ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กางงบฯ ประชาสัมพันธ์กระทรวงแรงงาน จัดซื้อวิธีพิเศษ 5 เดือน “100 ล้านบาท”

กางงบฯ ประชาสัมพันธ์กระทรวงแรงงาน จัดซื้อวิธีพิเศษ 5 เดือน “100 ล้านบาท”

31 ตุลาคม 2013


ป้ายเฉลิม อยู่บำรุง

การใช้งบประมาณในการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐและหน่วยงานราชการ เป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากขึ้น สิ่งที่สังคมตั้งคำถามก็คือ การประชาสัมพันธ์ของภาครัฐในปัจจุบันมักจะเน้นไปที่การประชาสัมพันธ์ตัวบุคคลมากกว่าเนื้อหาสาระที่ต้องการสื่อให้ประชาชนทราบ ไม่ว่าจะผ่านทางโทรทัศน์ ทางวิทยุ ทางหนังสือพิมพ์ หรือทางป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ริมถนนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และแน่นอนว่า งบประมาณทั้งหมดในการประชาสัมพันธ์มาจากงบประมาณแผ่นดินหรือภาษีของประชาชน

ประเด็นที่บอกว่าภาครัฐเน้นการประชาสัมพันธ์ไปที่ตัวบุคคลมากกว่าเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน สามารถอธิบายเป็นตัวอย่างได้ เช่น ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ริมถนน ที่จะเห็นรูปนักการเมืองหรือข้าราชการประจำพร้อมบอกชื่อและตำแหน่งในหน่วยงานนั้นๆ ใต้ภาพ รวมถึงข้อความที่ต้องการสื่อให้ประชาชนรับทราบ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่ทำหรือสิทธิหน้าที่ของประชาชนก็จะปรากฏอยู่ในป้ายเช่นกัน เพียงแต่ยิ่งนานวันขึ้น สัดส่วนของภาพตัวบุคคลดูเหมือนจะมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับข้อความที่ต้องการสื่อให้ประชาชนรู้ บางครั้งผู้อ่านแทบจะมองไม่เห็นตัวหนังสือเลยด้วยซ้ำ ดูคล้ายเป็นป้ายหาเสียงเลือกตั้งมากกว่าที่จะเป็นการประชาสัมพันธ์จากภาครัฐ ซึ่งมีความแตกต่าง คือ ป้ายหาเสียงใช้เงินของพรรคการเมือง แต่ป้ายประชาสัมพันธ์ใช้เงินของประชาชน

ผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้าได้ตรวจค้นข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการ พบว่าในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (มิถุนายน-ตุลาคม 2556) กระทรวงแรงงานมีการจัดซื้อจัดจ้างในด้านประชาสัมพันธ์ประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดเป็นการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษและกรณีพิเศษ

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/photo.php?fbid=154814058055235&set=a.115641418639166.1073741826.100005799254567&type=1&theater
ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/photo.php?fbid=154814058055235&set=a.115641418639166.1073741826.100005799254567&type=1&theater

จากการสำรวจข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างผ่านเว็บไซต์ www.gprocurement.go.th เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556 โดยการค้นหาประกาศราคากลางของข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง พบว่ากระทรวงแรงงานมีการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการประชาสัมพันธ์ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2556 จนถึงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เป็นระยะเวลา 2 เดือน รวมแล้วมีมูลค่าถึง 72,892,929 บาท โดยสำนักงานประกันสังคมมีมูลค่าสูงสุดที่ 37,120,000 บาท ตามมาด้วยกรมการจัดหางานที่ 27,380,000 บาท สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน 5,000,000 บาท กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 2,589,000 บาท และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 803,929 บาท ซึ่งทั้งหมดใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษและวิธีกรณีพิเศษ

นอกจากนี้ จากการสำรวจข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มเติมย้อนหลังของสำนักงานประกันสังคมในเดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2556 พบว่ามีมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการประชาสัมพันธ์อีก 27,385,571 บาท ซึ่งทั้งหมดทำโดยวิธีพิเศษและวิธีกรณีพิเศษ

