ThaiPublica > คอลัมน์ > วิศวกรอาเซียนและวิศวกรเอเปค: ไทยจะก้าวไปอย่างไร (2)

วิศวกรอาเซียนและวิศวกรเอเปค: ไทยจะก้าวไปอย่างไร (2)

28 มีนาคม 2014


ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ศาสตราจารย์กิติคุณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และอดีตกรรมการสภาวิศวกร 2 สมัย

ในบทความตอนแรก ได้อธิบายว่าวิศวกรแต่ละชาติในกลุ่มประเทศอาเซียนจะขึ้นทะเบียนเป็นวิศวกรอาเซียน หรือ ASEAN Chartered Professional Engineer (ACPE) และได้ใบอนุญาตเป็นวิศวกรต่างด้าวจดทะเบียน หรือ Registered Foreign Professional Engineer (RFPE) ตามข้อตกลงของ AEC ได้อย่างไร

(หมายเหตุ: วิศวกร RFPE ไม่สามารถทำงานวิศวกรรมเป็นเอกเทศในต่างประเทศได้ จะต้องทำงานร่วมกับหรือภายใต้วิศวกรวิชาชีพท้องถิ่นเสมอ)

มาในตอนนี้จะชี้ให้เห็นว่าการนี้มีปัญหาอุปสรรคอย่างไร และไทยได้หรือเสียเปรียบหรือไม่ และอย่างไร

ปัญหาที่ตามมา

ณ ตรงนี้มีข้อสังเกตอยู่ 4 ข้อ คือ 1) วิศวกรผู้หนึ่ง สมมติว่าเป็นวิศวกรไทย (ACPE) จะไม่สามารถเดินทางไปทำงานเป็นวิศวกรต่างด้าว RFPE ในประเทศกลุ่มอาเซียนได้เลยหากไม่รู้จักวิศวกรท้องถิ่นในประเทศนั้นๆ มาก่อน และวิศวกรไทยปกติธรรมดาๆ คนหนึ่งที่ไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานต่างประเทศจะไปมีโอกาสรู้จักวิศวกรต่างชาติได้อย่างไร โอกาสที่เปิดสำหรับการไปทำงานในต่างประเทศจึงตกอยู่กับวิศวกรเพียงไม่กี่ร้อยคนที่ทำงานอยู่แล้วกับบริษัทไทย ทั้งบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาและบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ได้ไปทำงานในต่างประเทศมาก่อนแล้ว ทั้งๆ ที่จำนวนวิศวกรไทยในประเทศมีทั้งสิ้นเกือบหนึ่งแสนห้าหมื่นคน (150,000 คน) ความเท่าเทียมในโอกาสได้ประโยชน์จากข้อตกลง AEC นี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องถกเถียงกันต่อไปว่าจะทำเช่นไร

2) หากมองในอีกมุมหนึ่งคือมุมกลับกัน แทนที่จะมองในรูปการส่งออกวิศวกรไทยไปต่างประเทศ วิศวกรต่างชาติก็จะสามารถเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ตามข้อผูกมัดในข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยได้ลงนามไว้แล้วเช่นกัน และด้วยภาษาอังกฤษของวิศวกรไทยที่อ่อนด้อยกว่าวิศวกรจากอีกหลายประเทศ วิศวกรไทยก็จะมีโอกาสถูกแย่งงานไปได้มากหากเปิดเสรีกันจริงๆ ประเด็นที่มีปัญหาตามมาอีกมากมายนี้ ใครจะเป็นผู้ดูแล

3) เมื่อวิศวกรต่างด้าว RFPE จากต่างประเทศเข้ามาไทย วิศวกรผู้นั้นย่อมมีสิทธิพาครอบครัวและผู้ติดตามตามมาพักอาศัย อันรวมไปถึงแม้กระทั่งการมีบุตรเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งแน่นอนย่อมมีสิทธิที่จะขอเป็นคนไทย มีสัญชาติไทย ปัญหาสังคมแบบนี้เราคิดรองรับกันไว้แล้วหรือยัง และควรเป็นหน้าที่ของใคร กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน หรือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า อาจมีการขยายจากอาเซียน 10 ประเทศ เป็นอาเซียน +3 และอาเซียน +6 ซึ่งอาจหมายรวมถึงบางประเทศที่ผู้คนในประเทศนั้นอยากมาทำงานในเมืองไทย ในขณะที่วิศวกรไทยไม่ค่อยอยากไปประเทศนั้น นั่นหมายความว่า การถ่ายเทบุคคลากรและครอบครัวของเขา จะเป็นในลักษณะถ่ายและเทไปด้านหนึ่งมากกว่าอีกด้านหนึ่ง มากกว่าจะเป็นการถ่ายเทแบบได้ดุล

