ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > วิกฤติช้างไทย ทำไมเป็น “Elephant in the Room” ของรัฐบาล

วิกฤติช้างไทย ทำไมเป็น “Elephant in the Room” ของรัฐบาล

26 มีนาคม 2022


สัตว์ประจำชาติไทยอย่าง “ช้าง” เป็นอีกกลุ่มที่ประสบปัญหาหลายด้านจากวิกฤติโควิด-19 และรอการช่วยเหลือจากภาครัฐเช่นเดียวกับกลุ่มอื่นๆ ทว่าช้างในฐานะสัตว์ที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ไม่ใช่เครื่องจักรที่จ่ายเงินเยียวยาแล้วฟื้นคืนกลับมาได้ แต่ช้างเป็นทรัพยากรของชาติ ที่ต้องรักษาเพื่อให้มีชีวิตรอดต่อไป

เสียงจากควาญช้างและคนเลี้ยงช้างหลายแห่งเห็นตรงกันว่า การเลี้ยงช้างในทุกวันนี้เหมือนเลี้ยงไปวันๆ ไร้การช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างตรงจุด ส่วนหนึ่งเพราะช้างไม่ใช่สัตว์เศรษฐกิจที่ทำรายได้เหมือนหมู ไก่ หรือพืชผลอื่นๆ

ขณะที่รัฐบาลกำลังผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG และเขียนยุทธศาสตร์ความยั่งยืนให้กับภาครัฐและภาคธุรกิจอย่างชัดเจน แต่อีกส่วนสำคัญที่ภาครัฐอาจละเลยก็คือช้าง ซึ่งเป็นหนึ่งในทรัพยากรธรรมชาติชิ้นสำคัญของประเทศไทย

นายธีรภัทร ตรังปราการ ประธานสมาคมสหพันธ์ช้างไทย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ถึงประเด็นสถานการณ์ช้างไทยในรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่ฉุดการท่องเที่ยวให้ดิ่งลงเหว จนควาญช้าง-คนเลี้ยงช้างทั่วประเทศประสบชะตากรรมไร้รายได้เลี้ยงปากท้องคนและช้าง จนสุดท้ายจำนวนช้างลดลงอย่างต่อเนื่อง

นายธีรภัทร ตรังปราการ ประธานสมาคมสหพันธ์ช้างไทย

Elephant in the Room ของรัฐบาลไทย

นายธีรภัทรให้ข้อมูลว่า จำนวนช้างบ้านในประเทศไทยมีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี พ.ศ. 2500 มีช้างภายในประเทศราว 12,500 เชือก แต่ในปัจจุบันปี พ.ศ. 2565 ช้างในประเทศไทยเหลือเพียง 3,800 เชือก จำนวนช้างลดลงกว่า 70% ในช่วง 65 ปี หรือปริมาณช้างหายไปเท่ากับหนึ่งช่วงอายุขัย อย่างไรก็ตาม คนไทยส่วนใหญ่มองว่าช้างกว่า 3,800 เชือกในประเทศไทยถือว่าเป็นจำนวนที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีช้างเพียง 5-6 เชือกเท่านั้น แต่เมื่อดูสถิติการลดลงจะเห็นว่าช้างไทยกำลังเข้าสู่วิกฤติ

ในจำนวนช้างกว่า 3,800 เชือก แบ่งเป็นช้างภายใต้ความดูแลของชาวบ้าน ควาญช้าง และเอกชน (ปางช้าง) ประมาณ 3,200 เชือก ขณะที่ช้างในความดูแลของภาครัฐมีประมาณ 100 เชือกเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นช้างในองค์การส่วนสัตว์ บางส่วนเป็นช้างขององค์กรหรือมูลนิธิ ขณะที่ช้างอีก 200-300 เชือก เป็นช้างที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีและมีการการันตีรายได้ให้ควาญช้าง

