ThaiPublica > คอลัมน์ > Pussy Riot: A Punk Prayer เธอสู้เพื่อเสรีภาพ

Pussy Riot: A Punk Prayer เธอสู้เพื่อเสรีภาพ

27 พฤศจิกายน 2013


เหว่ยเฉียง

pussy riot

“Pussy เป็นคำปีศาจ มันแปลว่าลูกแมว แต่ก็หมายถึงมดลูกผู้หญิงได้ด้วย…ทางที่ดีชื่อวงนี้ควรแปลว่า ‘จิ๋มวิกลจริต’ นะ!” “พวกเธอต่อต้าน ‘ออร์ธอดอกซ์’ อันเป็นนิกายที่ประเทศรัสเซียเรานับถือกัน ถ้าไม่มีออร์ธอดอกซ์ป่านนี้พวกเราตายกันไปนานแล้วล่ะ” “พวกเธอต่อต้านมุมมองของเพศชายในโลกนี้ ถ้าอยากจะมีชีวิตอยู่โดยไม่มีผู้ชายนักล่ะก็ ควรอพยพไปอยู่ในป่าดงดิบซะ” “พวกเธอเข้ามายุ่งเกี่ยวกับความเชื่อของพวกเรา แบบนี้เราควรให้อภัยหรือลงโทษกันล่ะ…ลงโทษก่อนแล้วค่อยให้อภัย ถ้าพวกเธอสำนึกผิดนะ”

 พุซซี ไรออต แสดงคอนเสิร์ตบนแท่นบูชาในวิหาร
พุซซี ไรออต แสดงคอนเสิร์ตบนแท่นบูชาในวิหาร

เหล่านี้คือความคิดเห็นของบรรดากลุ่มศาสนิกผู้เอือมระอาต่อพฤติกรรมที่วงพังค์ร็อกหญิงล้วน พุซซี ไรออต (Pussy Riot) เคยกระทำมา โดยเฉพาะต่อกรณีอื้อฉาวเมื่อสาวๆ กลุ่มนี้บุกเข้าไปเต้นแร้งเต้นการ้องเพลงโหวกเหวกหน้าแท่นบูชาใน Cathedral of Christ the Savior (คำไทยน่าจะตรงกับคำว่า วิหารพระมหาไถ่) กลางกรุงมอสโก เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2012 อันเป็นเนื้อหาสำคัญของสารคดีรัสเซียนเรื่องนี้ Pussy Riot: A Punk Prayer (2013) ของมิเก เลร์นีร์ และมักซิม โปซ์โดโรสกิน

สาเหตุที่พวกเธอเลือกวิหารแห่งนี้ ก็เพื่อประกาศจุดยืนและแสดงความไม่พอใจต่อการที่ฝ่ายรัฐบาลสมคบคิดกับฝ่ายศาสนามาฉกฉวยใช้ประโยชน์ในการสร้างภาพลักษณ์ โดยในหนังได้ระบุประวัติศาสตร์ของวิหารแห่งนี้ไว้ว่า ‘หลังการปฏิวัติสมัยรัฐบาลพรรคบอลเชวิก (ภายใต้การนำของเลนิน) ในปี 1917 รัฐบาลสมัยนั้นได้ดำเนินนโยบายต่อต้านศาสนาขึ้น เป็นเหตุให้ในปี 1931 ตัวอาคารโบสถ์แห่งนี้ถูกทำลายลง แล้วใช้พื้นที่นั้นแปลงไปเป็นสระว่ายน้ำสาธารณะ จนกระทั่งหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1990 แล้ว คริสตจักรแห่งนี้ก็ถูกสร้างขึ้นมาใหม่อีกครั้ง’

อัครบิดร กิริลล์ กุนดยาเยฟ (ซ้าย) และประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน (ขวา)
อัครบิดร กิริลล์ กุนดยาเยฟ (ซ้าย) และประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน (ขวา)