4) หากวิศวกรต่างด้าว RFPE ไม่สามารถลงนามเป็นผู้รับผิดชอบงานวิชาชีพวิศวกรรมได้ในการทำงานในต่างประเทศ แต่ต้องให้วิศวกรท้องถิ่นเป็นผู้ลงนามรับผิดชอบแบบเต็มๆ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว วิศวกรต่างด้าวจะเป็นวิศวกรวิชาชีพ (ในความหมายที่ต้องรับผิดชอบในงานวิชาชีพของตน) ไม่ได้เลย และจะมีประโยชน์อันใดที่จะนำเข้าวิศวกรต่างด้าว RFPE มาไทย หรือส่งวิศวกรไทยไปต่างประเทศ ยกเว้นเอามาเป็นลูกมือนั่งคำนวณออกแบบ แต่ไม่ต้องลงนามและรับผิดชอบใดๆ ซึ่งหากได้วิศวกรต่างด้าวที่มาจากชาติที่มีค่าครองชีพไม่สูง อัตราเงินเดือนไม่มาก เขาก็จะมาแย่งอาชีพวิศวกรไทย อันทำให้เกิดปัญหาสังคมอีกรูปแบบหนึ่งตามมา และก็เช่นกัน ปัญหานี้มีคนคิดและหามาตรการรองรับแล้วหรือยัง

อุปสรรคที่พอมองเห็น

หากมองในมุมส่งออกวิศวกรไทยไปทำงานในต่างประเทศ วิศวกรไทยผู้นั้นเมื่อได้ใบอนุญาตเป็นวิศวกรต่างด้าว RFPE ในประเทศนั้นๆ แล้ว วิศวกรไทยยังมีอุปสรรคที่พอมองเห็นอยู่อีก 3 ประการ คือ

1) หากวิศวกรท้องถิ่นเป็นคนขี้ฉ้อ หรือเป็นวิศวกรที่ไม่เก่งจริง วิศวกรท้องถิ่นผู้นั้นอาจโดนถอนใบอนุญาต ซึ่งนั่นก็หมายความว่าวิศวกรไทยผู้ซึ่งเป็นวิศวกรต่างด้าว RFPE ในประเทศนั้น จะไม่มีสิทธิทำงานในประเทศนั้นๆ และตกงานทันทีโดยอัตโนมัติ เพราะวิศวกรท้องถิ่นที่รับรองวิศวกรไทยมาแต่แรกหมดสิทธิที่จะไปรับรองใครแล้ว

2) วิศวกรท้องถิ่นอาจถือความได้เปรียบที่วิศวกรไทยต้องได้รับการรับรองจากเขามาเอาเปรียบในเรื่องอัตราค่าจ้าง ฯลฯ ได้เสมอ ซึ่งนั่นรวมไปถึงว่าวิศวกรไทยจะไปทะเลาะเบาะแว้งกับวิศวกรท้องถิ่นไม่ได้เลยแม้แต่น้อย ทั้งนี้หากเป็นวิศวกรต่างด้าวมาทำงานในไทยปัญหานี้ก็เหมือนกัน ต่างกันเพียงการสลับขั้วของผู้ได้และเสียประโยชน์

3) การไปทำงานในต่างประเทศ แต่ละประเทศจะมีกฎกติกาหรือกฎเกณฑ์ข้อกำหนดในการออกแบบไม่เหมือนกัน บางประเทศอาจใช้มาตรฐานอังกฤษ บางประเทศใช้อเมริกัน หรือญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งเยอรมัน หรือจีน การที่มีประสบการณ์ออกแบบโดยกฎเกณฑ์ไทย อาจใช้ไม่ได้ในประเทศเหล่านั้น และอาจต้องใช้เวลาในการศึกษาและปรับความคิดอีกมากพอสมควร

