ThaiPublica > คอลัมน์ > สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นกับแผนการฟื้นฟูกิจการ

สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นกับแผนการฟื้นฟูกิจการ

15 พฤศจิกายน 2013


เขียนโดยสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

หลังจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นมีเรื่องราวตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2556 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน กิจกรรมก็ค่อยๆ ลดลงเนื่องจากสมาชิกเกิดความไม่ไว้วางใจ แต่เดิมสมาชิกเคยสะสมหุ้นเดือนหนึ่ง 80-100 ล้านบาท พอเกิดความวุ่นวายเรื่องเงิน คนที่เคยสะสมหุ้นเดือนละ 1,000–10,000 บาท ก็ลดลงเหลือเพียง 100 บาท คือในอัตราต่ำสุด รวมถึงสมาชิกที่กู้เงินจะต้องชำระคืนก็เริ่มบิดพลิ้ว หรืออาจจะส่งเพียงดอกเบี้ยเพื่อไม่ให้ถูกปรับ สภาพเงินที่เป็นรายรับเหลือเพียงเดือนละประมาณ 20 ล้านบาทเท่านั้น

คำว่า “ฟื้นฟู” มีคนพูดถึง หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับคำคำนี้ว่าคืออะไร แต่โดยสำนึกก็คิดว่า คงจะทำอย่างไรให้สหกรณ์ฯ ดำเนินการต่อไปได้ มีเงินมาให้เบิกจ่ายหรือให้กู้ได้ตามปกติ

มีผู้รู้กล่าวว่า หากการฟื้นฟูไม่เกิดขึ้นภายในเดือนธันวาคม 2556 นี้ สหกรณ์ฯ คงต้องชำระบัญชี ปิดกิจการ แล้วอะไรจะเกิดขึ้น

ในข้อบังคับ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด พ.ศ. 2549 ข้อที่ 108 กำหนดไว้ว่า “เมื่อสหกรณ์ต้องเลิกและได้จัดการชำระบัญชีโดยจำหน่ายทรัพย์สินตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ ตลอดทั้งจ่ายคืนเงินฝากพร้อมด้วยดอกเบี้ยและชำระหนี้สินอื่นๆ ของสหกรณ์แล้ว ปรากฏว่าสหกรณ์มีทรัพย์สินอยู่เท่าไร ให้ผู้ชำระบัญชีจ่ายตามลำดับ คือ หุ้น, ปันผล ให้กับสมาชิก

กลับมาดูสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น มีเงินรับฝากประมาณ 14,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยประมาณ 5% ประมาณ 500 ล้านบาทเศษ ถามว่าในกรณี ชำระบัญชีหรือเลิกกิจการหักเงินที่สหกรณ์ฯ มีอยู่ รวมถึงทรัพย์สินที่มีอยู่อาจจะยังไม่พอจ่ายให้กับเจ้าหนี้เงินฝาก แล้วจะเหลือเงินส่วนไหนคืนหุ้นให้กับสมาชิก นี่เป็นการคิดคร่าวๆ ตัวเลขประมาณการ

หุ้นนั้นเป็นเหมือนการลงทุน สมมติเรารวมหุ้น 3 คน คนละ 1,000 บาท ลงทุนร่วมกันขายน้ำเต้าหู้ ซื้อรถเข็น ซื้อโต๊ะ เก้าอี้ หม้อน้ำเต้าหู้ เงิน 3,000 บาทไม่พอก็ไปกู้เพิ่มมาอีก 5,000 ขายไปได้พักเดียว ทุนหายกำไรหด สุดท้ายเลิกกิจการ จัดการขายรถเข็น อุปกรณ์ต่างๆ ได้เงินมา 5,000 บาท ก็คืนให้แก่เจ้าหนี้หมดพอดี เงินที่เราลงทุน 3 คนมีคืนไหม ไม่มี ต้องยอมรับสภาพการขาดทุนเงินที่ลงทุนไป หุ้นของสมาชิกทุกคน เหมือนเงินลงทุนขายน้ำเต้าหู้นั่นแหละ

