ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่อผู้ก่อการร้ายทางศิลปะ ปะทะผู้ก่อการร้ายทางศิลปิน : Exit Through The Gift Shop

เมื่อผู้ก่อการร้ายทางศิลปะ ปะทะผู้ก่อการร้ายทางศิลปิน : Exit Through The Gift Shop

21 กรกฎาคม 2013


เหว่ยเฉียง

Banksy1

‘ผมภูมิใจที่ได้เป็นผู้ก่อการร้ายทางศิลปะ: แบงค์ซีศิลปินกราฟฟิตี้จอมลื่น ผู้บุกเข้าไปในเทท ให้ข้อมูลเชิงลึกที่ทำให้เขาถูกหมายหัว’ นั่นคือข่าวพาดหัวฉบับ 23 ตุลาคม 2003 ของอีฟเวนนิง สแตนดาร์ดแท็บลอยด์แจกฟรีในลอนดอน ที่ยิ่งกระหน่ำความขายขี้หน้าไปยังเทท ซึ่งไม่ใช่แค่ฉบับเดียว แต่เป็นทุกหัว ทุกช่องทีวี และเป็นข่าวกระฉ่อนโลก!

Banksy2

เทท (Tate) หอศิลป์แห่งชาติอังกฤษซึ่งรวบรวมทั้งผลงานแห่งบรรพชนและศิลปกรรมร่วมสมัย มีอันต้องด่างพร้อยเมื่อ แบงค์ซี ลอบบุกไปติดตั้งผลงานขนาดย่อมของตัวเอง ท่ามกลางงานศิลปินบันลือโลก โดยไม่มีใครจับตัวเขาได้ แถมเนื้อหาของภาพยังส่งเสียงสะท้อนสะเทือนลั่นทั้งวงการศิลปะ ทั้งประเทศชาติ และทั้งโลก! (ชมคลิปได้ที่นี่)

Banksy3

และเขาไม่หยุดแค่นั้น วีรกรรมเด่นของแบงค์ซีมีอีกมากมาย อาทิ รูปลิงชิมแปนซีในเครื่องทรงราชินีอังกฤษ พ่นคำว่า “โปรดระวัง (หรือ รังเกียจ) ความต่ำตม” (Mind the Crap เป็นการเล่นคำกับวลี Mind the Gap คำเตือนตามสถานีรถไฟใต้ดินในลอนดอน) ตรงบันไดทางเข้าหอศิลป์ ซึ่งรุ่งขึ้นกำลังจะมีพิธีมอบรางวัลศิลปกรรมแห่งชาติ, เพนท์ 7 ภาพ ตลอดแนวกำแพงยาว 425 ไมล์ ในเขตเวสต์แบงค์ ซึ่งกั้นระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ เพื่อตั้งคำถามว่าการกระทำของยูเอ็นที่สร้างกำแพงนี้ขึ้นมานั้นสมควรแล้วหรือไม่, ดัดแปลงภาพ Nighthawks ของเอ็ดเวิร์ด ฮ็อปเปอร์ศิลปินอเมริกัน เพื่อวิจารณ์ชาวฟุตบอลฮูลิแกนที่ชอบแสดงความป่าเถื่อนในที่สาธารณะ, ลอบติดตั้งประติมากรรมสำริดรูปเทพีแห่งความยุติธรรมแต่งตัวเป็นโสเภณีเลิกชายกระโปรงเผยให้เห็นสายคาดถุงน่องเหน็บแบงค์ดอลลาร์สหรัฐ สลักที่ฐานว่า ‘ไว้ใจไม่ได้สักคน’ ในเคลิร์กเคนเวลล์ กรีน พื้นที่ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งศาลยุติธรรม และเป็นที่ชุมนุมประท้วงในอดีต เพื่อก่นด่ากระบวนการยุติธรรมในอังกฤษ ฯลฯ

