ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ชี้ต้องสร้างระบบนิเวศการศึกษาใหม่ เพราะ“ทุกคนมีพรสวรรค์ แต่ทุกคนมิได้มีโอกาสที่เสมอภาคกัน”

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ชี้ต้องสร้างระบบนิเวศการศึกษาใหม่ เพราะ“ทุกคนมีพรสวรรค์ แต่ทุกคนมิได้มีโอกาสที่เสมอภาคกัน”

9 ตุลาคม 2021


ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้กล่าวในวาระการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ระดับอุดมศึกษากับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวมทั้งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และที่ประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฎเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาให้แก่ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ในระบบอุดมศึกษาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม 2564ที่ผ่านมา

ดร.ประสารได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาฯ และความร่วมมือในครั้งนี้ว่าเป็นผลจากการร่วมดำเนินงานของทั้ง 5 หน่วยงานตลอดเกือบ 1 ปีเพื่อให้เกิดข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ได้

“Talent is universal, opportunity is not” หรือ “ทุกคนมีพรสวรรค์ แต่ทุกคนมิได้มีโอกาสที่เสมอภาคกัน”

เป็นหนึ่งในข้อสรุปจากผลการวิจัยชิ้นสำคัญที่เป็นผลจากความร่วมมือกันของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง 5 ท่านจากมหาวิทยาลัย Harvard, MIT และ Stanford ที่ได้ติดตามศึกษาข้อมูลเชิงลึกของ “นวัตกร” (Inventors) ในสหรัฐอเมริกามากกว่า 1,000,000 คน โดยอาศัยฐานข้อมูลการจดสิทธิบัตร (Patents) นวัตกรรมของนวัตกรมากกว่า 1 ล้านคนเหล่านี้ แล้วศึกษาข้อมูลรายบุคคลย้อนหลังไปหลายสิบปีถึงข้อมูลฐานะทางเศรษฐกิจครอบครัวของพวกเขาในอดีต รวมทั้งผลการเรียนในช่วงชั้นต่าง ๆ และข้อมูลความด้อยโอกาสด้านต่าง ๆ ของนวัตกรเหล่านี้ ทำให้ได้ผลการวิจัยที่น่าสนใจดังแสดงในภาพที่ 1 ว่า

1.ในสหรัฐอเมริกาเด็กเยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้สูงมีโอกาสมากกว่าเด็กเยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อย 10 เท่า ในการเติบโตขึ้นเป็นนวัตกรที่สามารถจดสิทธิบัตรได้สำเร็จ

2.เด็กผิวขาวมีโอกาสเป็นนวัตกรมากกว่าเด็กผิวดำมากกว่า 3 เท่า และมีเด็กผู้หญิงเพียง 18% เท่านั้นที่สามารถโตขึ้นมาเป็นนวัตกรได้สำเร็จ

3.ที่สำคัญ ผลการเรียนด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ในระดับประถมศึกษาปีที่ 3 สามารถอธิบายแนวโน้มการเติบโตขึ้นเป็นนวัตกรได้เฉพาะเด็กเยาวชนที่มาจากครัวเรือนที่ร่ำรวยเท่านั้น ผลการเรียนในระดับสูงด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนยากจนมิได้นำไปสู่โอกาสที่สูงขึ้นในการเติบโตขึ้นมาเป็นนวัตกรที่สามารถจดสิทธิบัตรได้ในอนาคต

4.ช่องว่างดังกล่าวนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในระดับมัธยมศึกษา เนื่องจากนักเรียนยากจนมีแนวโน้มจะหลุดออกจากระบบการศึกษา และได้ศึกษาต่อในโรงเรียนมัธยมที่มีคุณภาพต่ำกว่านักเรียนจากครอบครัวที่ร่ำรวย

5.นักเรียนจากครัวเรือนยากจนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีระบบนิเวศน์ในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม และโอกาสในการพบปะและมีกิจกรรมร่วมกับนวัตกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ จะมีโอกาสสูงขึ้นในการเติบโตเป็นนวัตกรในอนาคต โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่จะมีโอกาสสูงขึ้นมากกว่า 2 เท่า

ภาพที่ 1 โอกาสในการจดสิทธิบัตรนวัตกรรม และรายได้ครัวเรือนในอดีต

ผลการศึกษาในสหรัฐอเมริกาชี้ให้เห็นว่าเด็กช้างเผือก (Resilient Students) ซึ่งมาจากครัวเรือนยากจนที่สุดของประเทศ แม้จะมีพรสวรรค์มากเพียงใด แต่หากขาดโอกาสทางการศึกษาที่เสมอภาค และระบบนิเวศน์ในการส่งเสริมการพัฒนาพรสวรรค์ดังกล่าวในระยะยาว ประเทศจะสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพไปอย่างน่าเสียดาย หรือที่ผู้วิจัยเรียกว่าปรากฎการณ์ The Lost Einsteins

