ThaiPublica > เกาะกระแส > นักวิชาการจี้รัฐทบทวนการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน กรมชลฯทำแบบ”วิศวกรรมเหมาเข่ง” อนุมัติเงินกู้แต่ไม่รู้จะสร้างตรงไหน

นักวิชาการจี้รัฐทบทวนการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน กรมชลฯทำแบบ”วิศวกรรมเหมาเข่ง” อนุมัติเงินกู้แต่ไม่รู้จะสร้างตรงไหน

18 สิงหาคม 2013


จากโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ของรัฐบาลทั้ง 10 โมดูล 9 สัญญา ที่หลายฝ่ายกังวลถึงความเสี่ยงที่จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยเฉพาะโมดูล A1 ว่าด้วยการสร้างเก็บน้ำ และโมดูล A5 ว่าด้วยการจัดทำทางผันน้ำนั้น ทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้จัดเสวนา “ตีแผ่ความไม่เหมาะสมโครงการผันน้ำ A5 และเขื่อนแม่วงก์” โดยมีผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตัวแทนภาคประชาชนที่ลงพื้นที่จริงเข้าร่วมเสวนา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม 2556 ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคาร วสท.

นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า เขื่อนแม่วงก์สร้างอย่างไรก็ไม่คุ้มค่า หากคำนึงถึงคุณค่าทางนิเวศของป่าที่จะกลายเป็นเขื่อนนั้น เป็นพื้นที่ที่เหมะสมที่สุดในการขยายพันธุ์เสือโคร่งของผืนป่าฝั่งตะวันตก อีกทั้งยังพบว่าการสร้างทางผันน้ำตามโมดูล A5 ทับกับเขื่อนแม่วงก์ตามโมดูล A1 ด้วย และเขื่อนนี้ก็แก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้แม้แต่ชาวบ้านลาดยาวที่น้ำท่วมอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นแอ่งกระทะ และมีอาคารและสิ่งกีดขวางโดยมนุษย์ที่เป็นเหมือนเขื่อนกันน้ำออกจากพื้นที่ อีกทั้งยังมีแม่น้ำอีกหลายสายที่อยู่ใต้เขื่อนแม่วงก์

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า การฟื้นฟูป่าที่รัฐเสนอว่าจะปลูกเพิ่มให้ 36,000 ไร่ จากที่เสียไป 12,000 ไร่ นั้น ในความเป็นจริงคือไม่มีพื้นที่ให้ปลูกป่าอีกแล้ว และการที่รัฐเสนอว่าจะปลูกในพื้นที่ป่าเดิมแต่เพิ่มความหนาแน่นของต้นไม้และพันธุ์ไม้นั้นมองเป็นเพียงข้ออ้างที่จะให้สามารถสร้างเขื่อนได้มากกว่า และข้ออ้างนี้จะถูกใช้กับพื้นที่สร้างเขื่อนอื่นๆ ในโมดูล A1 ทั้งหมด อีกทั้งนายปลอดประสพ สุรัสวดี ก็มีหลายบทบาทในทางการเมือง ซึ่งโดยสรุปแล้วก็คือ มีหน้าที่เสนอ ตรวจสอบ และอนุมัติโครงการทั้งหมด ดังนั้น เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำได้อย่างจริงจัง รัฐควรสนับสนุนการจัดการน้ำในระดับตำบล สนับสนุนการเกษตรตามพื้นที่ เพราะใช้เงินน้อยกว่าและแก้ปัญหาได้จริง

ด้านนายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการในงบ 3.5 แสนล้านนั้นผิดตั้งแต่เริ่มต้น เพราะรูปแบบทางวิศวกรรมศึกษาแบบครึ่งๆ กลางๆ โดยกรมชลประทานเท่านั้น ส่วนเรื่องทางผันน้ำ แม้ว่าจะเอาต่างชาติเข้ามาแสดงกรอบแนวคิด แต่ปรากฏว่าแนวคิดที่ออกมานั้นเหมือนกับที่กรมชลประทานทำเอาไว้ นั่นก็คือต่างชาติเหล่านี้มาซื้อแนวคิดจากกรมชลประทานกันทั้งหมด แล้วก็ไปเสนอราคารัฐบาล

