หางกระดิกหมา
เมื่อไม่กี่วันมานี้ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ประกาศ “ยกระดับ” การชุมนุมไปเรียบร้อย
น่าเสียดายที่การยกระดับนี้ เป็นแค่การยกระดับจากการคว่ำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไปสู่การโค่นระบอบทักษิณ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วต้องเรียกว่าไม่ได้มีการยกระดับอะไร เพราะสุดท้ายการประท้วงใดๆ ที่จะมี โดยสาระก็ยังเป็นเรื่องของการกำจัดคุณทักษิณและวงศ์วานเหมือนที่แล้วๆ มานั่นเอง ความจริง ถ้าจะใช้ภาษาของคุณสุเทพนี้ก็ต้องบอกว่า ตอนรัฐประหารปี 2549 เราก็ “ยกระดับ” กันมายกหนึ่งแล้ว ก็ไม่เห็นสถานการณ์ของประเทศจะสูงขึ้นสักเท่าไหร่
อย่างไรก็ตาม น่ายินดีที่นอกเหนือจากการ “ยกระดับ” ของคุณสุเทพแล้ว ยังมีความพยายามของบุคคลสำคัญและนักวิชาการอีกหลายท่าน ที่พยายามจะยกระดับการเคลื่อนไหวเพื่อเอาผิดรายบุคคลที่คอร์รัปชันในครั้งนี้ ไปสู่การทำลายระบบนิเวศที่เอื้อให้มีการคอร์รัปชันเลยเสียทีเดียว ซึ่งนี่เองจึงจะเป็นการ “ยกระดับ” ที่แท้จริง และดูเหมือนประเทศไทยจะยังไม่เคยลอง “ยกระดับ” ในแบบที่ว่านี้อย่างจริงๆ จังๆ มาก่อน
รายงานศึกษาหลายที่บอกตรงกันว่าปัญหาคอร์รัปชันที่มักระบาดอยู่ในประเทศกำลังพัฒนานั้น ไม่ได้เป็นเพราะคนชาติใดชาติหนึ่งมันโกงเก่งกว่าชาติอื่น หากแต่เป็นเพราะองค์ประกอบและเงื่อนไขต่างๆ กล่าวคือระบบนิเวศของประเทศนั้นๆ มันเอื้อให้เป็นอย่างนั้น
แน่นอน การได้เงินง่ายๆ จากการกินสินบนนั้นก็เป็นแรงจูงใจให้กับมนุษย์ที่ยังมีกิเลสอยู่แล้ว โดยเฉพาะในประเทศที่ความยากจนยังมีอยู่ทั่วไป และลำพังเงินเดือนข้าราชการไม่พอจะทำให้คนใช้ชีวิตอย่างที่เห็นในทีวีได้ แต่ระบบนิเวศที่อนุญาตให้แรงจูงใจอย่างนี้ผลิไปเป็นคอร์รัปชัน ก็คือโอกาสในการคอร์รัปชันที่เปิดอยู่ทุกหนแห่ง กล่าวคือ ในกิจการใดๆ ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นคนผูกขาด หรือในกฎระเบียบใดๆ ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นคนใช้ดุลพินิจ ยิ่งกว่านั้น เมื่อกลไกตรวจสอบหรือเอาผิดกับการกระทำเหล่านี้นั้นไม่มีหรือมีไม่พอ การคอร์รัปชันก็ย่อมยิ่งจะงอกงามแผ่สาขาไปได้โดยไม่ถูกลิดรอน อย่างที่ Robert Klitgaard นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันสรุปธรรมชาติของคอร์รัปชันไว้ในรูปของสมการเข้าใจง่ายๆ ว่า
อย่างไรก็ตาม ในเมื่อเรารู้สมการว่า “คอร์รัปชัน = การผูกขาด + การใช้ดุลพินิจ – การถูกตรวจสอบเอาผิด” อย่างนี้ ผู้ที่ต้องการทำลายระบบนิเวศของคอร์รัปชัน จึงมีหน้าที่ต้องตั้งหน้าขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมในสองส่วน กล่าวคือ
ประการแรก ลดการผูกขาดและการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ
หลักการในเรื่องนี้มีอยู่ว่า ที่ใดที่รัฐไม่มีอำนาจผูกขาดหรือไม่มีอำนาจใช้ดุลพินิจ ที่นั้นรัฐก็จะไม่มีอะไรไปแลกกับเงินสินบน ดังนั้น การปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้มีการแข่งขันมากขึ้น ลดการผูกขาด (liberalization) และลดการออกกฎระเบียบควบคุมที่ไม่จำเป็น (deregulation) จึงย่อมมีผลเป็นการทำลาย “สินค้า” ที่คนใช้ซื้อขายในการคอร์รัปชันโดยตรง และทำให้คอร์รัปชันมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยลงอย่างมาก
