ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ปฏิรูปพลังงาน (ตอนจบ): แนะรัฐบาล รื้อโครงสร้างราคาน้ำมัน-ก๊าซ- เพิ่มการแข่งขัน-ค้านทวงคืน ปตท.

ปฏิรูปพลังงาน (ตอนจบ): แนะรัฐบาล รื้อโครงสร้างราคาน้ำมัน-ก๊าซ- เพิ่มการแข่งขัน-ค้านทวงคืน ปตท.

7 เมษายน 2014


อ่าน ปฏิรูปพลังงานตอนที่ 3 แล้วคงจะทราบคำตอบเรื่องต้นเหตุน้ำมันราคาแพง ว่าเป็นเพราะ ปตท. ขูดรีดประชาชนหรือเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐ เริ่มต้นที่หน้าโรงกลั่น น้ำมันทุกประเภทมีราคาซื้อ-ขายใกล้เคียงกัน ถูกที่สุดคือเบนซิน 95 หน้าโรงกลั่นขายราคาลิตรละ 24.81 บาท กว่าจะไปถึงหน้าปั๊ม จ่ายค่าภาษี จ่ายเงินนำส่งกองทุนน้ำมันลิตรละ 21.09 บาท/ลิตร ถึงหน้าปั๊มราคาปลีกขยับขึ้นเป็น 48.05 บาท/ลิตร ส่วนดีเซลหมุนเร็ว สตาร์ทที่หน้าโรงกลั่นราคาลิตรละ 26.71 บาท ถึงหน้าปั๊มราคาขายปลีกอยู่ที่ 29.99 บาท/ลิตร

ราคาน้ำมัน 12 ปีก่อน

หากนำราคาน้ำมันวันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2557) เปรียบเทียบราคาน้ำมันเมื่อ 12 ปีก่อน (1 กุมภาพันธ์ 2545) พบว่าราคาขายปลีกเบนซิน 95 วันนี้แพงกว่าในอดีต 34 บาท/ลิตร สาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น 18 บาท/ลิตร ที่เหลือ 16 บาทเกิดจากนโยบายรัฐ ส่วนดีเซลราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นลิตรละ 18 บาท เกิดจากราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นลิตรละ 19 บาท แต่รับเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันลิตร 0.50 บาท ส่วนน้ำมันที่ได้รับเงินชดเชยมากที่สุดคือแก๊สโซฮอล์ อี 85 ได้ชดเชยลิตรละ 11.6 บาท รองมาเป็นอี 20 ได้ชดเชยลิตรละ 1.30 บาท

โครงสร้าง LPG

นอกจากปัญหาราคาน้ำมันบิดเบือน นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังชี้ให้เห็นว่า โครงสร้างราคาก๊าซมีปัญหาปิดเบี้ยวไม่แพ้โครงสร้างราคาน้ำมัน โดยเฉพาะก๊าซแอลพีจี (LPG) เป็นพลังงานที่รับเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันมากที่สุด โครงสร้างราคามีความสลับซับซ้อนมาก เริ่มตั้งแต่การจัดหาแอลพีจีมี 3 ราคา คือ

1. หน้าโรงแยกก๊าซราคากิโลกรัมละ 11 บาท หากนำมาเปรียบเทียบเบนซิน 95 โดยปรับค่าความร้อนและแปลงหน่วยเป็นลิตร ราคาจะอยู่ที่ 8 บาท/ลิตร

2. หน้าโรงกลั่นน้ำมันกิโลกรัมละ 27 บาท/กิโลกรัม

3. นำเข้าจากต่างประเทศกิโลกรัมละ 34 บาท/กิโลกรัม

ก่อนถึงมือผู้ค้าส่ง รัฐบาลนำเงินกองทุนน้ำมันไปจ่ายให้โรงกลั่นเป็นค่าชดเชยราคากิโลกรัมละ 16 บาท และแอลพีจีนำเข้ากิโลกรัมละ 24 บาท ทำให้ราคาขายส่ง (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) แอลพีจีที่ผลิตจาก 3 แหล่ง มีราคาเท่ากัน (14.64บาท/กิโลกรัม) จากนั้นก็ใช้กองทุนน้ำมันเป็นเครื่องมือกำหนดราคาขายปลีกแอลพีจีให้มีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้งาน ทำให้ราคาขายปลีกแอลพีจีมี 4 ราคา ดังนี้