วิศวกร AEC

ข้อเสียเปรียบของไทย

ประเทศไทยมีกฎระเบียบอยู่ข้อหนึ่งที่คนทั่วไปหรือแม้กระทั่งวิศวกรไทยเองก็ตามไม่รู้ว่ามี นั่นคือ คนที่จะมาขอขึ้นทะเบียนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมในประเทศไทยนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นวิศวกรหรือผู้จบการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต ปัจจุบันมีหลักฐานว่ามีคนไทยที่จบการศึกษาเพียงระดับประถม 4 สามารถขอและได้ใบอนุญาตเป็นวิศวกรวิชาชีพในไทย หลักการพื้นฐานของกฎเกณฑ์ข้อนี้คือ ประเทศไทยต้องการให้โอกาสผู้ที่มีทักษะและความชำนาญในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมในสาขาหนึ่งๆ ‘ในระดับหนึ่งๆ’ สามารถเป็นวิศวกรวิชาชีพโดยมีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายได้ โดยวิศวกรประเภทนี้ สภาวิศวกรกำหนดให้เรียกว่า ‘ภาคีวิศวกรพิเศษ’ (ซึ่งในความเห็นของผู้เขียน น่าจะเรียกว่า ‘ภาคีวิศวกรสมทบ’มากกว่า เพราะคำว่า‘พิเศษ’ฟังดูราวกับว่าวิศวกรพิเศษผู้นั้นเก่งกว่าวิศวกรปกติเสียด้วยซ้ำ ซึ่งไม่น่าจะจริง

ปัจจุบันก็ได้มีวิศวกรต่างชาติที่ได้เข้ามาทำงานในประเทศไทย ได้อาศัยช่องทางนี้ขอใบอนุญาตทำงานวิศวกรรมได้อย่างถูกกฎหมายในไทยมาเป็นเวลานับเป็นหลายสิบปีมาแล้ว และวิศวกรต่างชาติเหล่านั้นมาจากหลากหลายประเทศที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกลุ่มอาเซียนเสียด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าหากมองในแง่มุมนี้เราได้เปิดประเทศมานานมากแล้ว

การแบ่งสาขางานวิศวกรรม

ปัญหาคือ งานทางวิศวกรรมสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายสิบสาขา ขึ้นอยู่กับว่าจะลงละเอียดมากเพียงใด แต่ในประเทศไทยเรากำหนดไว้ในกฎหมายหรือ พ.ร.บ.สภาวิศวกรเพียง 7 สาขา ได้แก่ โยธา ไฟฟ้า เครื่องกล อุตสาหการ เหมืองแร่ สิ่งแวดล้อม และเคมี ในขณะที่บางประเทศกำหนดไว้ถึงยี่สิบสาขา ส่วนที่ไทยไม่มีก็เช่น วิศวกรรมปิโตรเคมี วิศวกรรมการเกษตร วิศวกรรม (การป้องกัน) น้ำท่วม วิศวกรรมนาวี วิศวกรรมอุโมงค์ ฯลฯ ซึ่งนั่นหมายความว่า หากมีงานโครงการเกี่ยวกับวิศวกรรมนาวีขึ้นในไทย วิศวกรต่างชาติจะสามารถเข้ามาปฏิบัติวิชาชีพในไทยได้ทันทีโดยอิสระและอัตโนมัติ เพราะถือว่าสภาวิศวกรหรือประเทศไทยไม่ได้กำหนดให้เป็นวิชาชีพควบคุม

ในขณะเดียวกัน หากมีโครงการวิศวกรรมนาวีขึ้นในประเทศอาเซียนหนึ่งที่เขากำหนดให้วิชาชีพนี้เป็นวิชาชีพควบคุม วิศวกรไทยที่แม้จะได้ใบอนุญาตเป็นวิศวกรวิชาชีพอาเซียนหรือ ACPE ก็ไม่สามารถไปทำงานด้านวิศวกรรมนาวีในประเทศนั้นได้ เพราะสภาวิศวกรไม่สามารถออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพประเภทนี้ได้ด้วยเหตุที่ยังไม่ใช่วิศวกรรมที่อยู่ในขอบข่ายของการควบคุมตามข้อบังคับของสภา

วิศวกร (ไทย)

สภาวิศวกร (ไทย) ได้พยายามแก้ปัญหานี้โดยกำลังดำเนินการขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกข้อบังคับเพิ่มเติม ให้สภาวิศวกร (ไทย) สามารถประกาศควบคุมวิศวกรสาขาใหม่ๆ เหล่านี้เพิ่มเติม ซึ่งเมื่อได้ประกาศข้อบังคับนี้แล้ว สภาวิศวกร (ไทย) จึงจะสามารถออกใบอนุญาต ACPE เป็นกรณีสำหรับไปทำงานในต่างประเทศ แต่มีข้อสังเกตที่ออกพิลึกพิลั่นอยู่ว่าใบอนุญาตใหม่นี้ไม่จำเป็นต้องใช้ในไทย เพราะเป็นสาขาที่สภาวิศวกรมิได้บังคับให้ควบคุม แต่ไพล่ไปจำเป็นในต่างประเทศ

