ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ปฏิรูปพลังงาน (ตอน 3): ต้นเหตุน้ำมันราคาแพง ปตท. ขูดรีดประชาชน หรือนโยบายรัฐ?

ปฏิรูปพลังงาน (ตอน 3): ต้นเหตุน้ำมันราคาแพง ปตท. ขูดรีดประชาชน หรือนโยบายรัฐ?

25 มีนาคม 2014


เมื่อใดที่ถกและเถียงกันในเรื่อง “พลังงานไทย เพื่อใครหรือเพื่อไทย” ความแตกแยกต้องบานปลายทุกครั้ง และจะลามไปถึงการทวงคืนพลังงานไทย ทวงคืน ปตท. จะด้วยการมีข้อมูลไม่เพียงพอ หรือข้อมูลเพียงพอแต่พูดไม่ครบก็ตาม แต่ก็ทำให้เรื่อง “การปฏิรูปพลังงาน” เป็นเรื่องร้อนที่เกินเลยอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะการใช้ฐานข้อมูลจากทางการเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ พลิกประเด็นนำเสนอข้อมูลที่บิดเบือน เสมือนจงใจให้เกิดความเข้าใจผิด ข้อมูลพลังงานเชิงลบจำนวนมากจึงปรากฏในโลกออนไลน์ และถูกแชร์ต่อๆ กันไปจนทำให้สังคมเกิดความสับสน

ข้อมูลที่นำมาเสนอนี้มาจากวงเสวนา “ปฏิรูปพลังงาน” โดย นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพลังงานของไทย

การบิดเบือนข้อมูลพลังงานของหม่อมกรณ์

“ปฏิรูปพลังงานไทย (ตอน 2 )”พูดถึงสัมปทานปิโตรเลียมไทยว่าควรรื้อค่าภาคหลวงหรือไม่ อีกประเด็นที่พูดถึงกันมากในสังคมออนไลน์คือเรื่องราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศมีการบิดเบือนข้อมูลกันมากจนทำให้ประชาชนเกิดความสับสน อย่างเช่นข้อความที่ว่าประเทศไทยมีกำลังการผลิตน้ำมันเป็นจำนวนมาก ส่งออกปีละ 2-3 แสนล้านบาท มากกว่าส่งออกข้าวปีละ 1.3 แสนล้านบาท ทำไมน้ำมันที่ส่งออกต้องอ้างอิงราคาน้ำมันสิงคโปร์ และทำไมคนไทยทั้งประเทศต้องซื้อน้ำมันราคาแพง

ผลิต กลั่น น้ำมัน

ต่อคำถามที่ว่าทำไมต้องส่งออกน้ำมัน นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัญหาคือประเทศไทยมีกำลังการกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปสูงเกินความต้องการใช้ในประเทศ (ดูตามตารางที่นำมาแสดง) ปี 2555 ประเทศไทยกลั่นน้ำมันสำเร็จรูป 801,938 บาร์เรลต่อวัน โรงแยกก๊าซมีกำลังการผลิตอีก 137,609 บาร์เรลต่อวัน รวมแล้วมีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 939,547 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมัน 764,495 บาร์เรลต่อวัน เมื่อมีกำลังการกลั่นส่วนเกินเกือบ 2 แสนบาร์เรลต่อวันก็ต้องส่งออก ถามว่าไม่ส่งออกได้ไหม ตอบว่าได้ แต่โรงกลั่นที่มีอยู่ก็ไม่ได้ใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ เรื่องการนำเข้า-ส่งออกน้ำมันถือเป็นเรื่องปกติ เพราะบางประเทศมีความต้องการใช้น้อยเกินไป ไม่คุ้มที่จะลงทุนก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันหรือโรงแยกก๊าซ เราก็ต้องส่งออกน้ำมันไปขาย

ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่า “ ปตท. ผูกขาดเป็นเจ้าของโรงกลั่นทั้งหมด” นายปิยสวัสดิ์ตอบว่า “ก็มีส่วนจริง แต่ต้องมองย้อนกลับไปดูประวัติความเป็นมาในอดีตด้วย และถ้าดูแล้ว ปตท. ผูกขาดจริง ควรแก้ไขหรือไม่”

