ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > “ผาสุก พงษ์ไพจิตร” ชี้ปัญหาใหญ่การเมืองไทยอยู่ที่ “พรรคการเมือง” ปรับตัวไม่ทันประชาชน

“ผาสุก พงษ์ไพจิตร” ชี้ปัญหาใหญ่การเมืองไทยอยู่ที่ “พรรคการเมือง” ปรับตัวไม่ทันประชาชน

29 ธันวาคม 2013


สถานการณ์การเมืองไทยขณะนี้อาจกล่าวได้ว่ากำลังเข้าสู่ “วิกฤติ” ท่ามกลางความขัดแย้งที่รุนแรง และมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น สภาวะเช่นนี้กระทบคนไทยในทุกมิติอย่างกว้างขวาง จำเป็นที่ทุกฝ่ายของสังคมต้องหาทางออกร่วมกันอย่างเร่งด่วน ชมรมศิษย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาในหัวข้อ “วิกฤติประเทศไทย เราจะไปทางไหนดี?” เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2556

ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นในงานเสวนาเกี่ยวกับเรื่องที่ว่า “การเมืองไทย” มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร รวมทั้งพูดถึงทางออกของปัญหา โดยวิเคราะห์ในแง่ของโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองว่า ตั้งแต่ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในสังคมเรา

ที่ชัดเจนประการหนึ่งคือ “รายได้ต่อหัว” ของคนไทยโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3 เท่าในราคาจริง หมายความว่า คนรุ่นปัจจุบันจะมีฐานะดีกว่าพ่อแม่ 3 เท่าตัว เพราะฉะนั้น คนรุ่นใหม่ทั้งในเมืองและในต่างจังหวัด ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป มีความคาดหวังกับบทบาทของรัฐบาล บรรทัดฐานเกี่ยวกับสังคม ต้องการความเสมอภาค และต้องการมีบทบาททางการเมือง

ขณะที่การกระจายรายได้ และการเลือกตั้งหลายๆ ระดับในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนทั้งประเทศโดยเฉพาะต่างจังหวัดเรียนรู้ว่าเรื่องการเมืองและการเลือกตั้งแบบ 1 คน 1 เสียง มีผลต่อชีวิตเขาอย่างมากมาย คือ สามารถพลิกชีวิตของเขาจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากที่เห็นมีเม็ดเงินจากส่วนกลางลงไปท้องที่จากการเลือกตั้งแบบ 1 คน 1 เสียง

ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดร.ผาสุกระบุว่า มีตัวเลขก่อนทศวรรษ 1980 รายได้ของประเทศทั้งหมดที่ได้จากภาษี 100% มีประมาณ 5-10% ลงไปในพื้นที่ที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ และเมืองใหญ่

ก่อนปี 2001 สัดส่วนตรงนี้เพิ่มขึ้นเป็น 16% และหลังปี 2001 ตัวเลขของบริษัทหลักทรัพย์ภัทรชี้ให้เห็นว่า ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 24-26% ของงบประมาณประจำปีลงไปสู่ท้องที่ที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ๆ

สัดส่วนเงินลงทุนในท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้นเป็น 24% อาจบอกว่าไม่มากเพราะแค่ 1 ใน 4 แต่เมื่อเทียบกับทศวรรษ 1970 หรือทศวรรษ 1980 ถือว่าเพิ่มขึ้นมาก และการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นมาจากการเปลี่ยนแปลง “ระบบการเมือง” เป็นระบบการเมืองรัฐสภาแบบระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและทุกคนมีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง 1 คน 1 เสียง

เพราะฉะนั้น ในเวลานี้จะมาบอกว่า 1 คน 1 เสียงใช้ไม่ได้สำหรับเมืองไทย หรือคนกรุงเทพฯ 1 เสียงมีค่ามากกว่าคนต่างจังหวัดจึงเป็นสิ่งที่ “รับกันไม่ได้”

ดร.ผาสุกกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้ขณะนี้ประชาชนชาวไทยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิงทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม โดยประชาชนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก และได้ตระหนักถึงคุณค่าของระบบคุณค่าแบบสากลากล คุณค่าเรื่องสิทธิมนุษยชน คุณค่าเรื่อง 1 คน 1 เสียง ประชาชนมีสิทธิเรียกร้องให้รัฐบาลทำงานเพื่อประชาชน ไม่ใช่ทำงานเพื่อตนเอง

