ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เต็ง เส่ง ฉุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เกมรื้อใหญ่ ‘ทวายโปรเจกต์’

เต็ง เส่ง ฉุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เกมรื้อใหญ่ ‘ทวายโปรเจกต์’

15 มิถุนายน 2012


นางออง ซาน ซูจี (ซ้าย) และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ขวา)
นางออง ซาน ซูจี (ซ้าย) และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ขวา)

ความไม่พอใจของรัฐบาลพม่าต่อท่าทีรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนจากการเลื่อนวาระการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ เต็ง เส่ง ประธานธิบดีพม่าถึง 2 ครั้งสองครา

การเลื่อนโดยไม่มีเหตุผล เกิดขึ้นหลังรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้การต้อนรับ ออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตยแห่งพม่าหรือเอ็นแอลดี แบบปูพรมแดงระดับ 5 ดาว ราวกับเป็นผู้บริหารประเทศ

ครั้งแรกที่เต็ง เส่ง ไม่พอใจ คือการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม ภูมิภาคเอเชียตะวันออก ที่โรงแรมแชงกรีล่า วันที่ 30 พ.ค. – 1 มิ.ย. โดยมีการขอยกเลิกเพียง 1 – 2 วัน ก่อนขึ้นเวทีระดับโลก

และครั้งต่อมาคือวันที่ 4 มิ.ย. ที่ประธานธิบดี เต็ง เส่ง รับปากไว้ว่าจะกลับมาเยือนไทยอีกครั้ง ในฐานะแขกของรัฐบาลอย่างเป็นทางการ ก็มีการยกเลิกแบบกระทันหันอีกรอบ โดยอ้างปัญหาความวุ่นวายในประเทศ

การ “จัดเต็ม” ให้ออง ซาน ซูจี พบกับแรงงานพม่าที่มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ยังไม่ใช่เรื่องที่ทำให้ขุ่นเคืองใจเท่ากับการที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เปิดห้องให้การต้อนรับออง ซาน ซูจี เจรจาความเมือง เหมือนเป็นแขกของรัฐบาล

ขณะที่หัวข้อในการหารือระหว่างออง ซาน ซูจี และ ร.ต.อ.เฉลิม ยังวนเวียนอยู่กับเรื่องของการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นเรื่องอ่อนไหวของรัฐบาลเต็ง เส่ง มาก จุดแห่งความไม่พอใจจึงคุกรุ่นจากตรงนี้

แผนการที่รัฐบาลไทยเตรียมไว้เจรจากับ เต็ง เส่ง จึงถูกแขวนเอาไว้ก่อน โดยเฉพาะการที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ จะนำบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยู ในการพัฒนาความสัมพันธ์กับพม่า เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ(อ่านเพิ่มเติมหนังสือกระทรวงต่างประเทศ)

เนื้อหาในเอ็มโอยูตามแผนพัฒนาความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านด้านตะวันตก ครอบคลุม 6 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1. การสร้างขีดความสามารถของพม่า ในการให้ทุนการศึกษา หลักสูตรการฝึกอบรม การศึกษาดูงาน การสร้างแผนงานด้านการเกษตร สาธารณสุข บริหารรัฐกิจ และทรัพยากรธรรมชาติและภัยพิบัติ

การเตรียมความพร้อมเป็นประธานอาเซียนของพม่าในปี 2557 และการเตรียมพร้อมการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมอาเซียน ด้วยการจัดหลักสูตรอบรมบุคลากรและสนับสนุนเครื่องอำนวยความสะดวก เช่น การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านการข่าว

การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยการส่งเสริมการลงทุน การพัฒนาตลาดทุนและตลาดหลักทรัพย์ในพม่า การจัดตั้งศูนย์การเรียนตามแนวชายแดน

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ผ่านโครการให้ความช่วยเหลือในการสร้างถนน 3 ฝ่าย ไทย-พม่า-อินเดีย ช่วงมอญยอ (Monywa) – ยาจี (Yagyi) – กาเลวะ (Kalewa) ในรัฐสะกาย, โครงการพัฒนาถนนจากด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ – เมืองมอต่อง – เมืองตะนาวศรี – เมืองมะริด และโครงการสร้างสะพ้านข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่2 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

