ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ทุนไทย ทุนใคร ไฟฟ้าพม่า ที่เขื่อนสาละวิน ถ่านหินทวายและมาย-กก

ทุนไทย ทุนใคร ไฟฟ้าพม่า ที่เขื่อนสาละวิน ถ่านหินทวายและมาย-กก

24 ตุลาคม 2013


ภาพนิ่ง10

ภาพรวมการลงทุนด้านพลังงานของไทยในพม่า ความต้องการ ความคุ้มค่า กับปัญหาที่เกิดขึ้น จากงานสัมมนา “ทุนไทย ไฟฟ้าพม่า: จริยธรรมกับความรับผิดชอบ”เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดโดยโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) ภายใต้มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติและหน่วยงานร่วมจัด

ประเทศในลุ่มน้ำโขง ได้แก่ จีน เวียดนาม กัมพูชา ลาว ไทย และพม่า มีอัตราการใช้พลังงานไฟฟ้าต่างกัน โดยประเทศไทยและจีนใช้ไฟฟ้ามากที่สุดในภูมิภาคคือร้อยละ 99 ในขณะที่กัมพูชาและพม่ายังใช้ไฟฟ้าในสัดส่วนที่น้อยอยู่ คือ ร้อยละ 26 และร้อยละ 23 ตามลำดับ

ภาพนิ่ง2

ด้านแหล่งพลังงาน พบว่า ทุกประเทศในเขตลุ่มน้ำโขงมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำหรือสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าและถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานหลัก ทั้งนี้ ทุกประเทศยกเว้นลาว มีแหล่งแก๊สและน้ำมันด้วย โดยที่ยูนนานมีแหล่งพลังงานมากที่สุด คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 150,000 เมกะวัตต์ ถ่านหิน 23,580 ล้านตัน และน้ำมัน 226 ล้านตัน ในขณะที่ประเทศไทยมีแก๊สมากที่สุด คือ 943 พันล้านลูกบาศก์เมตร

ภาพนิ่ง4

ภาพนิ่ง3

รวมแล้วทั้ง 6 ประเทศมีแหล่งพลังงานรวมเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 333,700 เมกะวัตต์ ถ่านหิน 59,340 ล้านตัน แก๊ส 1,378 พันล้านลูกบาศก์เมตร และน้ำมัน 478 ล้านตัน

ภาพนิ่ง5

ในภาพรวมระหว่างไทยกับพม่า มีการลงทุนโครงการไฟฟ้าที่ไทยเข้าไปลงทุนและรับซื้อจากพม่าใหญ่ 3 โครงการที่เป้าหมายรับซื้อ 10,000 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 1. โครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน ได้แก่ เขื่อนฮัตจี ขนาด 1,360/1,300 เมกะวัตต์ และเขื่อนมายตง/ท่าซางขนาด 7,110/7,000 เมกกะวัตต์ 2. โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทวายขนาด 10,000 เมกะวัตต์ และ 3. โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมาย-กก ขนาด 405/395 เมกะวัตต์

ภาพนิ่ง6

แต่เดิมไทยกับพม่าตกลงร่วมกันว่าจะซื้อไฟฟ้าไฟฟ้า 1,500 เมกะวัตต์ภายในปี 2553 แต่ปรากฏว่ายังซื้อไม่ได้ จึงปรับการรับซื้อใหม่เป็น 10,000 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน

สำหรับโครงการทั้งหมด ปัจจุบันมีแผนจะสร้างสายส่งเชื่อมกับประเทศไทยแล้ว มีเพียงเขื่อนมาย-กกที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณเพื่อสร้างสายส่งที่จะเชื่อมมาชายแดนที่เชียงรายแล้ว มูลค่า 2,740 ล้านบาท ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร แต่อย่างไรก็ตามสายส่งทั้งหมดก็จะเชื่อมต่อกับโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าในอาเซียน ประเทศไทยมีสายส่งเชื่อมทั้งจากมาเลเซีย ลาว พม่า และกัมพูชา

ภาพนิ่ง7

1. โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำสาละวินในพม่าและไทยมีทั้งหมด 7 เขื่อน โดยมี 2 แห่งที่ประเทศไทยเข้าไปลงทุน คือ เขื่อนฮัตจี มีมูลค่าการลงทุน 80,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเริ่มโครงการในปี 2548 กว่าเท่าตัว โดยมีบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชันแนล จำกัด (EGATi) ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 36.5

ภาพนิ่ง8

เอกสารบันทึกข้อตกลงสร้างเขื่อนฮัตจีของ กฟผ. ล่าสุดเมื่อ 24 เมษายน 2554 มีสาระที่สำคัญคือ

1. ภายใน 1 ปีหลัง EGATi และชิโนไฮโดรยินยอมที่จะลดส่วนแบ่งของตนเองลงคนละร้อยละ 0.5 เพื่อเพิ่มเติมให้กลุ่มทุนของพม่าอีกร้อยละ 1 กลายเป็นถือหุ้นร้อยละ 4