ประเด็นนี้ยังต่อเนื่องมาในแถลงการณ์ ของพวกเธออีกด้วยว่า “เมื่อครั้ง กิริลล์ กุนดยาเยฟ อดีตเพื่อนร่วมงานของประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน สมัยที่พวกเขาเคยเป็นสายลับเคจีบีด้วยกันมาก่อน ได้ขึ้นรับตำแหน่งเป็นอัครบิดร (Patriarch ผู้นำสูงสุดฝ่ายออร์โธดอกซ์ เทียบเท่าพระสังฆราช) แห่งคริสตจักรออร์โธดอกซ์รัสเซีย วิหารแห่งนี้ก็ได้กลายมาเป็นยุทธวิธีสำคัญในการเอื้อประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐ”

โดยพวกเธอเชื่อว่าปูตินได้ช่วงชิงเอาศาสนาที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวรัสเซีย ซึ่งในอดีตสมัยยังปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ ฝ่ายจักรวรรดิเคยต่อสู้ชิงอำนาจกับฝ่ายศาสนจักรมาโดยตลอด แต่ในยุคนี้ปูตินกลับเห็นช่องทางหาประโยชน์จากการที่ศาสนาเคยถูกทำลายล้างในสมัยบอลเชวิก เอามาใช้สร้างภาพลักษณ์ว่าปูตินเป็นผู้ทำนุบำรุงศาสนา ใช้ศาสนาเป็นเครื่องเสริมแรงศรัทธาให้กับตัวปูตินเอง โดยนอกจากจะส่งให้เพื่อนตัวเองไปดำรงตำแหน่งสำคัญทางศาสนจักรแล้ว ยังมีการถ่ายทอดสดศาสนพิธีอย่างต่อเนื่องบ่อยครั้งคราวละหลายชั่วโมง เพื่อกล่อมเกลาสร้างภาพคุณงามความดี รวมถึงอีกประเด็นน่าสนใจที่พวกเธอบอกไว้ในหนังก็คือ “บนแท่นบูชานั้นเป็นที่สงวนศักดิ์สิทธิ์ไว้สำหรับเพศชายเท่านั้น ทั้งที่ในประวัติศาสตร์แล้วผู้หญิงก็สามารถขึ้นไปยืนอยู่บนนั้นได้เหมือนกัน”

จากซ้าย คาเตีย, นาเดีย และมาชา
จากซ้าย คาเตีย, นาเดีย และมาชา

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ส่งผลให้พวกเธอทั้งสาม อันประกอบด้วย นาเดซดา โทโลคอนนิโควา (นาเดีย), เยคาเทรินา ซามุตเซวิช (คาเตีย) และมาเรีย อเลคินา (มาชา) ถูกจับขังคุกทันที ทั้งที่กระบวนการยุติธรรมโดยปกติต้องมีการไต่สวนก่อนการคุมขัง โดยต่อมาศาลได้ลงอาญาพวกเธอด้วยการจำคุก 3 ปี (ภายหลังหนึ่งในนี้ได้รับการปล่อยตัวและรอลงอาญา) ด้วยข้อหาว่าเป็นอันธพาลก่อภัยคุกคาม และกระทำการดูหมิ่นศาสนา

ก็มีหลายฝ่ายได้ให้ความเห็นว่า แท้จริงแล้วพวกเธอไม่ได้ต่อต้านศาสนา และการเป็นกลุ่มเฟมินิสต์ของพวกเธอก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นพวกต่อต้านเพศชาย หากแต่เพียงต้องการวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความคิดเห็น เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักรู้ถึงข้อเท็จจริงที่ว่าฝ่ายการเมืองได้ใช้ศาสนามาเป็นเครื่องมือสร้างภาพลักษณ์ และสมควรถึงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อบังคับซึ่งแสดงถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ ดังจะเห็นได้จากคำพูดเหยียดหยามที่ฝ่ายศาสนิกได้ประณามพวกเธอเอาไว้ว่า (ซึ่งอยู่ในต้นบทความ) “Pussy เป็นคำปีศาจ…หมายถึงมดลูกผู้หญิงได้ด้วย” อันเป็นข้อน่าข้องใจว่ามดลูกนั้นเป็นสิ่งชั่วราวปีศาจร้ายได้อย่างไรกัน

คอนเสิร์ตครั้งหนึ่งบนจัตุรัสแดง อันเป็นที่ชุมนุมทางการเมืองในทุกยุคสมัย
คอนเสิร์ตครั้งหนึ่งบนจัตุรัสแดง อันเป็นที่ชุมนุมทางการเมืองในทุกยุคสมัย

