ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มองเขื่อนแม่วงก์ ผ่านมุมเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม

มองเขื่อนแม่วงก์ ผ่านมุมเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม

9 มิถุนายน 2014


รายงานโดย…รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์

หลังการเคลื่อนขบวนคัดค้านเขื่อนแม่วงก์เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2556 ตามมาด้วยการยกประเด็นเข้าสู่การถกเถียงในระดับสาธารณะ ปัจจุบัน ความเคลื่อนไหวกรณีเขื่อนแม่วงก์ดูจะเงียบลงไป แต่ในความเป็นจริง กระบวนการตรวจสอบก็ยังดำเนินไปอย่างเงียบๆ มีการจัดตั้งคณะกรรมการโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสอบทานและแสดงความเห็นเพิ่มเติมต่อรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฉบับกรกฎาคม 2555 โดยมีประเด็นด้านเศรษฐศาสตร์เป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญ ซึ่งข้อมูลปรากฏอยู่ในรายงานดังกล่าวในบทที่ 9 เรื่องการวิเคราะห์โครงการด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม

หากใครได้อ่านหนังสือ ‘เหตุผลในการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์’ ที่รวบรวมโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร คงจะได้เห็นบทความโดย อ.ดร.ชโลทร แก่นสันติสุขมงคล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งผู้เขียนได้ศึกษาและนำมาต่อยอดเพื่อวิพากษ์ EIA ฉบับล่าสุดโดยแบ่งเป็น 6 ประเด็น

แต่ก่อนที่จะอธิบายถึง 6 ประเด็นดังกล่าว ผู้เขียนขอใช้พื้นที่สั้นๆ ในการอธิบายภาพรวมของโครงการเขื่อนแม่วงก์ โดยวิเคราะห์จากสองส่วน คือ ผลประโยชน์รับ และต้นทุนจ่ายนั้น โครงการเขี่อนแม่วงก์ ประมาณการณ์ไปในอนาคตเป็นเวลา 58 ปี แบ่งเป็นเวลาก่อสร้าง 8 ปี และเวลาที่ได้รับผลประโยชน์จากเขื่อน 50 ปี โดยสมมติฐานราคาของต้นทุนจ่าย จะใช้ราคาคงที่ ณ ปี พ.ศ. 2555 ส่วนผลประโยชน์รับ จะใช้ราคาคงที่ ณ ปี พ.ศ. 2563 ปรับเป็นมูลค่าปัจจุบันโดยใช้อัตราคิดลด 12% ซึ่งการคำนวณตามต้นฉบับรายงาน จะมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 113.608 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) 12.10% และอัตราผลประโยชน์ต่อทุน (B/C Ratio) 1.01

หากจะอธิบายให้เข้าใจง่าย โครงการเขื่อนแม่วงก์นั้นจะได้กำไรทั้งสิ้น 113.608 ล้านบาท โดยมีอัตราผลตอบแทนร้อยละ 12 ต่อปี และสัดส่วนของผลประโยชน์ต่อทุนนั้นอยู่ที่ 1.01 นั่นหมายความว่า การลงทุน 1 บาทจะได้ส่วนเกิน 1 สตางค์

ต้นทุนจ่าย

ต้นทุนจ่ายเขื่อนแม่วงก์

โครงการเขื่อนแม่วงก์มีมูลค่าต้นทุนทั้งสิ้น 8,328.95 ล้านบาท โดยมีต้นทุนราวร้อยละ 80 เป็นมูลค่าการก่อสร้าง โดยรายงานการประเมินได้ระบุอายุการใช้ประโยชน์ของเขื่อนคือ 100 ปี และได้เกิดผลประโยชน์บวกกลับ เนื่องจากเขื่อนดังกล่าวยังไม่หมดอายุการใช้งานในปีที่ 50 โดยตัดค่าเสื่อมราคาแบบเส้นตรง

ส่วนต้นทุนอีกราวร้อยละ 20 เป็นมูลค่าของสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่จะต้องสูญเสียไป เช่น ค่าเสียโอกาสของป่าไม้ การสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ในดิน การสูญเสียแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการสูญเสียแหล่งท่องเที่ยว