นายธีรภัทรกล่าวต่อว่า ช้างและควาญช้างที่เผชิญกับปัญหามากที่สุดคือช้างมากกว่า 3,200 เชือกที่ต้องดิ้นรนกันเอง ทั้งหารายได้ด้วยการรับจ้างตัดไม้ นำช้างเป็นขบวนแห่พิธีกรรมทางศาสนา หรือแม้แต่ช้างที่อยู่ในระบบการท่องเที่ยวก็ลำบากเพราะไม่มีนักท่องเที่ยวเพียงพอ

นายธีรภัทรกล่าวต่อว่า ในประเทศไทยไม่มีหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบดูแลช้างโดยตรง ผิดกับเรื่องอื่นๆ เช่น ข้าว มีหน่วยงานรัฐคือกรมการข้าว กระทั่งหม่อนไหมก็มีกรมหม่อนไหม เมื่อไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องช้างทำให้ภาคเอกชนไม่สามารถขอความช่วยเหลือได้ และไม่มีนโยบายที่เกี่ยวข้องโดยตรง

นายธีรภัทรกล่าวเสริมว่า ตั้งแต่เกิดการปิดประเทศจากวิกฤติโควิด-19 สมาคมสหพันธ์ช้างไทยพยายามสื่อสารกับภาครัฐและให้แนวทางความช่วยเหลือที่ภาครัฐควรทำ โดยกระบวนการที่ทำอันดันแรกๆ คือส่งหนังสือถึงสำนักนายกรัฐมนตรี แต่จากนั้นหนังสือถูกส่งต่อไปยังหน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ต่อมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ทำหนังสือแจ้งกลับมาว่า “ด้วยพันธกิจที่ดูแลสัตว์ป่าไม่ใช่ความรับผิดชอบโดยตรง” ทั้งนี้ ทางกระทรวงก็แสดงน้ำใจในความช่วยเหลือโดยการส่งสัตวแพทย์ไป ทว่าสิ่งที่กลุ่มควาญช้าง-คนเลี้ยงช้างต้องการคืองบประมาณในการจ้างควาญมาดูแลช้าง ไม่ใช่สัตวแพทย์เท่านั้น

“หลายหน่วยงานเรียกเราไปให้ข้อมูล แต่ยังไม่มีความช่วยเหลือเป็นรูปธรรม ผมรู้สึกว่าไหนๆ รัฐบาลก็ออกความช่วยเหลือหลายชุด เช่น ช่วยคน 5,000 บาท หรือช่วยเหลือคนครั้งหนึ่ง 20 ถึง 30 ล้านคน การช่วยเหลือลักษณะนี้เป็น helicopter money มันโปรยเงิน ใครเข้าแอปได้ก็ได้ไป คนเข้าแอปได้ก็มีเงิน 5,000 บาท มันตกที่ใครไม่รู้ แต่คนเลี้ยงช้าง บางคนอยู่บนดอย อย่าว่าแต่สมาร์ทโฟน โทรศัพท์ที่โทรเข้าโทรออกยังไม่มี ฉะนั้น เวลาโปรยเงินแล้วเราคว้าไม่ได้”

“ถ้าเรามองว่าช้างในประเทศมีแค่ 3,800 เชือกแล้วเดือดร้อนจริงๆ และคิดว่าช้างเป็นสัตว์ประจำชาติ ก็ให้ช่วยโดยระบุช้างไปเลย ให้คนที่ได้รับความช่วยเหลือคือคนที่มีเอกสารกำกับการเลี้ยงช้างที่ออกโดยกรมการปกครอง บวกกับบัตรประชาชน”

นายธีรภัทรกล่าวต่อว่า รัฐบาลควรมองการเยียวยาช้างให้เป็น “เงินรักษาความพร้อมทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว” เพราะเมื่อการท่องเที่ยวกลับคืนมา ไทยจะเป็นประเทศเดียวที่โดดเด่นในเรื่องการท่องเที่ยวช้าง เนื่องจากงานวิจัยที่สมาคมฯ ทำร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า 5% ของนักท่องเที่ยวภายในประเทศมาเพื่อช้าง และ 15% ของนักท่องเที่ยวตั้งใจบินมาเชียงใหม่เพื่อช้าง ทั้งหมดสร้างรายได้กว่า 66,000 ล้านบาทต่อปี 

