ThaiPublica > คนในข่าว > บทเรียนปล่อยกู้จำนำข้าว ”วรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี” อดีต ผอ.ออมสิน เปิดใจ “ถูกกฎอย่างเดียวไม่พอ ต้องดูปัจจัยแวดล้อมด้วย”

บทเรียนปล่อยกู้จำนำข้าว ”วรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี” อดีต ผอ.ออมสิน เปิดใจ “ถูกกฎอย่างเดียวไม่พอ ต้องดูปัจจัยแวดล้อมด้วย”

24 มีนาคม 2014


บรรยากาศงานเลี้ยงอำลา นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี อดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสิน
บรรยากาศงานเลี้ยงอำลา นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี อดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

วันที่ 20 มีนาคม 2557 เป็นวันที่นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี อดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสิน มาทำงานที่ธนาคารเป็นวันสุดท้าย ก่อนจาก ออมสินจัดงานเลี้ยงอำลาอดีตเอ็มดีหนุ่มวัย 40 ปีอย่างสมศักดิ์ศรี โดยมีผู้บริหารระดับสูง และพนักงาน รวมทั้งสื่อมวลชน เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง บรรยากาศในงานแตกต่างจากช่วงที่เกิดเหตุการณ์ลูกค้าแห่ถอนเงินอย่างสิ้นเชิง

อดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสิน จึงใช้จังหวะนี้แถลงข่าวเปิดใจ พร้อมกับแจกจดหมายเปิดผนึก บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับสื่อมวลชนและเพื่อนพนักงาน เสมือนเป็นการสั่งลาครั้งสุดท้าย

นายวรวิทย์ เล่าให้ฟังว่า “ชีวิตของผมคลุกคลีกับธนาคารออมสินไม่ต่ำกว่า 10 ปี เริ่มงานครั้งแรกปี 2554 ในตำแหน่งกรรมการและกรรมการบริหารเป็นเวลา 3 ปี 7 เดือน จากนั้นย้ายมานั่งในตำแหน่งรองผู้อำนวยการธนาคารออมสินอีก 5 ปี 6 เดือน ก็มาถึงจุดหักเหของชีวิต ผมจึงตัดสินใจลาออกจากออมสิน เพื่อขอรับการสรรหา ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเอ็มดีที่ ธอส. ทำงานที่นี่ 2 ปี ปรากฏว่านายเลอศักดิ์ จุลเทศ อดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ลาออก ผมได้รับการทาบทามจากผู้ใหญ่กระทรวงการคลังให้มาลงสมัครชิงตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ผมผ่านการคัดเลือกและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสินวันที่ 13 ธันวาคม 2555”

นายวรวิทย์นั่งในตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสินได้ 1 ปี 3 เดือน ก็ต้องเผชิญกับมรสุมครั้งใหญ่ เริ่มก่อตัวขึ้นที่ ธ.ก.ส. ซึ่งช่วงนั้น ธ.ก.ส. มีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่ 1.7 แสนล้านบาท แต่ไม่สามารถนำไปชำระหนี้จำนำข้าวได้ เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีระบุว่า ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการจัดหาเงินทุนมาให้ ธ.ก.ส. ไม่ใช่มาใช้เงินของ ธ.ก.ส. ขณะที่การดำเนินการจัดหาเงินกู้ไม่สามารถดำเนินการได้ในช่วงที่เป็นรัฐบาลรักษาการ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 181(3)

กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้จัดหาเงินกู้ตามมติ ครม. จึงให้ ธ.ก.ส. ทำหนังสือไปขอกู้เงินออมสินผ่านตลาดอินเตอร์แบงก์ 5,000 ล้านบาท เสมือนเป็นการทำธุรกรรมตามปกติ หลังจากออมสินโอนเงินให้ ธ.ก.ส. วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งตรงกับช่วงวันหยุดยาว ปรากฏว่าประเด็นนี้เป็นข่าวใหญ่ขึ้นมา ก่อนถึงวันเปิดทำการ ธนาคารเริ่มมองเห็นสัญญาณเงินไหลออก

นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน แถลงข่าวชี้แจงกรณีออมสินปล่อยกู้ ธ.ก.ส. 5,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2557
นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน แถลงข่าวชี้แจงกรณีออมสินปล่อยกู้ ธ.ก.ส. 5,000 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2557

วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2557 ออมสินเชิญผู้สื่อข่าวมารับฟังคำชี้แจง “กรณีปล่อยเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. 5,000 ล้านบาท” เปิดทำการวันแรก ทุกอย่างก็เป็นไปตามความคาดหมาย มีลูกค้าแห่ถอนเงิน 30,000 ล้านบาท จากนั้นก็มีการถอนเงินฝากอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 17-21 กุมภาพันธ์ 2557 มีลูกค้าถอนเงิน 121,700 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็มีลูกค้านำเงินมาฝาก 64,000 ล้านบาท หักลบกันแล้ว ช่วง 5 วันมียอดถอนสุทธิ 57,700 ล้านบาท

ดังนั้น เพื่อเป็นการหยุดเงินไหลออก วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 นายวรวิทย์ จึงทำเรื่องขออนุมัติที่ประชุมบอร์ดออมสิน ยกเลิกวงเงินกู้ 5,000 ล้านบาท และให้ออมสินทวงเงินต้นคืนจาก ธ.ก.ส. พร้อมดอกเบี้ยกว่า 2 ล้านบาท ทันทีที่เรื่องนี้ผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมบอร์ด นายวรวิทย์ก็ยื่นใบลาออก

