ThaiPublica > คอลัมน์ > “ข้อเสนอต่อประเทศไทย” ตอนที่ 6: วิเคราะห์ “ระบอบทักษิณ” ข้อดี ข้อด้อย จุดรุ่งเรือง จุดเสื่อมถอย จุดตกต่ำ

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” ตอนที่ 6: วิเคราะห์ “ระบอบทักษิณ” ข้อดี ข้อด้อย จุดรุ่งเรือง จุดเสื่อมถอย จุดตกต่ำ

1 มกราคม 2014


“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” โดย “บรรยง พงษ์พานิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ซึ่งเขียนเป็นซีรีส์ 7 ตอนในเฟซบุ๊ก “Banyong Pongpanich”

ผมปูพื้นมาเยอะ(ตั้ง 5 ตอนยาวๆ) จะขอวิเคราะห์จับประเด็น “ระบอบทักษิณ” (Thaksinocracy) เป็นข้อๆ นะครับ

1. ถ้ามองเจตนา (อย่างน้อยที่ประกาศออกมา) ในทางการบริหารเศรษฐกิจในภาพรวมของคุณทักษิณก็คือ จะเร่งสร้างการเติบโต และทำให้มีการกระจายลงสู่ชนชั้นรากหญ้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีทั้งคู่ แต่อย่าลืมว่า ในความเป็นจริงจะต้องมีสมดุลในทุกมิติตลอดเวลา เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง เพราะทรัพยากรที่จะกระจายมีจำกัด ถ้าโตน้อย แต่กระจายเร็วไป ก็ต้องมีคนเดือดร้อน หรือถ้าจะไปเอาทรัพยากรอนาคตมากระจาย (ผ่านหนี้สาธารณะ) ก็จะเป็นภาระลูกหลาน และมีขีดจำกัดอยู่ดี การเติบโตที่ถาวรยั่งยืนมีทางเดียว คือต้องเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) โดยรวม ของระบบเศรษฐกิจให้ได้ แต่ที่ผ่านมามีเรื่องพวกนี้น้อย มีเพียงการใช้เทคนิคการบริหาร ยักย้ายถ่ายเท ลูบหน้าปะจมูก ซึ่งจะได้ผลก็แต่ระยะต้นเท่านั้น

2. การใช้ระบบ “พรรคพวกนิยม” อย่างเข้มข้น ในที่สุดจะเป็น “จุดตาย” ของระบอบเอง ลองนึกดูว่า ต้องการให้รากหญ้าซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ดีขึ้น ลืมตาอ้าปากได้ แต่ใช้ “พรรคพวกนิยม” คือ ถ้าใครเป็นพรรคพวก ก็ต้องได้ดีต้องได้เปรียบ ต้องร่ำรวยสุดๆ เท่ากับว่าใช้สองระบบปนกัน พวกบนสุดใช้crony capitalism เต็มที่ ส่วนข้างล่างใช้ “กึ่งสังคมนิยม” สองอย่างมันสุดขั้วกัน “เข้ากันไม่ได้” เดินไปเรื่อยๆ “ข้างบนที่ไม่ใช่พวก” กับ “ตรงกลาง” ย่อมลำบาก ย่อมตายเกลี้ยง และถึงจะรวมแล้วไม่ได้เป็น “เสียงข้างมาก” แต่ถ้า “ถูกต้อน” ให้รวมตัวกันได้ ย่อมมีพลังมหาศาลเพียงพอที่จะทำให้เกิดความวุ่นวาย หรืออย่างน้อยก็ทำให้รัฐอยู่ในภาวะ “พิการ” ไม่สามารถบริหารได้ (ผมอยากจะพูดว่า “มวลมหาประชาชน” ทุกวันนี้ไม่ได้ถูกจัดตั้งโดยท่านกำนัน หรือเกิดเพราะ พ.ร.บ.เหมาเข่ง หรอกครับ แต่ “ระบอบทักษิณ” ต่างหาก สร้างเงื่อนไขจนสุกงอม กำนันไม่ทำก็จะเกิดขึ้นเองสักวันอยู่แล้ว)

