ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > หลากทัศนะจับชีพจรประเทศไทย (จบ)

หลากทัศนะจับชีพจรประเทศไทย (จบ)

14 ตุลาคม 2013


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความประกอบการสัมมนาเรื่อง “A nation in decline?” ที่จะนำเสนอในงานสัมมนา Thailand Future Forum ครั้งที่ 4 “จับชีพจรประเทศไทย” ซึ่งจัดโดยสถาบันอนาคตไทยศึกษา ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ในวันที่ 17 ตุลาคม 2556 โรงแรมพลาซา แอทธินี รอยัล เมอริเดียน ถนนวิทยุ

ในตอนแรกและตอนที่แล้ว สถาบันอนาคตไทยศึกษาได้ฉายภาพอดีต 20 ปี เพื่อให้รู้ว่าประเทศไทยมีวิวัฒนาการหรือการเปลี่ยนแปลงใดที่ทำให้เรามายืนอยู่ ณ จุดนี้ในวันนี้ แต่ในตอนที่สามนี้ เราจะย้อนอดีตไปกับประสบการณ์ของบุคคลต่างๆ ในหลากหลายอาชีพ อาทิ นักวิชาการ นักธุรกิจ นักเศรษฐศาสตร์ อดีตนักการเมือง อดีตข้าราชการ ฯลฯ เพื่อสะท้อนให้เห็นอีกด้านของความเห็นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยในอดีต และชีพจรของประเทศไทยในปัจจุบัน

เริ่มต้นด้วยมิติด้านเศรษฐกิจที่หลายคนเห็นตรงกันว่ามีการเปลี่ยนแปลงใน 3 เรื่องใหญ่ๆ ที่ส่งผลกระทบสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศในช่วง 20 ปี จนถึงปัจจุบัน

1. วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ได้สร้างบทเรียนให้ภาคการเงินของไทยมีความเข้มแข็งขึ้น ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงกำลังอ่อนแอจากการไม่เคยเผชิญวิกฤติ ทำให้เราละเลยที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

2. พรรคการเมืองไทยมีบทบาทมากขึ้นในการสื่อสารกับประชาชนโดยตรง และนำเรื่องต่างๆ ที่เป็นความต้องการของประชาชนมากำหนดเป็นนโยบายเพื่อปฏิบัติ ซึ่งเป็นที่มาของนโยบายประชานิยมที่ลดทอนประสิทธิภาพของคน

3. การเชื่อมโยงของระบบไอทีที่เปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างพลิกโฉม

ในขณะที่มิติด้านสังคมซึ่งประกอบไปด้วยเรื่องของการศึกษา สาธารณสุข วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ล้วนแต่มีความเชื่อมโยงระหว่างกันและสามารถกระทบไปเป็นปัญหาสังคมได้ หลายๆ คนให้ความเห็นว่าระบบการศึกษาไทยยังน่าเป็นห่วงเพราะเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ เด็กไทยยังขาดทักษะพื้นฐาน 4 เรื่อง ซึ่งได้แก่ ภาษา การคิดเป็น การรักการอ่าน และการเล่นกีฬา นอกจากนี้ เด็กส่วนใหญ่เริ่มไม่เลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์และสายอาชีวะเพราะไม่เห็นความก้าวหน้าในสายอาชีพทั้งที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และแรงงานทักษะที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว และจากการเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาบ่อยครั้ง ได้สร้างความไม่ต่อเนื่องของนโยบายพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศ ในขณะที่รัฐบาลก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนาซึ่งเห็นได้จากงบวิจัยที่ได้รับการจัดสรรในสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือเทียบกับกระทรวงอื่นๆ

และถึงแม้ว่าระบบสาธารณสุขของไทยจะมีการพัฒนาบุคลากรที่เข้มแข็งมากพอควร แต่ก็ยังมีปัญหาอีกหลายด้านที่ควรได้รับการแก้ไข เช่น ปัญหาเงินในระบบประกันสุขภาพที่ไม่เพียงพอ จำนวนแพทย์ทั่วไปที่มีจำนวนน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับแพทย์เฉพาะทาง การกระจุกตัวของแพทย์และพยาบาลในเมือง การผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่ยังไม่เชื่อมโยงกับความต้องการของสังคม ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้ที่แย่ลง เป็นต้น

สำหรับมิติด้านธรรมาภิบาลภาครัฐ เกือบทุกคนเห็นว่าคอร์รัปชันยังคงเป็นปัญหาที่ยังถ่วงความเจริญให้ประเทศเสื่อมถอยได้อย่างรุนแรงและรวดเร็ว สาเหตุที่ทำให้คอร์รัปชันของไทยทวีความรุนแรงขึ้นเนื่องมาจากการกำกับดูแลที่ดี (governance) ของภาครัฐและภาคเอกชนสวนทางกัน ส่งผลให้ภาพรวมในเรื่องธรรมาภิบาลของประเทศไม่ได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ประเทศไทยยังขาดนโยบายที่ต่อเนื่องและกลยุทธ์ที่เหมาะสมซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งยังขาดการประสานงานที่ดีระหว่างกระทรวง มีการแต่งตั้งผู้บริหารกระทรวงโดยอิงกับเงื่อนไขทางการเมือง และมีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำแบบไม่เป็นธรรมและไม่สุจริต สำหรับปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นเสมือนอุทาหรณ์ที่เตือนสติให้เห็นว่า หากขาดการร่วมใจกันทำงานอย่างบูรณาการแล้ว ปัญหาก็จะยิ่งยืดเยื้อ รุนแรง ยากต่อการแก้ไข และท้ายที่สุดก็จะกระทบกับประเทศในภาพรวม

ขณะเดียวกัน การบริหารจัดการภาครัฐของเรายังมีความบกพร่องเชิงบริหารใน 3 ประการ คือ เน้นรูปแบบมากกว่าเนื้อหาสาระ (form without substance) เน้นเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ (quantity without quality) และยังทำงานโดยไม่คำนึงถึงกลยุทธ์ (action without strategy) ทำให้ภาครัฐไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิผล และทำให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืนและครอบคลุมได้

แล้วเราควรจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยดีขึ้น มาค้นหาคำตอบและนำเสนอทางออกร่วมกันในงานสัมมนา “จับชีพจรประเทศไทย” จัดโดยสถาบันอนาคตไทยศึกษา ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ในวันพฤหัสที่ 17 ตุลาคม 2556 ที่โรงแรมพลาซา แอทธินี รอยัล เมอริเดียน พร้อมรับหนังสือ “จับชีพจรประเทศไทย” ที่ถ่ายทอดเนื้อหาแบบสมบูรณ์ของบทความประกอบการสัมมนาเรื่อง A nation in decline? และบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มของบุคคลในแวดวงต่างๆ ในงานสัมมนานี้ (อ่านรายละเอียดงานสัมมนาได้จากเว็บไซต์ www.thailandfuturefoundation.org)