ThaiPublica > คอลัมน์ > รณรงค์ด้วยของจริง

รณรงค์ด้วยของจริง

1 เมษายน 2014


หางกระดิกหมา

ก่อนจะพูดถึงเรื่องอื่นๆ ขอส่งข่าวก่อนว่าบัดนี้ คอลัมน์โกงกินสิ้นชาตินี้ได้พิมพ์รวมเล่มแล้ว เป็นหนังสือชื่อ “หางกระดิกหมา” โดยสำนักพิมพ์ openworlds ผู้สนใจสามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไป

อ่านทวนหนังสือ “หางกระดิกหมา” ดูอีกทีแล้วก็พบว่าควรจะต้องเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องมาตรการสร้างความตื่นตัวเรื่องคอร์รัปชันอีกสักหน่อย เพราะดูจะเป็นเรื่องที่องค์กรและหน่วยงานทั้งหลายสนใจหยิบยกมาทำกันมาก แต่ในเล่มยังไม่ค่อยมีโอกาสได้พูดถึง

อันที่จริงแล้ว การสร้างความตื่นตัวเรื่องคอร์รัปชันนั้น ออกจะเป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน โดยเขาถือกันว่า แม้มาตรการในเรื่องนี้ไม่ใช่มาตรการที่ฟันตรงไปที่ตัวปัญหาเสียทีเดียว อย่างเช่น การให้นักการเมืองเปิดเผยทรัพย์สิน หรือการให้รัฐวิสาหกิจเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ก็เป็นมาตรการโดยปริยายที่ถ้าทำให้ถูกก็จะช่วยสนับสนุนภารกิจต่อต้านคอร์รัปชันในภาพรวมได้มาก กล่าวคือ

หนึ่ง ถ้าคนตื่นตัวเรื่องคอร์รัปชันแล้ว การต่อต้านในเรื่องนี้ก็จะมีมากขึ้น ซึ่งย่อมทำให้ใครที่คิดจะคอร์รัปชัน ต้องคิดหนักขึ้นตามส่วน

สอง ถ้าคนตื่นตัวเรื่องคอร์รัปชันแล้ว มาตรการต่อต้านคอร์รัปชันต่างๆ ที่จะวางลงไป ก็มักได้ผลดียิ่งกว่าปกติ เพราะการใช้อิทธิพลแทรกแซงให้ผิดไปจากหลักเกณฑ์ก็จะมีได้ยากขึ้น หรือเมื่อมีการแทรกแซงขึ้นมา คนก็จะพร้อมเอาเรื่องมากกว่าปกติ ทำให้การสอบสวนและลงโทษดำเนินไปได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม การจะรณรงค์สร้างความตื่นตัวให้ได้ผลอย่างที่ว่ามานี้ ไม่อาจจะสำเร็จได้ด้วยการปลูกจิตสำนึกให้คนรักดี เกลียดชั่ว หรือสักแต่บริกรรมว่า “ไม่เอาโกงๆ” อย่างที่เห็นๆ กันอยู่เท่านั้น หากแต่ต้องทำโดยการสื่อสารองค์ความรู้เกี่ยวกับคอร์รัปชันไปให้แก่ผู้คนอย่างครบถ้วน โดย United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC) ได้กำหนดเนื้อหาที่สมควรรณรงค์หรือสื่อสารไว้ ดังนี้

หนึ่ง ลักษณะหรือคำจำกัดความของคอร์รัปชัน

เนื่องจากทุกวันนี้ มีตำราหลายเล่มเกี่ยวกับคอร์รัปชัน และแต่ละเล่มก็ให้ความหมายของคอร์รัปชันแคบกว้างต่างกันไป กินความถึงสารพัดพฤติกรรม เช่น การให้สินน้ำใจ การเรียกสินบน การใช้สายสัมพันธ์ การฮั้วประมูล การล็อกสเปก การกำหนดนโยบายเอื้อผลประโยชน์พวกพ้อง ฯลฯ ดังนั้น เพื่อประโยชน์ของการต่อต้านคอร์รัปชัน ภายในประเทศหนึ่งๆ จึงควรจะตกลงกันให้แน่ว่าจะถือพฤติกรรมอย่างใดเป็นคอร์รัปชันบ้าง (เช่น การจ่ายเงินเพื่อกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ดำเนินเรื่องตามกระบวนการปกติโดยไม่แกล้งดึงเรื่องไว้นั้นจะถือเป็นคอร์รัปชันหรือไม่) จากนั้นก็รณรงค์ให้คนในประเทศเข้าใจตรงกัน การต่อต้านถึงจะดำเนินไปได้โดยมีฉันทามติ

