เหว่ยเฉียง
“อาชญากรสงครามถูกนิยามโดยฝ่ายที่ชนะ ผมอยู่ข้างฝ่ายชนะ…ผมไม่สนใจหรอกว่าชาวโลกจะมองยังไง…ทำไมคุณถึงไปโฟกัสที่การฆ่าคอมมิวนิสต์ล่ะ? ทีอเมริกันฆ่าพวกอินเดียนแดงตายไปเป็นเบือ ชาวโลกไม่ยักจะไปลงโทษพวกนั้นมั่งเลย? แต่การขุดคุ้ยเหตุการณ์นี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการยั่วยุ ซึ่งผมพร้อมนะถ้าโลกอยากให้มีสงครามเกิดขึ้นอีก แล้วถึงจะมีใครมาจับพวกเราไปขึ้นศาลโลก ผมก็พร้อม เพราะผมไม่ได้ทำอะไรผิดนี่ แถมตอนนี้ผมยังมีชื่อเสียงแล้วด้วย (หัวเราะ)”
นี่คือส่วนหนึ่งของบทสนทนาที่ผู้ถูกสัมภาษณ์ต่างฝอยฟุ้งอย่างเปิดใจ โดยไม่เฉลียวใจสักนิดว่าสุดท้ายแล้วหนังจะออกมาโจมตีฝ่ายตัวผู้พล่ามให้สัมภาษณ์เอง ในสารคดีฝีมือของผู้กำกับลูกครึ่งอเมริกันอังกฤษที่อาศัยอยู่ในเดนมาร์กแล้วไปตั้งรกรากในอินโดนีเซียมาตั้งแต่ปี 2004 นาม โจชัว ออพเพนไฮเมอร์ ซึ่งทำให้เขาคว้ารางวัล Panorama Audience จากเทศกาลหนังเบอร์ลินครั้งที่ 63, รางวัลโรเบิร์ต (คล้ายรางวัลออสการ์ของเดนมาร์ก), รางวัล Bodil จากสมาคมนักวิจารณ์เดนมาร์ก และรางวัลอองซานซูจี จากเทศกาลหนัง Human Rights Human Dignity ที่พม่าเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จากเรื่อง The Act of Killing (2012)
หนังสารคดีซึ่งแฉความโหดเหี้ยมของเหตุการณ์ช่วง 1965-66 ในอินโดนีเซียได้อย่างสะท้านสะเทือนที่สุด ต่อเหตุการณ์ที่รัฐสั่งฆ่ากวาดล้างกลุ่มคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซีย ซึ่งมีการประเมินว่าจำนวนจริงของการสังหารหมู่ครั้งนั้นน่าจะสูงถึงกว่า 2.5 ล้านศพ!
เกิดอะไรขึ้นในปี 1965-66 ที่อินโดนีเซีย?
การจะกล่าวให้ชัดเจนถึงกรณีนี้ได้ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ปลายสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อสหรัฐ (ประชาธิปไตย) กับโซเวียต (คอมมิวนิสต์) เคยจับมือกันทำสงครามปราบนาซีจนสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงในปี 1945 แต่หลังจากนั้นโซเวียตกลับสนับสนุนพวกที่นิยมคอมมิวนิสต์ให้ลุกขึ้นชิงพื้นที่ปกครอง อาทิ ในเกาหลีเหนือ และในเยอรมันตะวันออก ฯลฯ
ข่ายโลกเสรีประชาธิปไตยอย่าง อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก ฯลฯ จึงร่วมกันก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ขึ้นในปี 1949 เพื่อตั้งรับคานอำนาจทางทหารกับฝ่ายนิยมสังคมนิยม นำไปสู่การแสดงแสนยานุภาพตอบโต้กันระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ (ภายหลังฝ่ายคอมมิวนิสต์จัดตั้งสนธิสัญญาวอร์ซอในปี 1955 เพื่อแสดงโต้กลับการกระทำของซีกโลกเสรีตะวันตก) ยืดเยื้อไปจนถึงปี 1991 โดยทั้งฝ่ายสหรัฐและโซเวียตต่างทำสงครามทางจิตวิทยาต่อกัน ด้วยการยุยงสนับสนุนให้พวกฝ่ายของตนทำสงครามกับพวกฝ่ายตรงข้าม