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวต่อไปว่า ช่วงที่เข้ารับราชการใหม่ๆ เท่าที่จำได้ตอนนั้นมีโรงกลั่นเอสโซ่ เจ้าของคือบริษัทเอ็กซอนโมบิลประเทศไทย (EXXON), โรงกลั่นบางจาก เดิมเป็นของกรมการพลังงานทหาร กระทรวงกลาโหม ซึ่งให้บริษัทซัมมิทอินดัสเตรียลเช่า ส่วนโรงกลั่นไทยออยล์กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเจ้าของที่ดิน โดยนายเชาว์ เชาว์ขวัญยืน เข้ามาลงทุนก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมัน

ต่อมาเกิดวิกฤติการณ์น้ำมันครั้งที่ 2 น้ำมันขาดแคลน การนำเข้าน้ำมันดิบลดลงมาก ต้องมีการกำหนดมาตรการบังคับลดการใช้น้ำมันในขณะที่บริษัทซัมมิทเอาน้ำมันดิบไปกลั่นที่ประเทศอื่น ส่วนไทยออยล์เป็นเสมือนธุรกิจครอบครัวแต่ละปีไม่มีกำไร จึงเกือบไม่เสียภาษีให้แก่รัฐ ต่อมา ปตท. เข้าไปถือหุ้น และรัฐบาลมอบหมายให้นายเกษม จาติกวณิช เป็นประธาน ด้วยความที่นายเกษมเป็นคนที่มีเครดิตดีมากจึงสามารถชักชวนให้ธนาคารพาณิชย์ร่วมลงขันปล่อยกู้โรงกลั่นไทยออยล์ ไทยออยล์จึงมีภาระหนี้สินที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับทุน หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เศรษฐกิจเอเชียตกต่ำอย่างมาก มีผลให้ค่าการกลั่นลดลงมาก ในขณะที่หนี้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นมากเมื่อคิดเป็นเงินบาทกิจการโรงกลั่นทุกแห่งประสบปัญหาขาดทุน ต้องปรับโครงสร้างหนี้กันทุกราย และนี่คือตัวอย่างของความผันผวนของวงจรธุรกิจของอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี เวลาขาลงลงอย่างรุนแรงโรงก็กลั่นขาดทุนย่อยยับ แต่ขาขึ้นก็ขึ้นแรง โรงกลั่นได้กำไรมาก

ขอย้อนกลับไป 30 ปีอีกครั้ง ปัญหาอีกประการของอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันคือกำลังการกลั่นน้ำมันในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ ประมาณ 60% ของการใช้น้ำมันสำเร็จรูปต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และมีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอย่างที่เราเห็นแล้วในช่วงวิกฤติการณ์น้ำมันโลกครั้งที่ 2 นโยบายรัฐบาลจึงสนับสนุนให้โรงกลั่นลงทุนขยายกิจการ เริ่มจากการจัดตั้งบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด โดยการยกเลิกสัญญากับบริษัทซัมมิท อินดัสเตรียล และแต่งตั้งนายโสภณ สุภาพงษ์ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่คนแรก การบริหารงานของโรงกลั่นบางจากดีขึ้นเป็นลำดับ

จากนั้น ปตท. เข้าไปถือหุ้นโรงกลั่นไทยออยล์ ตามด้วยรัฐอนุญาตให้โรงกลั่นไทยออยล์และโรงกลั่นเอสโซ่สามารถขยายกำลังกลั่นได้ และเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอสร้างโรงกลั่นใหม่ โดยมีการอนุญาต 2 ราย คือ โรงกลั่นน้ำมันระยอง (RRC) ของบริษัทเชลล์ และโรงกลั่นสตาร์ (SPRC) ของคาลเท็กซ์ โดยทั้งสองโรงรัฐกำหนดให้ ปตท. ถือหุ้นโรงละ 36% ต่อมาบริษัทเชลล์ต้องการขายโรงกลั่นเพราะขาดทุน ปตท. ก็เลยไปซื้อหุ้นส่วนที่เหลือในโรงกลั่นน้ำมันระยอง (RRC) มาจากบริษัทเชลล์ และต่อมาก็เข้าไปซื้อกิจการของโรงกลั่นทีพีไอ ซึ่งปัจจุบันคือบริษัทไออาร์พีซีจำกัด