ในทางตรงข้าม หากประเทศในกลุ่มอาเซียนประเทศหนึ่งไม่ควบคุมวิศวกรรมสาขาสิ่งแวดล้อม เช่น สิงคโปร์ แต่เมื่อวิศวกรสิงคโปร์ได้ใบอนุญาตเป็นวิศวกรอาเซียน ACPE ในสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรผู้นั้นก็สามารถมาปฏิบัติงานวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมในไทยได้โดยอาศัยช่องโหว่ ‘ภาคีวิศวกรพิเศษ’ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น หรือแม้กระทั่งสภาวิศวกรสิงคโปร์ก็อาจออกใบอนุญาต ACPE สาขาสิ่งแวดล้อมเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเขาทำได้โดยใช้อำนาจบริหารของสภาวิศวกรของสิงคโปร์เขาเอง

ณ สภาพปัจจุบันประเทศไทยจึงเสียเปรียบทั้งในการส่งออกและนำเข้าวิศวกร

ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน เห็นว่าสภาวิศวกร (ไทย) ไม่ควรอาศัยกระบวนการทางนิตินัย (ตามตัวหนังสือ) ไปพึ่งอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการออกข้อบังคับประกาศควบคุมวิศวกรรมบางสาขาเพิ่มเติมเป็นการเฉพาะสำหรับการส่งวิศวกรไทย ACPE ไปต่างประเทศ หากควรใช้อำนาจทางบริหารของกรรมการสภาวิศวกรออกเป็นระเบียบ (ซึ่งด้อยศักดิ์กว่าข้อบังคับ) ของสภาวิศวกรเอง ซึ่งเป็นอำนาจทางการบริหาร รวมทั้งทำได้ทันทีและเร็วกว่าไปผ่านกระบวนการทางกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งสามารถปรับให้ทันสมัยได้ตลอดเวลา มิใช่ต้องไปผ่านกระทรวงมหาดไทยทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มลดการประกาศควบคุมสาขาต่างๆ ด้วยวิธีการที่เสนอนี้จะก่อให้เกิดความคล่องตัว สะดวก และเป็นประโยชน์ต่อวิศวกรไทยและประเทศไทยได้มากกว่ามาก

ทั้งนี้ การประกาศเป็นกรณีพิเศษสำหรับสาขาวิศวกรรมที่เจาะจงใช้สำหรับการไปทำงานในต่างประเทศก็มิได้ใช้บังคับวิศวกรไทยในประเทศอยู่แล้ว รวมทั้งมิได้เป็นการรอนสิทธิผู้ใดอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะก่อให้เกิดปัญหาทางลบแก่ประเทศไทยแต่อย่างใด

วิศวกรต่างด้าว ตกลงดีหรือไม่ดี

การที่จะบอกว่าดีหรือไม่ดี ต้องมองในสองมุม คือ การส่งออกวิศวกรไทยไปต่างประเทศ และการนำเข้าวิศวกรต่างด้าวมาไทยซึ่งอาจมาแย่งงานวิศวกรไทยและมีปัญหาทางสังคมอื่นๆ ตามมา เช่น คนไทยตกงาน หรือเขามาสร้างครอบครัวที่เกิดในไทยและได้สัญชาติไทย ฯลฯ ซึ่งแน่นอนที่ประเทศอื่นๆ เขาก็ต้องมองในลักษณะนี้เช่นกัน และแต่ละประเทศก็พยายามสร้างกำแพงที่มองไม่เห็นและพยายามกีดกันไม่ให้วิศวกรต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศตนอย่างง่ายๆ ในขณะที่พยายามเต็มกำลังที่จะส่งวิศวกรของตนไปต่างประเทศ ซึ่งหลายประเทศได้มีการอบรมวิศวกรกันแล้วทั้งในเรื่องภาษาอังกฤษ ภาษาท้องถิ่น เช่น พม่า ลาว เขมร (อันเป็นแหล่งลงทุนขนาดใหญ่ในอนาคตอันใกล้) สภาพทางสังคมวัฒนธรรมท้องถิ่น อันรวมไปถึงศาสนา หรือแม้กระทั่งอาหารการกิน และความเป็นอยู่ของประเทศในกลุ่มอาเซียน