“กระบวนการวิศวกรรมแบบเหมาเข่งแบบนี้ไม่ถูกต้อง แต่ต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน ให้สาธารณชนและชาวบ้านทราบ ไม่ใช่อนุมัติงบประมาณไปแล้วจนถึงวันนี้ยังไม่มีใครรู้เรื่องเลยว่าจะสร้างอะไรตรงไหน สร้างอะไรก่อน แล้วใครจะกระทบบ้าง” นายปราโมทย์กล่าว

โครงการเขื่อนแม่วงก์ ที่มาภาพ :http://www.siamintelligence.com
โครงการเขื่อนแม่วงก์ ที่มาภาพ :http://www.siamintelligence.com

เช่นเดียวกับที่นายคมสัน มาลีสี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีรายงานว่าความสัมพันธ์ของโครงการทั้ง 10 โมดูล นั้นเป็นอย่างไร แล้วจะสร้างโมดูลไหนก่อน-หลัง เพราะถ้ามีการทำรายงานแล้วก็จะทำให้เห็นว่าโครงการไหนมีความจำเป็นหรือมีความเป็นไปได้ที่จะสร้าง ในช่วงเวลาที่จำกัดเช่นนี้ บางทีรัฐจะสร้างโครงการที่มูลค่าน้อยๆ ก่อน แล้วก็จะรู้ว่าแก้ไขปัญหาได้แล้ว ก็ไม่ต้องไปสร้างโครงการมูลค่าสูงๆ แต่คนในสังคมมักจะไปสนใจโครงการที่มีมูลค่าสูงๆ เท่านั้น

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า JICA เคยเสนอการทำโครงการแบบผสมผสานเอาไว้ระหว่างการสร้างเขื่อนกับการจัดการน้ำในเขื่อน และโครงการในโมดูล A1 และ A5 ซึ่งรัฐบาลน่าจะเอาแผนงานนี้ไปปรับปรุงใช้จริง

ด้านนายบัญชา ขวัญยืน รองศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่า ประเทศในยุโรปต่างพูดว่า TOR ของงบ 3.5 แสนล้านนี้เอาเปรียบผู้รับจ้างมาก ดังนั้นจึงไม่มีประเทศพัฒนาแล้วใดเข้ามาประมูลด้วย ยกเว้นญี่ปุ่นซึ่งสุดท้ายก็ไม่รับงาน ทำให้เหลือแต่ประเทศที่กำลังพัฒนาและขาดเทคโนโลยีเข้ามาประมูลอย่างที่เราเห็น เรื่องปัญหาน้ำท่วมนั้นเกิดจากฝนตกมากและการจัดการที่ไม่ดี แต่ประเทศไทยกลับมุ่งแก้ไขปัญหาด้วยการก่อสร้าง ทั้งๆ ที่หากมุ่งไปที่การจัดการน้ำแล้วจนวันนี้ครบ 1 ปี ก็จะแก้ปัญหาได้เสร็จแล้ว

“การจัดการน้ำจริงๆ แล้วควรจัดการภายในลุ่มน้ำก่อน ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้ค่อยจัดการข้ามลุ่มน้ำ แต่รัฐบาลมุ่งจัดการข้ามลุ่มน้ำก่อนถึง 4 ลุ่มน้ำด้วยกันในการสร้างทางผันน้ำจากแม่น้ำปิง สะแกกรัง ท่าจีน และแม่กลอง ซึ่งจะกระทบต่อชุมชน และนิเวศทางบกและทางน้ำมหาศาล” นายบัญชากล่าว

พร้อมกับเสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาโดยการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้ดี และใช้คลองลัดเจ้าพระยาแทนการสร้างทางผันน้ำใหม่ แต่ถ้าจะสร้างทุกโครงการให้ได้ก็อาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม และมีมากเกินความจำเป็น เพราะทุกโครงการมีขนาดใหญ่ทั้งหมด สุดท้ายหากรัฐไม่สามารถก่อสร้างโครงการใหญ่ๆ เหล่านี้ได้