2. EGATi จะรับอภิสิทธิ์ในการดำเนินงานและการดูแลรักษาโครงการฯ ในราคาที่สมเหตุสมผล

3. ชิโนไฮโดรจะได้อภิสิทธิ์สำหรับการทำสัญญาด้านการออกแบบทางวิศวกรรม การจัดซื้อและการก่อสร้างในราคาที่สมเหตุสมผล

4. EGATi และชิโนไฮโดรจะแบ่งหุ้นให้เปล่าร้อยละ 10 กับกรมวางแผนไฟฟ้าของพม่า (DHPP) เป็นค่าธรรมเนียมสำหรับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศพม่า DHPP จะมีสิทธิในการรับผลกำไรจากหุ้นเหล่านี้

5. ช่วง 17 ปีแรกของการดำเนินการเชิงพาณิชย์ ไฟฟ้าให้เปล่าจะคิดเป็นร้อยละ 10 (136 เมกะวัตต์) และในช่วงเวลาที่เหลือของระยะเวลาสัมปทาน ไฟฟ้าให้เปล่าจะคิดเป็นร้อยละ 15 (204 เมกะวัตต์)

ภาพนิ่ง9

ส่วนเขื่อนท่าซาง ตั้งอยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า ตัวเขื่อนสูง 228 เมตร กำลังการผลิต 7,110 เมกะวัตต์ มีมูลค่าการลงทุน 360,000 ล้านบาท โดย EGATi ถือหุ้นใหญ่ร้อยละ 56.5 ทั้งนี้มีข่าวว่า บริษัท ช. การช่างจะไปร่วมลงทุนสร้างด้วย ซึ่งจะกลายเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าใช้เวลาสร้างประมาณ 12 ปี โดยขนาดเขื่อนท่วมพื้นที่ 500,000 ไร่ และต้องอพยพชาวไทยใหญ่ประมาณ 60,000 คน

โดยสรุป มีผลกระทบจากเขื่อนฮัตจีและเขื่อนท่าซางรวมกันคือพื้นที่น้ำท่วมมากกว่า 2,000 ตารางกิโลเมตร ประชาชนมากกว่า 70,000 คนจะต้องอพยพ ระบบนิเวศแม่น้ำถูกทำลายไปจนถึงปากแม่น้ำสาละวิน รวมถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงมากขึ้น

2. โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทวายขนาด 10,000 เมกะวัตต์ โดยเสนอขายประเทศไทยที่ 4,000 เมกะวัตต์ แต่ตัวเลขนี้ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ ลงทุนโดย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัดร้อยละ 70 และกลุ่ม กฟผ. ร้อยละ 30

เนื่องจากทะเลบริเวณที่ตั้งโรงไฟฟ้าอุดมสมบูรณ์มาก และชาวบ้านทวายตื่นตัวมากเรื่องโรงไฟฟ้า และมีโอกาสได้เข้ามาดูโรงไฟฟ้าที่ไทยจนเกิดแรงคัดค้าน ซึ่งเมื่อ 5 มกราคม 2555 รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานไฟฟ้าของพม่าแถลงว่า จะไม่อนุญาตให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 4,000 เมกะวัตต์ในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย เพราะจะเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามมา

3. โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมาย-กก ขนาด 405/395 เมกะวัตต์ ลงทุนโดยบริษัท อิตาเลียน เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งโรงไฟฟ้าตั้งบริเวณต้นน้ำแม่กก ที่ไหลเข้าสู่อำเภอแม่อาย เชียงใหม่และเชียงราย ก่อนไหลสู่แม่น้ำโขง

ภาพนิ่ง11

โครงการเริ่มต้นเมื่อเมษายน 2551 บริษัทสระบุรีถ่านหิน จำกัด [บริษัทลูกของบริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด (มหาชน)] ได้สัมปทานขุดเหมืองถ่านหินจากรัฐบาลพม่า ในพื้นที่เมืองก๊กของรัฐฉาน โดยมีอายุสัมปทาน 30 ปี ต่อมา พฤศจิกายน 2552 บริษัท อิตาเลียนเพาเวอร์ ลงนามข้อตกลงเสนอขายไฟฟ้าให้ กฟผ. 369 เมกะวัตต์ 25 ปี เริ่มมกราคม 2559 เมษายน 2559 และเดือนกรกฎาคม 2559 ตามลำดับ

ภาพนิ่ง12

ในพื้นที่สีแดงคือบริเวณที่ต้องย้ายคนออกทั้งหมด โดยมีชาวบ้านที่อพยพออกแล้วกว่า 2,000 คน และอีก 3 หมู่บ้านกว่า 80 ครอบครัว คือ ก๊กใต้ ก๊กกลาง และบ้านเวียง ซึ่งบางส่วนก็อยู่บริเวณชายแดน และบางส่วนพยายามเข้าประเทศไทย

ภาพนิ่ง13