เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ และ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ มอบนโยบายแก่ข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 กระทรวงการคลัง
ภายหลังการประชุมมอบนโยบาย พล.อ.อ. ประจิน ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจของ คสช. เปิดเผยว่า การประชุมวันนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนไทยและต่างชาติ โดยร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ หรือ “Roadmap” ทั้งนี้จะมีการสรุปรายละเอียดเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ของ คสช. ในสัปดาห์หน้า
พล.อ.อ.ประจินกล่าวต่อว่า นโยบายเร่งด่วนที่สำคัญของ คสช. คือ 1) การจ่ายเงินจำนำข้าวที่ติดค้างชาวนา 92,000 ล้านบาท โดยใช้สภาพคล่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 40,000 ล้านบาท และกู้จากสถาบันการเงินอีก 50,000 ล้านบาท เริ่มจ่ายเงินให้ชาวนาตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นไป หากเร่งชำระหนี้ที่ติดค้างชาวนาจนครบจะทำให้เศรษฐกิจปี 2557 ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 0.2% ต่อปี คาดว่าเฉลี่ยทั้งปีขยายตัวที่ 2.2% ต่อปี
2) เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 และเร่งจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2558 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป การจัดทำงบฯ ปี 2558 จะอยู่ภายใต้กรอบ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2557 โดยนำโครงการลงทุนในปีงบประมาณ 2557 ที่ยังไม่ได้ดำเนินการ หรือเบิกจ่ายไม่ทัน มาเบิกจ่ายในปี 2558 ซึ่งจะเน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน แก้ปัญหาน้ำแล้งและป้องกันปัญหาอุทกภัย ส่วนการใช้จ่ายเงินลงทุนนั้นจะใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
3) จัดเตรียมมาตรการทางด้านการเงินและการคลัง ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ได้มอบหมายให้นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ชี้แจงรายละเอียด สรุปว่าจะมีมาตรการด้านการเงิน โดยขอความร่วมจากสมาคมธนาคารไทยและสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ปล่อยสินเชื่อเสริมสภาพคล่องให้กับ SMEs ให้มีแหล่งเงินทุนเพียงพอ และมอบหมายให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อให้กับ SMEs เพิ่มอีก 165,000 ล้านบาท ส่วนมาตรการด้านภาษีกรมสรรพากรจะขยายระยะเวลาในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่อัตรา 7% ออกไปอีก 1 ปี
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะเดินหน้าโครงการลงทุนตามที่กำหนดในแผนบริหารจัดการน้ำหรือไม่ พล.อ. ฉัตรชัยชี้แจงว่า ตามนโยบาย พล.อ. ประยุทธ์ จันโอชา หัวหน้า คสช. เรื่องโครงการลงทุนที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำต้องทำอย่างแน่นอน แต่เลือกทำเฉพาะบางโครงการที่บรรจุแผนการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท หลักการในการเลือกจะต้องเป็นโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และเป็นโครงการลงทุนที่มีความต่อเนื่องตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ นอกจากแก้ปัญหาน้ำแล้งแล้ว ยังช่วยป้องกันปัญหาอุทกภัยได้ด้วย รวมทั้งเร่งรัดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น รถไฟรางคู่ หากสามารถดำเนินการได้ก็ให้ดำเนินการทันที
“สำหรับแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการลงทุนขนาดใหญ่และโครงการบริหารจัดการน้ำ ส่วนหนึ่งมาจากงบลงทุนปี 2557 และอีกส่วนมาจากงบกลาง โดย คสช. ให้ความสำคัญในเรื่องของการรักษาวินัยการคลังอย่างเคร่งครัด” พล.อ. ฉัตรชัยกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า จะมีโครงการรับจำนำข้าวต่อไปหรือไม่ พล.อ. ฉัตรชัยตอบว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ คงต้องขอหารือกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดก่อน แต่อย่างไรก็ตาม การที่เราจะแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรทั้งหมด ต้องเน้นไปที่ความยั่งยืนและคำนึงถึงกลไกตลาดเป็นสำคัญ
ด้าน น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า หลังจากที่ ธ.ก.ส. เริ่มจ่ายเงินจำนำข้าวให้กับชาวนาแล้ว วันที่ 26 พฤษภาคม 2556 กระทรวงการคลังออกจดหมายเชิญสถาบันการเงินทั้ง 32 แห่ง มายื่นซองประกวดราคา ปล่อยกู้เงินให้กับ ธ.ก.ส. วงเงิน 50,000 ล้านบาท เป็นการปล่อยกู้แบบ Term loan วงเงินขั้นต่ำ 2,000 ล้านบาท อายุเงินกู้ 3 ปี ลอตแรก 30,000 ล้านบาท กำหนดวันยื่นซองประกวดราคาวันที่ 6 มิถุนายน 2557 และลอตที่ 2 วงเงิน 20,000 ล้านบาท ยื่นซองประกวดราคาวันที่ 13 มิถุนายน 2557
ขณะที่นายสุทธิชัย สังขมณี อธิบดีกรมสรรพากร เตรียมเสนอที่ประชุม คสช. ให้ขยายระยะเวลาจัดเก็บ VAT ที่อัตรา 7% ออกไปอีก 1 ปี และออกพระราชกฤษฎีกาปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล 20% เป็นการถาวร นอกจากนี้กรมสรรพสากรยังเตรียมเสนอให้มีการปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอัตราสูงสุด ซึ่งปัจจุบันจัดเก็บที่อัตรา 35% เพื่อไม่ให้เสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเพิ่มค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลจาก 60,000 บาท เป็น 120,000 บาท ให้สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพในปัจจุบัน แต่จะต้องมีการทบทวนสิทธิประโยชน์ประเภทค่าลดหย่อนบางรายการลงมา เช่น ค่าลดหย่อนภาษีจากการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)