สอง ผลเสียของคอร์รัปชัน

คนจะเอาใจใส่เรื่องคอร์รัปชันก็ต่อเมื่อเห็นว่ามันเป็นภัยอันตราย ดังนั้น เนื้อหาของการรณรงค์จะต้องเน้นการแสดงผลเสียของคอร์รัปชันให้คนแต่ละกลุ่มในสังคมรู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อนให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นผลเสียโดยตรง เช่น สำหรับคนวงการธุรกิจก็ควรจะแสดงให้เห็นถึงต้นทุนเพิ่มเติมและความไม่แน่นอนของกระบวนการประมูลที่มีการคอร์รัปชัน สำหรับคนผู้ใช้บริการสาธารณสุข ก็แสดงให้เห็นว่าบริการบางอย่างขาดไปพร่องไปเพราะรัฐจัดสรรงบประมาณแบบเห็นแก่คอร์รัปชันมากกว่าความจำเป็น ตลอดไปจนถึงผลเสียโดยรวมต่อประเทศ เช่น การทำลายศักยภาพในการแข่งขัน การทวีความรุนแรงของปัญหาความเหลื่อมล้ำ การสร้างความแตกแยกระหว่างกลุ่มคนในประเทศ ซึ่งยิ่งร้ายแรงกว่าผลเสียโดยตรงอีกเป็นหลายสิบเท่าอีกด้วย

สาม มาตรฐานที่พึงคาดหวังจากภาครัฐ

ประชาชนจำเป็นจะต้องได้รู้ว่ารัฐมีหน้าที่ต้องทำอะไรให้ตนบ้าง ในมาตรฐานอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานทั่วไปที่ใช้ได้กับทุกๆ หน่วยงาน หรือมาตรฐานเฉพาะของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อที่ประชาชนจะได้คอยจับตาดูได้ถูกว่าสิ่งต่างๆ ดำเนินไปอย่างที่ควรเป็นหรือไม่ ถ้าไม่ ก็จะได้เป็นจุดเริ่มให้ร้องเรียนเอาเรื่องได้ต่อไป

สี่ ข้อมูลเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชัน

หากจะให้คนสนับสนุนมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันต่างๆ ก็จำเป็นที่จะต้องมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการนั้นๆ เสียให้ครบ เริ่มตั้งแต่มาตรการต่อต้านคอร์รัปชันที่ว่านั้นคืออะไร หวังผลอย่างไร ทำไมจึงควรสนับสนุนมาตรการนั้น และถ้าจะสนับสนุน จะสนับสนุนได้อย่างไร รวมทั้งให้ความมั่นใจด้วยว่ามีมาตรการที่ปกป้องผู้ที่ช่วยสนับสนุนมาตรการจากผลร้ายอย่างไรบ้าง

อย่างไรก็ตาม UNODC เตือนไว้ว่า เรื่องที่ยากและใช้สตางค์มากที่สุดในงานต้านคอร์รัปชันก็คือเรื่องการสร้างความตื่นตัวนี่แหละ เพราะต้องใช้สื่อแทบทุกชนิดที่เป็นไปได้ และก็ต้องทำไปช้านานกว่าคนจะเปลี่ยนทัศนคติจากการยอมรับคอร์รัปชันมาเป็นไม่ยอม และจากไม่ยอมเฉยๆ มาเป็นไม่ยอมและร่วมลงมือแก้ไขได้

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ การรณรง์ของคณะกรรมการอิสระเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน (Independent Commission Against Corruption: ICAC) ของฮ่องกง ซึ่งมีผลงานพลิกแผ่นดินเปลี่ยนคนฮ่องกงจากที่เคยเห็นคอร์รัปชันเป็นของจำเป็นในชีวิตให้กลายมาเป็นคนที่ไม่ยอมรับคอร์รัปชันเลยได้ เพราะกว่าจะสำเร็จ ปีหนึ่งๆ ICAC ต้องจัดเวิร์กชอปเพื่อให้การศึกษากับภาคส่วนต่างๆ เกี่ยวกับคอร์รัปชันเป็นหลายๆ พันครั้ง ยังไม่ต้องพูดถึงการสื่อสารมวลชนทางอื่นๆ อย่างเช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โฆษณา อินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่รายการละครโทรทัศน์ (ซึ่งทำจากจากคดีคอร์รัปชันซึ่งเกิดขึ้นจริง และปัจจุบันยังถือเป็นหนึ่งในรายการโทรทัศน์ที่คนนิยมสูงสุดของฮ่องกง) โดยบัดนี้ แม้เวลาจะผ่านมาร่วม 40 ปี และสถานการณ์คอร์รัปชันของฮ่องกงจะอยู่ในระดับดีมากมานานแล้ว แต่ ICAC ก็ยังคงต้องทำหน้าที่นี้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำอีกทีว่าความสำเร็จของ ICAC ไม่ได้มาจากการโหมรณรงค์อย่างเดียว แต่มาจากการบังคับใช้กฎหมายที่ ICAC โหมทำไปพร้อมกันอย่างไม่เว้นหน้าอินทร์หน้าพรหมด้วย เพราะนี่เองเป็นสิ่งที่ทำให้ละครและโฆษณาการต่อต้านคอร์รัปชันของ ICAC ไม่ได้เป็นเพียงละครและโฆษณา หากแต่เป็น “ของจริง” ทั้งสิ้น

ถ้าปราศจาก “ของจริง” เสียอย่างแล้ว จะรณรงค์อย่างไรมันก็ไม่มีประโยชน์ทั้งนั้น

ตีพิมพ์ครั้งแรก :คอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 31 มีนาคม 2557