ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มลภาวะจีน ปัญหาที่ท้าทายมนุษยชาติ (5) : “หมอกพิษ” ข้อหามือที่ 3 ชีวิตแต่งงาน

มลภาวะจีน ปัญหาที่ท้าทายมนุษยชาติ (5) : “หมอกพิษ” ข้อหามือที่ 3 ชีวิตแต่งงาน

23 มิถุนายน 2014


รายงานโดย อิสรนันท์

แม้ว่าผู้นำจงหนานไห่ในกรุงปักกิ่งจะพยายามเร่งออกมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขวิกฤติการณ์มลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ รวมไปถึง “หมอกพิษ” ในเมืองสำคัญหลายเมือง แต่ค่อนข้างล่าช้าหรืออีกนัยหนึ่งแทบจะละเลยผลกระทบทางสังคม ซึ่งนับวันประชาชนยิ่งร้องเรียนมากขึ้นว่าตกเป็นเหยื่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด นอกจากสุขภาพจะทรุดโทรมลงแล้ว ยังเกิดปัญหาครอบครัวตามมาถึงขั้นหย่าร้างกันก็มี

ดังกรณีของชายคนหนึ่ง ทราบแต่เพียงว่าแซ่หวัง พำนักอยู่ในกรุงปักกิ่ง ได้ก่อคดีชวนหัวที่ทันยุคทันสมัยขึ้น เมื่อไปยื่นเรื่องที่ศาลยุติธรรมท้องถิ่นขอหย่าขาดจากภรรยา โดยระบุว่า “หมอกพิษ” เป็นมือที่สามที่บ่อนทำลายความสัมพันธ์และชีวิตแต่งงานของตัวเองจนยับเยิน

ทั้งนี้ นายหวังและภรรยาได้ครองคู่กันอย่างถูกต้องตามประเพณีตั้งแต่ปี 2551 กระทั่งมีลูกชายเป็นพยานรักด้วยกันคนหนึ่ง แต่นับตั้งแต่เกิดมา ลูกชายก็มีปัญหาสุขภาพอย่างรุนแรง โดยแพทย์ระบุว่าสาเหตุสำคัญมาจากสภาพอากาศเป็นพิษ

ด้วยความรักลูก ภรรยานายหวังจึงพาพาลูกชายไปสูดอากาศบริสุทธิ์ที่รีสอร์ทในมณฑลไหหลำ ทางตอนใต้สุดของประเทศ ด้วยความหวังเปี่ยมล้นว่าจะทำให้ลูกชายแข็งแรงขึ้น แต่นึกไม่ถึงว่าจะทำให้สามีใช้เป็นข้ออ้างในการขอหย่า

นายหวังให้เหตุผลสั้นๆ เพียงแค่ว่า “หมอกพิษไม่เพียงแต่ทำร้ายสุขภาพของลูกชาย แต่ยังเหยียบย่ำชีวิตคู่ของผมจนย่อยยับอีกด้วย จากการที่ต้องอยู่ไกลกันคนละทิศคนละทางอย่างนี้”

ไม่ว่าเหตุผลของนายหวังจะฟังขึ้นหรือไม่ก็ตาม หรือเป็นเพียงแค่การฉวยโอกาสใช้สถานการณ์หมอกพิษมาเป็นข้ออ้างบังหน้า หลายคนอดห่วงไม่ได้ว่าถ้าศาลตัดสินให้นายเฉินสามารถหย่าขาดขาดจากภรรยาได้จริง เนื่องจากมี “หมอกพิษ” เป็นมือที่สาม อาจจะเป็นการนำร่องให้สามีอีกหลายคนเอาอย่างได้ เนื่องจากขณะนี้ยอดการร้องทุกข์เกี่ยวกับปัญหาหมอกพิษในกรุงปักกิ่งเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้

สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของเทศบาลนครปักกิ่งเปิดเผยว่า ระหว่างเดือน ม.ค. – พ.ค. ที่ผ่านมา มีการร้องทุกข์เกี่ยวกับหมอกพิษรวม 12,599 ราย เพิ่มขึ้นถึง 124 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 ในจำนวนนี้กว่า 70 เปอร์เซ็นต์เป็นการร้องทุกข์เรื่องอากาศเสีย