1. ใช้ในภาคอุตสาหกรรมเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันกิโลกรัมละ 11.22 บาท ทำให้ราคาขายปลีกอยู่ที่กิโลกรัมละ 30.13 บาท
2. ใช้ในภาคขนส่งจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ กิโลกรัมละ 3.03 บาท ราคาขายปลีกกิโลกรัมละ 21.38 บาท
3. ใช้เป็นก๊าซหุงต้มจ่ายเงินกองทุนฯ กิโลกรัมละ 2.80 บาท ราคาขายปลีกกิโลกรัมละ 21.13 บาท
4. ขายเป็นก๊าซหุงต้มให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ยกเว้นการจัดเก็บเงินกองทุนน้ำมัน ราคาขายปลีกกิโลกรัมละ 18.13 บาท

“จริงๆ แล้วผมไม่อยากเห็นราคาขายปลีกแอลพีจีมี 4 ราคา ผมอยากเห็นแอลพีจีมีราคาเดียว หากยกเลิกกองทุนน้ำมัน ราคาเบนซินจะลดลง แต่รัฐบาลไม่มีเงินจ่ายชดเชยราคาให้ดีเซลและแอลพีจี เราควรยอมรับความจริง ของมันแพง มันก็ต้องแพง ไม่ใช่ไปเอาเงินจากคนกลุ่มหนึ่งมาจ่ายชดเชยคนอีกกลุ่มหนึ่ง” นายปิยสวัสดิ์กล่าว

นายปิยสวัสดิ์กล่าวต่อว่า ปัญหาหลักของแอลพีจีเริ่มตั้งแต่ต้นทาง ปี 2550 ราคาแอลพีจี ณ โรงแยกก๊าซถูกกำหนดให้ขาย 333 ดอลลาร์ต่อตันหรือ กิโลกรัมละ 11 บาทในปัจจุบัน ตัวเลขดังกล่าวคำนวณมาจากต้นทุนของ ปตท. ณ ขณะนั้น ปัจจุบันราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น 40% แต่ราคาแอลพีจี ณ โรงแยกก๊าซลดลง 2% เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น โดยหลักการแล้วการจัดหาแอลพีจีไม่ควรตรึงราคาไว้ที่ 333 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ส่วนควรปรับราคาขึ้นเท่าไหร่ ตนยังไม่ได้เข้าไปดูอย่างละเอียด แต่ทุกวันนี้คนขับมอเตอร์ไซค์ใช้เบนซินเป็นคนจ่ายเงินชดเชยราคาแอลพีจี

ราคาแอลพีจี

นายปิยสวัสดิ์กล่าวว่า “หากนำราคาขายปลีกเชื้อเพลิงทุกชนิดมาปรับเป็นหน่วยเดียวกัน โดยคำนวณจากค่าความร้อน เริ่มจากรถยนต์ใช้เบนซิน 95 ราคา 1,610 บาทต่อ 1 ล้านบีทียู, อี 10 ราคา 1,404 บาทต่อ 1 ล้านบีทียู, แอลพีจีที่ใช้ในรถยนต์ 490 บาทต่อ 1 ล้านบีทียู และที่แย่ที่สุดคือเอ็นจีวี ราคา 291 บาทต่อ 1 ล้านบีทียู คนใช้รถจึงเปลี่ยนเครื่องยนต์ไปใช้เอ็นจีวี อยากขับไปไหนก็ขับ ใช้กันอย่างฟุ่มเฟือย ไม่สนใจที่จะประหยัด เพราะราคามันถูกเหลือเกิน หากเราถลุงสิ่งที่มีอยู่ให้หมดไป อนาคตต้องนำเข้าพลังงานราคาแพงๆ ”

ถัดมาเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ในอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า ในอดีตน้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ราคา 597 บาทต่อ 1 ล้านบทีทียู ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ก๊าซธรรมชาติประมาณ 60-70% สัญญาซื้อ-ขายก๊าซ ทั้งสัญญาเก่าและสัญญาใหม่จากแหล่งในอ่าวไทยส่วนใหญ่กำหนดให้ราคาก๊าซธรรมชาติ ณ ปากหลุมเปลี่ยนแปลง 30-40% ของการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันเตา ทำให้ในปัจจุบัน ราคาซื้อ-ขายก๊าซ ณ ปากหลุมจากแหล่งในอ่าวไทยเฉลี่ย 244 บาทต่อ 1 ล้านบีทียูเท่านั้น ในอนาคตหากก๊าซธรรมชาติมีไม่เพียงพอมี 2 ทางเลือก คือ 1. กลับไปใช้น้ำมันเตา หรือ 2. นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี (LNG) ราคา 550 บาทต่อ 1 ล้านบีทียู จะเห็นว่า การเจรจากำหนดราคาซื้อ-ขายก๊าซในอดีตเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมาก

“สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เราเริ่มนำเข้าแอลเอ็นจีแล้ว ตามแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติเพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานไฟฟ้าในอีก 15 ปีข้างหน้า คาดว่าการนำเข้าแอลเอ็นจีจะเพิ่มเป็น 50% ของปริมาณการใช้ก๊าซฯ หนีไม่พ้นที่จะต้องปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ดังนั้น ข้อกล่าวหาที่ว่า ปตท. เอาเปรียบประชาชน ต่อไปก็ไม่มีประเด็นนี้อีก เพราะไม่ได้ซื้อก๊าซจากแหล่งผลิตในประเทศ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศแทน” นายปิยสวัสดิ์กล่าว

ชดเชย LPG ทำให้การนำเข้าเพิ่มขึ้น

ก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจีที่ใช้ในภาคครัวเรือน จากการที่รัฐบาลตรึงราคาแอลพีจี ทำให้ปริมาณการใช้และการนำเข้าแอลพีจีเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ปี 2551 ถึงปัจจุบัน กองทุนน้ำมันจ่ายเงินชดเชยราคาแอลพีจีไปแล้ว 180,000 ล้านบาท ผู้รับประโยชน์เงินชดเชยดังกล่าวมี 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มผู้ใช้ภายในประเทศ 2. กลุ่มผู้ใช้ในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ลาว เขมร 3. กลุ่มผู้ค้าที่นำแอลพีจีไปขายผิดประเภท เช่น นำก๊าซหุ้มต้มไปขายให้ภาคอุตสาหกรรม หลีกเลี่ยงการนำส่งเงินกองทุนน้ำมัน

สรุปปัญหาของแอลพีจีที่ควรแก้ไข นายปิยสวัสดิ์ บอกว่า มี 2 ประเด็นใหญ่ คือ 1. อยากเห็นคือการคำนวณราคาต้นทุนใหม่ที่มีความเหมาะสมของโรงแยกก๊าซ 2. แอลพีจีที่ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีราคาถูกเกินไปหรือไม่ ควรศึกษาทั้งระบบ โดยคำนึงถึงราคาขายผลิตภัณฑ์ด้วย

“การใช้เงินกองทุนน้ำมันมาชดเชยราคาพลังงาน ในระยะสั้นอาจจะทำให้นักการเมืองมีคะแนนเสียงเพิ่มขึ้น แต่ไม่เกิดผลดีในระยะยาว ซึ่งในที่สุดแล้ว สิ่งที่มีอยู่มันก็จะหมดไปๆ จนต้องนำเข้าพลังงานราคาแพงจากต่างประเทศ” นายปิยสวัสดิ์กล่าว

ลำดับเหตุการณ์แปรรูป ปตท.

ประเด็นสุดท้ายที่พูดกันมากในโลกออนไลน์เป็นเรื่องแปรรูป ปตท. เริ่มในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย วันที่ 1 กันยายน 2541 ที่ประชุม ครม. อนุมัติแผนแม่บทการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ แผนนี้ไม่เคยบอกให้นำกิจการผูกขาดของภาครัฐไปยกให้เอกชน แต่กำหนดให้จัดตั้งองค์กรกำกับดูแล ซึ่ง ครม. ขณะนั้นได้มอบหมายให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ดูแลเรื่องการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแล

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2542 ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแผนการปรับโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติ หลักๆ มี 3 เรื่อง คือ 1. กำหนดให้แยกท่อส่งก๊าซออกจากบริษัท ปตท. 2. เพิ่มการแข่งขัน โดยเปิดให้บริการแก่บุคคลที่ 3 (Third party access) ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ ปตท. ผูกขาด 3. ออก พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน จัดตั้งองค์กรกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากกิจการดังกล่าวเป็นกิจการผูกขาด ก่อนการแปรรูปต้องโอนอำนาจรัฐออกมาจาก ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

เดือนกันยายน 2543 ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน ยังไม่ทันผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา พรรคประชาธิปัตย์ก็แพ้การเลือกตั้ง รัฐบาลชุดใหม่ไม่เอา สั่งชะลอกฎหมาย แต่เร่งแปรรูป ปตท. โดยใช้ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจแปลงสภาพ ปตท. เป็นบริษัทจำกัด

นายปิยสวัสดิ์กล่าวต่อว่า ช่วงนั้นตนถูกย้ายจากกรมประชาสัมพันธ์กลับมาทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้ศึกษารายละเอียดการแปรรูป ปตท. จึงกำหนดเป็นเงื่อนไขว่าหลังจากการขายหุ้นไปแล้ว ต้องแยกท่อก๊าซออกจาก ปตท. ภายใน 1 ปี และต้องเร่งออก พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน เพื่อโอนอำนาจรัฐทั้งหมดของ ปตท. ไปให้องค์กรกำกับดูแล ซึ่งถ้อยคำดังกล่าวนี้กำหนดไว้ในมติ ครม. และหนังสือชี้ชวนขายหุ้น ปตท. จากนั้นในเดือนพฤศจิกายน 2544 รัฐบาลได้ดำเนินการขายหุ้น ปตท. ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ต้นปี 2546 ตนออกจากราชการ และหลังจากนั้นรัฐบาลยกเลิกนโยบายแยกท่อก๊าซออกจาก ปตท. และยกเลิกการผลักดันร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน แต่กลับเดินหน้าแปรรูป กฟผ. เพื่อกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเห็นได้ว่าหลักการเปลี่ยน รัฐบาลกำลังโอนกิจการผูกขาดพร้อมกับอำนาจรัฐทั้งหมดไปให้เอกชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคภายใต้การนำของ น.ส.รสนา โตสิตระกูล นำประเด็นนี้ไปฟ้องศาลปกครองสูงสุด ต่อมาศาลก็มีคำพิพากษาเพิกถอนการแปรรูป กฟผ.

“ปี 2549 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพิกถอนการแปรรูป ปตท. ไม่นานก็เกิดการปฏิวัติ รัฐประหาร พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์เดินหน้าผลักดันร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงานต่อตามแผนเดิม หลังจากกฎหมายการประกอบกิจการพลังงานมีผลบังคับใช้ 4 วันรัฐบาลก็ชนะคดี ซึ่งมันเป็นผลพลอยได้จากการออกกฎหมายมากกว่า” นายปิยสวัสดิ์กล่าว

วันที่ 14 ธันวาคม 2540 ศาลไม่เพิกถอนการแปรรูป ปตท. เนื่องจากการโอนอำนาจรัฐไปให้ ปตท. ได้รับการแก้ไขตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน แต่ขอให้นำที่ดินและท่อก๊าซบนพื้นดินที่ได้มาจากการใช้อำนาจรัฐโอนคืนกระทรวงการคลัง และให้ ปตท. เช่าท่อก๊าซจากกระทรวงการคลัง

“วันนั้นถ้าศาลสั่งเพิกถอนการแปรรูป ปตท. ในลักษณะเดียวกันกับคำพิพากษาเรื่อง กฟผ. คนที่มีหุ้น ปตท. ในขณะนั้นก็ต้องเอาใบหุ้นไปติดข้างฝาทำวอลเปเปอร์ ฟ้องร้องกันวุ่นวาย และส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ผมขอถามกลุ่มทวงคืน ปตท. ว่าจะเอาคืนมาอย่างไร ยึดคืน หรือจัดงบประมาณไปซื้อหุ้นคืน ผู้ถือหุ้น ปตท. วันนี้ไม่ได้มีแค่บุคคลธรรมดาเท่านั้น แต่มีทั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของภาคเอกชน คิดดีแล้วหรือที่จะดึง ปตท. กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้นักการเมืองเข้ามาถลุงกันได้ง่ายขึ้น ตรงกันข้าม ผมกลับคิดว่าควรดัน ปตท. ออกไปให้ไกลจากนักการเมืองไทยให้มากที่สุด” นายปิยสวัสดิ์กล่าว

