ในงานเสวนา“สีปลอดสารตะกั่ว นโยบายที่เป็นจริงได้” เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2556 ณ ห้องประชุมอาคารสถาบัน 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิบูรณะนิเวศแถลงงานวิจัยผลการทดสอบสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือเพื่อเพิกถอนสารตะกั่วจากสีในเอเชีย (Asia Lead Paint Elimination Project) โดยสุ่มตัวอย่างสีน้ำมันทาอาคาร 2 กลุ่มคือ โทนสีสด โดยเฉพาะสีเหลือง ซึ่งมักใช้เม็ดสีประเภทตะกั่ว และโทนสีขาว ที่จำหน่ายในประเทศไทยรวม 120 ตัวอย่าง จำนวน 68 ยี่ห้อ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ มาตรวจหาสารตะกั่ว
นางสาววลัยพร มุขสุวรรณ รองผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ร้อยละ 79 ของตัวอย่างทั้งหมดมีปริมาณสารตะกั่วสูงเกินกว่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ที่กำหนดให้สีมีสารตะกั่วได้ไม่เกิน 100 ส่วนในล้านส่วนหรือ พีพีเอ็ม สีน้ำมันโทนสีสดมีปริมาณตะกั่วเฉลี่ย 32,301 พีพีเอ็ม พบสารตะกั่วสูงสุดที่ 95,000 พีพีเอ็ม ส่วนสีน้ำมันโทนสีขาวมีปริมาณตะกั่วเฉลี่ย 1,840 พีพีเอ็ม พบสารตะกั่วสูงสุดที่ 9,500 พีพีเอ็ม
นอกจากนี้ยังพบว่าจาก 120 ตัวอย่างมีเพียง 29 ตัวอย่างที่ติดฉลากแสดงข้อมูลปริมาณตะกั่วบนภาชนะบรรจุ โดยมีเพียง 12 ตัวอย่างเท่านั้นที่มีสารตะกั่วไม่เกิน 90 พีพีเอ็มซึ่งส่วนใหญ่เป็นสีขาว และมีถึง 8 ตัวอย่างที่มีสารตะกั่วสูงเกิน 10,000 พีพีเอ็ม ทั้งนี้มีเพียง 15 บริษัทจาก 42 บริษัทเท่านั้นที่ผลิตสีตามมาตรฐาน มอก. ฉบับปรับปรุงใหม่
ในปัจจุบันมาตรฐานปริมาณสารตะกั่วในสีทาอาคารของมอก. เป็นแบบสมัครใจคือ แล้วแต่ว่าผู้ประกอบการจะทำหรือไม่ โดยไม่มีผลบังคับและโทษทางกฎหมายหากไม่ติดสัญลักษณ์มอก. การผลิตสีน้ำมันที่มีตะกั่วเกินกว่าค่าตามมอก. ซึ่งพ.ศ. 2553 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ปรับมาตรฐานสมัครใจเรื่องปริมาณสารตะกั่วจากเดิม 600 พีพีเอ็ม ลดเหลือ 100 พีพีเอ็ม
ด้านนายอดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ อนุกรรมการฝ่ายป้องกันโรคและอุบัติเหตุในเด็ก ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สารตะกั่วเป็นพิษต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง มีผลต่อทุกระบบของร่างกาย โดยเฉพาะเด็กต่ำกว่า 6 ปี จะมีผลโดยตรงต่อพัฒนาการทางสมอง สติปัญญาและระบบประสาท ยืนยันจากการศึกษาของ Canfield และคณะ พบว่าสารตะกั่วในเลือดที่เพิ่มขึ้นทุก 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร จะทำให้ไอคิวลดลง 4.6 จุด ซึ่งสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมพบมากในของเล่นเด็ก โต๊ะเด็ก ภาชนะจัดเก็บอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงสีน้ำมันที่ทาภายในศูนย์เด็กเล็ก
จากการศึกษาระดับสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมของศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกรุงเทพฯ 17 ศูนย์ในปี 2553 ของพญ.จันทิมา ใจพันธ์ และศูนย์วิจัยความปลอดภัยในเด็กโรงพยาบาลรามาธิบดีพบว่า ศูนย์พัฒนาเด็กใช้สีน้ำมันทาอาคารภายใน 14 แห่ง ในจำนวนนี้มี 9 แห่งที่มีระดับตะกั่วในสีทาอาคารภายในสูงกว่าค่ามาตรฐานสากล หรือ 600 พีพีเอ็ม ซึ่งค่าตะกั่วสูงสุดที่ 32,400 พีพีเอ็ม โดยสีดำ สีเหลือง และสีเขียวพบสารตะกั่วปนเปื้อนมากที่สุด