รูปแบบความร่วมมือแบบรัฐต่อรัฐ ในโครงการทั้งระดับรัฐบาล เอกชน และประชาชน ซึ่งในประเด็นนี้รัฐบาลไทยเตรียมเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานชุดพิเศษขึ้นเพื่อพิจารณาโครงการพัฒนาท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรมทวายมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท

ความสัมพันธ์ที่เริ่มไม่ราบรื่นเหมือนเก่า รอยร้าวที่เกิดขึ้น ทำให้การพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลไทยตั้งแท่นเอาไว้ต้องชะลอออกไปก่อน

โดยเฉพาะโครงการทวายที่รัฐบาลต้องการเร่งให้พม่าตัดสินใจ “ส่งไม้ต่อ” ให้รัฐบาลไทยเข้ามาสนับสนุน เนื่องจากมองว่า สัมปทานที่พม่าให้กับบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ไม่คืบหน้าเท่าที่ควร

การระดมเงินทุนของอิตัลไทยยังมีอุปสรรค คืบหน้าไปได้ช้า หากมีรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือเพื่อการันตีโครงการทวายอีกแรง จะช่วยให้การหาแหล่งเงินก้อนมหาศาลทำได้ง่ายขึ้น

โดยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ พยายามเดินเกมเพื่อทอดสะพานเชื่อมไปสู่สัมปทานฉบับนี้ ที่มีมูลค่ามหาศาลที่สุดในภูมิภาคในสองทางด้วยกัน หนึ่งคือกางพิมพ์เขียวบนโต๊ะเจรจากับเต็ง เส่ง เพื่อขออนุมัติหลักการ และ สอง คือการเจรจากับนายเปรมชัย กรรณสูตร บิ๊กบอสแห่งอิตัลไทยแบบตรงไปตรงมา

แหล่งข่าวจากกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า การเจรจาทั้งสองส่วนยังไม่ประสบความสำเร็จ แม้ว่าคณะทำงานของไทยจะมีการเดินสายไปเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อเตรียมความพร้อมไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม หากทั้งรัฐบาลพม่าและบริษัทอิตัลไทย ไฟเขียวต่อแผนการพัฒนาทวายของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทางกระทรวงการคลัง ก็จะมีการตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจหรือ SPV ขึ้นมาเพื่อระดมทุนในรูปของบริษัทโฮลดิ้ง มีรัฐบาล 2 ประเทศร่วมกันถือหุ้น

วิธีการตั้งโฮลดิ้ง จะทำให้การหาเงินมาลงทุนในสัมปทานคล่องตัว ทั้งจากสถาบันการเงินของรัฐบาลไทย สถาบันการเงินระหว่างประเทศ และการนำโครงการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์

ขณะที่อิตัลไทยซึ่งเป็นผู้ถือเอกสารสัมปทานจากพม่า จะเข้าร่วมถือหุ้นใน SPV ด้วยหรือไม่ ก็จะมีการเจรจากันต่อไปยังไม่มีอะไรตายตัวแน่นอน เช่น อาจดึงอิตัลไทยมาถือหุ้นร่วม พร้อมกับรัฐบาลที่เป็นเจ้าหนี้ใหญ่ๆ อย่างญี่ปุ่น

หรืออีกสูตรคือการให้ SPV เข้าซื้อสัมปทาน แล้วให้อิตัลไทยเป็นผู้ก่อสร้างอย่างเดียว ซึ่งถือเป็นกิจการที่อิตัลไทยมีความถนัดมากที่สุด

“การเจรจากับอิตัลไทยคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะกว่าจะได้สัมปทานจากพม่าเป็นเรื่องที่ยากมาก แล้วอยู่ดีๆ รัฐบาลจะขอเข้ามาดำเนินการแทน ทั้งที่บริษัทได้ลงทุนเพื่อก่อสร้างไปหมดแล้ว น่าจะถูกปฏิเสธแน่ แต่หากร่วมลงทุนจะมีความเป็นไปได้มากกว่า” แหล่งข่าวระบุ

ปัจจุบัน อิตัลไทยมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งที่ผ่านมาพยายามจะกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศไทย อาทิ ธนาคารออมสิน กรุงไทย รวมถึงจากธนาคารไทยพาณิชย์อีกประมาณ 2,500 ล้านบาท

นายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่นิคมอุุตสาหกรรมและท่าเรือนํ้าลึกทวาย จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Economic Driver) แห่งใหม่ที่สําคัญของเอเชีย จากศักยภาพในการเปิดประตููการค้าฝั่งตะวัันตกของภููมิภาค และมีโอกาสสร้าง “เส้นทางลัดโลจิสติกส์” ที่สำคัญ