ประวัติศาสตร์ศิลปะต้องจารึก ข่าวเหล่านี้ไม่มีวันสูญหายไปจากโลกออนไลน์ เหนือสิ่งอื่นใด แบงค์ซีได้ยกระดับกราฟฟิตี้ที่ถูกหมิ่นว่าเป็นงานไร้ราคารากหญ้าข้างถนน ไปสู่การวิพากษ์ศิลปะขึ้นหิ้งชั้นครูทั้งหลายแหล่ และบัดนี้เรื่องราวเกือบทั้งหมดกลายเป็นหนังสารคดี Banksy: Exit Through The Gift Shop

Banksy4

สารคดีเรื่องนี้เปิดตัวในเทศกาลหนังซันแดนซ์ เข้าชิงรางวัลออสการ์ และคว้ารางวัลหลายสถาบัน ซึ่งแม้ว่าหนังจะกำกับโดยแบงค์ซีเอง แต่เขาก็ไม่เคยขึ้นรับรางวัลแม้แต่ครั้งเดียว หนังเล่าผ่านฟุตเตจของแทร์รี แกตตา ผู้อพยพชาวฝรั่งเศสที่มาเปิดร้านขายเสื้อผ้าในแอลเอ ก่อนที่แกตตาจะโดดเข้าแวดวงศิลปะ ด้วยการตามบันทึกการทำงานของบรรดาศิลปินสตรีทอาร์ต อาทิ อินเวดเดอร์ ศิลปินฝรั่งเศสผู้ทำงานโมเสครูปมนุษย์ต่างดาว นำไปปะติดตามจุดต่างๆ ในหลายประเทศ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย

Banksy5

เชพเพิร์ด แฟร์รี เจ้าของแคมเปญสตรีทอาร์ต Andre the Giant Has a Posse (อังเดรย์จอมพลังมีกองกำลัง) ซึ่งสเตนซิลเป็นภาพหน้านักมวยปล้ำติดไปตามเมือง เพื่อวิพากษ์การกดขี่โดยรัฐในประเทศต่างๆ ภายหลังแฟร์รีได้ผลิตออกมาเป็นเสื้อผ้ายี่ห้อ Obey ที่ขายดิบขายดีฮิตจนมี ของก็อปเกลื่อนจตุจักรและสีลม แต่เขาก็ไม่ทิ้งงานเพื่อมวลชน เมื่อรายได้ส่วนหนึ่งของสินค้า Obey นั้นบริจาคให้องค์กรการกุศลในนาม Obey Propaganda และแฟร์รีนี่เองที่ทำให้แกตตาพบศิลปินในดวงใจที่เขาเสาะหามาตลอด ‘แบงค์ซี’

Banksy6

แบงค์ซีอนุญาตให้แกตตาตามติดตลอดขั้นตอนทำงาน โดยทั้งเรื่องแบงค์ซีจะมาในชุดฮูดปิดหน้า และดัดแปลงเสียง จนกระทั่งงานเปิดนิทรรศการครั้งหนึ่งของแบงค์ซีนี่เอง ที่มีทั้งดาราอย่าง แบรด พิตต์, แองเจลินา โจลี, จูด ลอว์ และฝูงชนมหาศาลตบเท้ากันเข้าดูงานแบงค์ซี ที่ตัวงานเปิดเองได้กลายเป็นงานศิลปะ เมื่อสื่อต่างสนใจเล่นข่าวกรณีแบงค์ซีใช้ช้างจริงมาทาสีประกอบงานศิลปะ จนโดนองค์กรพิทักษ์สัตว์ประท้วง โดยแทบไม่มีสื่อใดสนใจประเด็นที่แบงค์ซีต้องการจะสื่อความ เกี่ยวกับปัญหาในสังคมโลกที่หนักหนาเหมือนช้างคับห้องแต่ไม่มีใครใส่ใจ กลายเป็นศิลปะเสียดสีไปทันทีเมื่อสารคดีเรื่องนี้เสียดสีสื่อมวลชนที่มุ่งแต่จะขายข่าว

