ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ปาฐกถา ส. ศิวรักษ์ “ความรับผิดชอบของสังคมกับการลงทุนในพม่า”

ปาฐกถา ส. ศิวรักษ์ “ความรับผิดชอบของสังคมกับการลงทุนในพม่า”

18 ตุลาคม 2013


อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปาฐกถาเรื่องคสามรับผิดชอบของไทยกับการลงทุนในพม่า ในงานประชุม "ทุนไทยไฟฟ้าพม่า : จริยธรรมกับความรับผิดชอบ" เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556
อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปาฐกถาเรื่องความรับผิดชอบของไทยกับการลงทุนในพม่า ในงานประชุม “ทุนไทยไฟฟ้าพม่า: จริยธรรมกับความรับผิดชอบ” เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556

ปาฐกถา “ความรับผิดชอบของสังคมไทยกับการลงทุนในพม่า” โดย อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในงานประชุม “ทุนไทย ไฟฟ้าพม่า: จริยธรรมกับความรับผิดชอบ” เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดโดยโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) ภายใต้มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติและหน่วยงานร่วมจัด

รัฐบาลในปัจจุบันประกอบไปด้วยโสณทุจริตที่ไร้ยางอายอย่างหนาตา สมาชิกรัฐสภาก็มากไปด้วยคนกึ่งดิบกึ่งดี ที่ไม่ยืนอยู่ข้างราษฏรตาดำๆ ที่เดือดร้อนแสนลำเค็ญ แม้แต่ผู้พิพากษาตุลาการที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมโดยเข้าถึงความยุติธรรมที่พ้นไปจากตัวบทกฏหมายอย่างการุณยกรรมนั้นก็หาได้ยากยิ่งนัก รวมถึงมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่างๆ ก็แทบหาความเป็นครูที่เป็นปูชนียบุคคลได้ยากยิ่ง นี่ว่าถึงในทางอาณาจักรซึ่งสยบไปกับบรรษัทข้ามชาติและอภิมหาอำนาจอันได้แก่ จีนและสหรัฐฯ อย่างไม่ต้องสงสัย

ในทางศาสนจักร กรรมการมหาเถรสมาคมก็ไม่อยู่ในสภาพที่ดีกว่ารัฐบาลเลย เรามีสมเด็จพระราชาคณะที่ชอบเสพกามกับคนเพศเดียวกันถึง 2 รูป และมีรองสมเด็จพระราชาคณะที่มีภรรยาอย่างเปิดเผยก็อย่างน้อย 2 รูป ด้านอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ถูกกล่าวหาว่าต้องอาบัติปาราชิกทั้งทางด้านการเสพเมถุนและโกงกิน แต่กลับได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ ส่วนหัวหน้าคณะธรรมกายที่มีลายพระหัตถ์พระสังฆราชประกาศออกมาชัดเจนว่าหมดความเป็นพระแล้ว และทางอัยการก็เตรียมฟ้องคดีอาญาด้วย แต่ถูกอดีตนายกรัฐมนตรีผู้มีความฉ้อฉลอย่างสุดๆ สั่งให้ยุติไว้อย่างผิดกฎหมายก็ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์

การบริหารงานของศาสนจักรและอาณาจักร รวมถึงแวดวงมหาวิทยาลัยใช้อำนาจเป็นธรรม ไม่ใช่ธรรมเป็นอำนาจ มีการเล่นพรรคเล่นพวก และใช้เล่ห์ทุบายที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างน่าสมเพชเวทนา สื่อสารมวลชนก็เป็นไปเพื่อเดินตามทางของทุนนิยม บริโภคนิยม และอำนาจนิยม ด้วยการมอมเมามหาชนอย่างแยบคาย อย่างยากที่จะหาผู้ที่จะกล้าท้าทายโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมและรุนแรงทั้งหลายเหล่านี้เอาเลย

แล้วเราจะหวังอะไรได้กับบ้านนี้เมืองนี้ แต่พุทธศาสนาสอนให้เราใช้อุปายโกศล คือการวางท่าทีที่ถูกต้อง เพื่อเอาวิกฤติมาใช้ให้เป็นโอกาส ฉะนั้น เราจึงต้องตระหนักรู้ทุกขสัจจ์ทางสังคม โดยโยงไปหาเหตุแห่งทุกข์ให้ชัด แล้วเราก็จะดับทุกข์ได้โดยครรลองของพระอริยมรรค

