ThaiPublica > คอลัมน์ > PPP: ทางออกที่ไม่ควรมองข้าม

PPP: ทางออกที่ไม่ควรมองข้าม

1 กันยายน 2013


หางกระดิกหมา

ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและเอกชน (Public Private Partnership) หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “PPP” นั้น ถือเป็นเป็นกลไกอย่างหนึ่งที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสร้างจัดทำโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ (Infrastructure) ได้เป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ที่มาของ PPP ก็คือ เดิมทีนั้นรัฐต้องเป็นเจ้าภาพอยู่ผู้เดียวในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศ เพราะคนคิดว่ารัฐนั้น “แสนดี แสนเก่ง” ดังนั้นโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของประเทศอันเป็นเรื่องสำคัญไม่ว่าพลังงาน การสื่อสาร คมนาคม ฯลฯ จึงยกให้รัฐเป็นคนดูแล อีกทั้งในเมื่อรัฐนั้นยัง “แสนรวย” ด้วยเงินภาษี การลงทุนก้อนใหญ่ๆ ที่เอกชนอาจไม่ค่อยกล้าทำนั้นก็ให้รัฐทำไปเสียเลยด้วย

อย่างไรก็ดี พอผ่านไปนานๆ เข้า คนก็รู้ไปเองว่าคิดผิด เพราะนอกจากรัฐจะไม่เก่งแล้วยังโกงอีกต่างหาก เรื่องที่รวยก็ชักไม่แน่อีก เพราะการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องที่กินทุนมหาศาลแม้แต่กับรัฐเอง ไปๆ มาๆ จึงกลับมาเกิดแนวคิดการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นผู้สร้างและให้บริการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานแทนรัฐ โดยประโยชน์หลักๆ ของ PPP นั้นพอจะยกมาได้ดังต่อไปนี้

หนึ่ง คือ เอกชนจะช่วยแบกรับต้นทุนแทนรัฐบาล

อย่างที่รู้กัน เงินงบประมาณนั้น ถึงแม้ว่าจะมาก แต่เรื่องที่จะต้องจ่ายยิ่งมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ เพื่อรองรับเศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้นหรือสนองตอบความต้องการที่หลากหลายขึ้น หรือการซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานที่ชำรุดไป ดังนั้น นับวันรัฐก็มีแต่จะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น การให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน จึงถือเป็นการไขก๊อกเปิดรับเอาเงินทุนจากทั้งจากในและนอกประเทศเข้ามาแบ่งเบาภาระรัฐและลดปริมาณเงินที่รัฐจำเป็นต้องกู้เพื่อเอามาจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน และช่วยให้รัฐเกิดความคล่องตัวในการโยกย้ายทรัพยากรไปดำเนินการในโครงการอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต่อไป และอาจทำให้เราไม่ต้องเผชิญกับปัญหาการต้องยุบโรงเรียนขนาดเล็กเพราะงบไม่พออย่างในทุกวันนี้

สอง คือ เอกชนจะช่วยผลักดันให้มีการทำรายงานศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการที่ได้มาตรฐาน

ปัญหาของการลงทุนภาครัฐก็คือว่า รัฐไม่มีอะไรจะเสีย หนึ่งก็เพราะโครงการจะเจ๊งหรือไม่เจ๊งเป็นเรื่องของอนาคตอีกหลายปี ซึ่งอาจจะเปลี่ยนรัฐบาลไปแล้ว หรือแม้หากรัฐบาลยังอยู่ รัฐก็ยังมีเงินภาษีสำหรับฉุดกระชากลากถูโครงการที่ทำท่าจะไม่รอดไปจนได้ ซึ่งนี่ทำให้รัฐไม่เคยตั้งใจทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการต่างๆ อย่างจริงจังเพราะนึกว่าตัวเองอยู่ยงคงกระพัน ปลงใจจะทำโครงการอะไรแล้วก็มุทะลุทำไปอย่างไม่กลัวความเสี่ยง อย่างไรก็ดี เอกชนไม่มีสิทธิจะมุทะลุหรือดีดลูกคิดรางแก้วได้อย่างนี้ เพราะลงทุนไปแล้ว จะกำไรหรือขาดทุน เอกชนคนเดิมนั้นเองจะต้องเป็นผู้รับผลของการลงทุนเต็มที่ ดังนั้น เมื่อเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน เอกชนย่อมจะเข้ามากำกับให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการอย่างเข้มข้นจริงจัง (เพราะเป็นสิ่งที่เขาจำต้องใช้นำมาเป็นข้อมูลในการประเมินความเสี่ยง) ทำให้ปัญหาการลงทุนที่ผิดพลาดหรือสิ้นเปลืองอันเนื่องมาจากการศึกษาความเป็นไปได้ที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะจำพวกที่มักอ้างข้อมูลที่สวยหรูเกินจริงมาสนับสนุนการลงทุนที่ไม่มีความคุ้มค่าน่าจะลดน้อยลง

สาม คือ เอกชนจะช่วยปรับปรุงการลงทุนและการดำเนินการโครงการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เนื่องด้วยเอกชนนั้นเข้ามาร่วมทุนกับรัฐก็เพราะหวังจะทำกำไร แต่ในเมื่อกำไรนั้นจะเกิดได้ก็ต้องมาจากการลงทุนและการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพเป็นสำคัญ ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานภายใต้การบริหารของเอกชนย่อมจะถูกปลุกปั้นจนมีคุณภาพสูง ต้นทุนต่ำ โดยเฉพาะหากมีการวางโครงสร้างของ PPP ให้เอกชนที่เข้ามาร่วมกับรัฐบาลมีหลายเจ้า ไม่ผูกขาด เอกชนแต่ละเจ้าก็ยิ่งจะต้องถูกบีบคั้นให้ดำเนินกิจการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีราคาถูกยิ่งขึ้นเพื่อแข่งขันกัน ประโยชน์จึงตกกับผู้บริโภค

รวมถึงกับรัฐเองซึ่งจะไม่ต้องคอยต่อลมหายใจให้กับกิจการของรัฐที่บริหารไปไม่ค่อยรอดด้วยเงินภาษีอยู่เรื่อยๆ อีกต่อไป

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ น.ส.พ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 11 พฤษภาคม 2556