เมื่อวันที่ 18 เมษายาน 2557 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางมาให้ปากคำต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณี ป.ป.ช. ตั้งข้อกล่าวหานางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการจำนำข้าว จนทำให้รัฐเสียหายเป็นมูลค่าเกือบ 4 แสนล้านบาท โดยนายกิตติรัตน์ในฐานะพยานปากเอกใช้เวลาแก้ต่างข้อกล่าวหาแทนนางสาวยิ่งลักษณ์นานร่วม 4 ชั่วโมง
ภายหลังการให้ปากคำกับ ป.ป.ช. นายกิตติรัตน์ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า วันนี้ตนได้เดินทางมาให้ปากคำ ป.ป.ช. พร้อมกับมอบเอกสารหลักฐานประกอบคำให้การจำนวน 90 หน้าต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยืนยันว่าการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวอยู่ภายใต้กรอบวินัยการคลัง และมีการรายงานผลการดำเนินงานของโครงการรับจำนำข้าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นระยะๆ จากนั้นนายกิตติรัตน์เปิดให้ผู้สื่อข่าวซักถามในประเด็นต่างๆ
ผู้สื่อข่าวถามว่า โครงการจำนำข้าวภายใต้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ข้อเท็จจริงเกิดความเสียหายเป็นวงเงินรวมเท่าไหร่ นายกิตติรัตน์ชี้แจงว่า ข้อมูลที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณานั้น เริ่ม “คำนวณความเสียหาย” ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2554 รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ยังไม่ได้เริ่มดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเลย ส่วนตัวเลขความเสียหายก่อนหน้านี้ (ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2554) ก็มีผลขาดทุนคงค้างอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ในการตั้งสมมติฐานของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ในเรื่องของมูลค่าสินค้าคงคลัง หรือ “สต็อกสินค้า” เพื่อกำหนดเป็นนโยบาย อาจไม่ตรงกับความเป็นจริง ยกตัวอย่างเช่น
“ในปีงบประมาณ 2555-2557 รัฐบาลจัดงบประมาณมาชดเชยความเสียหายโครงการจำนำข้าว ไม่ได้ตั้งงบฯ ดูแลเฉพาะโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เท่านั้น แต่จัดงบฯ ไปชดเชยความเสียหายโครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆ ที่ค้างมาจากอดีตด้วย โดยเฉพาะในปี 2555 และ 2556 มีการจัดสรรงบฯ ไปชดเชยความเสียหายให้กับโครงการรับจำนำข้าวในอดีตมากกว่าโครงการรับจำนำข้าวที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งผมได้ชี้แจง ป.ป.ช. ว่าการจัดสรรวงเงินไปชดเชยความเสียหายโครงการจำนำข้าวในอดีต ก็ไม่ได้เป็นวงเงินมากมายจนเกินเลย” นายกิตติรัตน์กล่าว
นายกิตติรัตน์กล่าวต่อไปว่า ส่วน “โครงการประกันราคาข้าว” ที่ไม่มีผลขาดทุนเกิดขึ้นเพราะไม่มีการรับจำนำ ไม่มีการซื้อข้าว และไม่มีการขาย แต่จัดงบฯ ไปจ่ายชดเชยส่วนต่างของราคาข้าวตลาดให้ชาวนาที่มาขึ้นทะเบียน ในส่วนนี้ไม่ได้เรียกว่า “ขาดทุน” แต่ก็เป็นการจัดงบฯ ไปชดเชยความเสียหายเหมือนกัน ควรทำความเข้าใจด้วย ไม่ใช่ทำโครงการแทรกแซงราคาข้าวในรูปแบบอื่นแล้วไม่มีการขาดทุนจึงไม่ต้องจัดงบฯ ไปชดเชยความเสียหาย ทำรูปแบบไหนก็ต้องใช้งบฯ ทั้งนั้น
“แต่การจัดสรรงบฯ หลักแสนล้านบาทมาดูแลคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องชาวนา 3.7 ล้านครัวเรือน หรือมากกว่า 12 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 20% ของประชากรทั้งหมด ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องเกินเลย โครงการอื่นๆ ที่ดูแลทุกข์สุขประชาชน ก็ใช้วงเงินพอๆ กับการจำนำข้าว” นายกิตติรัตน์กล่าว
นายกิตติรัตน์กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย เป็นสัญญาประชาคมที่แถลงเป็นนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554 จึงเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการตามที่ได้แถลงไว้ การตั้งราคารับจำนำที่ 15,000 บาทต่อตันข้าวเปลือกเป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว ส่งผลให้ชาวนามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่เมื่อสังคมเกิดความวิตกกังวลว่าการตั้งราคารับจำนำสูงเกินไป รัฐบาลจึงปรับลดราคารับจำนำข้าวนาปรังปี 2555/56 เหลือตันละ 12,000 บาท แต่ก็มีกระแสคัดค้านจากสังคมและผู้นำฝ่ายค้านเอง รัฐบาลจึงปรับขึ้นเป็น 15,000 บาทต่อตันเหมือนเดิม
ก่อนหน้านี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินว่าโครงการรับจำนำข้าวทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ เป็นประโยชน์ต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ส่งผลทำให้การจัดเก็บภาษีของรัฐมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 แสนล้านบาท ทำให้จีดีพีขยายตัวมากกว่า 2.5% ข้อมูลเหล่านี้อยู่ในเอกสารชี้แจง ป.ป.ช.