โดยช้างเหมือนจุดแข็งของประเทศไทย เช่นเดียวกับมวยไทย หรืออาหารไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ

“ถ้าช่วยช้างเดือนละ 10,000 บาท เท่ากับ 30 ล้านบาทต่อเดือน มันเสี้ยวของเสี้ยวของนโยบายช่วยเหลือเกือบแสนล้าน เราช่วยช้างให้พ้นวิกฤติได้โดยรบกวนงบประมาณรัฐน้อยมาก… ผมนึกถึงสำนวน “Elephant in the Room” รัฐบาลทำเหมือนไม่เต็มใจมองเห็น รู้ทั้งรู้ว่าช้างเดือดร้อน แต่ไม่เต็มใจ คิดว่ามันไม่สำคัญ ทั้งที่โจทย์ของเราคือการรักษาสิ่งที่มีในประเทศ”

ช่วยช้างอย่างยั่งยืน สร้างรายได้ให้เกษตรกร

เมื่อช้างไม่ได้รับความช่วยเหลือเท่าที่ควร ส่งผลกระทบไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร ผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ เช่น อ้อย สับปะรด กล้วย ฯลฯ แม้ช้างจะไม่มี impact เท่ากับอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่เมื่อรัฐบาลมีเป้าหมายการสร้างความยั่งยืนให้กับทุกภาคส่วน ช้างซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกดังกล่าวกลับไม่ได้รับการเหลียวแล

เมื่อช้างไม่ได้รับการช่วยเหลือ เกษตรกรจะขายผลผลิตยากขึ้น นี่เป็นจุดเล็กๆ ที่หากรัฐบาลต้องการสร้างความยั่งยืนในภาคการเกษตร ควรเริ่มต้นจากมองช้างให้เห็นทั้งระบบ

“ช้างเป็นสัตว์กินพืช ทุกวันของช้างถ้าเราจัดสรรปันส่วนให้ดี มันเท่ากับการการันตีผลิตผลการเกษตรระดับหนึ่งของสารบบเกษตรกรรมในไทย ตัวอย่างกล้วยเครือหนึ่งจะมีกล้วยเกรดเอ เหมือนนิ้วเราสวยสามนิ้ว หรือฟักทองลูกสวยๆ ก็ขายในตลาด ลูกที่บิดเบี้ยวก็ให้ช้าง” 

ขณะที่รัฐบาลตั้งเป้าแข่งขันด้านต่างๆ ในเวทีโลก แต่รัฐบาลอาจลืมไปว่าจุดแข็งของประเทศไทยคืออะไร นายธีรภัทรอธิบายว่า หากประเทศไทยจะแข่งขันเรื่องรถยนต์กับประเทศเยอรมันก็ไม่สามารถสู้ได้ หรือเรื่องอุตสาหกรรมอวกาศก็แข่งขันกับอเมริกาไม่ได้ กระทั่งการเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพเพียงพอจะแข่งกับหลายต่อหลายประเทศ

นายธีรภัทรกล่าวต่อว่า สำคัญคือดูว่าประเทศไทยสามารถเป็นที่หนึ่งเรื่องอะไรได้บ้าง และได้ประโยชน์มากกว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว โดยพบว่าจุดแข็งของไทยที่มีความเป็นไปได้ในการแข่งขันกับโลก ได้แก่ มวยไทย อาหารไทยและช้าง

“ถ้าจะชนะอเมริกาเรื่องอุตสาหกรรมอวกาศ เหมือนเรานับหนึ่งถึงพันล้าน แต่เรื่องช้าง เรานับหนึ่งถึงเก้า เพราะเป็นสิ่งที่เรามีอยู่ แม้ขนาดอุตสาหกรรมไม่ได้มโหฬาร แต่เราทำได้ก็ต้องทำก่อน เราอาจจะยืนหนึ่งเรื่ององค์ความรู้เรื่องช้าง หรือความรู้ในการดูแลรักษาช้าง ให้คนนึกถึงมหา’ลัยเชียงใหม่ นักวิจัยเราอยู่ที่นี่ เราต้องทำให้คนที่อยากท่องเที่ยวตื่นมาแล้วรู้สึกว่าอยากเห็นช้างให้ไปประเทศไทย”