เมื่อกลับมาดูสถานการณ์ในประเทศไทยเรื่องเด็กเยาวชนจากครอบครัวที่ฐานะยากจนที่สุด ร้อยละ 20 ของประเทศก็พบว่า ข้อมูลขององค์การ UNESCO เมื่อปี 2558 ชี้ให้เห็นว่ามีเพียงร้อยละ 8 เท่านั้นที่สามารถฝ่าฟันอุปสรรคจนเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยได้ ต่ำกว่าเด็กที่มาจากครัวเรือนร่ำรวยที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศกว่า 6 เท่า

นอกจากนั้นองค์การ UNESCO ยังพบว่า ในกลุ่มประเทศรายได้สูง ซึ่งประเทศไทยมีเป้าหมายจะไปถึงให้ได้ภายใน 20 ปีนั้น โอกาสในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาของเด็กจากครัวเรือนยากจนที่สุดและเด็กจากครัวเรือนที่ร่ำรวยที่สุดนั้นใกล้เคียงกันมากที่ร้อยละ 44 และ 62 ตามลำดับ

ความเสมอภาคทางการศึกษาระหว่างประชากรที่มีความแตกต่างด้านเศรษฐกิจสังคมจึงเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน

ภาพที่ 2 ร้อยละการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาในแต่ละระดับชั้น จำแนกตามเศรษฐสถานะ

ดร.ประสารกล่าวต่อว่าเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงระดับอุดมศึกษาให้แก่เด็กเยาวชนที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมที่แตกต่างกัน ทีมงานของ กสศ. กระทรวง อว. และ ทปอ. จึงได้ร่วมกันเชื่อมโยงฐานข้อมูล TCAS64 และ ฐานข้อมูล CCT ในโครงการทุนเสมอภาคของ กสศ. เพื่อวิเคราะห์หาเยาวชนจากครัวเรือนยากจนและยากจนพิเศษที่เคยได้รับการคัดกรองเมื่อปีการศึกษา 2560 และสามารถฝ่าฟันอุปสรรคจนสามารถเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาผ่านระบบ TCAS64 ได้สำเร็จ พบว่ามีเด็กช้างเผือก (Resilient Students) ที่มาจากครัวเรือนยากจน/ยากจนพิเศษสามารถเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยในปีนี้ได้มากกว่า 11,541 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.6 และ ร้อยละ 10.8 ของนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษที่เคยศึกษาอยู่ในระดัมมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. เมื่อปีการศึกษา 2560

ภาพที่ 3 ผลการเชื่อมโยงข้อมูลนักเรียนยากจน/ยากจนพิเศษในระบบ CCT และ TCAS64

แม้จะเป็นเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มีเด็กร้อยละ 10-12 ที่มีฐานะยากจนและยากจนพิเศษที่สามารถฝ่าฟันอุปสรรคจนสอบติดเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ยังมีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษอีกกว่าร้อยละ 90 ที่หลุดออกไปจากระบบการศึกษาหลังสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ มัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งในเยาวชนมากกว่า 85,000 คนเหล่านี้ย่อมมี “The Lost Einsteins” ที่มีพรสวรรค์ ความสามารถ และความมุ่งมั่นที่จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต

“ด้วยเหตุนี้ผมจึงมีความยินดีที่ได้เห็นความร่วมมือเพื่อสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ระดับอุดมศึกษาระหว่าง 5 หน่วยงานที่สำคัญในวันนี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญใน 4 ประการดังต่อไปนี้”

1.ระบบหลักประกันฯนี้ จะช่วยให้ประเทศไทยมีระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลรายบุคคลและรายสถานศึกษาระยะยาว (Longitudinal Database) ครอบคลุมเด็กเยาวชนที่มาจากครัวเรือนซึ่งมีรายได้น้อยที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศจำนวนมากกว่า 1 ล้านคนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อเป็นหลักประกันให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถช่วยเหลือสนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กเยาวชนเหล่านี้ไม่หลุดออกจากระบบการศึกษาและสามารถศึกษาต่อไปจนถึงระดับสูงสุดตามศักยภาพตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษา

2.นอกจากนั้นระบบหลักประกันฯนี้ จะสามารถสนับสนุนให้หน่วยงานด้านนโยบาย และด้านปฏิบัติสามารถร่วมกันกำหนดเป้าหมาย และร่วมกันติดตามความก้าวหน้าในการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงระดับอุดมศึกษา ของประชาชนคนไทยจากครัวเรือนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน เช่น หากกระทรวง อว. ต้องการกำหนดเป้าหมายด้านความเสมอภาคทางการศึกษา ให้นักเรียนยากจน/ยากจนพิเศษมีโอกาสในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าใกล้เคียงกับนักเรียนจากครัวเรือนที่มีฐานะดีในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศรายได้สูงภายใน 10 ปี ระบบหลักประกันฯ นี้ก็จะสามารถช่วยเป็นเครื่องมือในการจัดทำนโยบาย (Policy Instrument) และ เป็นเครื่องมือติดตามนโยบาย (Policy Monitoring) ในการลดความเหลื่อมล้ำจาก 6 เท่าเหลือ 1.4 เท่าได้

3.ระบบหลักประกันฯ ยังสามารถทำหน้าที่เป็นฐานข้อมูลสนับสนุนการระดมทุนและทรัพยากรจากภาคเอกชน และประชาชนที่สนใจอยากร่วมสนับสนุนความเสมอภาคทางการศึกษาให้แก่เด็กเยาวชนที่มีพรสวรรค์แต่ยังขาดโอกาสในการส่งเสริมพัฒนาอย่างเต็มที่

“ผมต้องขอขอบพระคุณท่านเลขา ทปอ. ท่านประธานคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และท่านประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่จะร่วมนำข้อมูลจากระบบหลักประกันฯ นี้ไปสนับสนุนการจัดสรรทุนการศึกษาจากแหล่งทรัพยากรต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยมากกว่า 80 แห่งในความร่วมมือนี้เพื่อโอกาสทางการศึกษาที่เสมอภาคของนิสิต นักศึกษาในความดูแลของท่าน”

4.ข้อมูลจากระบบหลักประกันฯนี้ ยังสามารถใช้สนับสนุนการวิจัยพัฒนานโยบายสาธารณะ (Public Policy) เพื่อสนับสนุนมาตรการระยะยาวในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงระดับอุดมศึกษา รวมทั้งสนับสนุนการเชื่อมโยงมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระดับอุดมศึกษาในอนาคต (Basic and Higher Education Systems Integration)

ภาพที่ 4 ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ปฐมวัย-อุดมศึกษา

พร้อมกล่าวต่อว่า “ท้ายที่สุดนี้ ในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาประจำปีการศึกษา 2565 หรือ TCAS65 จะถือเป็นปีแรกที่นักเรียนทุนเสมอภาครุ่นแรกจะมีโอกาสเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ผมยังจำเหตุการณ์ในวันแรกเมื่อปี 2561 ที่ กสศ. ได้สนับสนุนเงินบาทแรกให้แก่น้องๆ ที่โรงเรียนบ้านชายทะเลกาหลง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีจำนวนนักเรียนยากจนมากกว่าร้อยละ 75 ได้ดี เมื่อปีการศึกษา 2/2561 กสศ. และ สพฐ. ได้สนับสนุนทุนเสมอภาคและปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนให้นักเรียนยากจนและยากจนพิเศษระดับ มัธยมศึกษาปีที่ 3 ทั้งสิ้น 136,112 คน ผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนในที่นี้อยากเห็นอนาคตของน้อง ๆ ที่พวกเราช่วยดูแลเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาว่าจะมีโอกาสเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษามากกว่าร้อยละ 10-12 เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา”

งบประมาณแผ่นดินที่รัฐบาลจัดสรรมาให้ กสศ. สนับสนุนนักเรียนยากจนพิเศษนี้ถือเป็น “บาทแรก” ที่ช่วยให้เราได้ค้นหาและช่วยเหลือสนับสนุนน้องๆ นอกจากการทำงานโดยตรงกับเด็กเยาวชนมากกว่า 1 ล้านคนเช่นนี้ กสศ. ยังลงทุนในงานวิจัย และการพัฒนานวัตกรรมการส่งต่อข้อมูลสารสนเทศที่มีคุณภาพสูง ดังเช่นระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาฯ เพื่อให้ทุกภาคส่วนในสังคมไทยได้มีโอกาสร่วมสนับสนุน “บาทสุดท้าย” ให้แก่น้อง ๆ ได้มีโอกาสที่เสมอภาคในการศึกษาไปจนเต็มศักยภาพ และก้าวออกจากกับดักความยากจนข้ามชั่วคนออกไปเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติของพวกเราทุกคนได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

“ผมจึงอยากเชิญชวนให้พวกเรา 5 องค์กรและหน่วยงานภาคีช่วยกันเปิดโอกาสให้คนไทยจากทุกภาคส่วนได้ร่วมกันสนับสนุนและร่วมกันเป็นเจ้าของระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษานี้ เพื่ออนาคตของเด็กเยาวชนทุกคนและของประเทศไทย”ดร.ประสารกล่าว