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มาภาพ : http://1.bp.blogspot.com
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มาภาพ : http://1.bp.blogspot.com

คุณทักษิณเคยพูดว่า “จะไปยากอะไร อยากรุ่งเรืองก็มาเป็นพวกผม” แต่เชื่อเถอะครับ นั่นขัดกับหลักการ “พรรคพวกนิยม” อย่างมาก อย่างที่ผมเคยบอก ถ้าทุกคนเป็น “พวก” ก็ช่วยใครไม่ได้ อำนาจก็ไม่มีประโยชน์ Cronyism จะต้องพยายามให้มีสมาชิกน้อย จะได้เอาเปรียบได้มาก การเข้า “วงใน” เป็นเรื่องไม่ง่าย ไหนจะต้องแก่งแย่งเอาหน้า ไหนจะถูกกีดกัน กระบวนการใส่ร้ายป้ายสีเต็มไปหมด ยิ่งอำนาจรวมศูนย์ยิ่งยากเย็นทวีคูณ คนดีๆ เขาไม่สามารถกระเสือกกระสนได้ขนาดนั้น แมวขาวย่อมถูกกำจัด ไม่ก็กลายพันธุ์ไป (ผมไม่ได้กำลังกล่าวหาว่าคนแวดล้อมท่านทุกคนเป็นคนไม่ดีนะครับ แต่ก็กล้าพูดว่ามีไม่น้อย)

3. การ “คอร์รัปชัน” ย่อมเบ่งบานตาม “พรรคพวกนิยม” คุณทักษิณเคยยืนยันว่า ท่านมั่งมีเหลือล้น แถมไม่ใช่คนฟุ่มเฟือย อย่างมากก็ชอบนาฬิกาดีกับไวน์ดีๆ มันไม่กี่ตังค์ จะเข้ามากอบมาโกยอีกทำไม ผมค่อนข้างเชื่อครับ (เชื่อคนง่ายน่ะ) ตอนแรกเจตนาดีมากจริง อย่างมากก็เพื่อปกป้องอาณาจักรธุรกิจ แต่พอตัดสินใจใช้ระบบ “พรรคพวกนิยม” พอตัดสินใจยอมใช้แมวดำ ก็หนีไม่พ้นต้องยอมให้มีการคอร์รัปชันบ้าง ไม่งั้นไม่มีทางเป็นที่นิยมของ “พรรคพวก” ไปได้

แถมการเมืองแบบที่ท่านใช้ หนีไม่พ้นต้องใช้ทุนมหาศาล (อย่างน้อยตอนเริ่มต้น) คุณทักษิณเคยพูดว่า “การเมือง…ใช้เงินน้อยกว่าที่เคยคิด” (ท่านว่า…เตรียมที่จะเสียสละน่ะ) นั่นก็เป็นเพราะคนอื่นเขาจ่ายแทนน่ะครับ แต่เชื่อเถอะครับ เรื่องอย่างนี้ ไม่มีการลงขันการกุศล คนจ่ายเพื่อหาทั้งนั้น แล้วมีหรือที่จะไม่ค้ากำไร ทุกคนเอากำไร สิบเท่าร้อยเท่าทั้งนั้น ความคิดที่ว่า “จะควบคุมให้โกงกินได้ตามสมควรเท่านั้น” เป็นเรื่องเพ้อเจ้อ ไม่มีทางสร้าง “ดุลยภาพแห่งคอร์รัปชัน” ขึ้นมาได้

ดังนั้น ต่อให้ท่านไม่โกง ก็ต้องยอมให้คนอื่นโกง (ผมมั่นใจพันเปอร์เซ็นต์ว่าท่านก็รู้) ทีนี้ คำว่า “คนอื่น” มันมีแวดวงแค่ไหน ใกล้ไกลตัวขนาดไหน เป็นเรื่องที่ยากกำหนด ผมไม่แน่ใจว่าคุณทักษิณมีแผนอะไรที่จะลดจะกำจัด “การโกง” ในกระบวนการคัดพันธุ์แมวของท่าน ถ้าไม่มี ระบอบนี้ก็จะต้องกินตัวเองจนล้มอยู่แล้วในที่สุด (ประเทศอาจล้มไปด้วยอย่างที่คุณ Marcos เคยทำ…ที่น่ากลัวมากคือ พรรคพวกเก่าของคุณ Marcos ดันไม่ล้มไปด้วย ยังมั่งคั่งมหาศาลจนทุกวันนี้)

