ThaiPublica > คอลัมน์ > พนักงานอัยการเป็นทนายความให้รัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทจำกัดได้อย่างไร

พนักงานอัยการเป็นทนายความให้รัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทจำกัดได้อย่างไร

3 มิถุนายน 2014


นายล่องหน

ย้อนความหลัง…

หลังจากที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช. ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ ก็มีหลายประเด็นที่สังคมไทยคาดหวังให้ คสช. เข้ามาแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองที่สั่งสมมานาน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจ

หน่วยงานรัฐวิสาหกิจของบ้านเรานั้นมีได้หลายประเภท ประเภทแรก คือ รัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยตรง อันได้แก่ การไฟฟ้า การประปา การรถไฟ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งรัฐวิสาหกิจประเภทนี้จะมีหน้าที่และอำนาจรัฐบางประการ เพราะถือว่าเป็นหน่วยงานที่ต้องเป็นแขนขาของรัฐในการให้บริการสาธารณะแท้ๆ เช่น อำนาจในการเวนคืนที่ดิน เป็นต้น ซึ่งรัฐวิสาหกิจประเภทนี้จึงมีข้าราชการกระทรวงต่างๆ เป็นคณะกรรมการบริหาร

แต่ยังมีรัฐวิสาหกิจอีกประเภทหนึ่งที่กฎหมายได้กำหนดไว้ว่า บริษัท/องค์กรใดก็ตามที่มีหน่วยงานของรัฐ/หน่วยงานราชการ เข้าไปถือหุ้นเกิน 50% ให้ถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจด้วย รัฐวิสาหกิจประเภทนี้ที่เรารู้จักกันดี ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ฯลฯ

ผู้เขียนเกิดความสงสัยว่า หากดูตามโครงสร้างการบริหารงานแล้ว ปตท. กับ การบินไทย เป็นบริษัทเอกชนที่ประกอบธุรกิจแบบเอกชนทั่วไป แต่เหตุใดคณะกรรมการของบริษัทกลับมีแต่ข้าราชการผู้กุมอำนาจรัฐ โดยผู้เขียนขอยกตัวอย่างรายชื่อข้าราชการที่เป็นคณะกรรมการของ ปตท. มาแจกแจงดังนี้

1. อัยการสูงสุด
2. ปลัดกระทรวงพลังงาน
3. ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
4. ผู้บัญชาการทหารอากาศ
5. เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา
6. เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
7. ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

ผู้เขียนยอมรับว่า พอเห็นรายชื่อข้าราชการเหล่านี้เป็นกรรมการ ปตท. ก็หนาวๆ ร้อนๆ แทนบริษัทเอกชนรายอื่นที่จะมีข้อพิพาททางกฎหมายหรือธุรกิจกับ ปตท. เสียจริงๆ

หลักการเศรษฐกิจเสรีนิยมที่ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกเขายึดถือปฏิบัติกันก็คือ รัฐจะไม่เข้ามาแข่งขันประกอบธุรกิจกับเอกชน แต่ในบ้านเมืองเรา รัฐกลับดำเนินการตรงกันข้าม โดยการส่งคนของตัวเองเข้ามาบริหารบริษัทเอกชน ซึ่งต้องไปแข่งขันกับเอกชนรายอื่นในตลาด

อันที่จริงก็อยากจะเปิดเผยเกี่ยวกับความได้เปรียบของบริษัทลูกครึ่งรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ทุกแง่มุม แต่อาจจะเป็นการนอกเรื่องไปไกลกว่าหัวข้อที่อยากจะพูดถึงไปเสียก่อน

การเป็นทนายความให้กับรัฐวิสาหกิจของอัยการ

ผู้เขียนเข้าใจว่า โดยปกติอัยการนั้นถือว่าเป็นทนายของแผ่นดิน มีหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์หน่วยงานของรัฐในทางกฎหมาย ซึ่งได้แก่หน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจประเภทที่มีกฎหมายจัดตั้งโดยตรง แต่ตอนนี้อัยการสูงสุดได้ขยายหน้าที่ของตัวเองออกมาเป็นทนายความให้กับรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทจำกัดด้วย!!

ดังนั้น หากเราๆ ท่านๆ เกิดไปมีข้อพิพาททางกฎหมายกับ ปตท. หรือ การบินไทย ก็จะได้ประสบพบเจอกับพนักงานอัยการที่เป็นทนายความให้กับบริษัทประเภทนี้ ซึ่งปกติควรจะได้เจอในกรณีที่เป็นข้อพิพาทกับหน่วยงานราชการเท่านั้น

เท่าที่ทราบมาว่า การที่อัยการเป็นทนายความให้บริษัทรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ ไม่มีค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างแต่อย่างใด!! เพราะอัยการแต่ละท่านมีเงินเดือนจากรัฐอยู่แล้ว ผู้เขียนจึงสงสัยต่อไปว่า การทำหน้าที่ของท่านอัยการให้กับบริษัทประเภทนี้ คือ การทำเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของรัฐอย่างเดียวหรือ จึงต้องถือเอาภาษีของประชาชนเป็นค่าจ้างทำงาน แล้วกลุ่มผู้ถือหุ้นทั่วไปอีกจำนวนหนึ่งในบริษัทก็ได้รับประโยชน์จากผลงานท่านอัยการด้วยใช่หรือไม่ หรือเป็นเพราะบริษัทประเภทนี้มีท่านอัยการสูงสุดเป็นคณะกรรมการบริหารด้วย จึงมีสิทธิที่จะใช้งานทนายความแผ่นดินได้ แต่บริษัทเอกชนอื่นไม่มีสิทธินี้ เพราะไม่มีท่านอัยการสูงสุดเป็นคณะกรรมการบริษัทหรือครับเจ้านาย!!

ข้อเสนอ…ผู้เขียนเห็นว่า การที่อัยการเป็นทนายความให้กับหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจประเภทที่กฎหมายจัดตั้งขึ้นนั้นเป็นการถูกต้อง เพราะหน้าที่ของอัยการคือการปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ แต่การที่อัยการเข้ามาเป็นทนายความให้กับรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทนี้ ซึ่งผู้เขียนไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการไม่ยุติธรรมกับประชาชนผู้เสียภาษีที่ต้องจ่ายเงินมาเป็นเงินเดือนให้อัยการมาเป็นทนายให้กับบริษัทเอกชนประเภทนี้ และยังเป็นการเอาเปรียบเอกชนรายอื่นที่จะต้องมีข้อพิพาทกับบริษัทประเภทนี้ด้วย ที่จะต้องเสียเงินเสียทองในค่าใช้จ่ายทางกฎหมาย ขณะที่บริษัทรัฐวิสาหกิจประเภทนี้ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

นี่ล่ะครับ ความได้เปรียบของการที่บริษัทเชิญข้าราชการที่มีอำนาจเข้ามาเป็นคณะกรรมการบริษัท สุดท้ายก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ที่ผลประโยชน์ของรัฐกับบริษัทจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องทับซ้อนกัน ฉะนั้น ไหนๆ ท่าน คสช. ก็มีเจตนาดีที่จะปฏิรูปบ้านเมืองแล้ว ขอให้ช่วยปฏิรูปเรื่องนี้ด้วยเถิด ด้วยการส่งข้าราชการประจำกลับกรมกองกันให้หมด แล้วเชิญบุคคลที่มีความสามารถและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาแทน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับเอกชนรายอื่นๆ และยังเป็นการป้องกันมิให้ข้าราชการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่งด้วยครับเจ้านาย!!