ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > เสวนา “ปอกเปลือกสภาสูง” เกมอำนาจ การตรวจสอบ และผลประโยชน์

เสวนา “ปอกเปลือกสภาสูง” เกมอำนาจ การตรวจสอบ และผลประโยชน์

4 เมษายน 2014


ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ชี้สภาสูงตกอยู่ในวิกฤติความชอบธรรมของการเป็นตัวแทน คนไทยอยู่ในสภาวะเบื่อการเมือง ชี้โฉมหน้าสภาสูงอยู่ในภาวะ 2 ขั้ว เปรียบเป็น “สภาปรีโอลิมปิก” ด้าน นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ และนายสมชาย แสวงการ ยันมิติลับขัดขวางความโปร่งใสในหน้าที่ของ ส.ว. การถอดถอนครั้งนี้มีแววเลือนลาง

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2557 เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย ร่วมกับมูลนิธิตาสว่างและมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง “ปอกเปลือกสภาสูง: เกมอำนาจ การตรวจสอบ และผลประโยชน์” ณ ณ ห้องประชุม Dipak C. Jain อาคารศศนิเวศ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากซ้ายไปขวาดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว,นายสมชาย แสวงการ, สมาชิกวุฒิสภาสรรหา นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดราชบุรี
จากซ้ายไปขวา ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว, นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภาสรรหา และนายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดราชบุรี

เวทีดังกล่าวมีผู้ร่วมเสวนา คือ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าศูนย์วิจัยข้อมูลการเมืองไทย นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดราชบุรี และนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภาสรรหา โดยการเสวนาดังกล่าว ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการทำหน้าที่ของวุฒิสภา หรือที่หลายคนเรียกติดปากว่า “สภาสูง” ในประเด็นที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มักถูกโยงใยกับนักการเมือง ถูกมองว่าเป็นหุ่นเชิดหรือตัวแทนในการต่อสู้ระหว่างขั้วอำนาจ นำไปสู่การตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรม และความจำเป็นในการมีอยู่ของวุฒิสภา รวมไปถึงร่วมกันเสนอแนวทางที่ควรจะเป็นสำหรับการปฏิรูปสภาให้สมกับภาพการเป็น “สภาสูง”

สภาวะ “เบื่อการเมือง”

ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว เผยว่า ในการเลือกตั้ง ส.ว. วันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา สถิติผู้ออกมาใช้สิทธิ์น้อยมากเป็นประวัติการณ์คือเพียงร้อยละ 42.78 เท่านั้น แล้วนอกจากนั้นมีบัตรเสียถึงร้อยละ 5 และมีบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนนสูงถึงร้อยละ 11.96 ตัวเลขตรงนี้จะเห็นได้ว่าในทั้งหมด 77 จังหวัด เมื่อคำนวณคะแนนเสียงว่าที่ ส.ว. แต่ละท่านได้รับมาเป็นสัดส่วนกับผู้มีสิทธิ์ (ผู้ไม่ใช้สิทธิ์ยังไม่นับ) จะพบว่าทั้ง 77 จังหวัดไม่มีจังหวัดไหนที่ได้คะแนนเกินกว่าร้อยละ 31 ของทั้งประเทศ ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อย

ส.ว.slide 4

ในทางทฤษฎี การออกมาเลือกตั้งน้อยเป็นสิ่งที่บอกว่าคนกำลังเบื่อการเมือง เหตุหลักๆ อาจเพราะไม่เห็นประโยชน์ของการไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในครั้งนี้ และการที่คนมาใช้สิทธิ์น้อยนั้นแสดงให้เห็นถึงปัญหาเรื่อง “ความชอบธรรมของการเป็นผู้แทน”

“นี่เป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถามกับการเลือกตั้ง กับเรื่องของบริบททางการเมืองในปัจจุบันว่ามันเกิดอะไรขึ้น คนเบื่อการเมืองจริงๆ หรือคนไทยเริ่มไม่รู้สึกอยากไปเลือกตั้ง หรือจริงๆ เป็นเพียงกระแส โดยเฉพาะเมื่อไม่มีใครไปขัดขวาง ไม่มีคนไปคัดค้าน แต่คนก็ยังออกไปใช้สิทธิน้อย”

เกมอำนาจ “สภาสูง”

ในส่วนของโฉมหน้าสภาไทย ดร.อรรถสิทธิ์เปิดเผยว่า อาจต้องปรับ ต้องขยายความคิดจากเมื่อก่อนที่เคยมอง ส.ว. ว่าเป็นสภาผัวเมีย ตอนนี้ต้องขยายคำจำกัดความของวุฒิสภาออกไปเป็น “เครือข่ายทางการเมือง” ที่บางทีมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เพราะมี ส.ว. เกือบ 50 ท่านที่สามารถโยงใยอยู่กับเครือข่ายทางการเมืองในแบบใดแบบหนึ่ง แม้จะมีความพยายามที่จะออกกฎทำให้ ส.ว. มีความเป็นกลางทางการเมือง แต่สิ่งนี้เป็นกฎที่เป็นทางการ ในขณะที่ความไม่เป็นทางการของสังคมยังมีอยู่ การจะทำให้ ส.ว. ปลอดการเมืองจึงเป็นไปได้ยาก

