ThaiPublica > เกาะกระแส > งานวิจัยสีทาบ้านโดยรวมลดใช้สารตะกั่ว แต่บริษัทใหญ่บางแห่งผลิต 2 มาตรฐาน – เปิดรายชื่อใครสอบผ่าน-สอบตก

งานวิจัยสีทาบ้านโดยรวมลดใช้สารตะกั่ว แต่บริษัทใหญ่บางแห่งผลิต 2 มาตรฐาน – เปิดรายชื่อใครสอบผ่าน-สอบตก

15 มิถุนายน 2015


15 มิถุนายน 2558 – งานสำรวจตลาดสีน้ำมันทาอาคารปี 2558 โดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ พบผู้ผลิตสีจำนวน 1 ใน 3 ลดใช้สารตะกั่วในการผลิตสีแล้ว แต่มีบริษัทใหญ่บางแห่งผลิตสีแบบสองมาตรฐาน โดยเลิกใช้ในบางยี่ห้อแต่ยังคงใช้ในบางยี่ห้อ จี้คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เร่งเสนอมาตรฐานบังคับให้ ครม. อนุมัติ เพื่อควบคุมปริมาณสารตะกั่วในสีทาบ้าน ป้องกันเด็กไทยได้ผลกระทบจากโรคพิษตะกั่ว และลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

นางสาวอัฏฐพร ฤทธิชาติ นักวิจัยมูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยว่าทางมูลนิธิบูรณะนิเวศได้ดำเนินการสำรวจตัวอย่างสีน้ำมันทาอาคาร 100 ตัวอย่าง จาก 56 ยี่ห้อ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของ 35 บริษัท ในปี 2558 พบมีผู้ประกอบการผลิตสีปลอดสารตะกั่วจำนวนเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับผลการสำรวจตลาดสีเมื่อปี 2556 โดยพบว่าผลิตภัณฑ์สีกลุ่มโทนสีขาว มีผลิตภัณฑ์สีปลอดสารตะกั่วเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 68 ขณะที่ในปี 2556 มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 29 และผลิตภัณฑ์สีกลุ่มโทนสีสดมีสีปลอดสารตะกั่วเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 24 จากที่ในปี 2556 มีเพียงร้อยละ 2 นอกจากนี้ ยังพบว่ามีผู้ผลิตสีจำนวน 1 ใน 3 หรือ 11 บริษัทใน 35 บริษัท ที่ลดใช้สารตะกั่วในการผลิตสีแล้ว และมีบางรายเลิกใช้สารตะกั่วในกลุ่มสีขาวและสีสดทุกยี่ห้อ

งานวิจัยสีทาบ้าน

งานวิจัยสีทาบ้านภาพที่2

งานวิจัยสีทาบ้าน-1

อย่างไรก็ตาม นางสาวอัฏฐพรแสดงความห่วงใยกรณีผู้ผลิตสียักษ์ใหญ่บางรายที่สามารถผลิตสีปลอดสารตะกั่วได้ แต่ยังมีการใช้สารตะกั่วปริมาณสูงมากในการผลิตสีบางยี่ห้อของตน และยังโฆษณาว่าเป็นสีที่เหมาะสมใช้งานตกแต่งภายในอาคารและบ้านเรือน
นอกจากนี้นางสาวอัฏฐพรยังชี้ว่า จากผลการศึกษาของมูลนิธิในปีนี้ยังคงปรากฏผลเช่นกับเมื่อสองปีก่อน นั่นคือไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างราคากับการใช้สารตะกั่ว กล่าวคือ กลุ่มตัวอย่างสีปลอดสารตะกั่วในขนาดบรรจุ 1/4 แกลลอน มีราคาจำหน่ายตั้งแต่ 69 ถึง 359 บาทต่อกระป๋อง ขณะที่สีที่มีปริมาณสารตะกั่วสูง (เกิน 100 พีพีเอ็ม) ในขนาดบรรจุเท่ากัน มีราคาจำหน่ายตั้งแต่ 64 ถึง 315 บาท ข้อมูลที่พบจึงไม่บ่งชี้ว่า สีที่มีสารตะกั่วจะมีราคาถูกกว่าสีปลอดสารตะกั่ว ซึ่งการกำหนดราคาสีในท้องตลาดมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีก

รศ.นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่า สารตะกั่วเป็นพิษต่อพัฒนาการเซลล์สมองของเด็กเล็ก การได้รับสารตะกั่วจากฝุ่นสีโดยเฉพาะในเด็กวัย 0-6 ปีจะส่งผลให้สติปัญญาบกพร่องและก่อให้เกิดโรคสมาธิสั้นและพฤติกรรมก้าวร้าว แม้ได้รับสารตะกั่วในปริมาณเพียงเล็กน้อย เนื่องจากไม่มีระดับสารตะกั่วที่ปลอดภัยต่อร่างกายมนุษย์ และองค์การอนามัยโลกยืนยันว่า ในแต่ละปีมีเด็กในประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำ ที่มีสติปัญญาบกพร่องเพราะพิษตะกั่วสูงถึง 600,000 คน ซึ่งภาวะนี้ก่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศอย่างมหาศาล

ด้านนายชาญณรงค์ ไวยพจน์ ประธานอนุกรรมการวิชาการด้านวิศวกรรมความปลอดภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สนับสนุนนโยบายการเพิกถอนสารตะกั่วจากสีเพื่อแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ เนื่องจากเมื่อสีปนเปื้อนสารตะกั่วถูกใช้งานแล้วจะต้องเป็นภาระของผู้ปกครองและโรงเรียนในการขูดลอกสีอย่างปลอดภัย เพื่อป้องกันมิให้ฝุ่นตะกั่วแพร่กระจายสู่สภาพแวดล้อม

ส่วนนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เตือนผู้บริโภคเรื่องการหลอกลวงทางฉลาก กรณีสีบางยี่ห้อแสดงฉลากโฆษณาว่า “ไม่ผสมสารตะกั่ว” แต่กลับตรวจพบสารตะกั่วสูงถึง 35,000 พีพีเอ็ม พร้อมเรียกร้องสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เร่งประกาศให้สีทาบ้านเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก

นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติได้กำหนดให้การเพิกถอนสารตะกั่วจากสีเป็นวาระเร่งด่วน โดยจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเพิกถอนสารตะกั่วจากสี (Global Alliance to Eliminate Lead Paint – GAELP) และกำหนดเป้าหมายให้รัฐสมาชิกทุกประเทศออกกฎหมายห้ามใช้สารตะกั่วในการผลิตสีภายในปี 2563 ล่าสุด ประเทศเพื่อนบ้านเริ่มออกกฎหมายห้ามใช้สารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สีแล้ว เช่น ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา และเนปาล โดยกรมการค้าต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์เตือนผู้ประกอบการไทยให้ปฏิบัติตามกฎหมายต่างประเทศอย่างเคร่งครัดและพัฒนาปรับปรุงคุณภาพสินค้าของตนอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรคในการส่งออก เนื่องจากไทยมีมูลค่าการส่งออกสีทาและวานิชไปฟิลิปปินส์เฉลี่ยปีละ 616 ล้านบาท

นอกจากนี้ทางมูลนิธิฯ ร่วมกับสำนักวิจัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นผู้ผลิตสีขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) พบว่า ผู้ประกอบการร้อยละ 95 ยินดีปฏิบัติตามกฎหมายหรือมาตรฐานบังคับให้เลิกใช้สารตะกั่ว และเสนอให้รัฐมีมาตรการที่ชัดเจนในเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมามาตรฐานสมัครใจไร้สภาพบังคับทำให้ในท้องตลาดสีของไทยยังมีผลิตภัณฑ์สีที่มีสารตะกั่วอีกจำนวนมาก กลุ่ม SMEs ยังเสนอให้รัฐเข้มงวดกับผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และให้การสนับสนุนเชิงเทคนิควิชาการแก่ผู้ประกอบการในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต

นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง เปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ได้จัดทำมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อควบคุมปริมาณสารตะกั่วในสีน้ำมันเสร็จแล้ว (มอก. 2625-2557) แต่ปัจจุบันยังไม่มีผลเป็นมาตรฐานบังคับ จึงเรียกร้องให้ กมอ. เร่งเสนอมาตรฐานบังคับให้ ครม. อนุมัติ เพื่อคุ้มครองสุขภาพและสติปัญญาของเด็กไทย และป้องกันความเสียหาย

งานวิจัยสารตะกั่วในสีทาบ้าน by thaipublica