สำหรับต้นทุนส่วนที่เหลือ คิดเป็นราวร้อยละ 10 คือค่าบำรุงรักษาเขื่อน ค่าดำเนินการลดผลกระทบ ค่าที่ดินและทรัพย์สิน ซึ่งตามรายงานจะมีการเวนคืนที่ดินราว 16,000 ไร่จากเกษตรกรเพื่อเป็นพื้นที่หัวงานและการขุดคลองชลประทาน

ผลประโยชน์รับ

ผลประโยชน์รับจากเขื่อนแม่วงก์

ผลประโยชน์รับของโครงการเขื่อนแม่วงก์มีทั้งสิ้น 9,547.95 ล้านบาท โดยผลประโยชน์ส่วนใหญ่นั้นมาจากการเกษตร ซึ่งแบ่งเป็นการปลูกพืชผัก (พริก) คิดเป็นร้อยละ 43 การปลูกพืชไร่และการทำนา (ข้าวและอ้อย) ร้อยละ 32 คิดรวมกันเป็นราวร้อยละ 75 นับว่าเป็นผลประโยชน์หลักของโครงการเขื่อนแม่วงก์

สัดส่วนของผลประโยชน์อื่นๆ ที่รองลงมา เช่น ไม้ผลยืนต้น ซึ่งในรายงานใช้มะม่วงเป็นตัวแทน การมีน้ำอุปโภคบริโภคและการใช้น้ำในอุตสาหกรรม การป้องกันภัยแล้ง การผลิตไฟฟ้า การป้องกันอุทกภัย และผลประโยชน์จากการปลูกป่าทดแทน

สิ่งที่น่าสนใจคือ หากเราพิจารณาจากสัดส่วนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้ว เขื่อนแม่วงก์นั้นมีจุดประสงค์เพื่อการเกษตร โดยพิจารณาจากสัดส่วนผลประโยชน์นั้นมีแหล่งมาจากการเกษตรเป็นหลัก ในขณะที่การป้องกันอุทกภัยคิดเป็นผลประโยชน์เพียงร้อยละ 1 เท่านั้น

อย่างไรก็ดี ในผลประโยชน์รับข้างต้น ยังไม่รวมผลประโยชน์รับที่ไม่น่าพึงพอใจ (Negative Benefits) คือมูลค่าของปริมาตรไม้ตัดออก ซึ่งคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 1,105.35 ล้านบาท ซึ่งเป็นกระแสเงินสดลบในปลายปีที่หนึ่ง

จากภาพรวมของต้นทุนจ่ายและผลประโยชน์รับ ในรายงาน EIA ได้มุ่งเน้นความสำคัญในลักษณะของเขื่อนเพื่อการชลประทาน เนื่องจากมีการเวนคืนที่ดินเพื่อทำคลองส่งน้ำชลประทาน และผลประโยชน์แทบทั้งหมดมาจากการเกษตร ในขณะที่ผลประโยชน์จากการบรรเทาอุทกภัยคิดเป็นมูลค่าเพียงร้อยละ 1 ของผลประโยชน์โครงการ

ดังนั้น คำกล่าวอ้างที่ว่าจะสร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อป้องกันอุทกภัยนั้นไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงาน

นอกจากนี้ การคำนวณและการวิเคราะห์ในรายงานยังมีลักษณะบางประการให้ชวนสงสัย ซึ่งผู้เขียนสามารถสรุปได้ 6 ประการ ดังนี้

1. ผลประโยชน์จากการปลูกพริก

รายได้จากการปลูกพริก

สิ่งที่ชวนสงสัยอันดับแรกคือผลประโยชน์รับจากการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ 100 เปอร์เซ็นต์นั้น คิดเป็นผลประโยชน์จากการปลูกพริกสูงถึงร้อยละ 43 นับว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากสำหรับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่

ที่น่าแปลกใจคือ ปัจจุบัน บริเวณพื้นที่ชลประทานนั้นไม่มีการปลูกพริกอยู่เลย โดยพืชผลหลักนั้นคือการปลูกมันและการปลูกข้าว ผู้เขียนได้สืบค้นในวิทยานิพนธ์ของขวัญกมล สระทองฮ่วม ที่อ้างอิงว่า ในจังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกพริกสำคัญนั้นมีสัดส่วนการปลูกพริกอยู่เพียงร้อยละ 10 จากพื้นที่ปลูกผักทั้งหมด ในขณะที่บริเวณพื้นที่ชลประทานหลังการก่อสร้างเขื่อน ได้มีการตั้งสมมติฐานว่าจะมีพื้นที่ปลูกพริกสูงถึงร้อยละ 30 จากพื้นที่ชลประทานทั้งหมด

