ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ภาวะสังคมไตรมาส 3 เศรษฐกิจแย่ อัตราการว่างงานเพิ่ม ค่าครองชีพสูง คนจนเมืองกระทบมากสุด

ภาวะสังคมไตรมาส 3 เศรษฐกิจแย่ อัตราการว่างงานเพิ่ม ค่าครองชีพสูง คนจนเมืองกระทบมากสุด

26 พฤศจิกายน 2013


สศช. รายงานภาวะสังคมไตรมาส 3 ปี 2556 เศรษฐกิจแย่ การว่างงานเพิ่มเป็น 0.77% ห่วงการเมืองบานปลายกระทบการลงทุน และผู้ประกอบการชะลอการจ้างงาน ขณะที่คนจนในเมืองได้รับผลกระทบค่าครองชีพสูงขึ้นกว่ากลุ่มอื่น โดยมีหนี้สินเฉลี่ย 149,229 บาท และจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ย 31.32% ต่อปี

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะสังคมไตรมาส 3 ปี 2556 ว่า ภาวะการจ้างงานลดลง 1.2% เป็นการลดลงทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร ขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 0.77% หรือมีผู้ว่างงาน 305,605 คน

สาเหตุที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นมาจาก 2 ประเด็น 1. เศรษฐกิจชะลอตัวลง ส่งผลให้เกิดการว่างงานทั้งผู้ที่เคยทำงานมาก่อน และผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน สอดคล้องกับจำนวนผู้สมัครงานที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าตำแหน่งงาน รวมทั้งเป็นช่วงการว่างงานตามฤดูกาลช่วงเพาะปลูก 2. กำลังแรงงานลดลง

ทั้งนี้ แม้ว่าอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมและเสถียรภาพเศรษฐกิจ และยังเป็นอัตราการว่างงานที่ต่ำ แต่ชี้ถึงโอกาสการมีงานทําและโอกาสการมีรายได้ในอนาคตที่น้อยลง

สศช. ระบุว่า ประเด็นที่ต้องติดตามและเฝ้าระวังในช่วงต่อไปคือ ภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวลง และความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มีผลต่อบรรยากาศการลงทุน อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการขยายตำแหน่งงาน รวมทั้งการขาดแคลนแรงงานระดับล่างในสาขาก่อสร้าง แม้ในปัจจุบันจะมีการทำข้อตกลงเพื่อนำเข้าแรงงานต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านมาทำงานประเภทดังกล่าว แต่ในกระบวนการนำเข้าแรงงานต่างด้าวต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 2 เดือน เป็นต้น

นอกจากนี้ สศช. รายงานการสํารวจโดย สศช. และวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จํานวน 2,000 ตัวอย่างทั่วประเทศ ในช่วงเดือนตุลาคม 2556 พบว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา คนในสังคมส่วนใหญ่เห็นว่าปัญหาที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดคือปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งในเรื่องค่าครองชีพและหนี้สิน

โดยผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองกว่า 3 ใน 4 ได้รับผลกระทบเรื่องรายได้และรายจ่าย ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย และ 3 ใน 5 ของประชากรตัวอย่างมีหนี้สิน ส่วนใหญ่ 81.4% เป็นหนี้สินที่สามารถผ่อนชำระได้ และ 18.6% เป็นหนี้ที่ไม่สามารถผ่อนชำระด้วยตัวเองได้

ที่มา : รายงานภาวะสังคมไตรมาส 3 ปี 2556  สศช.
ที่มา: รายงานภาวะสังคมไตรมาส 3 ปี 2556 สศช.

โดยผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองมีหนี้สินเฉลี่ย 149,229 บาท และจ่ายอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ย 31.32% ต่อปี ซึ่งแหล่งเงินกู้ส่วนใหญ่ของผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองเป็นสถาบันการเงิน 65% ขณะที่เป็นการกู้นอกระบบ 17%

นอกจากนี้ พบว่าผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ มีสัดส่วนการกู้เงินนอกระบบหรือจากเพื่อนหรือญาติในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้มีรายได้น้อยในภูมิภาค ซึ่งมีความได้เปรียบจากการมีที่อยู่อาศัยหรือที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และด้วยข้อจำกัดด้านหลักทรัพย์นี้ทำให้ผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ ต้องเสียอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราที่สูงกว่าถึง 59.45% ต่อปี ขณะที่ในภูมิภาคจ่ายดอกเบี้ยในอัตราเฉลี่ย 27.76% ต่อปี ส่วนการจ่ายอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 31.32% ต่อปี