ไทยมีโอกาสขยายฐานการผลิตอุตสาหกรรมต้นน้ำ อาทิ เหล็กและปิโตรเคมี เชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลตะวันออกของไทยและภูมิภาค คาดว่าจะทำให้จีดีพีของประเทศไทยเพิ่มถึง 1.9% และเป็นโอกาสเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจที่เน้นแรงงานไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เน้นมูลค่า

นอกจากนั้น โครงการโรงไฟฟ้าทวาย ยังเป็นแหล่งพลังงานขนาดใหญ่ในพม่า ที่มีศักยภาพในการสนับสนุนให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงานเพิ่มขึ้น โดยสามารถช่วยลดความเสี่ยงของแหล่งผลิตไฟฟ้าจากการกระจายแหล่งเชื้อเพลิง รวมทั้งช่วยเพิ่มความเชื่อถือของระบบไฟฟ้าของไทย เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตที่อยู่ใกล้ศูนย์กลางการใช้ไฟฟ้ามากที่สุด

นายชาญวิทย์กล่าวว่า ประเด็นการพัฒนาที่ต้องให้ความสําคัญในระยะเร่งด่วน คือรัฐต้องมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนของนักธุรกิจไทยอย่างจริงจัง เช่น การส่งเสริมด้วยมาตรการภาษีและไม่ใช่ภาษี สิทธิประโยชน์ในการลงทุนในต่างประเทศ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเงื่อนไข ผ่อนปรน ลดข้อจํากัด

รวมทั้งการเตรียมความพร้อมของด่านชายแดน โดยให้ความสําคัญกับเรื่องความมั่นคง ควบคูู่่ไปกับการอํานวยความสะดวก ระเบียบการใช้แรงงานต่างด้าวแบบมาเช้า-กลับเย็น และจัดระบบกํากับดูแลแรงงานต่างด้าว ณ จุดเดียวแบบ one stop service รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงทางถนน รถไฟ ระบบท่อ และสายส่งไฟฟ้า

ก่อนหน้านี้ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุว่า โครงการนิคมอุตสาหกรรมทวายมีจุดอ่อนอยู่ 4 ด้าน คือ 1. บริษัท อิตาเลียนไทย เป็นนักพัฒนาที่ดิน (developer) ไม่ใช่นักลงทุน (investor) 2. ขนาดของพื้นที่ทวายขนาดใหญ่มาก 3. ท่อก๊าซไม่ได้ขึ้นฝั่งที่ทวาย ซึ่งยังเทียบกับมาบตาพุดไม่ได้ เพราะหากไม่มีท่อก๊าซขึ้นที่มาบตาพุด ก็จะไม่เกิดอุตสาหกรรมเหมือนทุกวันนี้ และ 4. ทำเลที่ตั้งของทวายอยู่สูงกว่ากรุงเทพฯ การเดินทางต้องข้ามภูเขา การขนสินค้าต้องข้ามภูเขา ต้องมาดูว่าคุ้มค่าหรือไม่

ขณะที่บริษัทอิตัลไทยยืนยันว่า มีนักลงทุนหลายรายแสดงความจำนงเข้ามาใช้พื้นที่การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมทวาย ประกอบด้วย นักลงทุนจากญี่ปุ่น สนใจด้านโรงเหล็กและพลังงาน นักลงทุนจากตะวันออกกลาง สนใจตั้งโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ และนักลงทุนจากยุโรปสนใจสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยเคมี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดรัฐบาลพม่าได้ติดต่อกลับมายังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพื่อเตรียมการให้ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เยือนไทยอย่างเป็นทางการอีกรอบในเดือน ก.ค. นี้ แต่เนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์มีภารกิจต้องเตรียมการต้อนรับผู้นำหลายชาติ อาทิ บรูไน กินี และญี่ปุ่น ทำให้การเจรจากับพม่าอาจต้องเลื่อนไปโดยปริยาย

สุดท้ายเกม “เทคโอเวอร์” สัมปทานของอิตัลไทยก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองต่อไป ว่ารัฐบาลจะเปิดเจรจากับพม่าและบิ๊กบอสที่ชื่อเปรมชัย กรรณสูตร ได้หรือไม่