ในงานเลี้ยงอำลาช่วงเปิดให้ซักถาม ผู้สื่อข่าวถามนายวรวิทย์ว่า กว่าจะไต่เต้าขึ้นมาดำรงตำแหน่งเอ็มดีออมสินได้ใช้เวลา 13 ปี แต่การตัดสินใจปล่อยกู้ ธ.ก.ส. ครั้งนี้ใช้เวลาแค่ 5 วัน ทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนว่าหายวับไปกับตา นายวรวิทย์ได้รับบทเรียนอะไรจากเหตุการณ์ครั้งนี้บ้าง

นายวรวิทย์ตอบว่า “ถือเป็นบทเรียนที่ดี การปฏิบัติงานตามกฎระเบียบของแบงก์ชาติ ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยเสมอไป อย่างเช่น การปล่อยกู้ผ่านอินเตอร์แบงก์ เป็นธุรกรรมที่ออมสินหรือธนาคารพาณิชย์ทั่วไปปล่อยกู้ตามปกติ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของแบงก์ชาติ หากในอนาคตผมได้มีโอกาสได้เข้ามาอยู่ในแวดวงการธนาคารอีก ดูแค่กฎระเบียบอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ต้องคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ประกอบด้วย เหตุการณ์ครั้งนี้ ถือเป็นบทเรียนที่ผมต้องเก็บไว้ในความทรงจำ”

นายวรวิทย์กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับสถานการณ์เงินฝากของออมสินตอนนี้กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ก่อนเกิดเหตุการณ์เงินไหลออกธนาคารมีสภาพคล่องส่วนเกินประมาณ 2.3 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 10% ของสินทรัพย์ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่เกิน 6% หรือประมาณ 1.5-1.7แสนล้านบาท ก็น่าจะเพียงพอ

“แต่การมีสภาพคล่องมากเกินไป บางครั้งก็เป็นภาระของธนาคาร ในแง่ของดอกเบี้ยจ่าย ซึ่งมีผลกระทบกับกำไร ส่วนเหตุผลที่ออมสินต้องกักตุนสภาพคล่องไว้เป็นจำนวนมาก ณ ขณะนั้น เนื่องจากปัญหาการเมืองทำให้เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน แต่นับจากวันที่เกิดเหตุการณ์เงินไหลออกจนถึงวันนี้ เงินฝากมียอดถอนสุทธิประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท ถือว่าสถานการณ์เงินฝากกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เงินฝากที่ไหลออก ส่วนใหญ่เป็นผู้ฝากเงินประเภทสถาบันที่ครบกำหนดไถ่ถอน หากธนาคารต้องการระดมเงินฝาก เพื่อให้ออมสินมีสภาพคล่องกลับไปยื่นอยู่ที่ระดับเดิม 2.3 แสนล้านบาท ก็ต้องสู้ดอกเบี้ย แต่ผมคิดว่าไม่จำเป็นแค่ 1.7-1.8 แสนล้านบาท ก็เพียงพอแล้ว”

นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี อดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสิน
นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี อดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

ผู้สื่อข่าวถามต่อไปอีกว่า ช่วงเกิดเหตุการณ์เงินไหลออกมีกระแสข่าวแพร่สะพัดในโลกออนไลน์ กล่าวหาว่านายวรวิทย์ใกล้ชิดนักการเมืองบางท่าน จนได้รับการแต่งตั้งเป็นเอ็มดีแบงก์รัฐถึง 2 แห่ง

นายวรวิทย์ตอบว่า “ใช่ ช่วงนั้นมีข่าวโจมตีผม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องส่วนตัว แต่ผมก็ดีใจอย่าง ไม่มีใครโจมตีผมทำงานล้มเหลวหรือมีประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน ผมไม่เคยถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาตรวจสอบเหมือนแบงก์รัฐแห่งอื่น ประเด็นข้อกล่าวหาที่ว่าผมใกล้ชิดนักการเมือง ผมเป็นเอ็มดีแบงก์รัฐขนาดใหญ่ระดับนี้ ทำงานแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระดับประเทศ ถือเป็นเรื่องธรรมดา ที่ต้องมีเครือข่ายหรือ connection ทางการเมือง แต่ที่สำคัญเราต้องใช้ connection ในทางที่ถูกต้องและเหมาะสม ข้อกล่าวหาว่าผมเป็นเด็กการเมืองหรือใกล้ชิดนักการเมืองผมก็ไม่ปฏิเสธ แต่ขอให้มองที่ผลงานของผมด้วย ตั้งแต่ปี 2544 เริ่มเข้าสู่วงการธนาคาร เป็นบอร์ดออมสิน จนกระทั่งมาเป็นเอ็มดี ธอส. และออมสิน มีที่ไหนบ้างที่ผมทำงานไม่ประสบความสำเร็จ ลองไปสอบถามดู”

คำถามสุดท้าย เป็นข่าวลือบนโลกออนไลน์ว่านายวรวิทย์ได้รับค่าจ้างจากการลาออกครั้งนี้ อดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าวว่า “ผมไม่เสียค่าปรับให้ออมสินก็บุญแล้ว ผมลาออกเอง ธนาคารไม่ต้องจ่ายสักบาท ครั้งนี้เป็นการตัดสินใจของผมคนเดียว และเพื่อยุติปัญหาทั้งหมด หลังจากผมลาออกจากออมสินแล้ว หากพบว่าที่ผ่านมา ผมทำอะไรไม่ถูกต้องหรือไม่โปร่งใส ผมก็ยินดีที่จะให้ธนาคารตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้อย่างเต็มที่”