นี่เป็นเพียงคำปรารภหรือคำเตือน ที่เราจะนำมาประยุกต์ใช้ให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร

ว่าเจาะจงไปที่ความรับผิดชอบของสังคมไทยกับการลงทุนในพม่า เราต้องตราไว้ว่าพม่าเป็นประเทศปิดมานาน อย่างน้อยก็ตั้งแต่เผด็จการภายใต้การนำของนายพลเนวินในปี ค.ศ. 1962 ยิ่งค่ายฝ่ายตะวันตกที่อ้างว่าเป็นเสรีประชาธิปไตย ที่สมาทานลัทธิทุนนิยมและบริโภคนิยมคว่ำบาตรรัฐบาลพม่า สาธารณรัฐประชาชนจีนก็มีอิทธิพลกับประเทศพม่ายิ่งๆ ขึ้น จนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นรัฐในอารักขาของรัฐบาลจีนก็ว่าได้

ไทยเราก็หาได้พ้นไปจากอาณัติของจักรวรรดินิยมจีนและจักรวรรดินิยมอเมริกา แต่ตอนนี้ขอว่าด้วยเรื่องพม่าก่อน อย่างน้อยพม่าเริ่มรู้ตัวว่าจักรวรรดิจีนก้าวก่ายมากไป ดังที่จีนก็ทำเช่นนี้กับทุกๆ ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งรวมถึงลาว ไทย เขมร ตลอดจนญวน แต่พม่าปลดแอกออกจากจีนได้ก่อนประเทศอื่นๆ ในแถบนี้ แม้จะยังไม่เป็นไทจากจีนแท้ทีเดียวก็ตาม

อย่างน้อยการปลดแอกจากจีนไปในประการแรกคือ ถือโอกาสเชื้อเชิญให้โลกตะวันตกที่เคยรังเกียจพม่าให้เลิกคว่ำบาตร โดยอ้างว่าพม่าจะเป็นประชาธิปไตยขึ้นบ้างแล้ว รวมถึงการใช้การให้อิสรภาพกับนางออง ซาน ซูจี เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งด้วย

หน่วยงานของข้าพเจ้าร่วมงานกับชุมชนต่างๆ ในพม่ามากว่า 15 ปี ไม่แต่กับพระสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกา ตลอดจนศาสนิกนิกรอื่นๆ เช่น คริสต์ และมุสลิม โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยต่างๆ ทั้งมอญ ไทใหญ่ กะเหรี่ยง กะฉิ่น ฯลฯ กล่าวว่าพวกเราชาวไทยที่ร่วมงานกับคนในพม่าที่ว่านี้ มีความเป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน คือเราเตือนกันได้ เราวิพากษ์วิจารณ์กันได้ หรือเราก็ต่างพูดให้กันและกันฟัง แม้จะขัดใจกัน ก็อดกลั้นไว้ด้วยเชื่อว่าอีกฝ่ายเป็นกัลยาณมิตร ดังพระพุทธเจ้าตรัสว่ากัลยาณมิตรคือผู้ที่พูดในสิ่งซึ่งเราไม่อยากฟัง แต่เขาหวังดี คือเขาเป็นเสียงแห่งมโนธรรมสำนึก

ประเด็นอยู่ตรงนี้เอง คือความรับผิดชอบกับสังคมนั้น ผู้ที่ถือว่าตนเป็นคนรับผิดชอบ ไม่ว่าจะสังคมของตนเอง หรือสังคมของประเทศเพื่อนบ้าน ต้องสร้างความเป็นกัลยาณมิตรขึ้นให้ได้ก่อน แล้วจึงจะพูดถึงการลงทุนด้วยกัน หรือค้าขายร่วมกัน รวมถึงความร่วมมืออื่นๆ ด้วย