มีผู้พยายามระบุตัวตนแบงค์ซีว่าอาจมีชื่อจริงว่า Robert Banks หรือไม่ก็ Robin Gunningham จากภาพที่ถูกแอบถ่ายระหว่างทำงาน ส่วนประวัติที่แบงค์ซียืนยันเองนั้น เขาเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อเป็นช่างอัดรูป แบงค์ซีถูกฝึกให้เป็นพ่อค้าแล่เนื้อ โดยทั้งชีวิตไม่มีโอกาสร่ำเรียนทางศิลปะเลย

Banksy7
ผู้ศึกษางานของแบงค์ซีให้ความเห็นว่า งานของเขาคล้ายของ เบลค เลอ แรท ศิลปินกราฟฟิตี้ในปารีส ที่ทำงานสเตนซิลในปี 1981 และงานของ เจฟ เอโรซอล ในช่วงปี 1982 (แบงค์ซีเริ่มผลิตงานในปี 1992) ผสมความเชื่อจากวงอนาร์โช พังค์ นามว่า Cress วงดนตรีพังค์ร็อคที่สมาทานความเชื่อทางอนาคิสต์ หรือกลุ่มผู้มีความเชื่อทางการเมืองที่ปฏิเสธหลักการของอำนาจรัฐ ที่เชื่อว่าอำนาจเป็นสิ่งทำลายหลักการของ ‘เสรีภาพ’ และ ‘ความเสมอภาค’ -ที่ใดมีอำนาจ ที่นั่นจะมีการครอบงำกดขี่ขูดรีด ทำให้คนกลายเป็นทาส และพวกเขาเชื่อว่าโดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์มีศักยภาพที่จะจัดการดูแลชีวิตตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งรัฐ ระบบสังคมเกิดขึ้นได้โดยธรรมชาติบนพื้นฐานของ ‘สามัคคีธรรม’ และ ‘สันติธรรม’ โดยไม่จำต้องมีกลไกของกฎหมายและการออกคำสั่ง แต่แบงค์ซีปฏิเสธว่า “ไม่หรอก ผมก็อปปี้ 3D แห่งวงแมสสิฟ แอทแทค จริงๆ แล้วเขาวาดรูปเป็นด้วย” (3D หรือโรเบิร์ท เดล นาจา นักดนตรีชาวอังกฤษอีกคนผู้สมาทานทางอนาคิสต์เช่นกัน)

The Banksy effect

The Banksy effect

แม้ว่าอนาคิสต์จะต่อต้านทุนนิยม ซึ่งแม้แต่ในหน้าช็อปของเว็บไซต์แบงค์ซียังประกาศว่ายินดีให้ดาวน์โหลดเอางานเขาไปขายต่อ หรือดัดแปลงเป็นงานศิลปะของคุณเองจะเพื่อการค้าหรือเพื่อศิลปะก็แล้วแต่ แต่สิ่งที่เสียดสีที่สุดคืองานของแบงค์ซีขายได้และขายดีด้วยในตลาดประมูล ทว่าทุกการขายนั้นตัวแบงค์ซีไม่เคยได้รับเงินเลยแม้แต่เก๊เดียว กรณีที่ทำให้การขายงานแบงค์ซีฮือฮาคือเมื่อ 19 ตุลาคม 2006 คริสตินา อากีเลรา ซื้อภาพราชินีวิคตอเรียเป็นเลสเบียน ในราคา 25,000 ปอนด์ นับแต่นั้นงานของแบงค์ซีก็ราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ ปรากฎการณ์นี้แม็กซ์ ฟอสเตอร์ นักข่าวซีเอ็นเอ็นได้นิยามคำว่า The Banksy effect อันหมายถึงการยกระดับสตรีทอาร์ตให้กลายเป็นของขายได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อศิลปินสตรีทอาร์ตรุ่นหลังจากแบงค์ซี ที่บางรายก็จงใจทำออกมาขาย บางรายก็ขายดีเมื่อเป็นข่าว