“นี่คือจุดเริ่มต้นของการที่ ปตท. เข้าไปมีบทบาทในกิจการโรงกลั่นน้ำมัน แต่ผมคิดว่า ปตท. ได้มาโดยบังเอิญมากกว่า เช่น โรงกลั่นของเชลล์ (RRC) ซึ่งประสบปัญหาขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเชลล์ทนไม่ไหวจึงขายหุ้น RRC ทั้งหมดให้กับ ปตท. ปตท. จึงกลายเป็นบริษัทที่มีโรงกลั่นมากที่สุด หลายคนบอกว่า ปตท. ผูกขาด มีอำนาจเหนือตลาด ถ้าเป็นอย่างที่พูด ก็ต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด แต่ไม่ใช่มาบอกว่ามีอำนาจเหนือตลาดแล้ว ต้องเอา ปตท. กลับคืนมาเป็นของรัฐ” นายปิยสวัสดิ์กล่าว

มูลค่าการนำเข้า-ส่งออกน้ำมัน

นายปิยสวัสดิ์กล่าวต่อว่า ดูจากข้อมูลการนำเข้าและส่งออกน้ำมันของกระทรวงพลังงาน ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ได้มีก๊าซธรรมชาติและน้ำมันมากมายอย่างที่คิด ไทยผลิตน้ำมันได้เป็นจำนวนมากจริง แต่ปริมาณการใช้อยู่ในระดับสูง อย่างในปี 2555 ไทยนำเข้าน้ำมันทุกชนิดและก๊าซมูลค่า 1.37 ล้านล้านบาท โดยเป็นน้ำมันดิบ 1.12 ล้านล้านบาท ในขณะเดียวกันส่งออกน้ำมันทุกชนิดมูลค่า 3.28 แสนล้านบาท หักลบกันแล้ว ประเทศไทยนำเข้าปิโตรเลียมสุทธิ 1.04 ล้านล้านบาท ตรงนี้ต่างหากที่เป็นประเด็น

“คือ จริงๆ แล้วไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ การกำหนดราคาพลังงานต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง หากราคาต่ำเกินไป ผู้บริโภคก็ใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ แถมยังไปปิดกั้นการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนอีกด้วย ดังนั้น ก่อนปฏิรูปพลังงาน ข้อมูลต้องถูกก่อน หากข้อมูลผิด การกำหนดนโยบายก็ผิด มันจะมีผลเสียตามมาเป็นลูกโซ่ สรุปไทยไม่ได้มีน้ำมันมากมายอย่างที่คิด น้ำมันที่มีอยู่ก็มีปริมาณจำกัด ใช้แล้วหมดไป พอปริมาณสำรองลดลง ในที่สุดก็นำเข้าพลังงานราคาแพง อย่างเช่น ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ราคาแพงกว่าก๊าซอ่าวไทยมาก ดังนั้น เราต้องใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ” นายปิยสวัสดิ์กล่าว

ราคาเบนซินไทยเทียบต่างประเทศ

“ข้อมูลพลังงานที่แพร่กระจายตามเว็บไซต์ คนที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงอ่านแล้วอาจจะรู้สึกโมโห ปตท. แต่ถ้าไปดูโครงสร้างราคาน้ำมันจะทราบถึงต้นเหตุที่ทำให้น้ำมันในประเทศมีราคาแพง จริงๆ แล้วเป็นเพราะ ปตท. ขูดรีดประชาชน หรือมาจากนโยบายของรัฐบาล?”