ผมไม่ได้บอกว่า ถ้าคุณทักษิณไม่ขึ้นมาจะไม่มีการโกงนะครับ แต่ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีการโกงกินมากขึ้นเยอะอย่างที่ไม่มีใครปฏิเสธได้

4. ความเป็นนักบริหารแบบ CEO ซึ่งหมายความว่า ต้องการควบคุมปัจจัยทุกอย่างให้มากที่สุด ต้องการให้มีความไม่แน่นอนต่ำที่สุด บวกกับความเก่ง ความมีประสิทธิผล (Effectiveness) ทำให้คุณทักษิณพยายามเข้าครอบงำองค์กรและกลไกคานอำนาจอิสระที่ถูกออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 และก็ทำได้ไม่น้อย วุฒิสภาแทบตกอยู่ในอาณัติ ทำให้องค์กรที่ตั้งโดยวุฒิสภาแทบจะถูก “สั่งได้” หมด (เหลือเพียงด้านความยุติธรรม ที่มีคนบอกว่า ถ้าให้เวลาอีกสักพัก ท่านน่าจะ “เอาอยู่”) …นี่แหละครับ สุดยอด CEO ตัวจริง

แต่อย่างสุภาษิตที่ Baron Acton ว่าไว้ตั้งแต่ปี1887 แล้วว่า “Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely. Great men are almost always bad men.” อำนาจนั้นทำลายคนเสมอ เริ่มตั้งใจไว้ดีอย่างไร พอเดินไป อำนาจเข้ามาเกี่ยว ก็เบี่ยงเบนไปหมด

5. จริงๆ แล้ว ผมเห็นว่า “พรรคการเมือง” ภายใต้คุณทักษิณ เป็นแค่การปรับจากระบบเดิม ที่รัฐบาลผสมมาจาก “พรรคร่วม” ต่างๆ เพียงแต่คุณทักษิณรวบเอาพรรค เอามุ้งต่างๆ มารวมไว้ที่เดียว แล้วเริ่มบั่นทอนความสำคัญของหัวหน้ามุ้ง หัวหน้าก๊วน ให้มารวมศูนย์ที่ตน ยามตนแข็งแรง มุ้ง ก๊วน ต่างๆ ก็ศิโรราบ พออ่อนแอก็มีการแข็งเมืองบ้าง (ตอนปฏิวัติก็หายไปกลุ่มใหญ่ ตอนคุณสมชายโดนโละก็ไปอีกพวก) แต่ด้วยความเก่ง ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ …อย่างคนที่เคยพูดว่า “มันจบแล้วนาย” มาวันนี้ท่านก็พิสูจน์แล้วว่า “มึงน่ะสิจบ…ไปทำทีมบอลไป๊”

เผด็จการรวมศูนย์ในพรรคอย่างนี้ ยิ่งกว่าระบบ Authoritarian ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเสียอีก ระบบแบบนี้ คนที่นั่งอยู่บนยอดพีระมิดต้องเป็นสุดยอดอัจฉริยะ ซึ่งย่อมแน่นอนว่าหาตัวแทนไม่ได้ ระบบถูกออกแบบไว้สำหรับคนๆ เดียว ไม่มีทางถ่ายทอดให้รุ่นต่อไปได้ (ลองนึกภาพคุณโอ๊คมานั่งบริหารแทนสิครับ หรือแม้จะเอาสุดยอดฉลาดอย่างคุณโภคินก็ไม่น่าจะได้) เป็นระบบที่ไม่มีทางจะดำรงอยู่ได้นานอยู่แล้ว