โดยก่อนหน้าจะจัดตั้งนาโต ด้วยความหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์ อเมริกาจึงก่อตั้งหน่วยสืบราชการกลางแห่งสหรัฐฯ (CIA) ขึ้นในปี 1947 เพื่อแทรกซึมสืบราชการลับไปยังประเทศต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของอเมริกาได้ แล้วด้วยความหวาดกลัวผีคอมมิวนิสต์ที่อเมริกาปลุกสร้างขึ้นมาให้หลอนโลกนี่เอง ทำให้ตัวอเมริกาเองสนับสนุนให้พวก CIA ใช้ความรุนแรงตอบโต้ฝ่ายซ้ายในหลายกรณี อาทิ โค่นล้มกองกำลังคอมมิวนิสต์ทางเหนือของอิหร่าน, ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนพื้นเมืองฝ่ายซ้ายในกัวเตมาลา หรืออยู่เบื้องหลังรัฐประหารนองเลือดในชิลี ฯลฯ
รวมถึงในอินโดนีเซียด้วย เมื่อมีหลักฐานเปิดเผยว่า CIA ได้กระทำการผ่านนายมาร์แชล กรีน ซึ่งเวลานั้นดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำอินโดนีเซีย โดยเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 1965 นายกรีนได้อนุมัติงบลับจำนวน 50 ล้านรูเปียช แก่ผู้นำกองกำลังขวาจัดผู้ทำหน้าที่กวาดล้างคอมมิวนิสต์ในหมู่เกาะชวา เพื่อหนุนหลังนายพลซูฮาร์โตให้ทำการยึดอำนาจจากนายซูการ์โน (ประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย บิดาของนางเมกาวาตี ประธานาธิบดีคนที่ 5) และถือโอกาสปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินโดนีเซีย ซึ่งในเวลานั้นมีสมาชิกพรรคหลายล้านคน (ใหญ่เป็นอันดับสอง รองจากพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน)
โดยเหตุการณ์ทั้งหมดมีชนวนเริ่มเมื่อวันที่ 30 กันยายน 1965 เมื่อกลุ่มเกสตาปู (Gerakan September Tigga Puluh) หรือ กลุ่มก่อรัฐประหารซึ่งนำโดยทหารบกและทหารอากาศจำนวนหนึ่ง โดยมีผู้บัญชาการกองพันจากหน่วยรักษาความปลอดภัยของซูการ์โนเองเป็นหัวหน้า ได้ลักพาตัวนายพลอาวุโสจำนวน 6 นาย ไปสังหารแล้วทิ้งศพลงน้ำ จนกระทั่งซูฮาร์โตนายพลผู้ไม่ได้ถูกลักพาตัวไปในครั้งนั้น ได้เข้าปราบปราบพวกเกสตาปูภายใน 2 วัน พร้อมทั้งกล่าวหาว่าพรรคคอมมิวนิสต์อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ อันส่งผลให้ความเชื่อถือในตัวซูการ์โนลดลง เพราะช่วงเวลานั้นซูการ์โนสนับสนุนฝ่ายซ้าย ทำให้คะแนนนิยมของซูการ์โนลดฮวบ ยังผลให้เขาถูกบีบออกจากตำแหน่ง อันเป็นผลให้ในปี 1967 ซูฮาร์โตก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ของอินโดนีเซีย