แต่ว่า “พรรคการเมือง” และ “ชนชั้นนำ” ในเมืองไทยซึ่งจากอดีตจนถึงปัจจุบันอยู่ในฐานะอภิสิทธิ์ชน และได้รับทุกสิ่งทุกอย่าง เพราอยู่ใกล้ปืนเที่ยงในกรุงเทพฯ เช่น งบประมาณก็ได้ 95% ในทศวรรษ 1970 และ 1980 ก็ได้ 84% และต้นทศวรรษ 2000 ก็ได้งบประมาณเกือบ 80%

มองในแง่ของเศรษฐกิจ กลุ่มชนชั้นนำเหล่านี้ต้องการคงการเป็นชนชั้นนำที่ได้รับผลประโยชน์จากงบประมาณรวมของประเทศ ในแง่ของการเมืองก็ต้องการกำหนดวาระทางการเมือง มิฉะนั้นจะมาบอกทำไมว่า คนในกรุงเทพฯ มีคุณค่าของเสียง 1 เสียงมากกว่าคนต่างจังหวัด แสดงว่าอาจยังไม่ตระหนักถึงหลักการของความเสมอภาค ซึ่งเป็นหลักการของรัฐสภาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ขณะที่พรรคการเมืองยัง “ไม่ปรับ” ตัวเองให้ตามทันประชาชน ก็คือพรรคการเมืองเองยังไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตยในพรรคการเมือง หรือในกระบวนการบริหารจัดการพรรคการเมือง ยังคงเป็นพรรคการเมืองที่เป็นลักษณะเหมือนกับกลุ่มผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มที่มาร่วมมือกันเพื่อที่จะเข้าไปสู่อำนาจทางการเมือง และดำเนินนโยบายเพื่อส่งผลต่อกลุ่มของตนก่อนกลุ่มอื่นๆ

ดร.ผาสุกกล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างนี้มาจนถึงปี 2544 และในปี 2544 เป็น “ครั้งแรก” ที่พรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่งได้รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งโดยใช้นโยบายที่ทำมาจากการสืบค้นลงพื้นที่ โดยรู้มาว่า ประชาชนต้องการอะไร แล้วก็เสนอนโยบายเหล่านั้น เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค และอื่นๆ

พรรคการเมืองนี้เข้ามาอยู่ในอำนาจได้เพียงไม่ถึง 2 เทอม แต่เวลามากพอที่ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการเลือกพรรค แต่พรรคนี้เป็น “พรรคที่คิดสั้น” ยังไม่คิดระยะยาว เป็นพรรคหัวดี เห็นความต้องการของประชาชน ต้องการการเปลี่ยนแปลง เสนอนโยบายที่จับใจประชาชนจนเราเรียกว่า “นโยบายประชานิยม”

แต่พรรคคิดสั้น ไม่คิดว่าการทำนโยบายประชาชานิยมจะหาเงินจากไหนมาดำเนินนโยบายให้ต่อเนื่อง และไม่ได้ดำเนินมาตรการใดๆ เพื่อทำให้ประชาชนไม่กังวลใจว่าการใช้จ่ายเงินเหล่านี้จะไม่นำไปสู่การสร้างหนี้สาธารณะ ซึ่งคนจำนวนหนึ่งมีความเป็นกังวลเพราะรู้เรื่องการจัดระบบงบประมาณ และรู้เรื่องปัญหาของการมีหนี้สาธารระที่อาจจะส่งผลเสียในภายภาคหน้า

พรรคจึงไม่มีมาตรการที่จะปฏิรูประบบภาษีอากร หรือปฎิรูปกระบวนการงบประมาณให้ลึกซึ้ง และใช้วิธีแก้ปัญหาวันต่อวันว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพรรคนี้มีนักธุรกิจจำนวนมาก จึงมีความรู้สึกว่าอะไรเสี่ยงได้ระดับไหน เพราะฉะนั้น ช่วงที่พรรคนี้มีอำนาจจึงไม่ได้มีปัญหาของหนี้สาธารณะที่เกินเลยไปกว่าที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลของปัญหาหนี้สาธารณะ พรรคนี้จึงใช้วิธีการหลายรูปแบบที่จะหาเงินเข้ามาหมุนเวียนเพื่อดำเนินนโยบาย จึงมีการพลิกแพลงหลายรูปแบบ เช่น การใช้เงินนอกงบประมาณ การใช้เงินกึ่งการคลัง หรือการให้ธนาคารของรัฐเข้ามามีบทบาทเป็นฐานเงินในการทำนโยบาย หรือการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน

พรรคนี้รู้ดีว่าประเทศมีสินทรัพย์เยอะ แต่ยังใช้ไม่เต็มที่ก็คิดสร้างกระบวนการใช้วิธีแปลงสินทรัพย์เป็นทุน เป็นพรรคที่มีนวัตกรรม แต่สร้างความกังวลใจให้กับคนชั้นกลางจำนวนหนึ่งเป็นอย่างมาก

กล่าวมาถึงตรงนี้ ดร.ผาสุกออกตัวว่า “ไม่ใช่” แฟนของพรรคเพื่อไทย “เด็ดขาด” และเป็นคนจำนวนน้อยมากที่ไม่ได้นิยมชมชอบพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรมาตั้งแต่ต้น และขณะนี้ก็ไม่นิยมชมชอบ แล้วก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย และได้เขียนหนังสือเปิดโปงพฤติกรรมของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่ได้แปลเป็นภาษาเวียดนาม ภาษาเกาหลี

แต่ที่เล่ามาต้องการจะชี้ให้เห็นว่า “มีบางพรรคที่พยายามปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ แต่ยังคิดระยะสั้น” ขณะที่ พรรคใหญ่อีกพรรคหนึ่งปรับตัวไม่ทัน กลายเป็นอีกปัญหา ส่วนพรรคเล็กพรรคน้อยก็ไม่ปรับตัว เพราะยุทธศาสตร์คือ “คอยเสียบ”

ดร.ผาสุกกล่าวว่า เมื่อประชาชนเปลี่ยนแล้ว พรรคบางพรรคเปลี่ยนแล้ว แต่ยังคิดสั้นอยู่ แต่มี “พรรคใหญ่บางพรรค” ที่มองเห็นเหมือนกัน แต่ “ปรับตัวไม่ทัน” หรือมีปัญหาในพรรคไม่ได้ปรับตัว เพราะฉะนั้นเมื่อมีการเลือกตั้ง และก็แพ้การเลือกตั้งหลายครั้ง ทำให้เมื่อมีการเลือกตั้งก็คิดว่าตัวเองมีความ “สุ่มเสี่ยง” สูงที่จะแพ้

ในขณะเดียวกันพบว่า มีฝ่ายผู้สนับสนุนที่มากพอที่จะทำให้เขาลุกขึ้นมาบอกว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ชอบธรรม หรือมีปัญหา เพราะฉะนั้นจึงประกาศจะไม่ลงสมัครเลือกตั้ง ซึ่งเคยเกิดขึ้นหนึ่งครั้ง และครั้งนี้เกิดขึ้นอีกครั้ง

ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร
ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร

“ดิฉันงง พรรคการเมืองในระบบประชาธิปไตยไม่ต้องการลงเลือกตั้ง” ดร.ผาสุกกล่าวและยกตัวอย่างว่า เมื่อเร็วๆ นี้ที่ออสเตรเลียเกิดมีการแก่งแย่งทางการเมือง พรรคเลเบอร์รู้ว่าต้องแพ้ เขาก็เปลี่ยนหัวหน้าพรรค แต่เปลี่ยนแล้วรู้ว่าแพ้ เขาก็ยังลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะเขาหวังคราวหน้า เขามองไกลไม่ได้มองเฉพาะแค่คราวนี้ แต่พรรคการเมืองใหญ่ของเราพรรคที่สองคิดอย่างไร

ดร.ผาสุกกล่าวว่า พยายามศึกษาพรรคนี้พบว่า พรรคเป็นพรรคชนชั้นนำที่มีความคร่ำวอดในเรื่องของการเจรจาต่อรองกับกลุ่มชนชั้นนำหลักๆ ที่เขาเห็นว่า “ matter” หรือมี “อิทธิพล” มากพอที่จะทำให้เขาเป็นใหญ่เป็นโตขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้น พรรคนี้มักจะอิงสถาบันต่างๆ เช่น สถาบันทหาร สถาบันที่เกี่ยวโยงกลุ่มธุรกิจ พวกกลุ่มชนชั้นกลางในเมือง ไม่พยายามพาตัวเองออกไปให้เป็นที่นิยมของคนระดับรากหญ้านอกภาคกลาง กับภาคใต้

“ก็งงเหมือนกัน ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ภาคอีสาน กับภาคกลาง แต่พรรคใหญ่อันดับสองของประเทศไม่ต้องการขยายฐานเสียงไปภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลาง แต่กระจุกอยู่ที่กรุงเทพ กับภาคใต้”