ส.ว.-1

ในส่วนของมิติด้านอำนาจ บทบาทในความขัดแย้งของ ส.ว. ดร.อรรถสิทธิ์กล่าวว่า “ต้องยอมรับว่าเราอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง ในขณะที่ตอนนี้เราไม่มีสภาผู้แทนราษฎร เรามองว่าวุฒิสภาตอนนี้จะเป็นสมรภูมิรบของสองขั้วอำนาจ ซึ่งต้องยอมว่าภาพลักษณ์มันออกมาว่า ส.ว. เป็นร่างทรงของทั้งสองขั้ว มันผิดไปจากเจตนารมณ์ที่เราต้องการวุฒิสภาที่ปลอดการเมืองเพื่อประสิทธิภาพในการตรวจสอบและถอดถอน เมื่อตอนนี้ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ตัวผู้เล่นชุดใหญ่ยังไม่ได้เล่น วุฒิสภาชุดนี้จึงเปรียบเสมือน “สภาปรีโอลิมปิก” ที่ตัวผู้เล่นชุดใหญ่เล่นไม่ได้ก็ให้ชุดปรีโอลิมปิกมาเล่นกันก่อน”

การเป็นสภาปรีโอลิมปิกจะเกิดอะไรขึ้นก็ต้องเข้ามาดูในเรื่องของการทำงาน ดร.อรรถสิทธิ์ให้ย้อนกลับไปดูการทำงานของ ส.ว. ชุดก่อน ซึ่งการทำหน้าที่ต่างๆ ในการผ่านร่างกฎหมายเป็นไปตามหน้าที่ที่ควรจะเป็น สัดส่วนในการลงมติเป็นไปในทิศทางเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ (ลงคะแนนไปในทางเดียวกันถึงร้อยละ 91.85 และมีการลงมติที่ขัดกันอย่างชัดเจนอยู่ร้อยละ 8.15) เว้นแต่ในเรื่องของการถอดถอน

ส.ว.slide 15

ส.ว.slide 16

ส.ว.-17

“การถอดถอนสามครั้งที่ผ่านมาในปี 2551 และปี 2552 วุฒิสภายังไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องการถอดถอน ยังถอดถอนไม่ได้ ทั้งอดีตนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ คุณนพดล ปัทมะ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก ภารกิจ ส.ว. ที่จะเห็นได้ชัดคือเรื่องการถอดถอน”

ดังนั้น กรณีถอดถอนประธานวุฒิสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช และการถอดถอนรักษาการนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดร.อรรถสิทธิ์กล่าวว่า หลังจากดูโฉมหน้า ส.ว. ไปแล้ว การถอดถอนอาจจะเป็นการต่อสู้ที่หนักหน่วง และอาจจะไม่ประสบผลสำเร็จ

“สรุปแล้ว อาการเบื่อการเมืองของคนไทย คนไม่ไปเลือกตั้งจนได้คะแนนเสียงอัตราส่วนที่น้อย เรื่องผลงานในการทำงานของ ส.ว. ชุดที่ผ่านมา คงต้องให้น้ำหนักในเรื่องของการตรวจสอบถอดถอนซึ่งเป็นหน้าที่หลักของบรรดา ส.ว. การทั้งการต่อสู้กันในสภาปรีโอลิมปิก สิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อวิกฤติศรัทธาในการทำงานของวุฒิสภาในอนาคต การที่วุฒิสภาถูกมองเป็นร่างทรงของหมายการเมือง ต้องเปลี่ยนภาพลักษณ์ตรงนี้ให้ได้ ไม่เช่นนั้นคำถามถึงความจำเป็นในการมีอยู่ของวุฒิสภาจะเกิดขึ้น ส.ว. ถูกมองว่าเลือกไปทำไมเมื่อเลือกแล้วไม่สามารถทำอะไรได้ สิ่งนี้ควรเป็นคำถามที่จะโยนให้กับสังคมได้คิด” (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม)

ส.ว.-20

ปลอดการเมืองแก้ยาก “สมชาย” ท้า “ยุบ” วุฒิสภาทิ้ง

นายสมชาย แสวงการ เปิดเผยว่า ตัวเลขสัดส่วน ส.ว. ที่อิงพรรคการเมืองที่ได้จากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า ตัวเลขหนังสือพิมพ์บางฉบับ มีตัวเลขระบุถึง ส.ว. อิงรัฐบาล 37 คน ส.ว. อิงฝ่ายค้าน 16 คน ส.ว. อิสระ 24 คน มองอย่างนี้ ส.ว. อิสระอย่างเดียวที่อาจมีความเป็นกลาง แต่ไปดูในนั้นก็ดูจะโน้มเอียงไปทางรัฐบาล นั่นหมายความว่า 37 บวกไปประมาณ 10 กว่า บวก ส.ว. สรรหาบางส่วนที่มีใจเอนเอียงไปทางรัฐบาล ดังนั้น โอกาสถอดถอนนายกรักษาการและประธานวุฒิสภาครั้งนี้จึงน้อยมาก

ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจาก ส.ว. แต่ละคนมีฐานการเมืองของตนเองอยู่แล้วในพื้นที่ คนเหล่านี้จะเข้าไปในกลุ่มก้อนที่น่าจะชนะ นั่นคือเข้าไปในกลุ่มก้อนของพรรคการเมือง ซึ่งง่ายกว่าการที่จะตระเวนหาเสียง หากมองตามแต่ละภาคในประเทศไทยแล้ว ก็สามารถแบ่งได้ชัดเลยว่าเป็นฐานของพรรคใดบ้าง

ในขณะที่นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ มองว่า ข้อมูลที่นายสมชายนำมาใช้แยกกับ ส.ว. เลยไม่ได้ เพราะต้องมองในกรอบที่การทำหน้าที่ของ ส.ว. อันยึดโยงอยู่กับประชาชน ในส่วนของ ส.ว. สรรหาที่ทำหน้าที่ติดต่อกันมาจะกล่าวหาว่าอิงพักการเมืองคงไม่ถูกต้องนัก เพราะสัดส่วน ส.ว. สรรหา และ ส.ว. เลือกตั้งถูกกำหนดให้ใกล้เคียงกันเพื่อให้เกิดความเป็นกลาง แต่ตนเองก็มองว่า จริงๆ แล้วทุกพรรคการเมืองล้วนมี ส.ว. อยู่ในมือ เรื่องนี้ถือเป็นความเชื่อมโยงระหว่างสภาสูงและสภาล่าง

“หากต้องการให้ปลอดการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ โดยอาจตั้งกฎระเบียบให้ผู้สมัคร ส.ว. ทุกคนต้องไม่เคยสังกัดพรรคการเมือง หรือดำรงตำแหน่งการเมืองใดๆ มาก่อน เพราะลำพังการตั้งข้อจำกัดและกำหนดวาระดำรงตำแหน่งอาจไม่เพียงพอ”

นายสมชายให้ความเห็นแย้งว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ยังสามารถสังกัดพรรคโดยพฤตินัยได้ ยกตัวอย่าง หากตระกูลตนเองมีเงิน จะให้ปีกซ้ายของครอบครัวไปลง ส.ส. ปีกขวาเตรียมตัวลง ส.ว. เพื่อไม่ให้ขัดกัน แล้วตนก็จะควบคุมทั้งสองสภาก็ย่อมทำได้ เป็นการโยงใยที่อาศัยเครือข่ายครอบครัว ในส่วนของคนเลือกตั้งที่อาศัยฐานคะแนนจากพรรคช่วย เป็นเรื่องที่บรรดา ส.ว. จะต้องพิสูจน์เองในอนาคตจากการทำงาน

“เมื่อการเมืองแทรกแซงการทำงานของ ส.ว. ก็สมควรที่จะตั้งคำถามต่อการทำงานของ ส.ว. ว่าควรมีอยู่หรือไม่ หากทำหน้าที่ไม่ได้เพราะอยู่ในสังกัดของใคร ก็ควรที่จะยุบวุฒิสภาทิ้งไปเสีย”

ด้าน ดร.อรรถสิทธิ์เห็นสอดคล้องกับนายสมชายว่าการจะทำให้ ส.ว. ปลอดการเมืองนั้นเป็นไปได้ยาก โดยเจตนารมของรัฐธรรมนูญนั้น ต้องการให้ ส.ว. ปลอดการเมือง แต่ประเด็นอยู่ที่พฤติกรรมของคนไทยที่ยังไม่ได้เลือก ส.ว. ให้ปลอดจากการเมือง

ส่วนเรื่องของความโปร่งใสในการทำหน้าที่ของ “สภาสูง” ทั้งนายสมชายและนายเกชามองว่า การอำจาหน้าที่ของ ส.ว. ในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อเป็นไปด้วยวิธีลับก็ยากที่จะตรวจสอบ ประชาชนไม่สามารถรับรู้ได้ การมีระบบเครือข่ายในสภาสูงนั้นอาจทำให้เกิดการล็อบบี หรือการที่ทำให้การลงมติเป็นความลับ นำไปสู่การถอดถอนผู้กระทำผิดทางการเมือง โดยเฉพาะ กรณีถอดถอนประธานวุฒิสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช และการถอดถอนรักษาการนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ครั้งนี้เป็นไปได้ยาก ซึ่งหากต้องการให้เปิดเผยก็จะต้องไปแก้ที่รัฐธรรมนูญ