ตรงนี้ อยากให้ข้อสังเกตว่าพวกเราในประชาคมอาเซียนมีการแลกเปลี่ยนงานบริการด้านต่างๆ มาเป็นเวลานานแล้ว มีแรงงานข้ามชาติมานานแล้ว และเป็น AEC มานานแล้วในทางปฏิบัติ ณ ปัจจุบันก็ได้มีการส่งออก-นำเข้าวิศวกรต่างด้าวมาเป็นเวลานานแล้วเช่นกัน เพียงแต่วิศวกรต่างด้าวนั้นมาหรือไปทำงานแบบไม่เป็นทางการ (แม้อาจจะผิดกฎหมาย พ.ร.บ.วิศวกรของแต่ละประเทศ) โดยให้วิศวกรท้องถิ่นเป็นผู้ลงนามรับผิดชอบแทน การที่มีการออกใบอนุญาตวิศวกรอาเซียน (Asean Chartered Professional Engineer: ACPE) และใบอนุญาตวิศวกรต่างด้าว (Registered Foreign Professional Engineer: RFPE) จึงดูจะไม่มีผลในทางปฏิบัติมากนัก รวมทั้งยุ่งยากกว่าเดิมที่ต้องผ่านกระบวนการขออนุญาตมากมายหลายขั้นตอนด้วยซ้ำ คือต้องพิสูจน์ว่าเป็นผู้ชำนาญการอย่างสูงในงานวิศวกรรม ซึ่งต้องผ่านการคัดกรองเป็นพิเศษจากสภาวิศวกรของแต่ละประเทศต้นทาง ก่อนไปขอการรับรองและประกาศอย่างเป็นทางการจากกรรมการระดับอาเซียน จากนั้นจึงเอาใบอนุญาตนี้ไปขอทำงานเป็นวิศวกรต่างด้าวในประเทศที่ตนเองอยากไปทำงานซึ่งจะได้หรือไม่ได้ก็ไม่มีการรับประกันใดๆ ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ หากเป็นโครงการระหว่างประเทศ โดยเฉพาะงานประเภทโครงการเงินกู้ เจ้าของเงินกู้ก็มักบังคับให้ต้องส่งวิศวกรประเทศตนไปปฏิบัติงานในประเทศนั้นๆ โดยกำหนดไว้ในสัญญากู้ เพื่อไปพิทักษ์ผลประโยชน์ของตนอยู่แล้ว และประเทศผู้กู้ในบางกรณีก็อำนวยความสะดวกให้ส่งวิศวกรต่างด้าวมาทำงานในประเทศตนด้วยซ้ำ เพราะประเทศตนยังขาดแคลนวิศวกรชำนาญการ ซึ่งหากฝืนใช้วิศวกรท้องถิ่นของตนโดยลำพัง โครงการนั้นอาจจะออกมาวิบัติหรือล้มเหลวในขั้นสุดท้าย ซึ่งไม่เป็นผลดีใดๆ ต่อทั้งประเทศผู้กู้และผู้ให้กู้

ประเทศไทยก็เคยตกอยู่ในสภาพนี้เมื่อ 50 ปีที่แล้ว

สรุป

ในความเห็นของผู้เขียน ยังไม่เห็นข้อดีหรือข้อได้เปรียบ ไม่ว่าในทางธุรกิจ การแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ การประกอบวิชาชีพ หรือเชิงวิศวกรรม รวมทั้งปัญหาทางสังคม กับการที่รัฐบาลแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียนได้ไปลงนามข้อตกลง และ ‘บังคับ’ ให้ภาคปฏิบัติต้องมีการส่งออก-นำเข้าวิศวรต่างด้าวตามกฎเกณฑ์ใหม่ที่ยุ่งยากและซับซ้อนกว่าเดิมนี้

ข้อสังเกต

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ แม้จะได้เขียนโยงเฉพาะงานวิศวกรรม แต่งานบริการอื่นๆ เช่น บัญชี สถาปัตยกรรม แพทย์ พยาบาล ฯลฯ ที่กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนตกลงจะแลกเปลี่ยนให้ส่งคนไปทำงานข้ามประเทศได้นั้น ก็คงมีหลักเกณฑ์พาสปอร์ตและวีซ่าพิเศษที่ว่านี้ไม่ต่างกัน นักวิชาชีพในงานบริการสาขาอื่นๆ ดังกล่าวจึงสามารถนำความเข้าใจนี้ไปใช้ปฏิบัติการได้เช่นกัน

หมายเหตุ:บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสภาวิศวกรหรือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแต่อย่างใด