ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > จับตาการเมืองไม่จบ เครดิตประเทศถูกหั่น

จับตาการเมืองไม่จบ เครดิตประเทศถูกหั่น

29 มีนาคม 2014


ช่วงปลายปีต่อเนื่องต้นปีที่ผ่านมา สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ หรือ Credit Rating Agency ทั้งบริษัท Standard and Poor’s (S&P’s) บริษัท Moody’s Investors Service (Moody’s) และบริษัท Fitch Ratings (Fitch) ได้ทยอยประกาศผลการจัดอันดับความน่าเชื่อของประเทศไทย โดยทุกแห่งยืนยันคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยเหมือนเดิม

ผลการจัดอันดับความน่า

แต่สถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้ง 3 แห่ง ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองของไทยไว้ว่า อาจเป็นปัจจัยลบต่อการเปลี่ยนแปลงอันดับความน่าเชื่อถือของไทย (Rating Outlook) ดังนี้

S&P’s ระบุว่า อาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ถ้าความสามารถในการปกครองประเทศ (เสถียรภาพทางด้านการเมืองและสถาบัน) ถดถอยลงไปมากกว่าที่ S&P’s สังเกตการณ์ไว้ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา

Moody’s ระบุว่า ปัจจัยที่อาจส่งผลให้แนวโน้มความน่าเชื่อถือของไทยเป็นลบ (Negative) คือ เหตุการณ์ทางการเมืองที่หาข้อสรุปไม่ได้และยืดเยื้อไปจนถึงครึ่งหลังของปี 2557 รวมทั้งความขัดแย้งทางการเมืองมีเพิ่มขึ้นหรือมีการขยายตัวอย่างมากไม่ว่าจะในกรุงเทพมหานครหรือนอกเขต นอกจากนี้ หากการชุมนุมรุนแรงขึ้นและมุ่งเป้าหมายให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อสินทรัพย์ทางเศรษฐกิจ หรือก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาวต่อภาคการท่องเที่ยวและการผลิต

และ Fitch ระบุว่า ในอนาคต ผลกระทบเชิงลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของไทยคือ การขาดรัฐบาลที่มีอำนาจในการบริหารงานอย่างแท้จริงจนก่อให้เกิดความอ่อนแอในการกำหนดกรอบนโยบายทางเศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจตึงเครียดและยืดเยื้อยาวนานขึ้นจนบั่นทอนแนวโน้มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินในระยะกลาง

ดังนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยวันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมาว่า “การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ” ทำให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ “aggressive” หรือดุดันมากที่สุดคือ Moody’s ได้ออกรายงานในวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา หรือ 2 วันหลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเลือกตั้งเป็นโมฆะว่า

“คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นพัฒนาการในเชิงลบสำหรับอันดับความน่าเชื่อถือของไทย เนื่องจากได้เพิ่มความเสี่ยงของวิกฤติทางการเมืองให้ลุกลามเข้าสู่ครึ่งปีหลัง รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงช่วงขาลงต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ขณะเดียวกันได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการลุกลาม และความรุนแรงจากการชุมนุมประท้วงของกลุ่มต่อต้านและสนับสนุนรัฐบาล”

ส่วน S&P’s และ Fitch แม้จะไม่ได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ แต่ก็มีโอกาสสูงเช่นกันที่จะพิจารณาปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยลง เพราะได้ระบุปัจจัยการเมืองเป็นความเสี่ยงต่อเครดิตของประเทศไทยในอนาคต

การส่งสัญญาณเชิงลบของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ทำให้ภาครัฐและภาคเอกชนเริ่มเป็นกังวล เพราะถ้าความน่าเชื่อถือของประเทศถูกปรับลดลง จะมีผลกระทบอย่างมากต่อต้นทุนทางการเงินของภาครัฐและภาคธุรกิจต่างๆ กล่าวคือ ทำให้มีภาระต้นทุนการกู้ยืมเงินสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะส่งสัญญาณว่า อาจปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยลง แต่คงไม่ปรับลดลงทันที เพราะปกติจะปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือ (Rating outlook) ก่อน

ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่า ถ้าการเมืองยังไม่มีความชัดเจนก็อาจเห็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือปรับลด outlook ของประเทศไทยลงช่วงปลายปีนี้ จากนั้นช่วงต้นปีหน้าก็อาจประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศลงตามมาภายหลัง

ขณะที่ ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงต้นทุนทางการเงินที่จะเพิ่มขึ้นจากการถูกปรับลดความน่าเชื่อถือของประเทศว่า จะมีผลกระทบต่อภาครัฐและภาคธุรกิจมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับตลาดการเงินได้รับรู้ความเสี่ยงเรื่องนี้ไปแล้วหรือยัง ซึ่งหากดูจาก Credit Default Swap (CDS) ซึ่งเปรียบได้กับราคาความเสี่ยง คือ CDS ที่สูงยิ่งสะท้อนความเสี่ยงที่มาก เช่น ความเสี่ยงของพันธบัตรรัฐบาลไทยเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นต้น

เปรียบเทียบ CDS

ดร.รุ่งระบุว่า CDS ของไทยเคยแตะ 169.5 basis points หรือ 1.69% เมื่อปลายเดือนมกราคม 2557 หลังจากนั้นปรับลดลงมา และล่าสุด ณ วันที่ 28 มีนาคม 2557 อยู่ที่ 128.5 basis points หรือ 1.28% นอกจากนี้ หากดู CDS ของไทย มาเลเซีย ฟิลิปินส์ จะเห็นว่า CDS ของทั้งสามประเทศต่ำกว่าเมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2556 และต่ำกว่าช่วงปลายเดือนมกราคม 2557 ที่ตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ แต่สังเกตได้ว่า CDS ของมาเลเซียและฟิลิปปินส์ปรับลงมากว่าของไทย

“CDS ของไทยสูงกว่าสองประเทศ ชี้ให้เห็นว่าตลาดได้รับรู้ (price in) ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยไว้ระดับหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามดูว่าสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะปรับลดเครดิตประเทศไทยลงอย่างไร และหากปรับลดลงจริงๆ ในตอนนั้นต้องดูอีกที่ว่าตลาดรับรู้ความเสี่ยงเข้าไปมากน้อยแค่ไหน หรือมีอะไรเป็นความเสี่ยงเพิ่มเติมที่ตลาดยังไม่รับรู้ หรือไม่ได้คาดการณ์ไว้ ดังนั้น ผลกระทบต่อต้นทุนการเงินจะมากหรือน้อยคงต้องติดตามดูอีกครั้งในขณะนั้น” ดร.รุ่งกล่าว

ดังนั้นคงต้องลุ้นกันว่า สถานการณ์ทางการเมืองจะคลี่คลายได้รวดเร็วแค่ไหน แต่ถ้าลากยาว จะทำให้อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศลดลงมากน้อยแค่ไหน