มีทางออกอื่นไหม มี นั่นคือ “การฟื้นฟูกิจการ” พูดง่ายๆ คือ หาเงินมาหมุนเวียนใหม่เพื่อให้กิจการเดินต่อไปได้ โดยหาเงินเข้ามาในระบบ พูดง่าย แต่ทำยาก ใครจะให้กู้ ใครจะให้ยืม มีหลักประกันอะไรที่จะมายืนยันว่าจะได้รับเงินคืน ใครจะเป็นคนบริหารเงินกู้ยืม ไว้ใจได้มากน้อยแค่ไหน

มีผู้รู้ (กูรู) ทางด้าน “การฟื้นฟูลูกหนี้” รวมทั้งมีประสบการณ์ในการฟื้นฟูมาแล้วและประสบความสำเร็จ ท่านได้แนะนำเบื้องต้นของการฟื้นฟูว่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือ จัดทำงบการเงินรายเดือน เพื่อทราบฐานะอันแท้จริงของสหกรณ์ว่าเป็นอย่างไร เป็นข้อมูลที่แท้จริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการวางแผนฟื้นฟูฯ ให้ประสบความสำเร็จ

แผนฟื้นฟูไม่ใช่เรื่องการพูดกันเฉยๆ หาเงินมาเสริมสภาพคล่องเท่านั้นก็จบ ไม่ใช่ จะต้องทำเป็นรูปแบบที่ชัดเจน มีกฎหมายรองรับ

ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2583 มาตรา 90/12 มีการกำหนดคุ้มครองลูกหนี้ ให้พักชำระหนี้เพื่อให้มีเวลาตรวจสอบแก้ไขให้กลับมาดำเนินการได้ตามปกตินั้นเป็นสาระสำคัญในบทบัญญัตินี้ ซึ่งก็ตรงกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ของพวกเรา ต้องการจะให้มันเป็นเช่นนั้น คือ สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ คืนสู่สภาพปกติที่เคยดำเนินการ

ในฐานะสหกรณ์เป็นนิติบุคคล เป็นลูกหนี้ ทั้งเงินฝากและเงินเรือนหุ้นของสมาชิก ต้องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อ “ศาลล้มละลายกลาง” ตามมาตรา 90 (4) เพื่อขอฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากมีหนี้สินล้นพ้นตัว ศาลจะเป็นผู้พิจารณาคำร้องว่ามีเหตุผล มีความเป็นไปได้หรือในการจะฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพปกติ

ย้อนกลับมาเรื่องของแผน ในแผนคงต้องอธิบายชัดเจนของการดำเนินการว่าจะทำอย่างไร เมื่อไหร่จะบรรลุเป้าหมาย มีความเป็นไปได้หรือไม่ ศาลจะเป็นผู้พิจารณา

สหกรณ์ฯ เอง ก็มิใช่อยู่ในสภาพ “ศูนย์” เรายังมีหลักทรัพย์ต่างๆ พอสมควร บ้านเอื้ออาทร มีเกือบ 4,000 หลัง เป็นฐานการพิจารณา หากศาลพิจารณาว่ามีความเป็นไปได้ เป็นทางออกที่ดีที่จะช่วยเหลือสมาชิก และบุคคลภายนอกที่ฝากเงินได้เงินคืนครบถ้วน ซึ่งในแผนคงได้กำหนดไว้ชัดเจน

การได้มาซึ่งคำสั่งของศาล “รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ” จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสหกรณ์ฯ สมาชิก และบุคคลภายนอกที่เป็นเจ้าหนี้ ตามมาตรา 90(12) ดังนี้

1. สหกรณ์ฯ มีสภาพคล่องมากขึ้น (ตามแผน)
2. สหกรณ์ฯ ได้รับประโยชน์จากการประนอมหนี้
3. สหกรณ์ฯ สามารถชำระหนี้ได้ตามแผนฟื้นฟู
4. สหกรณ์ฯ ไม่ถูกฟ้องร้องบังคับคดีกับทรัพย์สิน ในระหว่างฟื้นฟูกิจการ
5. สหกรณ์ฯ หลุดพ้นจากหนี้สินตามแผนฟื้นฟูที่กำหนดไว้
6. สหกรณ์ฯ สามารถดำเนินการให้เจ้าหนี้ได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน
7. สหกรณ์ฯ สามารถดำเนินการต่อไปได้
8. สหกรณ์ฯ เกิดปัญหาแรงงานน้อยกว่าล้มละลาย (ปิดกิจการ)