นโยบายที่เป็นไปในแนวทางนี้ มีได้ตั้งแต่การลดภาษีหรือมาตรการกีดกันทางการค้าจากต่างประเทศ การยกเลิกมาตรการอุดหนุนทางการค้า ไปจนถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้กลายเป็นของเอกชน อีกทางหนึ่งก็คือการลดกฎระเบียบหรือเงื่อนไขเรื่องใบอนุญาตต่างๆ ให้เหลือแต่เท่าที่จำเป็น ไม่ว่าจะกับธุรกิจสัญชาติไทยหรือต่างประเทศ และก็พยายามทำให้การให้บริการของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ในรูปของ service level agreement ซึ่งมีขอบเขต ระยะเวลา ความแน่นอนสูง และจะช่วยปิดช่องการอาศัยอำนาจการใช้ดุลพินิจเพื่อเรียกสินบนได้มาก
ประการที่สอง เพิ่มการถูกตรวจสอบเอาผิด (accountability) กับเจ้าหน้าที่รัฐ
เรื่องนี้ก็เป็นไปตามหลักสามัญสำนึกธรรมดาว่า ถ้าความเสี่ยงในการคอร์รัปชันมีมากกว่าผลประโยชน์ที่เจ้าหน้าที่จะได้จากคอร์รัปชัน แรงจูงใจในการคอร์รัปชันก็จะถูกทำลายไป โดยการจะเพิ่มการถูกตรวจสอบเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐนี้ มีองค์ประกอบอยู่ด้วยกันหลายส่วน
หนึ่ง ก็คือการสร้างความโปร่งใสในทุกกิจการของรัฐเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ ไม่ว่าจะโดยการปรับปรุงกฎหมายการเปิดเผยข้อมูลของทางราชการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การออกกฎหมายให่้รัฐวิสาหกิจเปิดเผยข้อมูลในลักษณะเดียวกับบริษัทจดทะเบียน การเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ฯลฯ
สอง คือการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตลอดจนองค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบเอาผิดอื่นๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การยกเลิกอายุความคดีคอร์รัปชัน การให้ ป.ป.ช. รายงานผลการดำเนินงานในแต่ละปีเพื่อการประเมินผล การแบ่งอำนาจระหว่างองค์กรต่างๆ ให้มีการคานและดุลกันอย่างสมควรและไม่ทับซ้อน
สาม คือการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาสังคมเพื่อช่วยติดตามตรวจสอบ เช่น การยอมรับข้อตกลงคุณธรรม (integrity pact) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้าสังเกตการณ์ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ของรัฐบาล การสนับสนุนและประสานงานกับองค์กรที่ทำหน้าที่ policy watch การปิดช่องทางการแทรกแซงสื่อผ่านทางการใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ และการออกกฎหมายเพื่อป้องกันการดำเนินคดีกับผู้ที่แสดงความคิดเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ (anti-SLAPP law)
สี่ คือการต่อท่อกับองค์กรที่ทำหน้าที่ต่อต้านคอร์รัปชันของนานาชาติเพื่อรับเอาความรู้และทรัพยากรมาใช้กับการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศ เช่น การเข้าเป็นภาคีกับสมาชิกของความตกลงต่อต้านคอร์รัปชัน OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) หรือการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าเฉพาะจากประเทศที่มีกฎหมาย Foreign Corrupt Practices Act ซึ่งจะมีกลไกที่สามารถช่วยตรวจสอบการเข้าทำสัญญาของคนหรือนิติบุคคลชาตินั้นๆ กับรัฐบาลไทยได้อีกทางหนึ่ง เป็นต้น
น่าเชื่อเหลือเกินว่า หากเราเติมตัวแปรต่างๆ ได้ครบถ้วนอย่างที่ว่ามานี้ วันใดวันหนึ่งเราคงมีหวังแก้สมการคอร์รัปชันของประเทศให้เหลือค่าใกล้ๆ กับศูนย์ได้ และนั่นถึงจะเป็นการ “ยกระดับ” ที่ทำให้อะไรๆ ดีขึ้นอย่างแท้จริง
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ น.ส.พ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556