นอกจากนั้น มือที่มองไม่เห็นในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เข้ามาช่วยเดินเกมนี้จากนอกประเทศ จะแสดงแสนยานุภาพให้เห็นได้มากน้อยเพียงใด เพราะเกมนี้ไม่ใช่แค่มหกรรมปลาใหญ่กินปลาเล็กธรรมดา แต่ประเมินกันว่า อาจเป็นการช็อตไฟฟ้าเพื่อจับปลายกฝูง

สภาพัฒน์ฯ หนุนรัฐบาลข้ามพรมแดน หวังสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำรายงานความคืบหน้า อุปสรรค และข้อเสนอแนะของโครงการทวาย ต่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยระบุว่า โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ตั้งอยู่ที่เมืองทวายในเขตตะนาวศรีของพม่า ห่างจากด่านผ่านแดน (บ้านพุน้ำร้อน) จังหวัดกาญจนบุรี โดยบริษัทเอกชนของไทยได้ลงนามในกรอบความตกลงร่วมกับการท่าเรือพม่า โดยมีแผนปฏิบัติการก่อสร้างเป็น 3 ระยะ ในช่วง 10 ปี ได้แก่

ระยะที่ 1 (ปี 2554-2558) ครอบคลุมท่าเรือด้านใต้ ถนนเชื่อมโยงทวาย-ชายแดนไทย/พม่า 4 ช่องจราจร ด่านพรมแดน ถนนเชื่อมโยงสนามบินทวาย อ่างเก็บน้ำขนาด 93 ล้านลูกบาศก์เมตร โรงไฟฟ้าถ่านหิน ถนนในเขตนิคมอุตสาหกรรม และระบบระบายน้ำ ระบบประปา โรงบำบัดน้ำเสีย ที่พักอาศัย พื้นที่ส่วนราชการแบบเบ็ดเสร็จ (one-Stop Service)

ระยะที่ 2 (ปี 2556-2561) ครอบคลุมถนนในเขตอุตสาหกรรม และระบบระบายน้ำเพิ่มเติม ถนนเชื่อมโยงทวาย-ชายแดนไทย / พม่า ขยายเป็น 8 ช่องจราจร สร้างศูนย์การค้า และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ

ระยะที่ 3 (ปี 2559-2563) ครอบคลุมท่าเรือด้านเหนือ ถนนในเขตนิคมอุตสาหกรรม และระบบระบายน้ำเพิ่มเติม รถไฟ สายส่งไฟฟ้า ท่อก๊าซ และท่อน้ำมันเชื่อมโยงประเทศไทย

ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

การพัฒนาท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมทวาย จะเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากมีศักยภาพในการเป็นประตูการค้าฝั่งตะวันตกของภูมิภาค และเป็นสะพานเชื่อมโยงเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างเอเชียตะวันออกกับประเทศในฝั่งตะวันตก (เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และยุโรป) โดยคาดว่า จะสามารถเพิ่มอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยอีกประมาณร้อยละ 1.9 ในเบื้องต้น โดยสรุปสาระสำคัญของโครงการฯ ต่อประเทศไทย ดังนี้

1.โอกาสที่จะขยายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมต้นน้ำ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เหล็ก และเหล็กกล้า เพื่อสนับสนุนการผลิตของฐานอุตสาหกรรมภายในประเทศ

2.พัฒนาเป็นประตูการค้า (Gateway) ฝั่งตะวันตกเชื่อมโยงกับท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเปิดประตูการค้าการลงทุนของผู้ประกอบการพม่า และฝั่งตะวันตก

3.พัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ตามแนวชายแดนฝั่งตะวันตก โดยสามารถขยายความเจริญด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน การจ้างงงาน และการใช้วัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนของไทย

ความคืบหน้าการดำเนินโครงการ

การดำเนินการของพม่า

ด้านกฏหมายการลงทุน พม่าได้ออกกฏหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ กับกฏหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยให้สิทธิประโยชน์เบื้องต้นกับนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจ

ระบบการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยน รัฐบาลพม่าขอความช่วยเหลือจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) โดยไอเอ็มเอฟได้เข้ามาสำรวจระบบการเงินของพม่าแล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2554 และจะดำเนินการอีกครั้งในช่วงปี 2555