ในมุมมองของระดับประเทศ ในปี พ.ศ. 2550 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกพริกทั้งสิ้น 474,717 ไร่ แต่ในรายงานฉบับนี้ หากมีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จะมีพื้นที่ปลูกพริกเพิ่มขึ้น 37,370.75 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 8 ของพื้นที่ทั้งประเทศ

จึงเป็นคำถามที่ว่า การตั้งสมมติฐานเช่นนี้เหมาะสมหรือไม่ และเอื้อประโยชน์ต่อผู้ต้องการโครงการมากไปหรือเปล่า

2. การวิเคราะห์ความอ่อนไหว (Sensitivity Analysis)

‘การวิเคราะห์ความอ่อนไหวของโครงการ’ หมายถึง การพิจารณาว่าการเปลี่ยนแปลงของสมมติฐานในกระแสผลประโยชน์รับหรือต้นทุนจ่าย จะส่งผลอย่างไรต่อมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) และอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR)

ในรายงานได้ระบุว่า ณ จุดคุ้มทุนที่ทำให้โครงการได้รับผลตอบแทนขั้นต่ำคือร้อยละ 12 สมมติฐานในผลประโยชน์รับสามารถลดลงได้ไม่เกินร้อยละ 1.20 ต้นทุนจ่ายเพิ่มขึ้นได้ไม่เกินร้อยละ 1.21 และทั้งสองกรณีข้างต้นเกิดขึ้นพร้อมกันได้ไม่เกินร้อยละ 0.60 มิฉะนั้นโครงการเขื่อนแม่วงก์จะขาดทุนทันที

นั่นหมายความว่าการประมาณการณ์ล่วงหน้า 58 ปี จะไม่มีข้อผิดพลาดเกินร้อยละ 0.60 !

ในมุมมองของผู้เขียน การประมาณการณ์มิให้ผิดพลาดนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะโครงการที่ลงทุนในสินทรัพย์จริง (Real Asset) และผลประโยชน์ส่วนใหญ่มาจากราคาสินค้าเกษตรที่ผันผวนตามราคาตลาด การใช้ราคาคงที่ในการคำนวณและหวังไม่ให้ผิดพลาดเกินร้อยละ 0.60 จึงนับว่าเป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง

สำหรับโครงการที่เป็นเงินมาจากภาษีประชาชนก็ยิ่งควรจะมีการพิจารณาที่ถี่ถ้วน หากเปรียบเทียบรัฐบาลเป็นบริษัทมหาชน ที่ประชาชนเป็นผู้ถือหุ้น โครงการก่อสร้างที่มีผลตอบแทนในลักษณะเช่นนี้นับว่าไม่น่าลงทุนอย่างยิ่ง เนื่องจากมีความเสี่ยงที่สูงเกินไป และควรหาโครงการอื่นๆ ที่มีประโยชน์กับท้องถิ่นมากกว่าและความเสี่ยงต่ำกว่าเพื่อทดแทน

3. ผลตอบแทนของโครงการ กรณีเกิดความล่าช้า 2 ปี

การประเมินมูลค่าโครงการในกรณีโครงการล่าช้านั้นแทบไม่ได้รับการพูดถึง ซึ่งประเด็นดังกล่าวนับว่าเป็นประเด็นสำคัญเนื่องจากนักการเงินและนักเศรษฐศาสตร์ย่อมคำนึงถึงค่าของเงินตามเวลา และการที่ต้นทุนจะเกิดเพิ่มเติมเนื่องจากค่าเงินเฟ้อ ซึ่งในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้มีการคำนวณกรณีที่โครงการล่าช้าออกไป 2 ปี

ผู้เขียนได้อธิบายเบื้องต้นไปแล้วว่า ในรายงานฉบับดังกล่าวได้มีการตั้งสมมติฐานว่าโครงการเขื่อนแม่วงก์จะสามารถเริมก่อสร้างได้ในปี พ.ศ. 2555 และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งการประเมินมูลค่าโครงการกรณีเกิดความล่าช้า 2 ปี นั่นหมายถึงการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2557 หรือปีปัจจุบันนั่นเอง