“ผมกลัวว่ารัฐอาจจะหันไปสร้างโครงการเล็กๆ ที่สร้างได้ก่อนเพื่อให้ได้ใช้งบประมาณ ทั้งๆ ที่สร้างแล้วอาจไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลยก็ได้”

ด้านนายสุรศักดิ์ คลังสุภาวิพัฒน์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ในจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับโครงการสร้างทางผันน้ำ พบว่า ประชาชนในพื้นที่สมุทรสงครามไม่เห็นด้วยที่จะผลักน้ำลงมาให้ เพราะแม่น้ำแม่กลองมีน้ำมากอยู่แล้ว ยิ่งฤดูน้ำหลากน้ำก็เยอะขึ้นอีก อีกทั้งก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเป็นพื้นที่ตรงนี้ด้วย เพราะยังไม่มีใครมาให้ข้อมูลเลยว่าจะสร้างตรงไหน อย่างไร นอกจากปริมาณน้ำที่จะมาเพิ่มขึ้นเท่าตัวแล้ว ชาวบ้านก็กังวลปัญหาตลิ่งพังจากการขุดลอกขยายคลองด้วย รวมถึงการระบายน้ำออกทะเลว่าจะทันหรือไม่

“ชาวบ้านไม่เชื่อว่าการสร้างทางผันน้ำจะแก้ไขน้ำท่วมได้ และไม่คุ้มค่าที่จะสร้างกว่า 5 ปี เพื่อป้องกันน้ำท่วมเพียงครั้งเดียว เหมือนเป็นทางเก็บลมมากกว่า อีกทั้งยังเกิดความสงสัยว่าระยะทางผันน้ำ 300 กิโลเมตร ถ้าสร้างได้ไม่ตลอดทั้งสายแล้วน้ำจะเดินทางมาได้อย่างไร” นายสุรศักดิ์กล่าว

ด้านนายทีฆวุฒิ พุทธภิรมย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวว่า จากโครงการสร้างทางผันน้ำในโมดูล A5 รัฐบาลก็บอกเพิ่มว่าเป็นคลองชลประทานด้วยเพื่อให้ประชาชนยอมรับ แต่ปัญหาคือจะเอาต้นทุนน้ำมาจากไหน จะเก็บน้ำอย่างไรในเมื่อมันคือคลองส่งน้ำ ในเรื่องของขนาดคลองรัฐบาลประกาศไว้ที่ลึก 10 เมตร และมีแนวโน้มว่าจะเป็นคลองลอย นั่นก็คือ วันหนึ่งหน้าบ้านคนที่อยู่ตามแนวทางผันน้ำจะมีคันดินถมสูงอย่างน้อย 11 เมตร แล้ววิถีชุมชนจะเป็นอย่างไร และเชื่อว่าจะเกิดปัญหาดินถมไม่พอด้วย ทั้งนี้ถ้าหากประเทศต้องการจะดำเนินโครงการเหล่านี้จริง อยากให้ใช้หลักวิทยาศาสตร์มากๆ ไม่ใช่ทำตามนักการเมือง

ด้านนายทีฆวุฒิ พุทธภิรมย์ ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำกล่าวว่า รายงานความเหมาะสมหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่รัฐบาลทำเพื่อให้ก่อสร้างโครงการเหล่านี้ได้ มีหลายเรื่องหลายข้อมูลที่รับไม่ได้ทางวิชาการ การสร้างทางผันน้ำจะทำให้แม่น้ำปิงและวังหายไป และเจ้าพระยาจะกลายเป็นยมและน่านแทน อีกทั้งจะสร้างความขัดแย้งระหว่างชุมชนเจ้าพระยาตอนบนและตอนล่างเนื่องจากการแย่งน้ำกัน ที่สำคัญคือ ที่ปรึกษาโครงการ (PMC) ที่รัฐบาลพยายามหามาเพื่อรับรองโครงการให้ผ่าน ตอนนี้รัฐก็พยายามให้มหาวิทยาลัยมาทำหน้าที่นี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดแล้วจะทำให้ถูกต้องได้อย่างไร