ในการหาแหล่งทุนเพื่อใช้ในการฟื้นฟูกิจการ ศาลจะคุ้มครองเงินทุนต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยฟื้นฟู ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้ยืม หรือในรูปของเงินฝาก ในช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูจะได้รับการคุ้มครองเต็มจำนวน ในฐานะผู้มีส่วนช่วยฟื้นฟูกิจการ

มีความเป็นไปได้ที่แบงก์ต่างๆ อาจให้กู้เงิน หรือสหกรณ์พันธมิตรที่มาฝากเงินอาจจะช่วยหาเงินมาช่วยในรูปของเงินฝาก เพราะเงินที่นำมาฟื้นฟูกิจการนี้จะได้รับการคุ้มครองเต็มจำนวน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งจะต่างกับการที่เราฟื้นฟูเองโดยไม่ได้ผ่านกระบวนการทางกฎหมาย

สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นโชคดีที่ยังมีผู้รู้พร้อมที่จะลงมาช่วยดูแล แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับคณะกรรมการที่จัดตั้งหรือเลือกตั้งเข้ามา จะมองเห็นภาพไปในทิศทางเดียวกันกับท่านผู้รู้เหล่านั้นหรือไม่

จะไม่เป็นเรื่องที่ดีหรือ ถ้าผู้มีเงินฝากกับสหกรณ์คลองจั่น ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกหรือบุคคลภายนอก จะได้รับเงินคืนเต็มจำนวน เมื่อเข้าสู่ระบบ “การฟื้นฟูลูกหนี้” เพียงแต่ยื่นเวลาการรับเงินออกไป แทนที่จะได้รับเพียง 5% ของยอดเงินที่ฝาก และการฟื้นฟูนี้จะมีอานิสงส์ ให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ยังคงให้บริการต่อไปได้ เป็นที่พึ่งของมวลสมาชิก เงินออมทั้งหมดของมวลสมาชิกก็ไม่สูญ ยังคงใช้บริการเงินกู้ ได้รับสวัสดิการต่างๆ ที่เคยมีเคยเป็นเหมือนเดิม

ในฐานะผู้เขียนเป็นเพียงสมาชิกคนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจหรือบทบาทใดๆ ที่จะเข้าไปชี้นำ หรือดำเนินการใดๆ เพราะการบริหารงานสหกรณ์ฯ เป็นเรื่องขององค์คณะ เป็นเรื่องมติของที่ประชุมใหญ่ซึ่งสมาชิกเป็นเจ้าของโดยตรงต้องเข้าใจ และตัดสินใจร่วมกันที่จะเดินไปในทิศทางไหน และหากมีความเห็นพ้องต้องกัน ผู้รู้ก็พร้อมที่จะลงมาช่วยกอบกู้สหกรณ์ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติได้ ทั้งหมดทั้งปวงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการดำเนินการ หรือมติของมวลสมาชิกจากที่ประชุมใหญ่เท่านั้น การดำรงอยู่หรือการล่มสลายขึ้นอยู่กับการตัดสินใจครั้งสำคัญในครั้งนี้

ตอนนี้ บรรดาผู้ฝากเงินรายใหญ่เริ่มฟ้องศาล เพื่อขอการคุ้มครองสิทธิแล้ว และช่วงสิ้นเดือนธันวาคม 2556 บรรดาสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ ที่จะต้องแถลงผลของการดำเนินงาน แต่มีเรื่องเงินฝากที่ฝากไว้กับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น กรรมการออมทรัพย์ทั้งหลายก็จะต้องฟ้องต่อศาลเพื่อได้รับการคุ้มครองสิทธิ นั่นคือ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด จะต้องชำระบัญชี ปิดกิจการลง ชื่อนี้จะเป็นตำนานว่า ครั้งหนึ่งเคยเกิดสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนชื่อนี้ในประเทศไทย มีเวลาดำเนินการเพียง 29 ปีเศษ ก็ต้องปิดตัวเองลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสหกรณ์ใหญ่ๆ หลายสหกรณ์ กระทบต่อคณะกรรมการหลายคณะที่บริหารสหกรณ์เหล่านั้น