ในตารางที่ผู้เขียนอ้างอิงข้างต้น ได้ระบุว่าหากโครงการล่าช้าเป็นเวลา 2 ปี โครงการเขื่อนแม่วงก์จะมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) –1,541.10 ล้านบาท โดยมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์เหลือร้อยละ 10.63 ซึ่งน้อยกว่าขั้นต่ำที่คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุไว้ว่าไม่ควรต่ำกว่าร้อยละ 12 อย่างไรก็ดี อัตราดังกล่าวสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสภาวะเศรษฐกิจ

จากข้อมูลในตัวรายงานเอง เป็นการชี้ชัดว่าหากมีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป จะเป็นการใช้ภาษีประชาชนที่ไม่คุ้มค่า ไม่คุ้มต้นทุน โดยจะขาดทุนสูงถึง 1,541.10 ล้านบาท และได้อัตราผลตอบแทนต่อปีไม่ถึงเป้าที่คาดหวัง

4. ขาดการคำนวณต้นทุนจ่ายจากการสูญเสียระบบนิเวศที่สำคัญ

ป่าแม่วงก์ พื้นที่ราบริมน้ำ ที่จะกลายเป็นบริเวณอ่างเก็บน้ำ หากมีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์
ป่าแม่วงก์ พื้นที่ราบริมน้ำ ที่จะกลายเป็นบริเวณอ่างเก็บน้ำ หากมีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์

จากที่ผู้เขียนสรุปต้นทุนจ่ายในภาพรวมไปเบื้องต้น จะเห็นว่าผู้ทำการศึกษาในรายงานฉบับดังกล่าวไม่ได้คำนวณรวมมูลค่าของการสูญเสียระบบนิเวศ แต่มุ่งเน้นไปที่มูลค่าการสูญเสียทรัพยากรมากกว่า ซึ่งส่วนใหญ่คือผลประโยชน์ที่ไม่พึงประสงค์โดยคิดเป็นมูลค่าไม้จากการตัดฟัน

แม้ในรายงานจะได้มีการอ้างอิงเอกสารวิชาการ ซึ่งระบุข้อความว่าไม่สามารถพิจารณาครอบคลุมทุกต้นทุนได้ โดยจะคำนวณเฉพาะต้นทุนที่สำคัญ นั่นหมายความว่ามูลค่าระบบนิเวศของป่าแม่วงก์ในบริเวณการก่อสร้างเขื่อนนั้นไม่สำคัญอย่างนั้นหรือ

ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ อาจารย์ภาควิชาอนุรักษวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้ระบุถึงลักษณะของป่าแม่วงก์ที่เคยเป็นป่าที่ถูกใช้ประโยชน์ แต่ได้รับการฟื้นฟูอย่างรวดเร็วในเวลาเพียง 24 ปี นับว่าเป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ สัตว์ป่า และระบบนิเวศ

ลักษณะพิเศษของป่าแม่วงก์คือเป็นพื้นที่ป่าริมน้ำ ซึ่งเหมาะกับการอยู่อาศัยของสัตว์ป่า และป่าที่ราบริมน้ำในลักษณะนี้มีอยู่สองแห่ง คือ ริมลำห้วยขาแข้งในผืนป่ามรดกโลก และริมห้วยแม่เรวา ป่าแม่วงก์ บริเวณที่จะถูกน้ำท่วมหากมีการสร้างเขื่อน

ปัจจุบัน พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง โดย WWF ประเทศไทย เพื่อตอบสนองกับ Tiger Action Plan ที่มุ่งเน้นการรักษาประชากรเสือโคร่งให้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน จึงนับได้ว่าต้นทุนระบบนิเวศที่เราต้องเสียไป เป็นมูลค่าที่ไม่ควรมองข้าม

5. การคำนวณผลประโยชน์จากการปลูกป่าทดแทน

แม้ว่าผลประโยชน์จากการปลูกป่าทดแทนจะคิดเป็นเพียงร้อยละ 6 จากผลประโยชน์ทั้งหมด แต่โครงการเขื่อนแม่วงก์ก็นับว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เนื่องจากหลายรายการที่มีการคำนวณยังไม่ชัดเจน หลายประเด็นยังสับสน และควรมีการสอบทานเพื่อเป็นมาตรฐานในการประเมินมูลค่าโครงการรัฐบาลอื่นๆ

