ThaiPublica > คอลัมน์ > อย่าปฏิรูปโดยลางสังหรณ์

อย่าปฏิรูปโดยลางสังหรณ์

17 กุมภาพันธ์ 2014


หางกระดิกหมา

ในระหว่างที่ทุกฝ่ายได้ออกมาชี้แนะแนวทางต่อต้านคอร์รัปชันกันมากมายนั้น หนึ่งเรื่องที่ดูเหมือนจะตกหล่นไปก็คือเรื่องการสำรวจเกี่ยวกับคอร์รัปชัน

ทั้งที่จริงๆ แล้ว ตามแนวทางการปฏิรูปเรื่องคอร์รัปชันของ United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC) บอกว่าการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับคอร์รัปชันนั้นเป็นบทบาทเบื้องต้นของการวางมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันเลยทีเดียว เนื่องจากก่อนจะพัฒนามาตรการใดๆ ข้อมูลก็เป็นของจำเป็นสำหรับใช้คำนวณว่าเรื่องใดจะใช้เวลาหรือทรัพยากรมากน้อย เรื่องใดจะจัดการก่อนหลัง จะได้กำหนดวัตถุประสงค์ของมาตรการต่างๆ ได้อย่างพอเหมาะ ไม่อ่อนจนเสียโอกาส และไม่แข็งเกินไปจนปฏิบัติไม่ได้จริง ซึ่งจะมีผลบั่นทอนศรัทธาของสังคมในการต่อสู้กับคอร์รัปชันไปเสียอีก

นอกจากนั้น ข้อมูลที่รวบรวมไว้ตั้งแต่ต้นนี้ ก็ยังจำเป็นสำหรับใช้เป็น base line เพื่อประเมินสัมฤทธิผลของมาตรการต่างๆ ในวันข้างหน้า มาตรการอะไรที่ได้ผลก็จะได้ทำให้มาก อะไรที่ไม่ได้ผลก็ยุบเลิก ข้างประชาชนเอง เมื่อได้เห็นข้อมูลเป็นชิ้นเป็นอันเหล่านี้ ก็จะเกิดความตื่นตัวได้ง่าย เพราะเห็นชัดว่าผลกระทบที่แท้จริงของคอร์รัปชันมันตื้นลึกหนาบางอย่างไร เป็นตัวเลขเท่าไหร่ ไม่ใช่การพูดกันแต่ลอยๆ

ทั้งนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับคอร์รัปชันที่จำเป็นต้องมีการสำรวจให้รู้ชัดมีอยู่ด้วยกันหลายเรื่อง เช่น

หนึ่ง ข้อมูลว่าคอร์รัปชันเกิดขึ้นที่ไหน โดยที่ไหนในที่นี้ หมายถึงทั้งองค์กร กระบวนการ หรือความสัมพันธ์ ที่มักเกิดคอร์รัปชัน เช่น แผนกไหน ขั้นตอนการทำเรื่องอะไร หรือระหว่างใครกับใคร

สอง ข้อมูลว่าคอร์รัปชันที่เกิดเป็นคอร์รัปชันแบบไหน เช่น ถ้าเป็นการทำสัญญากับรัฐ เรื่องสินบนก็มักจะเด่น แต่ถ้าเป็นเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย ก็อาจเป็นเรื่องของการเล่นพรรคเล่นพวกเป็นหลัก

สาม ข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่าความเสียหายและผลกระทบจากการคอร์รัปชัน ซึ่งรวมความตั้งแต่ความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยตรงว่ามีมูลค่าเท่าไหร่ ไปจนถึงความเสียหายโดยอ้อม และผลกระทบที่ไม่ใช่ตัวเงินทั้งหลาย เช่น ผลกระทบทางสังคม

สี่ ข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยแวดล้อมการคอร์รัปชัน กล่าวคือ ข้อมูลซึ่งชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมคอร์รัปชันของที่ใดที่หนึ่งนั้นมีอะไรเป็นตัวขับหรือเป็นตัวสนับสนุน ซึ่งบางทีก็อาจมีได้พร้อมๆ กันหลายปัจจัย เช่น เงินเดือนหรือฐานะที่น้อยเกินไปของเจ้าหน้าที่ การครอบงำเจ้าหน้าที่โดยผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น อำนาจการใช้ดุลยพินิจที่กว้างเกินไป หรือการไม่มีระบบตรวจสอบเอาผิด