นี่คือโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมัน ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 ราคาน้ำมันทุกชนิดที่ซื้อ-ขายกันที่หน้าโรงกลั่น ราคาจะอยู่ที่ลิตรละ 25-26 บาท ก่อนที่จะกลายมาเป็นราคาขายปลีกหน้าปั๊มต้องเสียภาษีสรรพสามิต, ภาษีเทศบาล, กองทุนน้ำมัน, กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) บวกไปบวกมาก็ได้ราคาน้ำมันอย่างที่เห็นในตาราง เช่น น้ำมันเบนซิน 95 ราคาหน้าโรงกลั่นลิตรละ 24.80 บาท เสียภาษีสรรพสามิตลิตรละ7 บาท ภาษีเทศบาลลิตรละ 0.70 บาท กองทุนน้ำมันลิตรละ 10 บาท กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 0.25 บาทต่อลิตร และเสีย VAT ลิตรละ 3 บาท

น้ำมันแพงเพราะภาษีหรือกองทุนน้ำมัน

ทำให้ราคาขายปลีกเบนซิน 95 สุดท้ายอยู่ที่ลิตรละ 48 บาท ในราคานี้ประกอบด้วยค่าภาษีและเงินกองทุน 21 บาทต่อลิตร แต่ถ้าเป็นแก๊สโซฮอล์ 95 ประเภทอี 10 ราคาขายปลีกลิตรละ 40 บาท ราคานี้มีค่าภาษีและเงินนำส่งกองทุนน้ำมัน 13 บาทต่อลิตร ส่วนดีเซลหมุนเร็วราคาหน้าโรงกลั่นอยู่ที่ 26.7 บาทต่อลิตร แพงกว่าเบนซิน แต่เสียภาษีสรรพสามิตและภาษีเทศบาลลิตรละ 0.0055 บาท นอกจากเสียภาษีอัตราต่ำมากแล้ว ยังได้รับเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันลิตรละ 0.5 บาท ราคาขายปลีกดีเซลจึงอยู่ที่ลิตรละ 29.99 บาท ซึ่งในราคานี้ได้รวมภาษีและเงินกองทุน 1.71 บาทเข้าไปแล้ว มาถึงตรงจุดนี้ คงได้คำตอบแล้วว่าน้ำมันราคาแพงเป็นเพราะ ปตท. ขูดรีด หรือนโยบายของรัฐ น้ำมันแต่ละชนิดออกจากโรงกลั่นมีราคาใกล้เคียงกัน แต่พอมาเป็นราคาขายปลีกราคาแตกต่างกัน สาเหตุมาจากภาษีและกองทุนน้ำมันนั่นเอง

ในอดีตที่ผ่านรัฐบาลเก็บภาษีน้ำมันโดยเฉลี่ยแพงกว่านี้ แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคประชานิยม ต้องการลดภาระให้ประชาชนโดยเฉพาะในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยใช้เงินจากกองทุนน้ำมันไปแทรกแซงราคาจนทำให้โครงสร้างราคาบิดเบือน กองทุนน้ำมันติดลบ 80,000 ล้านบาท พอมาถึงรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ตนเข้าไปล้างหนี้ให้กองทุนน้ำมัน จากนั้นรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาตามระบอบประชาธิปไตย ก็เข้ามาก่อหนี้ใหม่อีก โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเข้าไปชดเชยราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)

น้ำมันสำเร็จรูปถือเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐบาล แต่ละปีมีรายได้ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ถือว่าอยู่ในระดับที่พอใช้ได้ แต่ที่น่าตกใจคือ การกำหนดราคาขายปลีกน้ำมันให้แตกต่างกันโดยใช้กลไกภาษีและเงินกองทุน มันนำไปสู่ปัญหาความไม่เป็นธรรม และการใช้พลังงานขาดประสิทธิภาพ เพราะคนเปลี่ยนจากการใช้ของแพงมาใช้ของราคาถูก

ตั้งแต่ปี 2554 เก็บกองทุนน้ำมันเพิ่มตลอด

เบนซิน 95 ราคาลิตรละ 48 บาททราบหรือไม่ว่ากลุ่มผู้ใช้เบนซิน 95 เป็นใคร? คำตอบคือคนที่ขับรถเบนซ์โบราณกับมอเตอร์ไซค์ตามหมู่บ้าน แต่ถ้าเป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลจากความเจริญ อย่างที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ราคาขายปลีกเบนซิน 95 ไม่ใช่ราคาลิตรละ 48 บาท แต่ขายกันอยู่ที่ราคาลิตรละ 50 บาท ขณะที่กลุ่มคนรวยที่ใช้แก๊สโซฮอล์อี 85 รับเงินชดเชยจากรัฐบาลลิตรละ 11.60 บาท

“รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช นำแก๊สโซฮอล์อี 85 มาใช้ผิดจังหวะ เร็วเกินไป จริงๆควรจะส่งเสริมแก๊สโซฮอล์อี 20 มากกว่า เพราะจะช่วยสนับสนุนเกษตรกรและอุตสาหกรรมเอทานอลได้มากกว่า เนื่องจากรถยนต์ที่ใช้แก๊สโซฮอล์อี 85 มีอยู่ไม่กี่ยี่ห้อ เท่าที่ทราบก็มีวอลโว่ นอกจากน้ำมันจะได้รับเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันแล้ว ยังได้รับการชดเชยจากกองทุนในส่วนของราคารถยนต์ด้วย สรุปคนจนจ่ายภาษีและเงินนำส่งกองทุนน้ำมันมาก ส่วนคนรวยได้รับเงินชดเชย” นายปิยะสวัสดิ์กล่าว

นอกจากนั้น ในปัจจุบันยังมีการนำเงินกองทุนน้ำมันไปชดเชยก๊าซแอลพีจีเดือนละ 3,500 ล้านบาท ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 กองทุนน้ำมันยังคงติดลบ -3,436 ล้านบาท อีกประเด็นที่ตนไม่เข้าใจ ทำไมรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เก็บเงินกองทุนน้ำมันจากผู้ใช้เบนซิน 95 ในอัตราที่สูงและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ลดส่วนต่างเบนซินกับโซฮอล์ เอทานอลยอดตก

สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เก็บเงินกองทุนจากผู้ใช้น้ำมันเบนซิน 95 ลิตรละ 7.5 บาท ก็ถือว่าหนักมากแล้ว หลังจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์เข้ามาบริหารประเทศ ปรับลดเงินกองทุนน้ำมันที่เก็บจากเบนซิน 95 เหลือ 0 เพื่อลดราคาขายปลีกตามนโยบาย “กระชากค่าครองชีพ” ที่หาเสียงไว้ ปรากฏว่า ยอดขายเอทานอลลดลงทันที 30% ก็เลยปรับขึ้นไปใหม่ จากนั้นก็ทยอยปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเบนซิน 95 ถูกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันลิตรละ 10 บาท

ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นช่วง 12 ปี

นายปิยสวัสดิ์กล่าวต่อเมื่อ 12 ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเบนซินขายปลีกอยู่ที่ลิตรละ 11-13 บาทต่อลิตร ปัจจุบันอยู่ที่ลิตรละ 48 บาท รวม 12 ปี ปตท. กวาดกำไรไปกว่า 900,000 ล้านบาท ฟังดูแล้วก็น่าโมโห ปตท. น่ะ หากไปดูราคาน้ำมันเบนซินที่สิงคโปร์เมื่อ 12 ปีก่อนอยู่ที่บาร์เรลละ 22.8 ดอลลาร์สหรัฐ วันนี้เพิ่มขึ้นเป็น 115 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ภาษีสรรพสามิตเดิมเก็บที่ลิตรละ 3.68 บาท วันนี้เก็บลิตรละ 7 บาท กองทุนน้ำมันเก็บลิตรละ 0.50 บาท เพิ่มเป็น 10 บาท ขณะที่ค่าการตลาดไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

“ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา ราคาขายลีกน้ำมันเบนซิน 95 ที่เพิ่มขึ้น 34 บาท เป็นผลมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น 17 บาท และมาจากนโยบายรัฐบาลปรับขึ้นอัตราภาษีและเงินกองทุนน้ำมันอีก 15 บาท น้ำมันดีเซลก็เช่นเดียวกัน ส่วนคำถามที่ว่าทำไมเราต้องอ้างอิงราคาน้ำมันในตลาดโลก คำตอบก็คือ ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ 85% ของปริมาณน้ำมันดิบที่ใช้ในการผลิต แล้วอย่างนี้จะไม่ให้อิงราคาตลาดโลกได้อย่างไร นี่คือคำอธิบายทั้งหมด” นายปิยสวัสดิ์กล่าว