ก) ความสับสนระหว่างมูลค่าไม้สะสม (Wood Stock) และมูลค่าไม้ส่วนเพิ่ม (Wood Growth)

มูลค่าป่าไม้

ในการคำนวณผลประโยชน์จากการปลูกป่าทดแทน รายได้ที่สำคัญมาจากการมีปริมาตรไม้ (Wood Stock) เพิ่มเติมต่อหนึ่งปี ซึ่งตัวเลขที่ควรใช้ในการคำนวณควรจะเป็นลักษณะส่วนเพิ่ม (Incremental Benefits) มากกว่าเต็มจำนวน ซึ่งผู้เขียนขออธิบายด้วยกราฟดังที่แสดงข้างล่าง

หากพิจารณาตัวเลขข้างต้น มูลค่าไม้ที่ใช้คำนวณในปีที่ 1 ควรมีค่าเท่ากับ 100 บาท ส่วนปีที่ 2 และ 3 ควรคำนวณผลตอบแทนจากมูลค่าไม้ส่วนเพิ่ม คือส่วนต่างที่ต้นไม้เติบโตขึ้นคือปีละ 20 บาทเท่านั้น เพื่อสะท้อนผลประโยชน์รับที่แม่นยำ

แต่ในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเขื่อนแม่วงก์กลับใช้ตัวเลขมูลค่าไม้สะสมในการคำนวณทุกปี กล่าวคือปีที่ 1 ได้ประโยชน์ 100 บาท ปีที่ 2 ได้ประโยชน์ 120 บาท และปีที่ 3 ได้ประโยชน์ 140 บาท ซึ่งผู้เขียนมองว่าจะทำให้ผลประโยชน์ที่ได้รับสูงเกินจริง

ข) การเพิ่มแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ผลประโยชน์จากการปลูกป่าทดแทน
ผลประโยชน์จากการปลูกป่าทดแทน

ผู้เขียนได้ลองวาดกราฟผลประโยชน์จากการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้รับจากการปลูกป่าทดแทน ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าในช่วงปีแรกๆ นั้นกราฟมีแนวโน้มสูงขึ้น สะท้อนปริมาณกักเก็บที่สูงขึ้นก่อนจะลดต่ำลงและคงที่จนสิ้นสุดระยะประเมินโครงการ

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนได้ลองเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของปริมาณกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับปริมาตรไม้สะสม ซึ่งในกรณีของการสูญเสียพื้นที่ป่าเพื่อใช้ในการก่อสร้างเขื่อนนั้นมีความสัมพันธ์แบบเส้นตรง กล่าวคือกราฟทั้งสองควรมีลักษณะไม่ต่างกัน แต่น่าแปลกที่การคำนวณผลประโยชน์ของการปลูกป่าทดแทนนั้นกลับเพิ่มมูลค่าอย่างรวดเร็วในปีแรกๆ ซึ่งอาจทำให้ผลประโยชน์รับมีมูลค่าสูงกว่าความเป็นจริง

ค) พื้นที่ปลูกป่าทดแทน

พื้นที่ซ้อนทับของบริเวณปลูกป่าทดแทนและพื้นที่อ่างเก็บน้ำคลองปลาสร้อย และคลองขลุงล่าง  ที่มาภาพ :  มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
พื้นที่ซ้อนทับของบริเวณปลูกป่าทดแทนและพื้นที่อ่างเก็บน้ำคลองปลาสร้อย และคลองขลุงล่าง
ที่มาภาพ : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเขื่อนแม่วงก์ มีการระบุว่าจะปลูกป่าทดแทนเป็นพื้นที่จำนวน 30,000 ไร่ซึ่งจะอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโซน C โดยจะเป็นพื้นที่ริมขอบป่าแม่วงก์เพื่อสร้างเป็นแนวกันชน

ผู้เขียนได้รับข้อมูลจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียรที่ได้ทำการลงพื้นที่ไปตรวจสอบบริเวณดังกล่าว พบว่าส่วนใหญ่เป็นป่าเสื่อมโทรม มีการบุกรุกเพื่อปลูกพืชไร่ บางแห่งก็ทับซ้อนกับพื้นที่ป่าธรรมชาติดั้งเดิม จนชวนให้ตั้งคำถามว่าทางกรมชลประทานเจ้าของโครงการจะดำเนินการอย่างไรเพื่อขอคืนพื้นที่มาปลูกป่า และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบให้ป่าใหม่เหล่านี้ยั่งยืนจนสามารถสร้างผลประโยชน์ให้อย่างที่คาดการณ์