จำได้ว่าข้าพเจ้าเคยพูดกับมหาเทวีแห่งยางห้วย ซึ่งเคยเป็นภรรยาของประธานาธิบดีคนแรกของสหภาพพม่า โดยที่ต่อมาท่านผู้นี้ถูกเนวินจับเข้าขังคุกจนไปตายในที่คุมขัง เผอิญข้าพเจ้าโชคดีที่ไม่แต่มหาเทวีเท่านั้นที่ถือว่าข้าพเจ้าเป็นกัลยาณมิตร โอรสท่านทุกองค์ก็ถือเอาว่าข้าพเจ้าเป็นกัลยาณมิตรด้วยเช่นกัน โดยที่ทุกท่านต้องอพยพหลบภัยไปอยู่ ณ ต่างแดนทั้งนั้น องค์มหาเทวีเองก็ไปพิลาไลยในประเทศแคนาดา

เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านพูดกับข้าพเจ้าว่า “คุณสุลักษณ์ ไทยกับไทใหญ่ หรือชนชาติใดในพม่า ควรเป็นเพื่อนกันก่อน เมื่อเป็นเพื่อนอย่างไว้เนื้อเชื่อใจกันแล้ว การทำมาค้าขาย หรือลงทุนลงแรงร่วมกัน ก็ย่อมเป็นไปด้วยดี” ข้าพเจ้าถือว่านี่ออกมาจากหัวใจของผู้คนที่มีความเป็นมนุษย์ ยิ่งกว่าการเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ดังที่สัตว์เศรษฐกิจคุมโลกอยู่ โดยเฉพาะในระบบทุนนิยม บริโภคนิยม ที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปคุมอยู่ในตะวันตก แล้วจีนก็สมาทานลัทธินี้เช่นกัน โดยมีสิงคโปร์เป็นสุนัขรับใช้ของทั้งสองค่ายนี้ในเอเชียอาคเนย์ มิไยต้องเอ่ยถึงบรรษัทข้ามชาติต่างๆ ซึ่งไม่พ้นจักรวรรดินั้นๆ ด้วย บรรษัทข้ามชาติในไทยอย่างซีพี อิตาเลียนไทย และเบียร์ช้าง ก็สมาทานลัทธิดังกล่าว ซึ่งไม่เห็นคุณค่าของกัลยาณมิตรหรือคุณค่าของแรงงาน หรือสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ยิ่งจะให้เข้าใจถึงเอกลักษณ์พิเศษของวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยแล้ว ย่อมไปพ้นความคิดหรือความเข้าใจของสัตว์เศรษฐกิจเหล่านี้เอาเลย โดยที่บรรษัทพวกนี้มีสายสนกลไกเกี่ยวข้องกับชนชั้นนำในจักรวรรดิอเมริกันและจักรวรรดิจีน รวมถึงนักการเมืองในแต่ละประเทศที่สยบยอมกับลัทธิทุน จนอาจกล่าวได้ว่าสมาทานลัทธิดังกล่าวแทนลัทธิศาสนาของปู่ย่าตายายที่ต่างอ้างว่าเคารพนับถือแต่เพียงทางรูปแบบและพิธีกรรมเท่านั้น

ขอให้กำหนดลงมาที่ทวายแห่งเดียวก็ได้ว่า บริษัทอิตาเลียนไทยต้องการไปลงทุนที่นั่น ด้วยโครงการท่าเรืออ่าวน้ำลึก โดยมีแผนการทำถนนอย่างยิ่งใหญ่ ทะลุเข้าไปทางกาญจนบุรี ด้วยการเชื่อมโยงสิ่งที่อ้างว่าเป็นการพัฒนาอย่างโลกาภิวัตน์ จนตลอดถึงเมืองจีน โดยเบียดเบียนบีฑาคนแถบถิ่นนั้นอย่างสุดๆ มิไยต้องพูดถึงการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย แต่แล้วลำพังบริษัทอิตาเลียนไทยเท่านั้น ก็มีทรัพยากรไม่พอกับโครงการขนาดยักษ์ดังกล่าว นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งยิ่งใหญ่เท่าๆ กับบรรษัทข้ามชาติ และมีอำนาจเหนือรัฐบาลไทย จึงสั่งให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้าไปลงทุนในโครงการนี้อีกด้วย โดยใช้เงินจากภาษีอากรของราษฏรไทย ดังเมื่อเขาเป็นนายกรัฐมนตรีก็เอาเงินแผ่นดินไปปู้ยี่ปู้ยำกับการลงทุนในพม่า จนนายกรัฐมนตรีพม่าคนหนึ่งต้องปลาสนาการจากอำนาจไปแล้ว แต่ยังไม่มีการพิจารณาถึงประชาชนที่ว่านี้อย่างจริงจัง โดยที่โครงการอันมหึมาก็ยังคงดำเนินที่ทวาย ด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลไทย ยังรัฐบาลจีนก็เข้ามาเออออห่อหมกอย่างออกหน้า ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐมนตรีจีนเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยนำเอาพิณพม่ามามอบให้