บทบาทสมาคมฯ ช้างไทย

“ถ้าเราตั้งใจให้ช้างคงอยู่คู่ประเทศไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับความสามารถในการเลี้ยงดูช้างของภาคเอกชน เป็นที่มาว่าไม่ว่าจะเลี้ยงช้างกี่เชือก แต่ละคนต้องเอาตัวรอดเลี้ยงดูให้ได้ แต่ละที่ไม่ใช่คู่แข่ง เราต่างหากเป็นจิ๊กซอว์คนละชิ้นที่มาปะติดปะต่อร่วมกันจนได้ภาพความสำเร็จ หมายความว่าไม่มีทางเป็นไปได้ที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งบอกว่าฉันอนุรักษ์ช้างคนเดียว ไม่มีทางสำเร็จ”

ปัญหาการไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องช้าง และปัญหาต่างๆ ในวงการช้างเป็นที่มาของสมาคมสหพันธ์ช้างไทย ซึ่งก่อตั้งในช่วงปี พ.ศ. 2559 โดยก่อตั้งด้วยการรวมตัวกันของปางช้างกว่า 16 ปาง หรือช้างประมาณกว่า 700 เชือกที่ได้รับการดูแลโดยตรง

เป้าหมายของสมาคมสหพันธ์ช้างไทย คือ ทำงานร่วมกับฝ่ายนโยบายภาครัฐและรัฐบาล เพื่อยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงช้าง และช่วยให้ควาญช้างหรือคนเลี้ยงช้างทั่วประเทศมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ได้รับการยอมรับในฐานะอาชีพที่ต้องมีคุณวุฒิวิชาชีพ ทักษะ และกระบวนการทำงานเป็นขั้นตอน

นายธีรภัทรเล่าการทำงานของสมาคมว่า ในช่วงเริ่มต้นของการก่อตั้งสมาคมฯ ได้มีการระดมทุนจากภาคเอกชนในการดำเนินการต่างๆ แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 สมาคมฯ จึงต้องเปิดรับบริจาคในโครงการ “ร่วมด้วยช่วยช้าง ฝ่าวิกฤติโควิด-19” โดยยึดมั่นว่าจะต้องใช้เงินให้ตรงตามวัตถุประสงค์ “ช่วยช้างถึงช้าง”

“ในวงการรับบริจาคหรืออ้างรับบริจาค มันถึงช้างสักเสี้ยวหรือส่วนหนึ่ง เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ปรัชญาของเรา และเรารับไม่ได้กับ donation is a business เนื่องจากเราไม่ได้มีอาชีพรับบริจาค เราเป็นผู้บริจาคมาก่อนเรารู้ดีว่าจิตใจของคนบริจาคเขาคาดหวังอย่างไรและไว้ใจกับคนที่ฝากความช่วยเหลือไว้ เราเคยอยู่ในจุดผู้ให้มาก่อนก็รู้ดี วันนี้เราเป็นผู้บริหารก็ทำเต็มที่” 

การช่วยเหลือของสมาคมประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่

(1) อาหารและปากท้องช้าง โดยวิธีการของสมาคมฯ หลังได้รับเงินบริจาคคือประเมินความช่วยเหลือของปางช้างหรือคนเลี้ยงช้าง และซื้ออาหารช้างส่งไปยังพื้นที่ขาดแคลนทั่วประเทศ

ในขั้นตอนนี้สมาคมฯ ได้รับความช่วยเหลือจากเอกชนรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น CPALL และ CPF ซึ่งช่วยส่งอาหารช้างมาให้สมาคมฯ กระจายต่อทั่วประเทศ โดยปี 2564 ได้รับทั้งสิ้น 60,000 กิโลกรัม หรือแสนสิริที่ให้ยืมใช้พื้นที่ 70 ไร่ในอำเภอสันกำแพง เพื่อพัฒนาที่ดินสำหรับปลูกหญ้าเป็นอาหารช้าง โดยสมาคมตั้งเป้าว่าจะเลี้ยงอาหารช้างจากที่ดินแสนสิริวันละ 2,500 กิโลกรัมต่อช้าง 10 เชือก เป็นเวลา 1,000 วัน จะได้เป้าหมายทั้งหมด 2,500,000 ตันภายในเวลาเกือบ 3 ปี กระทั่งภาครัฐอย่าง อบจ.เชียงใหม่ ก็สนับสนุนที่ดิน 100 ไร่ในการปลูกหญ้าเป็นอาหารช้างเช่นกัน