การร้องทุกข์นี้มีขึ้นหลังจากทางการได้พยายามออกมาตรการหลายมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศ มีทั้งเปิดศูนย์ฮอตไลน์ให้ประชาชนโทรศัพท์เข้ามาร้องทุกข์ หรือจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า นอกเหนือจากส่งเสริมให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาในการรณรงค์ปราบปรามผู้ละเมิดกฎหมายป้องกันสิ่งแวดล้อม และสามารถร้องเรียนศาลสถิตยุติธรรมหากได้รับผลกระทบจากมลภาวะต่างๆ

ขณะเดียวกัน ทางการก็เพิ่ม “ดาบ” ให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบที่จะลงอาญาผู้ละเมิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมให้หนักหน่วงขึ้น จากถ้อยแถลงของสำนักงานอัยการแห่งรัฐ ระบุว่าเมื่อปีที่แล้ว ได้ส่งฟ้องผู้ต้องสงสัยก่ออาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อมกว่า 20,000 ราย ในจำนวนนี้ได้สั่งจับกุมคุมขัง กว่า 7,000 ราย

นอกจากนี้ สำนักอัยการแห่งรัฐ ยังได้จัดตั้ง “กลไกโต้ตอบอย่างรวดเร็ว” เพื่อรับมือกับอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม และเพื่อกำราบกลุ่มบริษัทที่ปล่อยมลพิษรวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่ปกป้องบริษัทเหล่านี้ ปรากฏว่าเฉพาะเดือน มี.ค. – เม.ย. ที่ผ่านมา มีการไต่สวนผู้ต้องหา 228 ราย จากผู้ต้องหา 349 รายที่ถูกจับในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ไม่นับรวมการจับกุมผู้ต้องสงสัยอีก 1,375 ราย หลายคนเป็นเจ้าหน้าที่ที่ถูกจับในข้อหารับสินบนและละเมิดอำนาจหน้าที่ในการรับรองโครงการที่ปล่อยมลภาวะ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่ทำตัวเป็นผู้คุ้มครองผู้กระทำผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ดี นักธุรกิจหัวใสหลายรายกลับสามารถสร้างโอกาสจากวิกฤติมลภาวะจนมั่งคั่งร่ำรวยไปตามๆ กัน หนึ่งในนั้นก็คือธุรกิจผลิต “ถุงลมอัดอากาศ” จากหุบเขาธรรมชาติมาให้ชาวเมืองสูดออกซิเจนบริสุทธิ์ ต่อยอดไอเดียผลิตออกซิเจนกระป๋องขายเมื่อสองปีที่แล้ว

ที่มาภาพ : http://i.dailymail.co.uk/i/pix/2014/03/30/article-2592762-1CB0750000000578-488_634x359.jpg
ที่มาภาพ : http://i.dailymail.co.uk/i/pix/2014/03/30/article-2592762-1CB0750000000578-488_634x359.jpg

ล่าสุด บริษัทการท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในเมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ทางภาคกลางของประเทศเกิดหัวใสจัดกิจกรรมรับอากาศบริสุทธิ์จากถุงลมอัดอากาศ ไม่น่าเชื่อว่ามีประชาชนต่อแถวยาวเหยียดรอสูดอากาศจาก “ถุงสุญญากาศ” สีน้ำเงิน ขนาดเท่าหมอนหนุนศีรษะ จำนวน 20 ใบ ซึ่งแขวนเรียงรายพร้อมกับหน้ากากพลาสติกใส ภายในอัดแน่นด้วยอากาศคุณภาพดีจากเขตหุบเขาธรรมชาติในอุทยานการท่องเที่ยวเหล่าจวิน เขตหลวนชัง เมืองลั่วหยาง ห่างจากนครเจิ้งโจวราว 300 กม.

ผู้จัดการอุทยานการท่องเที่ยวเหล่าจวินเปิดเผยว่า โครงการนี้มีขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนในท้องถิ่นตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมกับเสริมว่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่อุทยานแห่งนี้เป็นป่าธรรมชาติ จึงอุดมไปด้วยออกซิเจนราว 30,000 ไอออนต่อลูกบาศก์เมตร บางพื้นที่อาจสูงถึง 50,000 ไอออน