6. ในตอนท้ายของรัฐบาลทักษิณ ตั้งแต่ต้นปี 2549 ถึงแม้จะมีเสียงในสภาท่วมท้น แต่การบริหารเริ่มยุ่งยาก มีการต่อต้าน จลาจลวุ่นวาย ต้องยุบสภา เลือกใหม่ก็ถูกบอยคอตจนเป็นโมฆะ ผมคิดว่าคุณทักษิณก็รู้ตัวแล้วว่าจะต้องปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ (ที่ผมห่วงอย่างหนึ่งคือ บอกว่าจะไม่เป็นรัฐบาลพรรคเดียวแล้ว ต้องแบ่งให้ท่านสุพรรณบ้าง ท่านโคราชบ้าง เดี๋ยวถูกรุม) ถึงกับให้สัญญาณว่า จะถอยไม่เป็นนายกฯ แต่ยังไม่ได้ทันทำอะไรก็ถูกปฏิวัติเสียก่อน และน่าแปลกที่โพล 84% (สวนดุสิต) ออกมาว่าประชาชนยอมรับการปฏิวัติ

ที่มาภาพ : http://s1.reutersmedia.net/resources/
ที่มาภาพ : http://s1.reutersmedia.net/resources/
ผมคิดว่า การปฏิวัติ 2549 เป็นเรื่องแย่มาก ทำให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิด จะพัฒนาขึ้นต้องหยุดชะงัก คณะปฏิวัติและรัฐบาลก็ไม่ได้ทำอะไรเรื่องโครงสร้างใหญ่แต่อย่างใด สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ที่แต่งตั้งโดย คมช. ถึงจะเร่งออกกฎหมายเยอะแยะ แต่ก็ไม่มีเรื่องการปรับโครงสร้างใหญ่แต่อย่างใด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสนองรายการปรารถนาของชนชั้นบน กับมีเรื่องรากหญ้าบ้างก็เป็นภาคสวัสดิการประชาสังคมของรองนายกฯ “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม”เท่านั้น

ในแง่ของคุณทักษิณ ที่ถูกดำเนินคดี ย่อมคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ความเห็นผมเองก็เห็นใจไม่น้อย อย่างเรื่องคดีที่ดินรัชดาที่ถูกตัดสินจำคุก ความจริงเป็นการซื้อการประมูลอย่างเปิดเผย ที่มีเรื่องเทคนิค ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ซื้อจะขอความร่วมมือกับผู้ขาย ทีผู้ขาย (ธนาคารแห่งประเทศไทย) ทำไมไม่มีความผิด ทั้งๆ ที่รู้ทุกอย่าง ร่วมดำเนินการทุกอย่างตั้งแต่ต้น

คดียึดทรัพย์เพราะเหตุร่ำรวยจากกรณีภาษีสรรพสามิตก็เหมือนกัน ไปตีความว่าลดส่วนแบ่งรายได้ให้ ทั้งๆ ที่คนจ่ายจ่ายเท่าเดิม แล้วไปเทียบมูลค่าหุ้นก่อนเข้าเป็นนายกฯ กับตอนขาย ยึดทรัพย์ไป 46,000 ล้านบาท ผมยิ่งว่าทะแม่ง เพราะตอนแรกเข้า SET Index แค่ 300 แต่ตอนขายหุ้นให้ TEMASEK ดัชนีปาเข้าไปเกือบ 800 ถ้าเรื่องนี้ได้ประโยชน์มิชอบ ทำไมไม่ยึดของผู้ถือหุ้นอื่น อย่าง DTAC หรือ TRUE ด้วย (ผมก็ตะแบงเหมือนกัน)

7. พอหลังปฏิวัติ ระบอบทักษิณก็เปลี่ยนไปอย่างมาก ความเป็นนักสู้กับความเก่งอย่างเหลือเชื่อของคุณทักษิณทำให้ยังกุมอำนาจอยู่ได้ จะถูกยุบพรรคกี่ครั้งก็ยังกุมอำนาจรัฐกุมหัวใจชาวรากหญ้า และ organize พรรคพวกเดิมอยู่ได้

แต่เชื่อเถอะครับ การบริหารประเทศ การบริหารพรรคพวกจะยากลำบากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงทางตันในที่สุด