แล้วความรับผิดชอบของคนที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจและอยู่นอกเหนือบรรษัทนั้นๆ จะทำอะไรได้ นี่ข้าพเจ้าขอฝากไว้ให้อภิปรายกัน

นิมิตดีก็ตรงที่ กรรมการสิทธิมนุษยชนของไทย สามารถมีบทบาทได้แม้ในพม่า ถ้าคนไทยไปละเมิดสิทธิชุมชนในประเทศนั้น ทั้งบัดนี้เรายังมีคนไทยเป็นตัวแทนในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของอาเซียนอีกด้วย ยังบทบาทของผู้คนในแวดวงขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ต่อสู้กับความชั่วร้ายทางด้านการพัฒนาอย่างบ้าคลั่งของไทย เช่น ที่มาบตาพุด ก็อาจโยงใยให้ชาวทวายตื่นตัวขึ้นมาต่อสู้อย่างสันติวิธีได้ โดยเราต้องชมว่าชาวทวายและชาวพม่าตลอดจนชนกลุ่มน้อยอื่นๆ รวมทั้งพระเจ้าพระสงฆ์และบาทหลวง หลายต่อหลายท่าน ลุกขึ้นท้าทายอำนาจรัฐและอำนาจทุนอย่างนิยมชมชอบ แม้ในขณะที่พม่ายังเป็นเผด็จการ คนเหล่านี้ก็มีวิญญาณของเสรีภาพและอิสรภาพอย่างน่ายกย่องยิ่งนัก

ข้าพเจ้าได้แต่เตือนพวกเขาว่า เมื่อเปิดประเทศขึ้นเช่นนี้ แม้ดูจะมีเสรีภาพมากขึ้น แต่การต่อสู้กับรัฐและบรรษัทข้ามชาติอาจซับซ้อนกว่าเก่าเสียด้วยซ้ำ โดยขอให้ดูไทยเป็นตัวอย่าง และการที่ตะวันตกเข้ามาในพม่านั้น หลายหน่วยงานอาจหวังดี แต่ความหวังดีนั้นๆ อาจเป็นทุกขลาภก็ได้ และบางหน่วยงานมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง โดยที่การลงทุนจากตะวันตกอาจไม่สูบเอาซึ่งๆ หน้าอย่างจีน แต่มีวิธีขูดรีดอย่างชาญฉลาดกว่า ซึ่งจำต้องเรียนรู้ไว้ ให้รู้จักวางท่าทีที่ถูกต้อง คือต้องหากัลยาณมิตร ทั้งจากฝรั่งและจากไทย ที่น่ายินดีก็คือคนจีนที่ยืนหยัดขึ้นต่อต้านรัฐบาลอย่างสันติวิธีที่มุ่งสัจจะก็มีขึ้นแล้ว ถ้าเรารวมตัวกัน รับผิดชอบร่วมกัน นั่นอาจเป็นอุปายโกศลประการหนึ่ง

ก็การลงทุนนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นบรรษัทข้ามชาติ และรัฐบาลที่จ้องเสพสังวาสกับบรรษัทข้ามชาติเท่านั้น แม้บริษัทเอกชนขนาดย่อมและขนาดกลางก็กระทำได้ โดยที่ในเมืองไทยนี้เองก็มีเครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งดำเนินกิจการมาได้ 15 ปีแล้ว เครือข่ายดังกล่าวมีความเข้มแข็งในยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกาด้วย แต่บางประเทศในยุโรปมีกิจการเป็นมรรคเป็นผลมากกว่าที่ในสหรัฐฯ และที่เมืองไทยนี้เอง เครือข่ายนี้ก็ดำเนินกิจการอย่างน่าสังเกต โดยที่นักธุรกิจนั้นๆ ไม่ได้หวังมุ่งเพียงผลกำไร หากมีแก่ใจกับกรรมกรและลูกจ้างตลอดจนลูกค้าอย่างไม่เอารัดเอาเปรียบกัน และไม่ใช้โฆษณาชวนเชื่อต่างๆ เช่น บริษัทในกระแสหลัก ทั้งพวกเขายังสำนึกถึงธรรมชาติ โดยไม่เห็นว่าเป็นเพียงทรัพยากรเพื่อนำเอามาเป็นประโยชน์ในเชิงธุรกิจพาณิชยการเท่านั้น หน่วยงานดังกล่าว เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Social Venture Network หรือ SVN ได้ร่วมงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนในบางเรื่อง บางกรณี อย่างควรแก่การจับตามอง