ประกอบกับช่วงเวลานั้นโลกต่างตกอยู่ในภาวะหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์จากข่าวสารที่อเมริกาโหมกระพือ ฝ่ายคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซีย (PKI) ขณะนั้นจึงถูกผลักให้กลายเป็นพวกนอกกฎหมายไป ส่งผลให้มีการออกใบอนุญาตฆ่าผ่านการจัดตั้งกลุ่มของนายพลซูฮาร์โตที่ภายหลังกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่ายุวชนปัญจศีล (Pemuda Pancasila, ตัวย่อ PP) กองกำลังชาวบ้านชาตินิยมกึ่งทหาร ผู้ได้รับสิทธิ์ในการฆ่า ตามระเบียบใหม่ (New order) สมัยซูฮาร์โต ซึ่งส่งผลให้มีการสังหารหมู่คอมมิวนิสต์กว่าสามแสนคน (จำนวนเท่าที่ระบุได้ โดยภายหลังถูกประเมินว่าน่าจะมากกว่า 2.5 ล้านคน)
ที่น่าตลกแต่ขำไม่ออกคือ หลักปัญจศีลที่ฝ่ายซูฮาร์โตนำมาตีความใหม่นั้น เป็นหลักปรัชญาซึ่งนำมาจากสุนทรพจน์ที่ซูการ์โนกล่าวไว้ตั้งแต่ปี 1945 โดยภายหลังถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญที่บังคับให้ทุกสถาบันแห่งชาติอินโดนีเซียต้องยึดถือ โดยแม้ภายหลังซูฮาร์โตจะนำมาตีความใหม่ จนหมดความน่าเชื่อถือลงในปี 1998 ยุคที่ซูฮาร์โตสิ้นอำนาจ แต่ก็ยังคงไว้เป็นหลักปรัชญาที่ชาวชวาใช้เป็นตราแผ่นดินมาจนทุกวันนี้ อันประกอบด้วย
1. เชื่อในพระเจ้าสูงสุดเพียงองค์เดียว–รูปดาวบนพื้นดำ
2. เชื่อในหลักการของมนุษยธรรม–รูปโซ่สีทองบนพื้นแดง
3. ลัทธิชาตินิยมแห่งความเป็นอินโดนีเซี–รูปต้นบันยังหรือไม้พื้นเมืองที่มีเฉพาะในอินโดฯ
4. หลักการแห่งประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน–รูปหัวควายบานเต็ง อันเป็นสัญลักษณ์แทนประชาชน
5. ความยุติธรรมเท่าเทียมในแบบสังคมอินโดนีเซี–รูปรวงข้าวและดอกฝ้าย
และด้วยหลักการแห่งความดีงามเพื่อชาติชวานี้เอง ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือปลุกปั่นให้บรรดายุวชนปัญจศีลซึ่งในเวลานั้น (ค.ศ.1965-66) เรียกตัวเองด้วยคำชวาที่มีรากศัพท์มาจากภาษาดัทช์อันมีความหมายว่า ‘ฟรีแมน’ ได้ก่อการอันเป็นอิสระในการสังหารหมู่พวกคอมมิวนิสต์ อันเป็นที่มาของ The Act of Killing เรื่องนี้ โดยล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2012 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของอินโดนีเซียได้ระบุว่า แท้จริงแล้ว ‘คอมมิวนิสต์’ ในเวลานั้นหมายถึงใครก็ตามที่ขัดขวางการขึ้นสู่อำนาจของฝ่ายทหารซูฮาร์โต อันรวมถึงคนจีน หรือประชาชนผู้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่แสดงความไม่เห็นด้วยต่อฝ่ายทหารก็อาจถูกเหมารวมไปด้วยได้ รวมถึงบางคนยังอาจใช้เป็นช่องทางใส่ร้ายเพื่อแก้แค้นเรื่องส่วนตัวอีกด้วย