การ “บริหารทางไกล” ในเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง กับเรื่องที่มีพลวัตอยู่ตลอดเวลา เป็นเรื่องที่ “เป็นไปไม่ได้” ข้อมูลข่าวสารที่ได้ยากที่จะครบถ้วน ยากที่จะถูกต้อง ยากที่จะทันเวลา คนที่ตะเกียกตะกายไปหาไปรายงานก็ย่อมเป็นพวกที่มี agenda ทั้งนั้น ทุกเรื่องมีวาระแฝง มีโอกาสถูกบิดเบือนได้สูง

ทั้ง 7 ข้อ เป็นการพยายามเรียบเรียง พยายามวิเคราะห์ เพื่อเข้าใจคำว่า “ระบอบทักษิณ” โดยพยายามมองจากมุมที่เป็นกลาง ไม่ได้ตั้งอยู่บนอคติใดๆ ทั้งนี้เป็นไปตามข้อจำกัดความรู้ความเข้าใจของผมนะครับ

ถึงตอนนี้…ผมขอสรุปว่า “ระบอบทักษิณ” หาได้เป็นลัทธิใดๆ ไม่ เป็นเพียงกระบวนการที่สร้างขึ้นมาเพื่อบริหารการเมือง และก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และผมก็เชื่อว่า มาถึงจุดปัจจุบัน ก็ไม่สามารถเดินต่อแบบเดิมได้อีก ถ้าจะดันทุรังไป ถึงจะมีชัยชนะได้ ก็จะเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น มีความสุ่มเสี่ยงมากว่าจะนำไปสู่ความวุ่นวายใหญ่หลวง

ใครก็ตามที่มีส่วนร่วมอยู่ในระบอบนี้ โดยที่มีเจตนาดีต่อบ้านเมืองต่อรากหญ้าแท้จริง น่าจะตระหนักในความจริงนี้ และพร้อมที่จะปรับ จะหันมาร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ ทิ้งให้พวกที่เข้ามาสู่ระบอบนี้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวอันมิชอบต้องถูกโดดเดี่ยวเถอะครับ (แต่ตามข้อเท็จจริง พวกหลังมักจะชิ่งก่อนได้ทุกที)

ใครก็ตามที่ต่อต้านระบอบนี้ ก็ขอให้ต้านด้วยความเข้าใจ อย่าเพียงต้านด้วยอคติท่าเดียว อย่าลืมว่ามีคนหลายสิบล้านที่ยังชื่นชม จะต้องประสานกันเท่านั้นจึงจะสู่เป้าหมายโดยสงบสุขได้

ส่วนข้อเสนอของผมว่าควรจะทำอย่างไร จะอยู่ในตอนต่อไปนะครับ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ข้อเสนอที่เฉียบคมอะไร ไม่ใช่กระบวนการวิเศษที่จะแก้ปัญหาได้ทันใด ไม่ใช่แก้ได้วันนี้พรุ่งนี้ ไม่ถึงกับพูดได้ว่า เบ็ดเสร็จเป็นบูรณาการ แถมอาจไม่ถูกต้องใช้ได้ไปทั้งหมด แต่ผมก็หวังว่า จะมีส่วนที่เป็นประโยชน์บ้างแม้เล็กน้อยสำหรับอนาคต แค่นั้นก็ภูมิใจสุดๆ แล้วครับ

แล้วก็ไม่ต้องกลัวว่า จะเป็นข้อเสนอที่กลับไปสู่สังคมเอาเปรียบ ไม่เห็นใจชาวรากหญ้า กลับไปสู่สังคมอำมาตย์ กลับไปสู่ระบบ Buffet Cabinet ที่คุ้นเคย

และก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ทันการด้วยครับ เพราะไม่ว่าจะเกิดอะไร ใครชนะ เรื่องนี้ยังไม่จบแน่นอน ยังต้องฟัดกันอีกนานหลายยก

นอกจากจะเกิดสงครามกลางเมือง…ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ข้อเสนอใดๆ ก็ไม่มีประโยชน์แล้วครับ