ThaiPublica > คอลัมน์ > นิรโทษกรรม นิรโทษเวร

นิรโทษกรรม นิรโทษเวร

31 ตุลาคม 2013


หางกระดิกหมา

หลังจากอุตส่าห์ข่มใจกันได้เป็นปีสองปี ดูเหมือนในที่สุดการเมืองไทยก็จะถึงเวลาต้องมาอาละวาดกันตามถนนอีกครั้ง

หากลองพิจารณาก็จะเห็นว่า เหตุของการประท้วงครั้งนี้เป็นเรื่องของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งมีประเด็นกระตุ้นต่อมจี๊ดของคนไทยยุคแบ่งสีแบ่งขั้วอย่างทุกวันนี้ในหลายเรื่อง

เริ่มตั้งแต่ร่างของ พ.ร.บ. ที่ ส.ส. วรชัย เหมะ แห่งพรรคเพื่อไทยและคณะ เสนอให้สภาฯ อนุมัติในหลักการเมื่อสองเดือนที่ผ่านมาก็ออกจะแสลงเต็มทีอยู่แล้ว เพราะร่างนี้ให้มีการยกผิดยกโทษให้กับ “การกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือแสดงออกทางการเมือง” และ “การกระทำของบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองแต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองโดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณา” ซึ่งคนเห็นว่าถ้อยคำเหล่านี้ล้วนแต่เป็นถ้อยคำอันกว้างขวางที่เมื่อตีความแล้วอาจไม่ได้มีผลเป็นการล้างความผิดอ่อนๆ ทางการเมืองอย่างเช่นการเข้าร่วมชุมนุมปิดถนน หรือโพสต์ข้อความต้านรัฐบาลอย่างเดียว แต่จะเป็นการล้างเกินเลยไปถึงความผิดที่หนักหนาสาหัสกว่านั้น อย่างเช่น การวางเพลิงเผาศาลากลาง หรือการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ได้เลยด้วย หลายคนจึงทำใจยอมรับไม่ได้

อย่างไรก็ดี ฟางเส้นสุดท้ายจริงๆ ในเรื่องนี้ ก็คือการที่หลังจากสภาฯ รับหลักการของร่าง พ.ร.บ. ที่ว่าไปแล้ว ปรากฏว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมกลับมีมติแก้ไขร่างแบบกลับหลักการจนสารรูปดูไม่จืดไปเสียยิ่งกว่าร่างเดิมอีกต่างหาก กล่าวคือ

ประการแรก นอกเหนือจากการล้างความผิดจากการกระทำหรือการแสดงออกทางการเมืองอย่างที่พูดไปแล้ว คณะกรรมาธิการยังให้กฎหมายนี้ล้างผิดไปจนถึงคดีที่กล่าวหาโดยองค์กรที่ตั้งขึ้นตามการรัฐประหาร อันย่อมรวมถึงคดีที่ดินรัชดา หรือคดียึดทรัพย์ของคุณทักษิณ ที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นผู้กล่าวหาด้วย มันก็เลยจำเป็นจะต้องวงแตก เพราะการจะล้างผิดให้คุณทักษิณในคดีเหล่านั้น ดูอย่างไรมันก็เป็นคนละเรื่องกับการล้างผิดให้กับประชาชนที่ไปร่วมชุมนุม เพราะเรื่องหนึ่งเป็นคดีคอร์รัปชัน ส่วนอีกเรื่องเป็นคดีการเมือง จึงเป็นเรื่องผิดปกติที่การนิรโทษกรรมของสองเรื่องจะมาทำไปพร้อมกันอย่างนี้ หลายคนก็บอกเลยว่านี่เป็นกลกฎหมายที่พยายามจะแอบ “เหมาเข่ง” ล้างผิดคดีคอร์รัปชันของคุณทักษิณไปพร้อมคดีการเมืองของประชาชนมากกว่า

ประการที่สอง ร่าง พ.ร.บ. เดิมของ ส.ส.วรชัยนั้น ถูกยกเว้นไม่ให้ใช้กับคนระดับนำหรือผู้ตัดสินใจสั่งการใ้ห้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่พอกรรมาธิการแก้เสร็จ ก็ปรากฏว่ามีการลบข้อยกเว้นนี้ไปเสียดื้อๆ ดังนั้นจึงแปลว่า คุณอภิสิทธิ์ คุณสุเทพ หรือนายทหารผู้สั่งสลายการชุมนุมทั้งหลาย บัดนี้ก็อาจได้ประโยชน์ตาม พ.ร.บ. นี้จนได้รับการล้างผิดไปด้วย แปลอีกทีก็คือ ญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมก็จะไม่สามารถดำเนินคดีกับบุคคลที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นผู้ผิดอีกต่อไป ซึ่งนี่ย่อมเป็นเรื่องที่ญาติผู้เสียชีวิตยอมรับไม่ได้