ขอภาวนาให้มีผู้นำ ได้นำแนวคิด “การฟื้นฟูลูกหนี้” ขึ้นมาใช้ก่อนที่จะปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปจนถึงสิ้นปี บรรดาสมาชิกทั้ง 50,000 คนเศษ คงต้องสูญเงินเรือนหุ้นทั้งหมด จะเหลือเงินฝากที่ต้องเฉลี่ยคืน ใครมีเงินฝากมากได้รับมาก มีเงินฝากน้อยได้รับน้อย ซึ่งก็คงไม่เต็มจำนวนที่มีอยู่ทั้งหมด ดูตัวเลขคร่าวๆ จะอยู่ที่ประมาณ 5% เท่านั้นโดยประมาณ เจ้าหนี้รายใหญ่ที่มีเงินฝากนับ 100 ล้านบาท จะได้ส่วนแบ่งมากกว่าเจ้าหนี้เรือนแสนเรือนหมื่น ชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่งมีเงินฝากไม่มาก อาจจะได้รับเพียงเศษเงินเล็กๆ น้อยๆ เรือนหุ้นที่เก็บออมไว้ถูกกันไปชำระหนี้ ไม่ได้รับเงินหุ้นคืน

ที่น่าประหลาดใจคือ หน่วยงานภาครัฐเองที่ดูแลสหกรณ์ทุกประเภทก็ยังไม่มีแนวคิดหรือชี้นำให้คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งให้ใช้แนวทางการฟื้นฟูลูกหนี้จากหน่วยงานของรัฐเช่น “ศาลล้มละลายกลาง” เข้ามาช่วยฟื้นฟูสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ประหลาดใจที่หน่วยงานรัฐเองกลับมองภาพไม่ชัดเจน ไม่ได้ชี้นำหรือแนะนำแนวทางเหล่านี้ให้กับทางคณะกรรมการที่ท่านได้ตั้งขึ้นมา การชำระบัญชีอาจจะเป็นการง่าย หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ต้องเหนื่อยมาก ให้เป็นไปตามกลไก เมื่อไม่มีเงินจ่ายให้กับเจ้าหนี้ก็ชำระบัญชีไปตามระเบียบ

จะเป็นการสร้างกุศลผลบุญให้กับประชาชน 50,000 กว่าคน ถ้าคนเหล่านั้นยังสามารถใช้บริการสหกรณ์ฯ ได้ตามปกติ ให้สหกรณ์เป็นแหล่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามแนวพระราชดำริของ “พ่อหลวง” หากหน่วยงานที่ดูแลสหกรณ์ฯ ปล่อยให้สหกรณ์ชั้นแนวหน้าล่มสลาย จะเป็นการสมควรหรือ ภาพของ “กระบวนการสหกรณ์” จะเปลี่ยนไป ศรัทธาในอุดมการณ์ของสหกรณ์จะแปรเปลี่ยนไป หน่วยงานภาครัฐคงอาจปัดความรับผิดชอบนี้ไปได้ และในที่สุดก็คงไม่จำเป็นต้องมีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพราะประชาชนสิ้นศรัทธาในระบบสหกรณ์ สมาชิกทยอยลาออก ปิดกิจการ การจะจัดตั้ง การรวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์ฯ คงไม่ต้องพูดถึง อดีตเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ตั้งขึ้นสุดท้ายก็ล่มสลาย สูญเสียเงินออมทั้งหมดในชีวิต มองหาสถาบันการเงินอื่นเพื่อความมั่นคงในการออม การมีส่วนร่วมภาคประชาชนคงยากที่จะฟื้นฟูได้ง่ายๆ เหมือนกับการ “ลงแขก” อันเป็นแนวคิดการร่วมมือร่วมใจของคนสมัยก่อนที่ “สูญหาย” ไปจากสังคมไทยแล้ว ต่อไปคำว่า “สหกรณ์” อาจจะเป็นเพียงตำนานเล่าขานว่าเคยมีในเมืองไทย แต่ไม่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ ในที่สุดก็สูญหายไปจากประเทศไทย

ใกล้จะครบ 100 ปี สหกรณ์ไทย ขออย่าให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด และขบวนการสหกรณ์ไทยเลย ขอภาวนา

ด้วยความศรัทธาในองค์กรฯ
สมาชิกสหกรณ์คลองจั่น