อย่างไรก็ดี ชาวบ้านแต่ละคนต่างโอดครวญว่ามีเวลาน้อยเกินไปคือแค่ 2-3 นาทีเท่านั้นในการสูดอากาศสะอาดบริสุทธิ์ เนื่องจากมีปริมาณจำกัด บางรายถึงกับพยายามรีดเอาอากาศออกมาให้ได้มากที่สุด ชาวบ้านหลายคนกล่าวด้วยว่าหลังจากได้สูดอากาศดีๆ เช่นนี้แล้ว ทำให้อยากจะเดินทางไปสูดอากาศบริสุทธิ์ตามสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นป่าเขา

กิจกรรมนี้เท่ากับสานต่อธุรกิจเกิดใหม่ธุรกิจหนึ่งที่สามารถเติบโตอย่างรวดเร็วแทบไม่น่าเชื่อท่ามกลางกระแสดิ้นรนหาอากาศสะอาดบริสุทธิ์มาสูดหายใจ หนึ่งในผู้นำร่องธุรกิจใหม่ที่อิงกระแสหมอกพิษก็คือนายเฉิน กวงเปียว มหาเศรษฐีผู้สร้างตัวจากธุรกิจรีไซเคิลก่อนจะหันมาจับธุรกิจจำหน่าย “อากาศกระป๋อง” และได้สร้างปรากฏการณ์ที่แทบไม่น่าเชื่อขึ้น เพราะแค่วางตลาด 10 วันเท่านั้นก็สามารถจำหน่ายได้มากกว่า 10 ล้านกระป๋อง

โดยอากาศกระป๋องซึ่งวางขายในราคากระป๋องละ 4-5 หยวน (20-25 บาท) มีแหล่งผลิตอยู่ใน 10 เขตปฏิวัติปลดแอกประชาชน เช่น ในเขตเยี่ยนอัน มณฑลส่านซี และใน 10 เขตชนชาติกลุ่มน้อย เช่นแชงกรีลา มณฑลยูนนาน รวมทั้งที่ไต้หวันด้วย กระบวนการผลิตจะเริ่มขึ้นเมื่อชาวบ้านในพื้นที่นั้นออกไปเก็บอากาศบริสุทธิ์ด้วยตัวเอง จากนั้นนำไปผ่านกระบวนการบีบอัดลงกระป๋องฝาดึง ปิดผนึก และบรรจุภัณฑ์ที่มีอยู่หลายขนาดแบ่งเป็นสีเขียวและสีเหลือง สำหรับอายุการใช้งานนั้น หนึ่งกระป๋องสามารถใช้งานได้หนึ่งเดือน เมื่อเปิดออกใช้แล้วอากาศจะไม่รั่วไหลออก เพราะเป็นออกซิเจนไอออนลบ

ตอนแรกนายเฉิน ซึ่งเป็นประธานบริษัทเจียงสู หวงผู่ รีนิวเอเบิล รีซอร์สเซส ยูทิไลเซชั่น ยังไม่ค่อยมั่นใจมากนักว่าตลาดจะตอบรับมากน้อยแค่ไหน จึงผลิตแค่หนึ่งแสนกระป๋องแล้วใช้รถแล่นออกขายไปตามสถานที่ต่างๆ ระหว่างเปิดตัวผลิตภัณฑ์ครั้งแรก ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในแชงกรีลา แต่ปรากฏว่าอากาศกระป๋องซึ่งบนกระป๋องจะติดภาพของนายเฉิน พร้อมคำขวัญอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อาทิ “กินใช้อย่างประหยัด” “ชีวิตแบบคาร์บอนต่ำ ทุกคนมีส่วนรับผิดชอบ” “นอนเร็ว 1 ชั่วโมงประหยัดไฟได้ 1 ชั่วโมง” กลับขายดีถึง 10 ล้านกระป๋องในช่วงแค่ 10 วันเท่านั้น

นายเฉินเปิดเผยว่า ตอนแรก ตัวเองได้ทดลองสูดอากาศจากกระป๋องแล้ว ปรากฏว่ารู้สึกแจ่มใส สบายใจ และหายเครียด จึงคิดจะผลิตสินค้าอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนี้โดยไม่แสวงหากำไร เพียงแต่ต้องการกระตุ้นให้ประชาชนรู้จักรักษาสิ่งแวดล้อม และลดการก่อมลภาวะ หรือหลีกเลี่ยงการใช้ชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่มีคาร์บอนต่ำ “หากเราไม่เริ่มรักษาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ตอนนี้ หลังจากนี้อีกสัก 20-30 ปี ลูกหลานของเราอาจต้องใส่หน้ากากกันก๊าซพิษ แบกถังออกซิเจน เดินไปสูดอากาศไปก็ได้ ใครจะว่าผมโอเวอร์ ว่าผมว่าชอบโชว์ออฟ ก็ยังดีกว่าที่ผมไม่ได้ทำอะไรเพื่อสังคมเลย”

