ThaiPublica > คอลัมน์ > ไม่มีปัญหาถ้ารัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง Not Anymore: A Story of Revolution

ไม่มีปัญหาถ้ารัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง Not Anymore: A Story of Revolution

24 มกราคม 2014


เหว่ยเฉียง

1 maxresdefault

“ถ้ารัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ไม่มีปัญหาเลย ประชาชนต้องการยังไง ผมยอม ไม่ว่าผมจะชอบหรือไม่ชอบรัฐบาล แต่มันต้องเป็นไปตามประชาธิปไตย ไม่ใช่การสืบทอดจากพ่อสู่ลูกอย่างนี้” โอมาร์ ฮัตตาบ หรือชื่อเล่นว่า โมว์ยา จากกลุ่มปลดปล่อยชาติซีเรีย(Free Syrian Army หรือ FSA) หนึ่งในสองของผู้ดำเนินเรื่องในหนังสั้น Not Anymore: A Story of Revolutionของ แม็ทธิว แวนไดค์ นักเคลื่อนไหวทางสังคมและคนทำหนังชาวอเมริกัน กับนอร์ เคลซ์ ช่างภาพข่าวสาวชาวซีเรียน ซึ่งเผยแพร่หนังสั้นเรื่องนี้บนยูทูบ และมีผู้แปลเป็นภาษาไทยที่ http://youtu.be/_NppqFILmC4

ซ้าย-แม็ทธิว แวนไดค์ ขวา-นอร์ เคลซ์
ซ้าย-แม็ทธิว แวนไดค์ ขวา-นอร์ เคลซ์

ปัจจุบันซีเรียปกครองโดยประธานาธิบดีบัซซาร์ อัล-อัสซาด ผู้เป็นบุตรคนที่ 3 (จากทั้งหมด 5 คน) ของนายพลฮาเฟซ อัล-อัสซาด (ที่ปกครองซีเรียมานานเกือบ 30 ปี) จนกระทั่งนายพลฮาเฟซถึงแก่อสัญกรรมในตำแหน่งเมื่อปี 2000 ซีเรียถึงได้มีการเลือกตั้งอีกครั้ง โดยแต่เดิมบัซซาร์มิได้ถูกวางตัวให้สืบทอดอำนาจ ทว่าพี่ชายของเขา(บัซเซล)เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์และลูกคนโตเป็นผู้หญิง บัซซาร์จึงลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ในแบบที่เป็นไปในทาง ‘ลงประชามติ’ มากกว่า เพราะไม่มีผู้สมัครรายอื่น ทำให้เขาได้รับคะแนนไปทั้งหมดถึง97%

Syrian refugee children at Delhamiyeh, Lebanon, earlier this month.

อย่างไรก็ตามคงต้องอธิบายก่อนว่าชาวซีเรียส่วนใหญ่เป็นอาหรับนิกายสุหนี่ แต่ประเทศกลับปกครองโดยสมาชิกของนิกายอะลาวิเตส (Alawites อันเป็นชนกลุ่มน้อยกว่า) ที่ปกครองแบบเผด็จการและให้สิทธิพิเศษกับชาวอะลาวิเตสมากกว่า ทำให้พวกสุหนี่และกลุ่มอื่นๆไม่พอใจ รวมถึงในทางตรงกันข้าม พวกอะลาวิเตสนี้ก็กลัวด้วยว่าพวกเขาจะโดนโจมตีกลับ หากเมื่อใดประธานาธิบดีอัสซาดสิ้นอำนาจลง พวกเขาจึงอาศัยอยู่กันตามพื้นที่ที่แบ่งเป็นชุมชนของแต่ละเชื้อชาติและศาสนา (มีชนกลุ่มน้อยอื่นๆอีก เช่น ชาวเคิร์ด หรือไม่ก็อาหรับคริสเตียน ฯลฯ)

การปกครองอย่างยาวนานของตระกูลอัสซาด(ถ้ารวมกันพ่อ-ลูกก็มากกว่า4ทศวรรษ และเมื่อปี2012 ได้มีการลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในซีเรียที่ขยายให้อัสซาดมีอำนาจไปจนถึงปี2028 อีกด้วย) ทำให้อัสซาดเพิ่มอำนาจให้ตัวเองในทางมิชอบ โดยเฉพาะกรณีปิดกั้นสื่อออนไลน์อย่าง กูเกิล เฟซบุค ยูทูบ และวิกิพีเดีย ที่ตามมาด้วยองค์กรทางสิทธิมนุษยชนและสำนักข่าวต่างชาติต่างเริ่มตีแผ่เผยแพร่ข่าวการที่บัซซาร์ อัสซาดจัดตั้งหน่วยตำรวจลับเพื่อเฝ้าระวังและกวาดล้างกลุ่มผู้แสดงตนว่าคิดต่างจากรัฐบาล มาคุมขัง ทรมาน และสังหารโหด โดยแม้ว่าอัสซาดจะปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด แต่ภายหลังก็ได้ปรากฎคลิปหลักฐานรั่วไหลออกมาในโลกโซเชียลฯมากมาย

4 NotAnymore-Still-NourFriend

กระทั่งนับตั้งแต่เกิดอาหรับสปริงขึ้นเมื่อ 18ธันวาคม 2010 ด้วยเหตุว่าหนึ่งวันก่อนหน้านั้นที่นายมุฮัมมัด บูอาซีซี ชาวตูนีเซียได้จุดไฟเผาตัวเองขณะที่เขาถูกตำรวจยึดแผงขายผลไม้ อันเป็นชนวนให้ประชาชนลุกขึ้นต่อต้านชนชั้นปกครองไปสู่สงครามกลางเมืองนองเลือด ที่ขยายตัวขึ้นเป็นทอดๆในกลุ่มประเทศสันนิบาตอาหรับ อาทิ อียิปต์ ลิเบีย เยเมน บาห์เรน อัลจิเรีย อิรัก จอร์แดน คูเวต โมร็อกโก ซูดาน ฯลฯ