ขณะที่ สศช. รายงานข้อมูลการสํารวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมปี 2554 พบว่าผู้มีรายได้น้อยในเขตเมือง 2.5 ล้านครัวเรือน หรือ 9 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 3,248 บาทต่อคน หรือเป็นเพียง 1 ใน 3 ของรายได้เฉลี่ยของผู้ที่อยู่ในเมือง และต่ำกว่ารายจ่ายเฉลี่ยที่ 3,642 บาทต่อคน ขณะที่ครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย 44% มีหนี้สินโดยเฉลี่ยต่อครัวเรือนเท่ากับ 122,486 บาท แต่ที่กรุงเทพฯ มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงสุดคือ 232,223 บาทต่อครัวเรือน ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนครัวเรือนที่เป็นหนี้สูงสุดคือ 55.41%

สำหรับการปรับตัวต่อภาวะค่าครองชีพ พบว่า ผู้มีรายได้น้อยในเขตเมือง 3 ใน 4 ใช้วิธีจ่ายน้อยลงหรือใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น และซื้อของที่มีคุณภาพลดลง 14.9% ทำงานพิเศษ 21.8% ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองเป็นส่วนน้อยปรับตัวโดยกู้ยืมเงิน 10.8% และนำเงินออมมาใช้ 6.4% ส่วนแหล่งความช่วยเหลือหรือพึ่งพาทางการเงินส่วนใหญ่เป็นญาติพี่น้องและเพื่อน

แต่มีผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองถึง 1 ใน 5 ที่ไม่สามารถพึ่งพาใครได้เลย ตลอดจนต้องการความช่วยเหลือจากรัฐในเรื่องการควบคุมราคาสินค้า การลดค่าน้ำค่าไฟและราคาน้ำมันหรือแก๊สหุงต้ม แม้ว่ารัฐจะมีการช่วยเหลือแต่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้

ขณะที่การเตรียมการของผู้มีรายได้น้อยเพื่อเผชิญความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ พบว่า ถึงแม้จะคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มลดต่ำลง หรือมีปัญหาด้านค่าครองชีพเพิ่มขึ้น แต่ผู้มีรายได้น้อยแทบไม่มีการเตรียมการใดๆ สิ่งที่ทําได้ก็เพียงแก้ไขปัญหาเรื่อง “ปากท้อง” เฉพาะหน้าเพื่อให้อยู่รอดไปได้ในแต่ละวัน โดยสิ่งที่ทําได้มากที่สุดคือการใช้จ่ายอย่างประหยัด มองหาแหล่งเงินกู้ และทําใจให้ยอมรับสภาพ

นอกจากข้อจํากัดทางเศรษฐกิจแล้ว ผู้มีรายได้น้อยยังขาดการสั่งสมความรู้ที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนาทักษะความสามารถในการประกอบวิชาชีพ และขาดความตระหนักในการเตรียมความพร้อมเพื่อเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ในทางกลับกัน ประชาชนมักได้รับทราบข้อมูลที่ผูกติดอยู่กับ “วัตถุนิยมและความฟุ้งเฟ้อ” ซึ่งสังคมจําเป็นต้องให้ความสําคัญด้านการพัฒนาส่งเสริมองค์ความรู้ ทักษะ ความชํานาญ รวมทั้งเร่งสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของความประหยัดและไม่ฟุ้งเฟ้อทางวัตถุ ถึงจะแก้ปัญหาได้

สศช. เสนอมาตรการที่บรรเทาผลกระทบค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อย ประกอบด้วย 1. ดำเนินมาตรการช่วยเหลือเฉพาะหน้า โดยเพิ่มประสิทธิภาพและขยายการดำเนินโครงการช่วยเหลือค่าครองชีพแก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่มีอยู่ให้ได้รับบริการอย่างทั่วถึง 2. สร้างรายได้และพัฒนาศักยภาพ โดยเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีอยู่ การฝึกอาชีพ พัฒนาทักษะและสมรรถนะที่จำเป็นต่อสร้างอาชีพและรายได้ ตลอดจนอุดหนุนกลุ่มคนจน โดยเฉพาะด้านการศึกษา เพื่อเพิ่มโอกาสให้สามารถพัฒนาศักยภาพ พัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับตนเองให้หลุดพ้นจากความยากจน

3. เตรียมความพร้อม โดยสร้างวินัยการใช้จ่าย ทำบัญชีครัวเรือน และส่งเสริมคุณค่าการออมตั้งแต่วัยเด็กเพื่อสร้างหลักประกันรายได้ในอนาคต ช่วยลดความเสี่ยงทั้งจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ และ 4. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อเป็นองค์กรเชื่อมต่อโครงการภาครัฐให้สามารถดำเนินงานสู่กลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