ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > สภาพัฒน์ชี้เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัว โตสูงสุดในรอบ 3 ปี แต่เปราะบางจากปัจจัยลบด้านรายได้

สภาพัฒน์ชี้เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัว โตสูงสุดในรอบ 3 ปี แต่เปราะบางจากปัจจัยลบด้านรายได้

16 พฤศจิกายน 2015


นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ของปี 2558 แสดงสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น โดยเติบโตได้ถึง 2.9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ที่เติบโตได้ 2.8% และคาดว่าทั้งปีจะเติบโตได้  2.9%  จากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2558 จะเติบโตได้ในช่วง 2.7-3.2% ทั้งนี้ ถ้าเทียบไตรมาสต่อไตรมาสพบว่าในไตรมาสที่ 3 นี้เศรษฐกิจไทยเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 1% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก

สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 นายปรเมธีกล่าวว่า เริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น จากในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ที่ 1.6% เป็น 1.7% ในไตรมาสที่ 3 สอดคล้องตามการขยายตัวของการใช้กระแสไฟฟ้า ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันชนิดต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น และการใช้จ่ายในสินค้าไม่คงทนที่ยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง เช่นเดียวกับภาคท่องเที่ยวที่แม้จะมีเหตุการณ์ระเบิดที่แยกราชประสงค์ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 7 ล้านคนในไตรมาสที่ 2 เป็น 7.3 ล้านคนในไตรมาสที่ 3 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 8.1 ล้านคนในไตรมาสสุดท้ายปี 2558

ในส่วนของภาครัฐ แม้ว่าจะมีการชะลอตัวลงเล็กน้อยแต่ยังถือว่าเติบโตในระดับที่สูงและเป็น “พระเอก” สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะนี้ควบคู่ไปกับภาคการท่องเที่ยว โดยการใช้จ่ายภาครัฐเติบโตได้ 1% ลดลงจากไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ที่เติบโตกว่า 3.8% ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าตอบแทนแรงงานและการเร่งเบิกจ่ายในช่วงก่อนหน้า ขณะที่การลงทุนของภาครัฐยังขยายตัวในเกณฑ์ที่สูงต่อเนื่องที่ระดับ 15.9% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวได้ 24.7%

ขณะที่การส่งออก แม้ว่าจะหดตัวอย่างต่อเนื่องทุกเดือน แต่โดยรวมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 การส่งออกกลับหดตัวลดลงเหลือเพียง -4.7% เทียบกับไตรมาส 2 ที่หดตัวไป -5.5% โดยเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ การลดลงของราคาสินค้าส่งออก และผลกระทบจากการตัดสิทธิพิเศษทางการค้า นอกจากนี้ เมื่อดูในรายสินค้าจะพบว่าสินค้าอุตสาหกรรมบางชนิดที่ชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่องต่างเริ่มมีสัญญาฟื้นตัวขึ้นมาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นยางพารา น้ำตาล ยานยนต์ แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน เป็นต้น

ในส่วนของการลงทุนของภาคเอกชน มีแนวโน้มหดตัวมากขึ้นที่ -6.6% เทียบไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวเพียง -3.2% ตามการหดตัวของการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร โดยส่วนหนึ่งอาจจะยังต้องรอให้เอกชนใช้กำลังการผลิตที่เหลืออยู่ค่อนข้างมากไปสักระยะหนึ่งก่อน หลังจากที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ขณะที่อีกส่วนเอกชนบางส่วนอาจจะยังรอดูสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเพื่อความชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจจีนที่มีปัญหาขึ้นมาในช่วงกลางไตรมาส 3 ของปี 2558 เป็นต้น ซึ่งต้องใช้เวลา แต่ตนอยากจะให้เอกชนมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะลงทุนเพิ่มเติม เนื่องจากปัจจัยทางด้านราคาของวัตถุดิบและการลงทุนที่ยังต่ำอยู่

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูตัวเลขของการขออนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ที่เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าของโครงการที่ 13.7% และ 3.9% ตามลำดับ ประกอบกับมาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่จะมาช่วยกระตุ้นการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ คลัสเตอร์อุตสาหกรรม และมาตรการช่วยเหลือของเอสเอ็มอีหรือผู้ประกอบการใหม่ ซึ่งโดยรวมตนเองคิดว่าน่าจะมีการตอบสนองที่ตื่นตัวค่อนข้างมาก และคาดว่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนของเอกชนได้ในที่สุด

“การขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจที่ออกมาเป็นข่าวดีในไตรมาสนี้ มีประเด็นที่อยากจะเน้น 2 ประเด็น อันแรกคือเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่ค่อยดีนัก เรียกได้ว่าไทยเองก็มีพัฒนาการที่ดีกว่าหลายประเทศอยู่ อีกเรื่องคือเมื่อเทียบตัวเลข 9 เดือนแรกของปีนี้กับปีที่แล้วที่เติบโตเพียง 0.4% จะพบว่าเร่งตัวหรือฟื้นตัวที่ชัดเจนในเกือบทุกด้าน” นายปรเมธี กล่าว

Print

Print

นายปรเมธีกล่าวต่อว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐซึ่งจะเร่งตัวขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของกรอบการขาดดุลงบประมาณและความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ ของภาครัฐ ในขณะที่เงื่อนไขเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะเอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของภาคการส่งออกมากขึ้น ทั้งในด้านการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจโลก และแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของราคาสินค้าในตลาดโลกซึ่งคาดว่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์เริ่มกลับมาขยายตัวและการอ่อนค่าของเงินบาทที่จะทำให้รายรับและสภาพคล่องในรูปเงินบาทของผู้ประกอบการปรับตัวดีขึ้น เช่นเดียวกับราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำและการท่องเที่ยวที่ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

“เรื่องส่งออกที่เราคาดว่าปีหน้าจะกลับมาโตถึง 3% เทียบกับปีนี้ที่ติดลบกว่า -5% พอได้คุยกับหลายๆ ฝ่ายเขาประมาณการกันก็คิดว่าน่าจะกลับมาเป็นบวกได้ ส่วนของเราเองที่ให้เป็นบวกจะมาจากเรื่องเศรษฐกิจโลกที่จะมาช่วยเรื่องปริมาณได้บ้าง แต่ที่สำคัญคือตัวราคาสินค้าส่งออก จากเดิมที่มันติดลบมาตลอด ไม่ว่าจะข้าว ยาง ปิโตรเคมี อย่างที่ดูๆ กันยางติดลบกัน -25% อะไรพวกนี้  แต่มาตอนปลายปีนี้เริ่มนิ่งแล้ว พอคาดการณ์ไปข้างหน้าก็เห็นว่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ไม่เยอะมาก แค่ 0.5-1.5%  แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแล้ว ซึ่งเมื่อเทียบกับภาวะที่ติดลบหนักมาก่อนหน้า ก็คาดว่าจะกลับมาได้ แต่จะมากน้อยแค่ไหนก็ต้องลุ้นกัน กระทรวงพาณิชย์ก็ต้องออกแรงกันต่อไป ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าขึ้นก็มาช่วยอีกแรงด้วย” นายปรเมธีกล่าว

อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและความเสี่ยงจากประเทศที่ปัจจัยพื้นฐานอ่อนแอ เช่น มีหนี้รูปเงินดอลลาร์สหรัฐที่สูง มีค่าเงินที่อ่อนค่าเร็ว หรือพึ่งพิงสินค้าส่งออกขั้นปฐมภูมิ ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่ยังมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องตามสถานการณ์ปริมาณน้ำที่ใช้การได้ในเขื่อนนาดใหญ่ 4 เขื่อนหลักที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา และแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินหยวนและเงินสกุลสำคัญๆ ในประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง ทั้งจากสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ต่างเป็นข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องทั้ง 3 ปัจจัย

ด้านนายจิรเทพ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา โฆษก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 ว่าตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 ที่ขยายตัว 2.9% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน และประมาณการใหม่ของ สภาพัฒน์ ในปี 2558 ที่ 2.9% และ ปี 2559 ที่ 3.0-4.0% ถือว่าใกล้เคียงกับที่ ธปท. ประเมินไว้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา ซึ่ง กนง. มองว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเม็ดเงินภาครัฐและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเข้าสู่ระบบมากขึ้น