กรณีการขายงานแบงค์ซีนั้น ล่าสุดเมื่อปลายกุมภาพันธ์ ปีนี้ (2013) ไฟน์ อาร์ต ออคชัน ไมอามี บริษัทจัดประมูลในสหรัฐฯ ได้ทำการเลาะภาพ Slave Labor (แรงงานทาส) ออกจากกำแพงร้านค้าแห่งหนึ่งทางทิศเหนือของลอนดอน แล้วตั้งราคาประมูลเริ่มต้นไว้สูงถึง 4 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ (12 ล้านบาท) ส่งผลให้ชาวอังกฤษจำนวนมากแสดงความไม่พอใจ เนื่องจากพวกเขาเห็นว่าภาพนี้เป็นสมบัติสาธารณะไปแล้ว แม้ว่าผู้จัดประมูลจะยืนยันว่าได้รับภาพดังกล่าวมาอย่างถูกกฎหมาย ทว่าสุดท้ายการประมูลภาพนี้ก็ต้องยุติลงเพราะไม่อาจทัดทานเสียงประท้วงได้

Banksy9

Slave Labor เป็นภาพซิลค์สกรีนเด็กน้อยนั่งเย็บธงยูเนียนแจ็คของอังกฤษ โดยใช้ธงราวที่ถูกประดับในละแวกนั้นจริงๆ มาแปะประกอบ ตัวภาพเองนั้นอาจไม่มีความสำคัญอะไร ถ้าหากมิได้ถูกเพนท์ขึ้นไม่กี่วันก่อนพิธีพัชราภิเษกของสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่สอง ทำให้กลายเป็นภาพเสียดสีทางการเมืองไปทันที เมื่อพิธีเฉลิมฉลองใหญ่โตประดับประดาด้วยธงราวจำนวนมากนั้น แบงค์ซีวิพากษ์ว่าเสมือนการใช้แรงงานทาสที่จ่ายเศษเงินให้ชนชั้นแรงงาน เพื่อจัดฉลองใหญ่ให้ชนชั้นปกครอง

Banksy10

และ The Banksy effect นี้เองนี่เองที่กลายเป็นจุดพลิกผันของสารคดีเรื่องนี้ เมื่อกลางเรื่องจู่ๆ แทร์รี แกตตา ผู้ตามถ่ายแบงค์ซี ก็ดำริจะทำผลงานศิลปะของเขาเองบ้าง ในนามมิสเตอร์เบรนวอช (นายล้างสมอง) ก็ทำให้สารคดีเปลี่ยนมุมมองจากการเฝ้าดูแบงค์ซี ไปตามติดแกตตาแทน แกตตาซึ่งบัดนี้กลายเป็นศิลปินมักง่ายด้วยการเปิดแคตตาล็อกก็อปผลงานศิลปินคนอื่นมาดัดแปลง และแกตตาไม่ได้ทำเอง แต่มีทีมแต่งภาพมาทำให้ทั้งกระบวนการ เอาไปปิดทับตามตำแหน่งต่างๆ ที่ศิลปินชื่อดังคนอื่นเคยฝากผลงานไว้ สารคดีที่เหมือนจะเริ่มด้วยการกำกับของแกตตา จึงกลายเป็นงานกำกับของแบงค์ซีไปในที่สุด