การดำเนินการของไทย

ภาครัฐ

การเปิดจุดผ่านแดนที่บ้านพุน้ำร้อน และข้อยุติประเด็นเส้นเขตแดนระหว่างไทย-พม่า กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวบ้านพุน้ำร้อน ซึ่งขออนุญาตโดยบริษัทเอกชนของไทย เพื่อขนวัสดุและแรงงานสำหรับก่อสร้างโครงการท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมทวาย และขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมสนธิสัญญาฯ ได้ประสานของความร่วมมือสหภาพพม่า ให้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมจัดทำ Detailed Survey ร่วมกับประเทศไทย (โดยกรมแผนที่ทหาร) ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2555 โดยจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 30-60 วัน

การเตรียมความพร้อมด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อกับสหภาพพม่า ประกอบไปด้วย การขนส่งทางถนน ปัจจุบันโครงข่ายถนนจากกรุงเทพ-ชายแดนไทย พม่า ระยะทาง 169 กิโลเมตร ส่วนใหญ่มีขนาด 4 ช่องจราจร

การขนส่งทางรถไฟ ตามผลการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาระบบรถไฟ กระทรวงคมนาคม เสนอให้มีการพัฒนาแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายน้ำตก-เจดีย์ด่านสามองค์ ระยะทาง 135 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมโยงกับเมียนมาร์แต่ยังไม่มีการศึกษาเส้นทางต่อขยายไปยังบ้านพุน้ำร้อน ระบบสายส่งไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างเจรจาอัตราซื้อขายไฟฟ้ากับรัฐบาลพม่า และผู้พัฒนาโครงการรถไฟฟ้าพลังความร้อนถ่านหินลิกไนต์ในนิคมอุตสาหกรรมทวาย

การศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจบริเวณชายแดน สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) อยู่ระหว่างจัดจ้างที่ปรึกษา เพื่อดำเนินโครงการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจ

มาตรการส่งเสริมนักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) อยู่ระหว่างการวางแผนศึกษา และดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์บริการข้อมูล และให้คำปรึกษาสำหรับนักลงทุนไทยในต่างประเทศในปีงบประมาณ 2556

ภาคเอกชน

การจัดตั้งหน่วยงานพัฒนาโครงการ ภาคเอกชนไทยดำเนินการจัดตั้งบริษัททวาย ดีเวล๊อปเม้นต์ (Dawai Development Company Limited: DDC) ซึ่งมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่กว่าร้อยละ 70 โดย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ และส่วนที่เหลือประมาณร้อยละ 30 ถือหุ้นโดยบริษัทเอกชนของพม่า

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจุบันภาคเอกชนไทยได้ก่อสร้างถนนลูกรัง ระหว่างเมืองทวายและบ้านน้ำพุร้อน สำหรับการขนส่งวัสดุก่อสร้างในระหว่างดำเนินโครงการ และได้จัดทำรายละเอียดโครงการก่อสร้างถนน และท่าเรือน้ำลึกแล้วเสร็จ ซึ่งประเมินวงเงินทั้งสองโครงการในเบื้องต้นประมาณ 90,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ แนวทางการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจเชื่อมโยงฝั่งตะวันตกกับพม่า ให้กำหนดเป็นแนวนโยบายสำคัญของรัฐบาล ในการสนับสนุนโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมทวายของพม่า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่รัฐบาลพม่า ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย รวมถึงนักลงทุนของไทยและต่างชาติ

โดยกำหนดกรอบมาตรการ และแนวทางดำเนินงานของฝ่ายไทย ดำเนินการในเชิงรุก โดยกำหนดแผนงานโครงการที่มีลักษณะบูรณาการและต่อเนื่องกัน ภายใต้กรอบระยะเวลา วงเงินงบประมาณ และแหล่งเงินทุนที่ชัดเจน โดยควรดำเนินการระยะเร่งด่วนปี 2555 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นการลงทุนซึ่งภาคเอกชนไทยได้รับโอกาสเป็นแกนนำในการพัฒนาโครงการ อาทิ ให้กระทรวงการต่างประเทศ ผลักดันให้มีการลงนามเอ็มโอยู ระหว่างรัฐบาล 2 ฝ่าย เพื่อเป็นกรอบความร่วมมือระดับทวิภาคี และการเร่งเจรจากับรัฐบาลพม่าเพื่อเปิดจุดผ่านแดน พร้อมเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบ รวมถึงการหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนภาคเอกชนไทยที่จะเข้าไปลงทุนด้วย