว่าตัวเลขสะท้อนถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจ” ประธาน กนง. กล่าว
ปัจจัยการเมืองเสี่ยงแค่ระยะสั้น แต่ยืดเยื้อ ห่วงฉุดขีดแข่งขัน
ดร.ประสารกล่าว่า คณะกรรมการฯ ประเมินว่านโยบายการเงินที่ผ่อนปรนในปัจจุบันนี้ยังคงเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในสภาวะที่สถานการณ์การเมืองและผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นปัจจัยเสี่ยงระยะสั้น และพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังสามารถรองรับความเสี่ยงต่างๆ ได้ ประกอบกับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อวางพื้นฐานที่มั่นคงสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
ประธาน กนง. อธิบายเพิ่มเติมว่า เรื่องการเมืองคงนับเป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นเดือนไม่ได้ แต่ถ้าดูพื้นฐานเศรษฐกิจโดยรวมก็จะมีลักษณะที่ยาวกว่า ส่วนการเมืองก็พัฒนาไปในแบบต่างๆ ถ้าเปรียบเทียบคือ พื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศยังแข็งแรงพอ แต่ที่พูดในที่นี้ไม่อยากให้ไปเข้าใจว่า ไม่ได้แยแสกับสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้
แต่มีความหมายว่า ระยะสั้นยังดีอยู่ ระยะยาวถ้าไม่ช่วยกันดูแลก็จะมีข้อเสียตามมาด้านต่างๆ เช่น ภูมิคุ้มกันที่เรามีอยู่อาจบกพร่องลงได้ ค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมในด้านต่างๆ ก็จะเพิ่มขึ้น เช่น พรีเมียมความเสี่ยงเวลาไปกู้ยืมเงินจากที่ต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายเรื่องโลจิสติกส์ต่างๆ เป็นต้น ที่สำคัญคือ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
เพราะแม้ว่าปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของเราจะดี แต่ประเทศอื่นๆ ที่เขาแข่งขันกับเราก็ก้าวหน้าไปข้างหน้า ถ้าเราหยุดนิ่งหรือไม่ได้คิดถึงเรื่องการพัฒนา เรื่องการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศสักระยะหนึ่ง เราก็จะรู้สึกว่าขีดความสามารถแข่งขันของเราจะลดน้อยถอยลง
“ขอย้ำอีกทีว่า ในระยะสั้นไม่มีอะไรที่ต้องไปหวั่นวิตกเพราะพื้นฐานยังดี แต่ว่าระยะต่อไป ถ้าเราไม่แก้ไขก็จะเป็นปัญหาทำให้เกิดผลเสีย เช่น ภูมิคุ้มกันลดลง ค่าใช้จ่ายต้นทุนต่างๆ จะเพิ่ม และขีดความสามารถแข่งขันจะลดลง” ดร.ประสารกล่าว
แจงปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจแกร่ง
สำหรับปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังดีอยู่และสามารถรองรับความเสี่ยงทางการเมืองระยะสั้นได้นั้น ดร.ประสารกล่าวว่า ในด้านที่ ธปท. ดูแลอยู่ เช่น พื้นฐานในประเทศ และพื้นฐานระหว่างประเทศ โดยพื้นฐานระหว่างประเทศไม่มีอะไรที่แสดงถึงการขาดความเชื่อมั่น อาทิ อัตราแลกเปลี่ยน เมื่อเกิดเหตุการณ์พิเศษมีความไม่สงบเกิดขึ้นอย่างที่เราเห็นอาจทำให้บาทอ่อนค่าบ้าง แต่ไม่ได้อ่อนค่าทางเดียวตลอด ถือว่าเป็นการปรับตัวในระดับที่มีเสถียรภาพพอสมควร