ราคาขายปลีกน้ำมันในไทยแพงจริงหรือ

อันนี้เป็นตารางจัดอันดับความเจ็บปวด โดยใช้ราคาขายปลีกน้ำมันและปริมาณการใช้แต่ละวันมาเปรียบเทียบกับรายได้ สรุปว่าคนไทยใช้น้ำมันอ้างอิงสิงคโปร์แล้วมีความทุกข์มากกว่าคนจีน อียิปต์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอเมริกา ส่วนข้ออ้างที่ว่าประเทศไทยเป็นประเทศยากจน ต้องกำหนดราคาพลังงานให้ต่ำๆ เข้าไว้ นายปิยสวัสดิ์บอกว่า

“ผมว่ามันเป็นอะไรที่ไม่มีสาระ ถ้าเป็นอย่างนี้ อิตาลีรวยกว่าไทย ราคาทองคำน่าจะแพงกว่า คนไทยไปเที่ยวอิตาลีต้องขนทองคำไปขาย แต่ข้อเท็จจริงทองคำทั่วโลกราคาเท่ากันทั้งหมด ราคาซื้อ-ขายน้ำมันในตลาดโลกก็เช่นเดียวกัน ข้ออ้างที่ว่าประเทศไทยยากจน ควรกำหนดราคาน้ำมันถูกๆ เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น ทำไมลาวกำหนดราคาขายปลีกดีเซลลิตรละ 40 บาท ส่วนไทยไม่เกิน 30 บาท เป็นต้น แต่ถ้ารัฐต้องการจะทำก็ทำได้โดยการลดภาษีและเงินกองทุน แต่ผลที่ตามมาคือรายได้ของรัฐที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศก็ลดลง ต้องเก็บภาษีอื่นเพิ่ม หรือลดรายจ่ายหรือกู้เงินเพิ่ม ประเด็นอยู่ที่ว่า แล้วสมควรทำเช่นนั้นหรือไม่”

เปรียบเทียบราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและดีเซล

ทั้งนี้ หากนำราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 95 ของไทยลิตรละ 48 บาท เปรียบเทียบประเทศอื่นๆ จริงๆ อาจจะไม่ค่อยถูกต้องสักเท่าไหร่ เนื่องจากเบนซิน 95 มีปริมาณการใช้ 1.6 ล้านลิตรต่อวันเท่านั้น ขณะที่ปริมาณการใช้เบนซินทั้งหมด 20 ล้านลิตรต่อวัน ที่ถูกต้อง ควรใช้ราคาขายปลีกแก๊สโซฮอล์อี 10 มากกว่า อย่างไรก็ตาม หากเราใช้เบนซิน 95 เป็นตัวเปรียบเทียบตามที่แสดงในตาราง เราจะพบว่า ราคาขายปลีกเบนซิน 95 ของไทยแพงที่สุดในอาเซียน ยกเว้นเขมรและลาว ขณะที่ยุโรปราคาน้ำมันแพงมาก แต่ราคาที่แพงไม่ได้มีสาเหตุมาจากเนื้อน้ำมัน น้ำมันที่ออกจากโรงกลั่นทั่วโลกราคาใกล้เคียงกัน แต่ที่ทำให้ราคาขายปลีกแตกต่างกันคือตัวภาษีและกองทุนน้ำมัน ส่วนดีเซลของไทยราคาถูกค่อนข้างถูก หากเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศที่กำลังพัฒนา ยกเว้นบรูไนและมาเลเซีย

“ที่น่าสนใจคือ ประเทศนอร์เวย์เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน แต่กำหนดราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศแพงที่สุดในยุโรป เพราะนอร์เวย์เก็บภาษีและเก็บเงินเข้ากองทุนปิโตรเลียมในอัตราที่สูงมาก โดยกองทุนนี้จะนำเงินไปลงทุนทั่วโลก ทั้งนี้เพื่อหารายได้ให้กับประเทศนอร์เวย์ ไว้ใช้ในการพัฒนาประเทศในอนาคตเมื่อปริมาณสำรองปิโตรเลียมของเขาหมด ขณะที่ประเทศไทยสูบน้ำมันใต้ดินขึ้นมาใช้อย่างต่อเนื่องใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ใช้แล้วก็หมดไป เมื่อวันนั้นมาถึง เราจะทำอย่างไร”