(2) ปัญหาสุขภาพ เนื่องจากการเลี้ยงช้างควรจะเป็นระบบการเลี้ยงแบบควาญ 1 คนต่อช้าง 1 เชือก ในแต่ละวันควาญจะพาเดิน ออกกำลังกาย เล็มหญ้า กินน้ำ เล่นฝุ่น เล่นดิน พักผ่อน แต่เมื่อเจ้าของช้างไม่มีเงินจ้างควาญแบบระบบดังกล่าวทำให้ควาญหนึ่งคนต้องรับหน้าที่ดูแลช้างอย่างน้อย 6-7 เชือก บางครั้งช้างจึงมีปัญหาทางจิตใจเพราะควาญไม่ได้สนิทกับช้างทุกเชือก สุดท้ายควาญจึงเสี่ยงถูกช้างทำร้าย ตลอดจนสุขภาพช้างที่ควาญไม่ทันได้สังเกต สมาคมฯ จึงพัฒนารถโมบายคลินิกเคลื่อนที่โดยมีสัตวแพทย์ประจำการ ทำให้ช้างได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

“ปกติเวลาส่งช้างมาโรงพยาบาลใช้เงิน 20,000 ถึง 30,000 บาท เราไม่อยากให้เจ้าของช้างลังเล หรือคิดว่ารอดูก่อนเผื่อมันจะดีขึ้น ถ้าช้างป่วยจริงๆ สัตวแพทย์ทีมรักษารับทราบ แล้วโรงพยาบาลช้างปลายทางรับทราบ สมาคมฯ จะส่งรถไปช่วยทุกพื้นที่ในประเทศไทย และไม่ต้องการให้เขาลังเลว่าเพราะต้องจ่ายเงิน นี่เป็นการปกป้องสิทธิในการรักษาสัตว์”

(3) ส่งเสริมให้ปางช้างแต่ละแห่งกลับมาสู่ธุรกิจของตัวเองอย่างยั่งยืน

โจทย์การท่องเที่ยวช้าง

นายธีรภัทรมองว่า โจทย์ของการผลักดันท่องเที่ยวช้างในอนาคตคือ Elephant Health Care-Based Tourism ซึ่งเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่เอาช้างเป็นศูนย์กลางกิจวัตรประจำวันของช้าง และพิจารณาว่านักท่องเที่ยวสามารถมีส่วนร่วมได้มากน้อยแค่ไหน เช่น การพาช้างออกกำลังกาย ป้อนอาหารช้าง ให้ช้างอ้าปากแล้วตรวจฟัน อาบน้ำช้าง ขัดถูช้าง ฯลฯ 

“วิธีสร้าง entertainment tourism อย่างการเอาช้างมาเตะฟุตบอล เดินสองขา กับ emotional and drama tourism เช่นเอาช้างเจ็บปวดมาให้คนรู้สึกสลดใจ มันก่อผลดีในเชิงกระเป๋าเงิน แต่ก่อผลเลวร้ายในด้านโอกาส สภาพที่น่าสงสารถูกใช้ซ้ำ ผมไม่มองว่ายั่งยืน”

“การท่องเที่ยวที่ดีเป็นประโยชน์ จะต้องสร้างรายได้ให้คนเลี้ยง คือ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพช้างหรือช้างจะได้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สุขภาพชีวิตกายใจดี ผู้ประกอบการมีรายได้ เลี้ยงลูกน้อง ครอบครัวได้ และภาพลักษณ์ความเคารพนับถือของต่างชาติที่มีต่อคนไทยในฐานะประเทศที่มีการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างช้าง”