แบงค์ซีเล่าต่อด้วยพิธีเปิดนิทรรศการในชื่อสุดโลกสวย Life is Beautiful ของแกตตา ที่ผู้คนหลั่งไหลมาด้วยสองเหตุผล 1. หนังสือพิมพ์หัวใหญ่มาทำข่าวนี้ 2. เขาประกาศแจกงาน 200 ก็อปปี้ ที่ตั้งราคาขายไว้แพงลิ่วฟรีๆ แก่ผู้เข้าชม มิสเตอร์เบรนวอชดังชั่วข้ามคืน จากที่เคยกำหนดว่าจะแสดงงาน 5 วัน กลายเป็น 2 เดือน จนมาดอนนาจ้างให้เขาออกแบบปกอัลบัมรวมเพลงฮิต Celebration ซึ่งไม่ต้องเดาเลยว่าเขาผลิตงานชิ้นนั้นด้วยตัวเองหรือไม่

แต่อย่าคิดว่าหนังจะมีท่าทีก่นด่าการกระทำของมิสเตอร์เบรนวอช แบงค์ซีออกจะเจาะจงถ่ายทอดความลั้ลลาของเบรนวอชอย่างน่าหมั่นไส้ด้วยซ้ำไป ยิ่งเมื่อท้ายเรื่องมิสเตอร์เบรนวอช แสดงอาการภูมิอกภูมิใจที่ได้ทั้งชื่อเสียงได้ทั้งเงินทอง แบงค์ซีก็ปิดท้ายหนังของตัวเองด้วยการสัมภาษณ์ศิลปินบางคนที่อึกอักต่อการให้ความเห็นเกี่ยวกับมิสเตอร์เบรนวอช และบ้างถึงกับใช้สิทธิ์งดออกเสียง ส่วนแบงค์ซีเองก็ขึ้นคำปิดท้ายสารคดีว่า ‘แบงค์ซีจะไม่ช่วยใครทำสารคดีเกี่ยวกับสตรีทอาร์ตอีกต่อไปแล้ว’ แล้วหากใครลองคลิกหน้าเพจ Mr.Brainwash ในเฟซบุค คุณก็จะพบเสียงแตกเป็นสองข้าง จากบรรดาพวกอ่อนเดียงสาทางศิลปะเข้าไปแห่แหนเมนต์ชื่นชม และพวกจงเกลียดจงชังที่เข้าไปกระหน่ำด่า

ก็ถ้าแบงค์ซีใช้งานศิลปะสื่อความหมาย เบรนวอชก็ได้ทำลายงานศิลปะให้กลายเป็นไร้ความหมาย หากแบงค์ซีเป็นผู้ก่อการร้ายทางศิลปะ เบรนวอชก็ได้กลายเป็นผู้ก่อการร้ายทางศิลปินอย่างไม่ต้องสงสัย

Banksy11

ดังประโยคคมของปาโบล ปิกัสโซ ที่สื่อว่า ศิลปินที่ดีนำส่วนดีจากผลงานของศิลปินคนอื่นมาดัดแปลง ปรับปรุงเป็นผลงานของตน แต่ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่นั้นนำสิ่งที่ดีที่ได้พบเห็นได้แรงบัลดาลใจมาคิดต่อยอดแล้วทำให้ดีกว่า จนผลิตผลงานราวกับว่างานชิ้นนั้นสดใหม่ไม่ได้ตามอย่างใครที่ว่า ‘ศิลปินที่ดีลอกเลียน ศิลปินยิ่งใหญ่ขโมย’ (Good artists copy. Great artists steal) ทว่าแบงค์ซีกลับกล่าวในผลงานชิ้นนึงที่แสดงในบริสตอลบ้านเกิดของเขาว่า ‘ศิลปินที่เลวเลียนแบบ ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ขโมย’ (The bad artists imitate, the great artists steal) ซึ่งการเล่นคำและเปลี่ยน . เป็น , นั้นแฝงนัยเพิ่มไปอีกว่า ‘ศิลปินชั้นเลวเลียนแบบการขโมยของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่’…นับเป็นวาทะที่ผู้ก่อการร้ายทางศิลปะอย่างแบงค์ซีได้มาจากประสบการณ์ตรง

Poster (1)