การสร้างความเกลียดชัง

นายปิยสวัสดิ์สรุปว่า ปัญหาของพลังงานไทย ตนคิดว่าควรปฏิรูป แต่ไม่ใช้ปฏิรูปแบบทวงคืน ปตท. มีดังนี้

1. โครงสร้างราคาพลังงานบิดเบือน ทำให้การใช้พลังงานไม่มีประสิทธิภาพ ควรแก้ไข
2. การแข่งขันบางส่วนน้อยเกินไป เช่น น้ำมัน หรือโรงกลั่น การแข่งขันอาจจะน้อยเกินไปในบางจุด ก็เอาเข้ามาอยู่ใน พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ไม่ควรยกเว้นรัฐวิสาหกิจ แต่ไม่ใช่ไปทวงคืนมาเป็นของรัฐ กิจการก๊าซธรรมชาติ จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ (Economy of scale) ยากที่จะทำให้เกิดการแข่งขัน อย่างมากทำได้แค่เปิดให้บริการท่อก๊าซแก่บุคคลที่สาม
3. องค์กรกำกับดูแลมีอำนาจมาก แต่ไม่มีความเข้มแข็งในการคุ้มครองผู้บริโภค
4. การพัฒนาปิโตรเลียมขาดความต่อเนื่อง ไม่สามารถเปิดสัมปทานใหม่ได้ อาจจะส่งผลกระทบในระยะยาว
5. พื้นที่ภาคเหนืออยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงกลาโหม ทำให้ไม่มีการพัฒนา หากต้องการปฏิรูปพลังงาน เสนอให้เอาพื้นที่ทหารเข้ามาอยู่ใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียมด้วย
6. ผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างการกำหนดนโยบาย การกำกับดูแล และการดูแลผลประโยชน์ของรัฐในฐานะผู้ถือหุ้น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง แต่ถ้ากำหนดไว้ในกฎหมาย ห้ามข้าราชการมานั่งเป็นบอร์ด ก็จะเปิดช่องให้นักการเมืองเอาใครต่อใครมานั่งเป็นกรรมการแทน แต่ถ้าจะให้ข้าราชการมานั่งเป็นบอร์ด ก็ไม่ควรรับเงินโบนัส หรือเบี้ยประชุม เพราะข้าราชการได้รับเงินเดือนอยู่แล้ว
7. การแทรกแซงทางการเมืองในธุรกิจพลังงานที่รัฐถือหุ้น
8. ปัญหาการขอใบอนุญาตเป็นแหล่งทำเงินที่สำคัญ เช่น การขอใบอนุญาต ร.ง.4 เป็นตัวอย่างที่ดี
9. รัฐและประชาชนไม่สนใจปัญหาไกลตัว เช่น ภาวะโลกร้อน เอ็นจีโอแทบจะไม่ค่อยพูดถึงประเด็นนี้ มัวแต่มาหมกมุ่นอยู่กับการทวงคืน ปตท.

“เราอย่าหลงประเด็น การหลงประเด็นจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่ผิดพลาด และทำให้เราละเลยปัญหาในระยะยาว อย่าลืมว่าแหล่งปิโตรเลียมไทยมีปริมาณน้อย ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แทนที่จะเร่งพัฒนาพลังงานหมุนเวียน และส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ไม่ทำ มัวแต่มาทวงคืน ปตท. ด่า ปตท. คนที่ชอบมากก็คือนักการเมืองเพราะสามารถกอบโกยผลประโยชน์ได้อย่างเงียบๆ โดยไม่มีใครมายุ่งกับเขาเลย เพราะว่า มวลชนทั้งหลาย มั่วแต่ไปด่า ปตท. เล่นงาน ปตท. การหลงประเด็นน่าจะมีผลเสียค่อนข้างมาก ผมขอฝากให้ไปคิดดู” นายปิยสวัสดิ์กล่าว