อย่างไรก็ตาม คนในพรรคที่ไม่อยู่ในส่วนหัวของพรรคนี้พยายามเสนอให้มีการปฏิรูป แต่ขณะนี้ก็ไม่อยู่ในผู้บริหารพรรคแล้ว พรรคหวนกลับไปสู่พรรคชนชั้นนำที่ไม่ต้องการขยายฐานเสียงผู้สนับสนุนพรรค พอจะมีการเลือกตั้งในคราวนี้ จึงตัดสินใจไม่ลงเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง

ดร.ผาสุกตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงทำเช่นนั้น และวิเคราะห์ว่าเพราะเขาไม่มีอะไรจะเสีย เขาไม่สนใจความเห็นของโลกาภิวัตน์ ทั่วโลกกำลังบอกว่าพรรคนี้ “miss name” ชื่อประชาธิปัตย์ แต่ “miss name” แต่เขาไมสนใจ เพราะความเสี่ยงในการลงเลือกตั้งครั้งนี้ก็คือ ถ้าแพ้การเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง ชื่อเสียงก็จะไม่ดี และถ้าเข้ามาเลือกตั้งเป็นพรรคที่สอง ถ้าไม่มีโอกาสจัดตั้งเป็นรัฐบาล การจะวิพากษ์วิจารณ์พรรคข้างในก็จะต้องอยู่ในกรอบกฎกติกา แต่ถ้าไม่ลงเลือกตั้งก็ไม่ต้องอยู่ในกฎกติกา

เพราะฉะนั้น คาดเดาว่าการที่จะป่วนไปเรื่อยเพื่อให้พรรคที่ชนะการเลือกตั้งไม่สามารถจะทำงานได้อย่างปกติสุข ก็จะเป็นสิ่งที่ดีกับพรรคที่ไม่ลงเลือกตั้ง เพราะว่าเมื่อพรรคที่เป็นรัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จกับการบริหารราชการแบบนี้ การเลือกตั้งครั้งต่อไปคนที่ไม่ได้ลงเลือกตั้งก็มีโอกาสชนะ

แต่ในขณะเดียวกัน พรรคที่ไม่ลงเลือกตั้งก็ไปคิดกระบวนการปฏิรูป มองโลกในแง่ดีคิดว่าคนในพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องการปฏิรูปมี แล้วคงจะมีการปฏิรูปเกิดขึ้นในช่วงที่ไม่ลงสมัคร แต่จะประสบความสำเร็จแค่ไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง

ดร.ผาสุกสรุปว่า ปัญหาใหญ่ของเมืองไทยในขณะนี้คือ ประชาชนเปลี่ยนไปแล้ว ความคาดหวังต่อพรรคการเมืองเปลี่ยนไปแล้ว แต่ยังมีพรรคที่ปฏิเสธที่จะปรับตัว แต่พรรคที่ปฏิเสธที่จะปรับตัวหรือปรับตัวไม่ทันนี้ ปรากฏว่ามีแรงสนับสนุนจากกลุ่มที่อิงกับสถาบันสำคัญมากพอที่จะทำให้ดำเนินการชุมนุมเรียกร้องไม่ให้มีการเลือกตั้ง หรือไม่ให้ยอมรับ 1 คน 1 เสียงได้เป็นเวลามากกว่าหนึ่งเดือน

เรื่องนี้คือปัญหาใหญ่ กลุ่มที่เราอาจจะเรียกว่า “กลุ่มจารีต” จำนวนน้อยกำลังพยายามปกป้องอภิสิทธิ์ของตัวแล้วไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ดังนั้นเราจึงเกิดการปะทะกันอย่างมโหฬาร

ดร.ผาสุกประเมินว่า “ความคลี่คลาย” คงจะเกิดขึ้น เนื่องจากหลังจากแถลงการณ์ของนักธุรกิจ 7 องค์กร อ่านแล้วคิดว่า อันนี้เป็น “จุดเปลี่ยน” ที่ค่อนข้างสำคัญ ถ้ากลุ่มนักธุรกิจหลักของประเทศลุกขึ้นมาบอกว่า พวกเราต้องการสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ตรงนี้มีน้ำหนักมากพอที่จะคิดว่าทำให้ผู้ชุมนุมบางส่วนเริ่มฉุกคิด อีกเรื่องคือปฏิกิริยาของสื่อมวลชน ที่ระยะแรกคล้อยตามวาทกรรมต่างๆ ของผู้ชุมนุม แต่ระยะหลังเริ่มเห็นตรงนี้คลี่คลายเมื่อเห็นผู้ชุนนุมมีความล่องลอย