อย่างไรก็ดี จะติดตามแนวโน้มการลงทุนของภาคเอกชนในระยะต่อไป รวมทั้งการส่งออกสินค้าที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศ จากทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชีย ความผันผวนของตลาดการเงินโลก และผลกระทบของปัญหาการเมืองระหว่างประเทศต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในส่วนภาวะการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนในการประชุม กนง. ครั้งล่าสุดประเมินว่าภาวะการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนยังเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ให้ความเห็นว่า จากการแถลงข่าวของสภาพัฒน์ เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 มีแรงสนับสนุนหลักจากการใช้จ่ายครัวเรือนและการลงทุนภาครัฐ แม้ว่ารายได้ที่แท้จริงของเกษตรกรและค่าจ้างแรงงานนอกภาคเกษตรโดยเฉลี่ยยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่การบริโภคภาคเอกชนไทย (ไม่รวมนักท่องเที่ยวต่างประเทศ) ยังขยายตัวได้ 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) ในไตรมาส 3 ไม่ได้ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งถือว่าดีกว่าที่คาดไว้ค่อนข้างมาก โดยการบริโภคสินค้าไม่คงทนเติบโตดีขึ้นเล็กน้อย เช่น อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 2.6%YOY จาก 2.5%YOY ในไตรมาสก่อน และหมวดที่อยู่อาศัย ประปา และไฟฟ้า เติบโต 4.0%YOY จาก 3.0%YOY ขณะเดียวกัน การลงทุนภาครัฐขยายตัว 15.9%YOY แม้จะชะลอลงจากไตรมาสก่อนแต่ก็ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก โดยในไตรมาส 3 มีการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในโครงการจัดการน้ำและขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน

การลงทุนภาคเอกชนหดตัวมากขึ้นจากไตรมาสก่อน การลงทุนด้านการก่อสร้างที่หดตัว 0.3%YOY จากที่เติบโต 2.7%YOY ในไตรมาส 2 จากการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและอาคารสำนักงานที่ลดลง นอกจากนี้ การลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรก็หดตัวสูงถึง 8.5%YOY รุนแรงกว่าไตรมาสก่อนที่ลดลง 4.8%YOY เนื่องจากกำลังซื้อของครัวเรือน การส่งออก และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจยังไม่ฟื้นตัว

ภาคการท่องเที่ยวชะลอตัวลงจากเหตุการณ์ระเบิดในกรุงเทพมหานคร โดยเศรษฐกิจภาคบริการโรงแรมและภัตตาคารชะลอลงมาอยู่ที่ระดับ 10.9%YOY จาก 18.7%YOY ในไตรมาสก่อน รวมถึงการบริการขนส่งชะลอตัวลงเหลือ 7.1%YOY จาก 9.4%YOY ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงจากเหตุการณ์ระเบิดในกรุงเทพมหานคร

ภาคอุตสาหกรรมเติบโตสูงกว่าที่คาดไว้มาก การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตเป็นบวก 0.8%YOY ทำให้ GDP ไตรมาส 3 เติบโตสูงกว่าที่อีไอซีประเมินไว้ค่อนข้างมาก ซึ่งดัชนีชี้วัดการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ผ่านมาไม่ได้มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาหดตัวถึง 6.1%YOY

ดุลการค้าและบริการเกินดุลสูงขึ้นจากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นและการนำเข้าที่ลดลง ปริมาณการส่งออกสินค้าหดตัวลดลงเหลือ -1.9%YOY จาก -4.0%YOY ในไตรมาสก่อน และปริมาณการนำเข้าสินค้าที่หดตัวมากขึ้นเป็น -3.3%YOY ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลสูงขึ้น ชดเชยดุลบริการที่ลดลงจากการท่องเที่ยวที่ชะลอตัว

เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณที่ดีขึ้น แต่ยังคงเปราะบางจากปัจจัยลบด้านรายได้ เศรษฐกิจไทยใน 3 ไตรมาสแรกเติบโตได้ 2.9% ซึ่งถือว่าดีกว่าที่อีไอซีประมาณการไว้เดิม ทำให้มีโอกาสที่การเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้อาจสูงกว่าที่อีไอซีประเมินไว้ที่ 2.2% ในเดือนตุลาคม นอกจากนี้ ในระยะต่อไป แรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐน่าจะเริ่มเห็นผลบวกต่อเศรษฐกิจ และช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนได้บ้าง ขณะที่การท่องเที่ยวก็น่าจะเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ตกต่ำ และความเสี่ยงจากภาวะภัยแล้งในปีหน้าเป็นปัจจัยลบที่สำคัญต่อรายได้ของภาคเอกชน ซึ่งจะยังฉุดรั้งการบริโภคภาคครัวเรือน นอกจากนี้ การส่งออกยังได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ต่อไป

ดูเพิ่มเติม: แถลงข่าวQ3/2558 และแนวโน้ม 2559