ห้า ข้อมูลเกี่ยวกับ “ความรู้สึก” ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบจากการคอร์รัปชัน ทั้งนี้ เนื่องจากปฏิกิริยาของคนที่จะมีต่อมาตรการต้านคอร์รัปชันที่จะวางต่อไปนั้น มักถูกกำหนดโดยความรู้สึกที่คนคนนั้นมีต่อคอร์รัปชันมากพอๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ดังนั้น หากจะให้ได้ภาพที่ครบทุกมิติ นอกจากข้อมูลสิ่งที่เกิดขึ้นจริงแล้ว จึงต้องมีการสำรวจสถานการณ์คอร์รัปชันในความรู้สึกนึกคิดของคนเหล่านั้นด้วย เช่น เขาเห็นว่าคอร์รัปชันที่เกิดเป็นประเภทไหน มีผลกระทบอย่างไร หรือเห็นว่าอะไรเป็นมาตรการที่ควรนำมาใช้แก้ไขปัญหา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคอร์รัปชันนั้นเป็นพฤติกรรมซ่อนเร้น ข้อมูลหาได้ยาก หรือมีโอกาสถูกบิดเบือนได้สูง การสำรวจข้อมูลจึงต้องหาจากหลายๆ แหล่ง และหลายๆ วิธี อะไรที่เป็นอคติ หรือความผิดพลาดคลาดเคลื่อนจะได้ถูกบ่งออกมา โดย UNODC แนะนำวิธีการสำรวจหลักๆ ไว้ เช่น

open data-1

หนึ่ง การสำรวจแบบนั่งโต๊ะ (Desk Review) วิธีนี้ก็ตรงตามชื่อเลยคือไม่ต้องออกไปไหน แต่หาข้อมูลเอาจากการอ่านอยู่ที่โต๊ะ เช่น ข้อมูลจากงานวิจัยหรือผลการประเมินที่มีคนทำไว้ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา หน่วยงานของรัฐ สตง. ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือรายงานข่าวเจาะของสื่อมวลชน

สอง การทำเซอร์เวย์ (Surveys) กล่าวคือ การรวบรวมข้อมูลเอาจากการตอบคำถามของกลุ่มตัวอย่าง โดยเรื่องนี้ความสำคัญอยู่ที่การเลือกกลุ่มตัวอย่างให้สอดคล้องกับสิ่งที่ต้องการสำรวจ เพราะการสำรวจประชากรโดยทั่วไปย่อมได้ผลไม่เหมือนกับการสำรวจคนที่มีธุระต้องติดต่อกับหน่วยงานของรัฐอยู่เรื่อยๆ การสำรวจคนนอกหน่วยงานย่อมไม่เหมือนการสำรวจคนในหน่วยงาน หรือการสำรวจคนในต่างจังหวัดไม่เหมือนการสำรวจคนเมือง นอกจากนั้น คำถามที่ใช้ในเซอร์เวย์ต้องออกแบบมาให้คนที่ถูกถามมีความเข้าใจตรงกันแม่้ว่าคนที่ถูกถามจะมีพื้นฐานและการศึกษาต่างกัน ไม่เช่นนั้นได้ข้อมูลอะไรมาก็จะเปรียบเทียบกันยาก

สาม การสนทนากลุ่ม (Focus Group) วิธีนี้ทำโดยการเลือกเอาคนกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าภาครัฐ เอกชน หรือภาคประชาสังคมที่ีเกี่ยวข้อง มานั่งคุยกันแบบเจาะลึก เพื่อสกัดเอาองค์ความรู้เกี่ยวกับคอร์รัปชันที่คนกลุ่มนั้นๆ มี เช่น ความรู้เกี่ยวกับลักษณะ ปัจจัย หรือวิธีแก้คอร์รัปชัน โดยข้อมูลที่ได้จากการสนทนากลุ่มนี้ จะถูกใช้เป็นแนวทางสำหรับการวิจัยแบบเจาะลึกต่อไป

สี่ กรณีศึกษา (Case Studies) เป็นการสัมภาษณ์บุคคลผู้มีส่วนในการคอร์รัปชันหรือค้นข้อมูลจากเอกสารในการดำเนินคดีต่างๆ เพื่อศึกษาดูว่าคอร์รัปชันเรื่องหนึ่งๆ เกิดขึ้นอย่างไร มีใครเกี่ยวข้อง ผลกระทบคืออะไร และมีการดำเนินการอะไร ได้ผลหรือไม่ ซึ่งจะช่วยในการทำความเข้าใจกระบวนการคอร์รัปชัน และความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครต่างๆ

ห้า การสังเกตการณ์ภาคสนาม (Field Observation) วิธีนี้ใช้สำหรับเก็บข้อมูลแบบเจาะลึก โดยการส่งคนที่ฝึกฝนมาแล้วไปสังเกตการณ์เก็บข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับคอร์รัปชันในที่ต่างๆ แบบไม่เปิดเผยตัว เช่น ส่งคนไปดูว่าข้าราชการใช้เวลามากน้อยแค่ไหนในการดำเนินการต่างๆ หรือว่าศาลขึ้นนั่งบัลลังก์ตรงเวลาหรือไม่ แต่ละวันใช้เวลาในห้องพิจารณาคดีนานเท่าไหร่ ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้ได้ข้อมูลที่มีรายละเอียดหรือข้อมูลที่ยังไม่อาจได้มาโดยวิธีอื่น

จริงอยู่ เราอาจรู้สึกกันได้อยู่แล้วว่าเมืองไทยนั้นมีปัญหาเรื่องคอร์รัปชัน แต่ถ้าไม่อยากให้การปฏิรูปประเทศต้องทำไปแบบใช้แต่ความรู้สึกหรือลางสังหรณ์ ก็มีแต่จะต้องลงทุนสำรวจให้รู้ชัดไปจนถึงข้อเท็จจริงอย่างที่ว่ามานี้เท่านั้น

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557