ส่วนการขายออกของหุ้น หรือพันธบัตรของต่างชาติ ก็จะเห็นว่าระยะที่ผ่านมามีการเข้าซื้อของต่างประเทศค่อนข้างมาก ตอนหลังก็ออกไปบ้างแต่ไม่น่าเป็นห่วง ขณะที่เงินทุนเคลื่อนย้ายบางคนเปรียบเทียบโดยดูจากเงินสำรองฯ ปัจจุบันกับปลายปี 2555 ซึ่งดูตัวเลขเป็นดอลลาร์จะเห็นว่าเงินสำรองทางการเงินลดไปประมาณ 1.5 หมื่นล้านเหรียญ
แต่สาเหตุที่เงินสำรองระหว่างประเทศลดลงมาจาก 2 ส่วนใหญ่ คือ เม็ดเงินที่ออกไปซึ่งเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของเงินสำรองฯ ที่ลดลง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเกิดจากเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน คือทุนสำรองที่มีทั้งเป็นดอลลาร์และไม่ใช่ดอลลาร์ เวลาดอลลาร์แข็ง สินทรัพย์ที่ไม่ใช่ดอลลาร์เมื่อแปลงเป็นดอลลาร์ก็จะลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับเงินที่ไหลเข้าก่อนหน้านี้ก็ไม่ใช่ตัวเลขที่ใหญ่จนเกินไป
ด้านสถาบันการเงินก็เข้มแข็ง ช่วงบ้านเมืองไม่ค่อยปกติ 2-3 เดือนนี้ ภาวะการเงินก็ปกติ ไม่ว่าจะเป็นอัตราแลกเปลี่ยน ตลาดดอกเบี้ยในประเทศ ตลาดพันธบัตร ระบบการชำระเงิน ระบบธนาคารพาณิชย์ ก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่มีอะไรน่าตกใจ นี่ก็เป็นส่วนของพื้นฐานต่างประเทศ ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ระดับต่ำ เป็นต้น
“ความคิดต่างประเทศ ก็ดูพื้นฐานเหมือนเรา และดูภูมิคุ้มกันที่เราสร้างมาระยะเวลาหนึ่ง ก็คิดว่าเราน่าจะรับผลกระทบตรงนี้ได้ระยะเวลาหนึ่ง แต่ถ้าปล่อยเรื้อรังลากยาวออกไปก็จะเป็นปัญหาขึ้นมา และบั่นทอนความสามารถแข่งขัน เพราะฉะนั้น ระยะสั้นไม่ต้องเป็นห่วง แต่ระยะยาวถ้าไม่ช่วยกันก็จะเป็นปัญหา” ดร.ประสารกล่าว
ผลกระทบการเมืองต่อเศรษฐกิจมี 3 แบบ
แต่ปัจจัยพื้นฐานดีจะรองรับผลกระทบการเมืองที่เป็นปัจจัยเสี่ยงระยะสั้นได้นานแค่ไหนนั้น ดร.ประสารกล่าวว่า การเมืองจะวัดเป็นวัน เป็นชั่วโมงคงไม่ใช่ แต่ถ้าเราแบ่งการเมืองออกเป็น 3 แบบใหญ่ๆ ได้แก่
แบบที่ดีที่สุดคือ การเมืองคลี่คลายไปในทิศทางสันติ ไม่รุนแรง และยังสามารถที่จะยกประเด็นสำคัญของประเทศมาแก้ไขได้ก็จะดี แบบที่เลวร้ายที่สุดคือ เกิดความรุนแรง ปะทะกัน และโจทย์ต่างๆ ไม่ได้รับการแก้ไข อย่างนี้ก็จะกระทบพื้นฐานเศรษฐกิจหนักหน่อย และอีกแบบคือ ถ้าความขัดแย้งยังยืดเยื้ออยู่ โจทย์ของประเทศไม่คลี่คลาย อันนี้ก็ไม่ดี
“3 แบบนี้ แบบแรกจะเป็นสิ่งที่ดีมากสำหรับเศรษฐกิจ ถ้ารุนแรงเศรษฐกิจก็คงจะลำบากมาก และแบบที่สามก็จะทำให้เศรษฐกิจค่อยๆ ซึมแต่ไม่หยุด” ดร.ประสารกล่าว
อ่านเพิ่มเติม 1.ศูนย์วิจัยกสิกรไทย..กนง.คงดอกเบี้ย 2.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์..”ธปท. คงอัตราดอกเบี้ย”