เมื่อรวมมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างในด้านประชาสัมพันธ์ทั้งหมดของกระทรวงแรงงานตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงตุลาคม และของสำนักงานประกันสังคมในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม พบว่ามีมูลค่ารวมกันสูงถึง 100,278,500 บาท

อนึ่งการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด มีการปรับเปลี่ยนร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง จากรองนายกรัฐมนตรีมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2556

งบประชาสัมพันธ์กระทรวงแรงงาน
งบประชาสัมพันธ์กระทรวงแรงงาน

ที่ผ่านมาคอลัมน์ “หางกระดิกหมา” ได้เขียนถึงเรื่องป้ายคอร์รัปชัน และกฎหมายว่าด้วยการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ ได้กล่าวถึงกรณีในต่างประเทศที่มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐโดยเฉพาะ เช่น รัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา มีกฎหมาย Government Advertising Act เพื่อควบคุมเนื้อหาการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล ไม่ให้นำเงินของรัฐไปใช้ในการหาเสียงให้ตนเอง กฎหมายนี้มีเนื้อหาที่น่าสนใจซึ่งครอบคลุมการโฆษณาทุกชนิดที่รัฐเป็นคนออกค่าจ้าง โดยมีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินของรัฐเป็นผู้กลั่นกรองเนื้อหาโฆษณาหรือการประชาสัมพันธ์นั้นๆ ก่อนที่จะมีการเผยแพร่ ซึ่งเนื้อหาที่เป็นไปตามกฎหมายจะต้องมี “สิ่งที่ควรมี” กล่าวคือ ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของประชาชน หรือข้อมูลเกี่ยวกับนโยบาย โครงการหรือบริการของรัฐบาล หรือข้อมูลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือภาพลักษณ์โดยรวมของประเทศ เรื่องใดเรื่องหนึ่ง และในขณะเดียวกัน ก็จะต้องไม่มี “สิ่งที่ไม่ควรมี” กล่าวคือ ชื่อ รูปภาพ หรือเสียงของสมาชิก ครม. หรือ สส. หรือข้อความที่สร้างภาพลักษณ์ของรัฐบาล หรือบั่นทอนความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้าม โดยตอนสิ้นปี สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจะทำรายงานสรุปอธิบายงบประมาณที่ใช้ไปในการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ของภาครัฐพร้อมชี้แจงรายละเอียดให้รัฐสภารับทราบ

ป้ายเฉลิม อยู่บำรุง-4

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/photo.php?fbid=152984421571532&set=pcb.152985401571434&type=1&theater
ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/photo.php?fbid=152984421571532&set=pcb.152985401571434&type=1&theater

วิธีการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐหรือหน่วยงานราชการทั้งหมด 6 วิธี สั้นๆ ดังนี้

– วิธีตกลงราคา คือ การซื้อหรือการจ้างครั้งหนึ่ง ซึ่งมีราคาไม่เกิน 100,000 บาท
– วิธีสอบราคา คือ การซื้อหรือการจ้างครั้งหนึ่ง ซึ่งมีราคาเกิน 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 2,000,000 บาท
– วิธีประกวดราคา คือ การซื้อ หรือการจ้างครั้งหนึ่ง ซึ่งมีราคาเกิน 2,000,000 บาท
– วิธีพิเศษ คือ การซื้อ หรือการจ้าง ซึ่งมีราคาเกิน 100,000 บาท ซึ่งส่วนมากจะซื้อหรือจ้างเป็นงานเร่งด่วน หากล่าช้าอาจจะเสียหายแก่ทางราชการ หรือเป็นการซื้อหรือจ้างที่กระทำโดยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผลดี
– วิธีกรณีพิเศษ คือ การซื้อ หรือการจ้างจากส่วนราชการ หน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วย ระเบียบการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นหน่วยงานอื่นซึ่งมีกฎหมายบัญญัติให้มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ
– วิธีประกวดราคา ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ คือ การซื้อหรือการจ้าง ซึ่งมีราคาเกิน 2,000,000 บาท ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์