นอกเหนือจากช่วยรณรงค์ให้ทุกคนร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแดล้อมและช่วยให้ชาวบ้านมีงานทำแล้ว “อากาศกระป๋อง” ของนายเฉินยังมีส่วนช่วยชาติด้วย เพราะในฐานะที่เป็นคนชาตินิยมจ๋า ยามเมื่อเห็นประเทศชาติเปิดศึกพิพาทแย่งชิงเกาะเตียวอวี๋กับญี่ปุ่นที่เปลี่ยนไปเรียกว่าเกาะเซนกากุ เลือดรักชาติของนายเฉินก็พุ่งกระฉูด รีบมอบรายได้จากการขายอากาศกระป๋องลอตแรกให้กับกองทัพเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการพิทักษ์อธิปไตยเหนือหมู่เกาะเตียวอวี๋ ไม่นับรวมเรื่องที่ยอมควักกระเป๋าส่วนตัวลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ ว่าเกาะเตียวอวี๋เป็นของจีน

อีกธุรกิจหนึ่งที่กำลังสดใส่จากวิกฤติ “คลื่นอากาศร้อน” ก็คือธุรกิจขายประกันภัย คุ้มครองผู้ซื้อที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อนจัด โดยเฉาะในช่วงเดือน พ.ค. ซึ่งหลายมณฑลของแดนมังกร ไล่ตั้งแต่มณฑลซินเกียง เทียนสิน เหอเป่ย ซานตง เหอหนาน ไปจนถึงมณฑลกวางตุ้ง รวมไปถึงฮ่องกงต่างเผชิญกับปัญหาอากาศร้อนจัดผิดปรกติ บางพื้นที่อุณหภูมิพุ่งสูงกว่า 40 องศา

ทำให้บริษัทประกันภัยหลายแห่งได้โอกาสสแปลงวิกฤติเป็นโอกาสทองฟันกำไรก้อนใหญ่ เมื่อเริ่มเปิดฉากธุรกิจประกันภัยอากาศร้อน โดยบริษัทจง อัน ออนไลน์ พรอพเพอร์ตี อินชัวร์แรนซ์ บริษัทประกันภัยออนไลน์แห่งแรกของจีน ได้เสนอกรมธรรม์ใหม่ “ประกันภัยอากาศร้อน” ผ่านเว็บไซต์เถาเป่า เว็บไซต์ที่ให้บริการซื้อขายทางออนไลน์ในแดนมังกร

จากนั้นบริษัทเทนเซ็นต์ บรรษัทด้านสื่อสารโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ และ ผิง อัน อินชัวร์แรนซ์ ผู้ให้บริการประกันภัยชั้นนำ ร่วมกับอาลีบาบา เจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซ ก็กระโจนสู่สนามแข่งขันด้วย ด้วยการเสนอจะจ่ายเงินชดเชยได้หากระหว่างวันที่ 21 มิ.ย. – 23 ส.ค. มีจำนวนวันที่อุณภูมิสูงกว่า 37 องศาเซลเซียสมากกว่าเงื่อนไขที่กรมธรรม์กำหนดไว้

โดยผู้เอาประกันสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันภัยอากาศร้อนในราคาหน่วยละ 10 หยวน (50 บาท) แต่ซื้อได้ไม่เกิน 99 หน่วย แต่ละหน่วยจะได้เงินชดเชยคืน 5 หยวนในวันที่อุณหภูมิสูงกว่าเงื่อนไขที่กรมธรรม์กำหนดไว้ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามพื้นที่

ต่อกรณีนี้ นักวิเคราะห์หลายคนให้ความเห็นว่า หากดูตามบันทึกข้อมูลสภาพอากาศที่ผ่านมา เป็นเรื่องยากที่ผู้เอาประกันจะได้รับผลประโยชน์ตามที่เงื่อนไขกรมธรรม์กำหนด กระนั้น เว็บไซต์เถาเป่าเผยว่าเพียงแค่ไม่กี่วันที่เปิดการซื้อกรมธรรม์ประเภทนี้ปรากฏว่ามีคนยอมซื้อกรมธรรม์นี้กว่า 20,000 หน่วย