ปี 2556 ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ได้สำรวจระดับสารตะกั่วในเลือดของเด็กจำนวน 1,526 คนที่อาศัยอยู่ในเขตอุตสาหกรรม 4 จังหวัด คือ ระยอง สมุทรปราการ สมุทรสาครและฉะเชิงเทรา พบว่า เด็ก 197 คนมีสารตะกั่วในเลือดสูงกว่า 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งค่านี้ไม่ใช่ค่าปกติหรือปลอดภัยเพราะตะกั่วเป็นสารพิษต่อร่างกายและไม่มีประโยชน์หรือความจำเป็นใดๆ ต่อร่างกายเลย เพียงแต่เป็นค่าที่กำหนดขึ้นมาว่าร่างกายคนเราไม่ควรมีเกินไปกว่านี้แล้ว ซึ่งหลายๆ ประเทศก็ลดค่าให้ต่ำกว่า 10 เพราะเห็นว่าไม่ปลอดภัยเนื่องจากพบเด็กมีปัญหาสมองทั้งๆ ที่มีค่าสารตะกั่วในเลือดต่ำกว่า 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร
อีกทั้งยังสำรวจบ้านเด็กเหล่านี้จำนวน 49 หลัง พบว่า 45 หลังใช้สีน้ำมันทาบางตำแหน่งภายในบ้าน โดยมีบ้าน 25 หลังมีสารตะกั่วสูงกว่า 100 พีพีเอ็ม ในจำนวนนี้มี 7 หลังที่สารตะกั่วสูงกว่า 600 พีพีเอ็ม ด้านการสำรวจฝุ่นผงภายในบ้านพบ 11 หลังมีสารตะกั่วในฝุ่นผงภายในบ้านสูงกว่า 400 พีพีเอ็ม
จากงานวิจัยที่บอกว่าเด็กไทยมีไอคิวต่ำลงจากปี 2539-2540 ไอคิว 91.9 ปี 2544 ไอคิว 88.1 ซึ่งร้อยละ 4.1 ไอคิวต่ำกว่า 70 และผลสัมฤทธิ์การสอบของประถมศึกษาปีที่ 6 ได้คะแนนเฉลี่ยทุกวิชาไม่ถึง 50 โดยสอบผ่านครึ่งเพียงร้อยละ 9.8 นั้น สาเหตุหนึ่งอาจมาจากสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคาร
ในสหรัฐฯและยุโรปมีมาตรการควบคุมปริมาณสารตะกั่วในสีให้ไม่เกิน 100 พีพีเอ็ม ซึ่งหลังจากการควบคุมพบว่า สารตะกั่วในเลือดเด็กลดลงเรื่อยๆ ทั้งนี้ประเทศไทยก็ควรจะมีมาตรฐานควบคุมการผลิตสีในประเทศและนำเข้า รวมถึงควรมีฉลากที่บอกรายละเอียดเรื่องสารตะกั่วและวิธีการใช้ที่ชัดเจน และบอกด้วยว่าห้ามใช้ทาภายใน เฟอร์นิเจอร์และของเล่นเด็ก
โครงการสีปลอดสารตะกั่วเอเชีย (Asian Lead Paint Elimination Project) ดำเนินการร่วมกัน 7 ประเทศ คือบังคลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย เนปาล ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา และไทย โดยมี IPEN เป็นผู้ประสานงานกลาง มีระยะเวลาโครงการ 3 ปี (2555 – 2557) ซึ่งสนับสนุนทุนโดยสหภาพยุโรปภายใต้โครงการ EU Switch – ASIA
สำหรับตะกั่วพบมากในสีน้ำมัน เพราะต้องผสมตะกั่วเพื่อเพิ่มการยึดเกาะและความคงทนสำหรับทาโลหะเพื่อกันสนิม และใช้ทากรอบประตูและหน้าต่าง หรือทาภายนอกอาคาร แต่ศูนย์เด็กเล็กมันใช้ทาภายในเพราะทำความสะอาดง่ายเมื่อเด็กขีดเขียนผนัง
นอกจากเด็กแล้วผู้ใหญ่ เช่น อาชีพช่างทาสีก็สัมผัสกับสารตะกั่วได้โดยตรง เนื่องจากการทำงานในปัจจุบันขาดการป้องกันที่ถูกต้อง และในทางวิศวกรรมถ้าจะลดตะกั่วลงอายุสีที่ทาก็จะสั้นลง ทำให้ต้องทาสีซ้ำเร็วขึ้น และการลอกสีเก่าอาคารยิ่งสูงก็จะเกิดการปลิวหรือฟุ้งกระจายที่ไกลมากขึ้นซึ่งแก้ไขได้ด้วยการพรมน้ำก่อนลอกสี แต่ปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีที่มาทดแทนการใช้สารตะกั่วได้แล้วซึ่งอยู่ในระหว่างการพัฒนาคาดว่าประเทศไทยจะพร้อมในอีก 2 ปี
เพื่อแก้ปัญหาสารตะกั่วในสีน้ำมันปัจจุบันคณะรัฐมนตรีมีมติรับรองข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้เปลี่ยนมาตรฐานเรื่องปริมาณสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคาร จากแบบสมัครใจเป็นมาตรฐานบังคับและรับรองข้อเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกำหนดมาตรการบังคับทางฉลาก ให้ระบุข้อความเตือนถึงอันตรายของสารตะกั่วในสีทาบ้านภายในสิ้นปี 2556