หนังหลอกในสารคดีจริง
สารคดีชิ้นนี้เล่าเรื่องผ่านอันวาร์ คองโก หนึ่งในผู้นำของหน่วยฟรีแมนทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา โดยตัวผู้กำกับหลอกว่าจะถ่ายหนังเชิดชูคนกลุ่มนี้ ด้วยการรวบรวมข้อมูลพูดคุยกับคนกลุ่มนี้ ซึ่งเผยให้เห็นภาพความโหดเหี้ยมครั้งมโหฬารที่เคยถูกซ่อนเอาไว้ใต้พรมของฝ่ายฟรีแมนที่สังหารโหดเหยื่อผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ด้วยวิธีสุดโหด เช่น เอามีดเสียบตูดทะลุถึงคอหอย เอารถทับขยี้ เชือดคอขาดกระเด็น และหนึ่งในวิธีที่คองโกภูมิใจนำเสนออย่างยิ่ง ถึงขนาดเน้นให้เห็นหลายครั้งในหนังหลอกเรื่องนี้ก็คือ การบั่นคอด้วยลวด
ความชาญฉลาด (หรือบางคนอาจมองว่าเป็นกลโกงชั่วร้าย) ของผู้กำกับในสารคดีเรื่องนี้คือ ให้บรรดามือสังหารในเหตุการณ์นั้นแสดงซ้ำสิ่งที่พวกเขาเคยทำ แล้วฉายซ้ำให้ตัวมือสังหารนั้นดูเอง แถมมีบางฉากตัวมือสังหารยังต้องสวมบทบาทเหยื่อผู้ถูกสังหารเองด้วย จนตัวคองโกถึงกับร่ำไห้สะอื้นออกมาว่า “พวกที่เคยถูกผมทรมานจะรู้สึกอย่างเดียวกับที่ผมแสดงให้ดูมั้ยนะ ผมทำแบบนี้ (บั่นคอเหยื่อด้วยลวด) กับหลายคนเลย ผมจะบาปมั้ย…คงไม่หรอกน่ะ” ซึ่งสิ่งที่สนับสนุนให้เขาเชื่อว่าการกระทำของเขาคงไม่ผิดบาปอะไร คือเวลานั้นรัฐได้ยุยงว่าการฆ่าคอมมิวนิสต์ถือเป็นการทำดีเพื่อชาติ!?
ดังที่ออพเพนไฮเมอร์ให้ความเห็นว่า “เหตุพลิกผันสุดประหลาดที่ทำให้คนพวกนี้แสดงอาการฟุ้งฝอยได้เป็นตุเป็นตะในหนังก็คือ ‘พวกฆาตกรเป็นฝ่ายชนะ’ พวกเขาไม่เคยถูกโค่นอำนาจอย่างพวกนาซี หรือพวกเขมรแดง แต่กลับได้ก้าวขึ้นมีอำนาจปกครองรัฐ โดยไม่เคยมีการย้อนกลับไปสืบสวนสิ่งที่พวกเขาเคยทำไว้ในอดีตเลย”
อย่างไรก็ตาม แม้เนื้อหาในหนังของออพเพนไฮเมอร์จะแสนเข้ม แต่กลวิธีที่เขาหลอกล่อคนฝ่ายของคองโกให้คายความจริงจนหมดเปลือก กลับยิ่งสะท้อนมุมคิดได้น่าสนใจกว่า เพราะมันให้ภาพการถูกหลอกใช้ชักใยบงการอยู่เบื้องหลังของผู้มีอำนาจตัวจริงได้อย่างน่าอัศจรรย์ ดังเช่นตัวคองโกเองที่บ่อยครั้งควบคุมอยากให้มีฉากโน้นฉากนี้ตามที่เขาจินตนาการไว้ จนราวกับจะเป็นผู้กำกับเสียเอง แต่สุดท้ายเมื่อหนังเสร็จก็กลับได้พบว่าเขาถูกหักหลังอย่างเลือดเย็นจากตัวผู้กำกับเอง ซึ่งบงการการถ่ายทำทั้งหมด ตรงนี้ก็ยิ่งฉายภาพสะท้อนชัดถึงภาวะสงครามเย็นที่ผู้บงการโลกตัวจริงในขณะนั้น (จนถึงขณะนี้และอาจจะอนาคต) ก็คือสหรัฐอเมริกา ผู้มาในนามของป๋าใหญ่ใจพระ คอยเสี้ยมให้บรรดาผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินตามประเทศต่างๆ ให้สนับสนุนการสังหารโหดเยี่ยงนี้ว่า
ทำถูกต้องดีแล้ว…..เพื่อชาติ!?