ผู้สื่อข่าวถามว่าโครงการรับจำนำข้าวเสียหายเท่าไหร่และเหลือมีข้าวค้างในสต็อกเท่าไหร่ นายกิตติรัตน์ตอบว่า ล่าสุดรัฐบาลมีข้าวอยู่ในสต็อก 15-16 ล้านตัน ในจำนวนนี้ได้ทำข้อตกลง (MOU) ขายข้าวและรอการส่งมอบประมาณ 5 ล้านตัน และยังมีอีกประมาณ 3 ล้านตันอยู่ในระหว่างการเจรจาขายข้าว เมื่อหักส่วนนี้ออกไปคงเหลือข้าวในสต็อกสุทธิประมาณ 7 ล้านตัน
“ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าวที่จะเป็นภาระต่องบประมาณ คาดว่าจะอยู่ที่ 1 แสนล้านบาทต่อปี บางคนเห็นตัวเลขแล้วอาจจะคิดว่ามาก แต่สำหรับผม 1 แสนล้านบาทถือว่ายังน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนอื่นๆ ความเสียหายที่เกิดขึ้นคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 5% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย 2.5 ล้านล้านบาท ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสบายใจ” นายกิตติรัตน์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ข้อมูลที่นำมาชี้แจงมีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างข้อกล่าวหา ป.ป.ช. หรือไม่ นายกิตติรัตน์ตอบว่า ในอดีตที่ผ่านมา รัฐบาลใช้โครงการรับจำนำข้าวดูแลชาวนามาอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ ยกเว้นช่วงที่เปลี่ยนมาใช้ระบบประกันราคาข้าว แต่ระบบประกันราคาก็มีจุดอ่อน เพราะไม่สามารถเอาปริมาณข้าวที่ผลิตได้จริงมายืนยันกับปริมาณข้าวที่คำนวณจากพื้นที่เพาะปลูก
แต่หลักของโครงการจำนำข้าวคือการเข้าไปบริหารที่อุปทาน (supply) ทำให้ราคาตลาดมีแนวโน้มที่สูงกว่าวิธีแทรกแซงผลิตผลการเกษตรรูปแบบอื่น ทำให้ภาระในการจ่ายชดเชยน้อยลง ดังนั้นการกำหนดราคารับจำนำที่ตันละ 15,000 บาท ต้องมีการบริหารจัดการราคาตลาดควบคู่ด้วย ส่วนข้อกล่าวหาละเว้นปฏิบัตินั้น ครม. ได้ออกมาตรการมาควบคุมหรือป้องกันการทุจริตหลายครั้ง แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า การเดินทางไปประชุมที่ธนาคารโลกอย่างกะทันหันเป็นไปเพื่อต้องการประวิงเวลาการมาให้การต่อ ป.ป.ช. หรือไม่ นายกิตติรัตน์ตอบว่า “ไม่ครับ ผมมีหน้าที่ไปกล่าวสุนทรพจน์ในฐานะประเทศสมาชิกจริงๆ มีการเชิญล่วงหน้า ซึ่งผมไม่ทราบว่าจังหวะที่ ป.ป.ช. เชิญมาให้ปากคำตรงกับการประชุมธนาคารโลก ณ กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ต้องขอขอบคุณทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่กรุณาเลื่อนวันชี้แจงให้ผม กระทรวงการคลังไทยเป็นหนึ่งใน 11 ประเทศสมาชิกอาเซียนและผู้ที่มีหน้าที่ไปกล่าวสุนทรพจน์ ส่วนใหญ่ส่งรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปทั้งนั้น ผมจึงตัดสินใจไปพูดเอง ไม่ได้มอบให้กับปลัดกระทรวงการคลังทำหน้าที่แทน ส่วนกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐมนตรีรักษาการไม่มีความจำเป็นต้องไปประชุมต่างประเทศ สิ้นเปลืองงบประมาณเปล่า แต่ถ้าผมมอบหมายให้คนอื่นไปแทน ก็ต้องใช้งบฯ เหมือนกัน ผมคิดว่าการเดินทางไปต่างประเทศครั้งนี้คุ้มค่ามาก เพราะได้ชี้แจงสถานะทางการเมืองของประเทศไทยให้ผู้นำประเทศอื่นรับทราบ ช่วงที่ยังไม่มีรัฐบาล ทำให้การดำเนินงานบางเรื่องไม่สามารถทำได้ ขอให้ประเทศต่างๆ อะลุ้มอล่วยให้ประเทศไทยด้วย”
“ตามความคิดผม รัฐบาลรักษาการมีอำนาจจำกัด หน้าที่ของรัฐบาลคือร่วมมือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผลักดันให้มีการจัดการเลือกตั้งอย่างรวดเร็ว เมื่อได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ การตัดสินใจในเชิงนโยบายต่างๆ สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อมั่นว่าหากเหตุการณ์คลี่คลายลง ประเทศไทยพร้อมที่จะกลับมาเข้มแข็งได้เหมือนเดิม” นายกิตติรัตน์กล่าว
ต่อกรณีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ผู้ถูกกล่าวหา) ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2557 โดยขอให้สอบปากคำพยานเพิ่มเติม 2 ราย คือ นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และนายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังนั้น ประเด็นนี้นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษก ป.ป.ช. เปิดเผยว่าเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับข้อมูลคำชี้แจงจากพยานบุคคลทั้ง 4 รายครบถ้วนแล้ว จึงมีมติงดไต่สวน