เมื่อนางออง ซาน ซูจี ถูกกักขังไว้ในบ้านเป็นเวลานานนั้น เธอขอไม่ให้ข้าพเจ้าเข้าไปพม่า เธอว่าจะเป็นการยอมรับรัฐบาลเผด็จการทหาร ซึ่งเคยเชิญข้าพเจ้าไป แต่ข้าพเจ้าปฏิเสธตามคำขอของเธอ ครั้นเมื่อเธอได้รับอิสรภาพ เธอจึงเชิญข้าพเจ้าให้ไปพบที่ราชธานีแห่งใหม่ ข้าพเจ้าได้พาคนสำคัญจากเครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมของไทยไปพบเธอด้วย

เราพูดกันอย่างตรงไปตรงมาว่าเธอควรระวังการลงทุนจากบรรษัทข้ามชาติหรือนักลงทุนตัวโตๆ รวมถึงรัฐบาลจากมหาอำนาจ ที่มุ่งการพัฒนาทางด้านวัตถุ โดยไม่คำนึงถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ข้าพเจ้าเล่าให้เธอฟังถึงกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ที่ต่อต้านท่อแก๊สจากพม่ามาไทยให้เธอฟัง ว่านั่นเป็นการทำลายชุมชนกับทำลายธรรมชาติด้วย โดยที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าออกหน้า หากได้ผลน้อยแต่ให้โทษมากกว่า แต่บรรษัทข้ามชาติคือ ยูโนแคลในสหรัฐฯ และโตตัลในฝรั่งเศสได้ผลเต็มที่

เธอตั้งใจฟัง และรับข้อเสนอจากฝ่ายเราว่า เธอพร้อมจะเชิญนักธุรกิจเพื่อสังคมจากไทยและจากประเทศอื่นๆ ไปลงทุน โดยเธอบอกว่าเธอจะมาเยี่ยมข้าพเจ้าที่เมืองไทย และจะขอพบนักธุรกิจเพื่อสังคมชาวไทย เพื่อหาทางวางแผนร่วมกันในการลงทุนที่แผกไปจากเดิม

อนึ่ง นักธุรกิจเพื่อสังคมของไทยยังได้รับปากว่าจะช่วยฝึกคนพม่าในไทย ที่มาเป็นแรงงาน หากต้องการจะกลับไปลงทุนในพม่า ก็จะหาทางช่วยเหลือเกื้อกูล โดยเราต้องไม่ลืมว่า บริษัทพม่าจำนวนมิใช่น้อยมาลงทุนในเมืองไทยอยู่ด้วย ถ้าเราโยงใยนักธุรกิจพม่าเหล่านี้ให้มาเป็นกัลยาณมิตรกับนักธุรกิจเพื่อสังคมของไทย น่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดี

เป็นที่น่าเสียใจ ที่ออง ซาน ซูจี ไม่ได้ทำตามคำพูดที่เราตกลงกันไว้ เพราะเธอมุ่งมั่นทางการเมืองในระดับชาติ ถึงขนาดต้องการเป็นประธานาธิบดี จึงยอมไกล่เกลี่ยหลักการ เพื่อประชานิยมเท่านั้นเอง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความมักใหญ่ใฝ่สูงทำลายสาธุชนคนดี คนที่มีสติย่อมรู้ว่าอะไรควรทำในบัดนี้ เพื่อผลประโยชน์ของพหูชน ยิ่งกว่าเพื่อความยิ่งใหญ่ของตน หรือหวังผลข้างหน้ามากเกินไป ไม่ว่าจะในทางทรัพย์ศฤงคารหรืออำนาจวาสนา