ชาวซีเรียนก็ออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลด้วยเช่นกันในวันที่ 15 มีนาคม 2011 โดยภายหลังยังมีฝ่ายทหารและเจ้าหน้าที่รัฐแปรพักตร์มาสมทบกับพลเรือนด้วย กระทั่งขยายวงกว้างเมื่อมีการติดอาวุธรบราฆ่ากันทั้งสองฝั่ง รวมถึงยังมีการแทรกแซงจากต่างชาติในการให้ความสนับสนุนจนคล้ายๆสงครามตัวแทน (proxy war –กรณีซีเรียนี้พบว่ารัสเซียมีส่วนสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล ขณะที่อเมริกาก็ถือข้างฝ่ายต่อต้าน) จนเมื่อกลางปีที่ผ่านมาก็พบว่าฝ่ายรัฐบาลน่าจะใช้อาวุธเคมี(บางกระแสประเมินว่าน่าจะเป็นแกซซาริน)ร่วมในการสังหารประชาชนด้วย ซึ่งนับแต่สามปีก่อนจนบัดนี้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วไม่ต่ำกว่าแสนศพ!?

5 not-anymore-story-of-revolution-10629-large

“ฉันต้องทำ(บันทึกภาพเหตุการณ์)เพื่อประเทศของฉัน มันสำคัญมากๆที่จะให้โลกได้เห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่นี่ เพราะก่อนหน้านี้ผู้คนไม่รู้จักซีเรียจริงๆ พวกเขาได้ยินแต่จากสื่อที่ปกปิดความจริง…ความจริงที่ว่าปีศาจชั่วมันกำลังทำอะไรกับพวกเราผู้เป็นประชาชนของมัน” นี่คือคำบอกเล่าของนอร์ เคลซ์ วัย24 ปี ผู้กำกับร่วม ผู้ร่วมเล่าในสารคดีเรื่องนี้ และเป็นชาวซีเรียนคนแรกที่คว้ารางวัลจากมูลนิธิสื่อสตรีนานาชาติ

เหตุการณ์น่าสะพรึงคือระหว่างที่เธอเล่า ขณะที่พาเดินผ่านไปตามตึกที่ถูกถล่มพังพินาศ นอกจากเราจะได้ยินเสียงกระสุนปืน(ที่เกิดขึ้นระหว่างถ่ายทำ)ประกอบไปเกือบตลอดทั้งเรื่องแล้ว บางครั้งเราอาจได้เห็นภาพผู้ประท้วงที่ถูกสไนปเปอร์ส่องยิงล้มลงตายต่อหน้าต่อตา ทว่าความช็อค ความหดหู่ หรือเสียใจของคนดู คงไม่อาจเทียบได้กับสถานการณ์จริงที่บรรดาชาวซีเรียนต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ท่ามกลางสถานการณ์เสี่ยงตาย ที่ไม่รู้เลยว่าความตายจะมาเยือนพวกเขาเมื่อไร…

6 syria-war-documentary-film-cast

“เมื่อก่อนพวกเราที่นี่ไม่มีใครกล้าพูดเรื่องการเมืองกันจริงๆหรอก เราถูกห้ามไม่ให้คุยกันเรื่องพวกนั้น แม้แต่กับคนในครอบครัว ฉันคุยกับพ่อแม่ตัวเองไม่ได้ด้วยซ้ำไป เพราะเรากลัวกันว่าจะมีใครมาแอบฟัง แล้วอีกวันก็อาจจะมีใครมาเคาะประตูบ้าน แล้วจับพวกเราทั้งครอบครัวหายไปด้วยเพียงแค่เราคุยกันเรื่องการเมือง” เคลซ์เล่าถึงการกดขี่ในประเทศของเธอ ประเทศที่อ้างตัวต่อชาวโลกว่าเป็นประชาธิปไตย แต่กลับเต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนในแบบเผด็จการ

ในขณะที่โมว์ยาเล่าเสียดสีมากกว่านั้นว่า “แมวที่นี่ในสายตาชาวอเมริกันน่าจะมีค่ามากกว่าพวกเราอีกนะ เพราะมันมีสิทธิในการคุ้มครองสัตว์เข้มข้นกว่าคุ้มครองประชาชนในซีเรียนี่ซะอีก ไม่มีใครแคร์พวกเราหรอก คุณลองอัดคลิปวิดีโอแล้วอัพขึ้นยูทูบสิ เผลอๆอาจจะมีคนเป็นล้านแห่กันมาดูภายในชั่วโมงเดียว แต่ไม่มีใครสนใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ถ้าพวกอเมริกันเห็นคลิป เขาก็คงจะแปลกใจที่รู้ว่ามีแมวรอดชีวิตอยู่ในซีเรียด้วย แล้วก็อาจจะมีคนมาสมทบทุนช่วยเหลือแมวพวกนี้ แต่พวกเขาไม่สนใจคนด้วยกันหรอก”

อาจจะฟังดูเกินจริง แต่เหตุการณ์ย้อนแย้งทำนองนี้ก็เกิดขึ้นในหลายสังคม ไม่ว่าจะเป็นการกดขี่ หรือการเอื้ออาทรต่อหมาแมว มากกว่าเห็นคุณค่าชีวิตของคนในสังคมอื่น หรือคนที่อยู่ต่างขั้วความคิดทางการเมือง