สารคดีเรื่องนี้ถ่ายทอดความคิดเห็นทั้งสองทาง ทั้งกลุ่มศาสนิกเอง และกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยต่อนโยบายของปูติน รวมไปถึงขุดคุ้ยชีวิตในวัยเด็กของแต่ละนาง ด้วยการตามไปสัมภาษณ์สามี และพ่อแม่ของพวกเธอ ที่ในด้านหนึ่งก็อาจมองว่าความคิดและการกระทำของพวกเธอนั้นขวางโลก หรือพูดจาไม่รู้เรื่องราวกับคนบ้า แต่ในอีกมุมก็กลับแสดงความชาญฉลาดได้อย่างมีสติปัญญาในการท้าทายอำนาจรัฐ รวมถึงได้เห็นมุมมองของเหล่าศาสนิกด้วยว่า ทำไมพวกเขาจึงมั่นคงในความศรัทธา และเห็นว่าการกระทำของพวกพุซซี ไรออตเป็นความผิดบาป

มาดอนนาเขียนชื่อวงของพวกเธอบนคอนเสิร์ตในมอสโก
มาดอนนาเขียนชื่อวงของพวกเธอบนคอนเสิร์ตในมอสโก

พ่อของนาเดียได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมของพุซซี ไรออตไว้ว่า “มันเหมือนโยนหินลงน้ำ แล้วเกิดวงคลื่นเล็กๆ พอโยนบ่อยๆ เข้า มันก็กลายเป็นสึนามิได้เหมือนกัน” ถึงตอนนี้ กรณีนี้ก็ได้กลายเป็นคลื่นยักษ์ไปแล้วจริงๆ เมื่อในรัสเซียเองกลุ่มศาสนิกต่างรุมประณามพวกเธอ ทว่า ภายนอกประเทศกลับก่อกระแสไปยังอีกหลายสังคม ไม่ว่าจะใน อัมสเตอร์ดัม นิวยอร์ค บรัสเซล ดับลิน ฯลฯ รวมถึงคลิปยูทูบ และกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงอีกมหาศาลที่ต่างออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลรัสเซียปล่อยตัวพุซซี ไรออต ออกจากคุก และครั้งหนึ่งบนเวทีคอนเสิร์ตในมอสโก มาดอนนา ราชินีปอปแดนซ์ ก็ได้ร้องเพลง Like A Virgin และเขียนชื่อพุซซี ไรออตไว้กลางหลัง และโยโกะ โอโนะ (ศิลปินและภรรยาของจอห์น เลนนอน ผู้ล่วงลับ แห่งวง The Beatles) ก็ได้โพสต์ทวีตถึงปูตินว่า “ท่านปูตินเจ้าคะ คุณคือคนฉลาด คงไม่อยากต่อสู้กับบรรดานักดนตรีทั้งหลายหรอกนะคะ” และยังส่งผลให้หนังเรื่องนี้ได้รับรางวัลสเปเชียล จูรี (หรือขวัญใจกรรมการ) จากเทศกาลหนังซันแดนซ์อีกด้วย

กลุ่มผู้ต่อต้านทวีจำนวนขึ้นเป็นเท่าตัว
กลุ่มผู้ต่อต้านทวีจำนวนขึ้นเป็นเท่าตัว

ในท้ายเรื่อง นาเดียได้อ่านเนื้อหาในบทเพลงของเธอต่อหน้าบัลลังก์ผู้พิพากษาว่า “เปิดประตูทุกบานออก ปลดเปลื้องยูนิฟอร์มของพวกท่านซะ แล้วมาลองลิ้มรสชาติของเสรีภาพร่วมกันกับเราสิ” อันเป็นท่อนเพลงที่ช่างเสียดสี เพราะขณะที่เธอกำลังพูดถึงเสรีภาพ แต่กลับถูกจองจำอยู่ในคุก ตรงนี้ในหนังเธอบอกด้วยว่า

“พวกเราชนะ เพราะคุกไม่อาจกักขังจิตวิญญาณ หรือเปลี่ยนแปลงความเชื่อทางการเมืองของพวกเราได้เลย”

ชมหนังตัวอย่างหรือติดตามข่าวสารและร่วมลงนาม เพื่อปลดปล่อยพวกเธอได้ที่