อย่างน้อยประธานที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีพม่า ก็ฟังคำเตือนของพวกเรา ซึ่งเป็นกัลยาณมิตรกับท่าน ท่านประธานาธิบดีก็ฟังคำเตือนจากพวกเราอย่างจริงใจ แต่อำนาจของประธานาธิบดี ที่มีทหารเป็นรัฐภายในรัฐและนายพลเหล่านี้คุ้นเคยมากับความทุจริตต่างๆ อย่างไม่เห็นอำนาจเป็นธรรม ย่อมยากที่จะแก้ไขอะไรๆ ได้

จะอย่างไรก็ตาม ขบวนการทางสังคมของพม่าได้กล้าแข็งขึ้นอย่างน่านิยมชมชื่น พระเจ้าพระสงฆ์ของพม่าและของชนเผ่าต่างๆ มีความกล้าหาญทางจริยธรรมอย่างที่พระไทยทาบไม่ติดเอาเลย แม้พระคุณเจ้าบางรูปจะยังชาตินิยมจัด อาจเกลียดคริสต์ หรือมุสลิม เมื่อท่านเข้าใจเขาซึ่งเป็นมนุษย์ด้วยกัน ชี้แจงให้เห็นว่า คนที่ต่างศาสนาก็เป็นกัลยาณมิตรกันได้ ท่านก็ได้เริ่มเปลี่ยนท่าทีอย่างน่าทึ่ง

อาจสรุปได้ว่าพม่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่น่าสนใจยิ่ง เราเคยถือว่าเขาเป็นศัตรูกับเรา แต่เขาไม่ได้คิดเช่นนั้น เราเคยหยิ่งยะโสว่าเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นฝรั่ง ในขณะที่เขาถูกผนวกเข้าไว้ในจักรวรรดิอินเดีย แต่เขาปลดแอกจากฝรั่งได้และยังคงเอกลักษณ์ของความเป็นพม่าไว้อย่างน่าสรรเสริญ ในขณะที่เรายังเดินตามก้นฝรั่งอย่างไร้จิตสำนึก และการอ้างถึงความเป็นไทยนั้นเป็นวาทกรรมทางการเมือง หากขาดการแสดงทางวัฒนธรรมของตัวเองอย่างจริงจัง มาถึงตอนนี้พม่าจะเอาอย่างไทยในทางเลวร้ายคล้ายๆ กับภูฏานหรือไม่ น่าสงสัย อย่างน้อยองค์กรเอกชนในพม่า และนักธุรกิจในพม่าจำนวนหนึ่งรวมถึงพระเจ้าพระสงฆ์ได้พร้อมที่จะเป็นกัลยาณมิตรกับเรา เราน่าจะเรียนจากเขา ฟังเขา ร่วมรับรู้ถึงความทุกข์ของเขา ซึ่งหลายครั้งมาจากไทยที่เป็นสื่อให้จีนและฝรั่งอีกที แม้ไทยอาจจะดีกว่าสิงคโปร์ ก็ไม่มากนัก

ถ้าเราตีประเด็นนี้แตก ว่าความรับผิดชอบทางสังคม ผู้คนต้องไม่เป็นสัตว์เศรษฐกิจเช่นสิงคโปร์ หากมีความเป็นมนุษย์ที่รักอิสระ เสรีภาพ ความงาม ความดี และความจริง ยิ่งกว่าเงินและอำนาจ เราจะรับผิดชอบกับสังคมไทยเท่าๆ กับรับผิดชอบกับสังคมเพื่อนบ้านของเราอย่างพม่า และจากความเป็นมิตรนี้แล การลงทุนและธุรกิจการค้า หรือกรณียกิจอื่นๆ ก็จะเป็นไปในทางที่เป็นกุศล สมดังคำของมหาเทวีแห่งยางห้วย อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งคนแรกของสหภาพพม่า

จึงขอจบปาฐกถานี้ด้วยถ้อยคำของเจ้านางร่มขาว อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งของสหภาพพม่า โดยนำคำของท่านมาเอ่ยซ้ำไว้ในที่สุดนี้ คือ “คุณสุลักษณ์ ไทยกับไทใหญ่ หรือชนชาติใดในพม่าก็ตาม ควรเป็นเพื่อนกันก่อน เมื่อเป็นเพื่อนอย่างไว้เนื้อเชื่อใจกันแล้ว การทำมาค้าขาย หรือลงทุนลงแรงร่วมกัน ก็ย่อมเป็นไปด้วยดี”