นอกจากนี้ มูลนิธิสิบนาคะเสถียรยังได้เปิดเผยว่า บริเวณที่กรมชลประทานตั้งใจว่าจะใช้เป็นพื้นที่ในการปลูกป่าทดแทนยังซ้อนทับอยู่ในบริเวณอ่างเก็บน้ำคลองปลาสร้อย และคลองขลุงล่าง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในแผนบริหารจัดการน้ำ และการชลประทาน ที่จะสร้างขึ้นติดกับอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ บริเวณจังหวัดกำแพงเพชร

จึงเป็นคำถามต่อไป ว่าการที่กรมชลประทานหรือนักการเมืองมักอ้างว่าสร้างเขื่อนแม่วงก์แล้วได้ป่าเพิ่มขึ้น เป็นไปได้ในข้อเท็จจริงหรือไม่ หรือปรากฏไว้แค่บนกระดาษแต่ไม่สามารถนำไปปฏิบัติ

6. ควรหรือไม่ที่จะรวมผลประโยชน์จากโครงการปลูกป่าไว้ในโครงการก่อสร้างเขื่อน

เปรียบเทียบการสร้างเขื่อน

หากเปรียบเทียบการคำนวณความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ (Feasibility Study) ระหว่างโครงการเขื่อนแม่วงก์และโครงการภาคเศรษฐกิจปกติ จะเห็นว่าการรวมผลประโยชน์รับจากโครงการปลูกป่าทดแทนไว้ในผลประโยชน์ของโครงการเขื่อนแม่วงก์นั้นไม่เหมาะสม เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นอิสระต่อกัน (Independent Project) โดยทั้งสองโครงการมีกระแสรายรับและต้นทุนที่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด

ผู้เขียนลองเปรียบเทียบง่ายๆ ในกรณีที่บริษัทผู้ผลิตน้ำมันแห่งหนึ่ง ต้องการทำโครงการขุดเจาะน้ำมัน ในขณะเดียวกันก็ทำโครงการรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์และลดแรงต่อต้านจากชุมชน หากผู้อ่านเป็นคณะกรรมการบริษัทที่จะตัดสินใจลงทุนในโครงการดังกล่าว ก็คงจะพิจารณาผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับของโครงการขุดเจาะน้ำมันเป็นหลัก โดยไม่ได้รวมผลประโยชน์รับหรือต้นทุนของโครงการ CSR

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับโครงการแม่วงก์ การปลูกป่าทดแทนก็ไม่ต่างจากโครงการลดผลกระทบต่อชุมชนและลดแรงต้านต่อภาพประชาสังคม แต่การพิจารณาว่าโครงการเขื่อนแม่วงก์คุ้มทุนและคุ้มค่าหรือไม่ ควรพิจารณาเพียงกระแสประโยชน์รับและต้นทุนจ่ายที่เกิดจากโครงการเขื่อนเดี่ยวๆ เท่านั้น ไม่ควรรวมผลประโยชน์รับหรือต้นทุนจ่ายจากโครงการปลูกป่าเข้าไปด้วย

จาก 6 ข้อสังเกตเบื้องต้น จะเห็นว่ายังมีหลายแง่มุมของเขื่อนแม่วงก์ที่ยังคงไม่กระจ่างชัด และหลายประเด็นที่กำหนดสมมติฐานไม่เหมาะสม ซึ่งผู้เขียนได้ปรับเปลี่ยนสมมติฐานใหม่และลองคำนวณความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจของโครงการเขื่อนแม่วงก์ใหม่โดยเผยแพร่ไว้ในบทความ ‘ทบทวนการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ โครงการเขื่อนแม่วงก์’

ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอ คือความถูกต้องทางวิชาการเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการประเมินมูลค่าโครงการภาครัฐ ที่ควรนำเสนออย่างเที่ยงตรงและสมเหตุสมผล เพื่อเป็นมาตรฐานทั้งในด้านความโปร่งใส และสะท้อนธรรมาภิบาลของภาครัฐผู้เป็นเจ้าของโครงการ