ดร.ผาสุกกล่าวว่า ที่วิเคราะห์เช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า ไม่เห็นใจกลุ่มผู้ชุมนุม “ดิฉันเห็นใจกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากที่มีความคับข้องใจการทำงานของรัฐบาลปัจจุบัน” เพราะว่ารัฐบาลปัจจุบันก็เป็นพรรคที่อาจจะภาคภูมิใจมากเกินไปที่ได้เสียงเลือกตั้งจากประชาชนเป็นจำนวนมากจนละเลยที่จะเห็นความละเอียดอ่อนความรู้สึกของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายหลายๆ เรื่อง นโยบายที่เห็นด้วยก็มีเยอะ

แต่ระยะที่ผ่านมามีนโยบายไม่ได้ดีทั้งหมด และปรับปรุงได้ก็ไม่ยอมปรับ และยังยืนยันว่าเนื่องจากได้ฉันทามติจากผู้ออกเสียงเลือกตั้งมาเป็นรัฐบาล เพราะฉะนั้น จะทำต่อไปและจะทำมากขึ้นอีกด้วย ตรงนี้คิดว่าเป็นการที่เขามีความแข็งกร้าวกับความรู้สึกของประชาชนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจำนำข้าว หรือปัญหาคอร์รัปชัน

“ขอบอกว่าไม่ได้นิยมชมชอบรัฐบาลนี้ และผิดหวังกับรัฐบาลนี้ด้วยในแง่ที่ว่า มีที่ปรึกษาจำนวนมากขนาดนี้ ปล่อยให้สถานการณ์ออกมาเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนำข้าว และ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม”

สำหรับประเด็น “ทางออก” ดร.ผาสุกมีความเห็นว่า แนวโน้มที่จะเป็นไปในทางดีขึ้นคือต้องเปลี่ยนแปลงให้ “พรรคมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น” และ “มวลชนเข้าไปมีบทบาทกำกับดูแลพรรคมากขึ้น” ในภาวการณ์เช่นนี้ ถ้าพรรคการเมืองมีความสูสีมากกว่านี้อาจทำให้ความขัดแย้งต่างๆ ลดทอนลงไปบ้าง

อย่างไรก็ตาม หากมองไปในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า คงไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมาก การปฏิรูปต้องใช้เวลา วาทกรรม “ต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ก็ฟังไม่ขึ้น จะปฏิรูป 1 เดือน 2 เดือน จะได้อะไร เพราะการปฏิรูปเป็นอะไรที่ใช้เวลายาวพอสมควร มันก็เลยกลายเป็นวาทกรรมขึ้นมา

ดร.ผาสุกกล่าวว่า ถึงแม้จะมีการเลือกตั้ง และความสำคัญของรัฐบาลใหม่ยังพอมีอยู่บ้าง แต่เราก็คงอยู่ในภาวะนี้ไปอีก คือ พรรคที่เป็นรัฐบาลก็พยายามบริหารจัดการไป คอร์รัปชันก็ไม่ได้แก้ไข ทางฝ่ายที่ไม่พึงพอใจก็จะป่วนเมืองไปเรื่อยๆ ตราบใดที่การป่วนเมืองไปเรื่อยไม่มีความรุนแรง หรือไม่มีการวางแผนให้เกิดความรุนแรงเพื่อที่จะเผด็จศึกอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต เราก็จะมีสถานการณ์แบบนี้ไปเรื่อย เพราะว่าฝ่ายที่อยู่นอกรัฐสภายังมีแรงหนุนจากผู้คับข้องใจ และไม่ใช่ผู้คับข้องใจธรรมดา แต่เป็นผู้คับข้องใจที่มีอำนาจตามสมควรทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ และสถานภาพทางสังคม

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ดร.ผาสุกประเมินว่า ถ้าเป็นกลุ่มนักลงทุนไต้หวัน ญี่ปุ่น และนักลงทุนที่รู้จักเมืองไทยพอสมควร เขาอาจดีด “ลูกคิด” แล้วมองว่า เป็นปัญหาภายในระหว่างพรรคกับกระบวนการที่จะก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นของคนไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ที่ถูก เพราะฉะนั้นเขาก็อาจไม่เป็นกังวลมากนักตราบใดที่ไม่กระทบการผลิตในโรงงานของเขา และไม่รุนแรงชนิดที่ปิดกรุงเทพฯ หรือปิดสนามบิน

“นี่อาจเป็นกระบวนการปรับเปลี่ยนสังคมของเราจึงเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น แต่ต้องมีการบริหารจัดการไม่ให้มีความรุนแรง เพราะฉะนั้น เตรียมใจรับสถานการณ์แบบนี้ไปอีก 2-3 ปี” ดร.ผาสุกกล่าว