สรุปได้ว่า รัฐบาลหาเรื่องแก้ร่าง พ.ร.บ. นี้จนมีประเด็นขัดใจได้ทั้งคนเสื้อเหลืองเสื้อแดง อย่างไรก็ตาม สำหรับรัฐบาลแล้ว สิ่งที่น่าห่วงกว่าการขัดใจคนเสื้อเหลืองเพราะร่างกฎหมายช่วยทักษิณ หรือขัดใจคนเสื้อแดงเพราะร่างกฎหมายช่วยอภิสิทธิ์นั้น ก็คือการที่รัฐบาลกำลังทำลายความไว้วางใจของประชาชนไม่ว่าสีไหนๆ ด้วยวิธีการปกครองแบบพูดอย่างทำอย่างอย่างนี้นี่เอง เพราะไม่ว่าจะอยู่สีไหน ประชาชนก็คงไม่สามารถวางใจรัฐบาลที่เสนอร่างกฎหมายให้สภารับในหลักการเป็นอย่างหนึ่ง แต่สุดท้ายก็แก้ร่างกฎหมายนั้นเป็นอีกอย่างหนึ่งแบบไม่สนหลักการไปได้ง่ายๆ โดยเฉพาะในเมื่อการกระทำอย่างนั้น ดูเหมือนจะไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากเท่ากับประโยชน์ส่วนบุคคล

แน่นอน หากจะว่ากันในทางเทคนิคล้วนๆ ความไว้วางใจจากประชาชนคงมีความหมายน้อยในเมื่อรัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภาอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในฐานะรัฐบาลซึ่งยังต้องอยู่กับเสียงนอกสภาด้วย รัฐบาลจะปฏิเสธบทบาทของความไว้วางใจหรือ trust ไปไม่ได้ อย่างที่เคยบอกแล้ว ในสังคมหนึ่งๆ ความไว้วางใจเป็นของมีค่าอย่างมาก เพราะมีความไว้วางใจที่ไหน ต้นทุนจะทำอะไรๆ มันก็ต่ำ เนื่องจากทรัพยากรต่างๆ จะไม่ต้องถูกใช้ไปกับการสร้างมาตรการต่างๆ เพื่อเผื่อไว้สำหรับกรณีที่สิ่งต่างๆ ไม่ออกมาในอย่างที่ควรจะเป็น (หรือที่เรียกกันว่าการบริหารความเสี่ยง) ตรงกันข้ามกับความไม่ไว้วางใจ หรือ mistrust ซึ่งมีขึ้นเมื่อไรก็หมายถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งนั้น เช่น คนไม่ไว้ใจการศึกษาไทยก็ต้องส่งลูกไปเรียนเมืองนอก คนไม่ไว้ใจตำรวจก็ต้องเสียเงินจ้างยามเพิ่ม จนชั้นที่สุด คนไม่วางใจรัฐบาล ก็ต้องหาทางทำทุกวิถีทางเพื่อจะหลีกเลี่ยงหรือลดทอนผลกระทบต่างๆ จากรัฐบาลที่ตนไม่ไว้ใจนั้น เป็นต้นว่าประท้วง

ดังนั้น กล่าวโดยเฉพาะกรณีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ ถ้ารัฐบาลทำให้คนเกิดความไว้วางใจได้ว่ารัฐบาลทำทุกอย่างโดยบริสุทธิ์ใจจริงๆ กล่าวคือ ออกกฎหมายมาเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองในภาพรวม ไม่ใช่เพื่อช่วยบุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง ป่านนี้คนเสื้อเหลืองก็คงไม่ออกมาเดินขบวน คนเสื้อแดงก็คงไม่จัดแถลงข่าวคัดค้าน ฝ่ายค้านก็คงไม่นึกอยากออกมาเล่นการเมืองนอกสภา เพราะจะว่าไปสิ่งเหล่านี้ก็เปลืองเงิน เปลืองตัว เปลืองต้นทุนสำหรับคนประท้วงเองไม่ใช่เล่น

แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นไปไม่ได้เสียแล้ว เพราะในเมื่อรัฐบาลเล่นร่างกฎหมายมาอย่าง แก้มาอีกอย่าง แปรญัตติไปอีกอย่างอย่างนี้ คนเขาก็ไม่มีทางวางใจรัฐบาลได้ว่ารัฐบาลบริสุทธิ์ใจ สุดท้าย คนสีนั้นสีนี้ก็เลยต้องยอมควักต้นทุนออกมาประท้วงกันวุ่นไปหมดเพียงเพื่อหวังจะปรามรัฐบาล ฝ่ายรัฐบาลเองก็คงต้องเสียงบประมาณ เสียทรัพยากรอีกไม่รู้เท่าไหร่เพื่อมาปรามคนประท้วงอีกทอดหนึ่ง

ดูท่า “ทศวรรษที่สูญหาย (The Lost Decade)” ของประเทศไทยที่คุณชัชชาติชอบพูดถึงนั้น มันจะยังไม่จบง่ายๆ เสียแล้วละซี

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ น.ส.พ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 28 ตุลาคม 2556