ThaiPublica > เกาะกระแส > ทีดีอาร์ไอขออำนาจศาลพิสูจน์คดีนักวิชาการถูกฟ้องหมิ่น ยันปัญหา “ซิมดับ” ควรดีเบตเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ทีดีอาร์ไอขออำนาจศาลพิสูจน์คดีนักวิชาการถูกฟ้องหมิ่น ยันปัญหา “ซิมดับ” ควรดีเบตเพื่อประโยชน์สาธารณะ

22 กันยายน 2013


ข่าวจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

จากกรณี กสทช. ฟ้องนักวิชาการและสื่อมวลชน คือ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผอ.วิจัยทีดีอาร์ไอ และ น.ส.ณัฐฐา โกมลวาทิน ผู้ประกาศข่าวไทยพีบีเอส และต่อมาวันที่ 19 กันยายน 2556 ปรากฏข่าวในสื่อมวลชนอย่างแพร่หลายว่า นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่าจะมีผู้ถูกฟ้องรายหนึ่งไปพูดคุยเจรจากับ กสทช. เพื่อให้มีการถอนฟ้อง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า รู้สึกแปลกใจมากเมื่อได้ยินข่าวนี้ และจากการตรวจสอบจากเฟซบุ๊กของนางสาวณัฐฐา โกมลวาทิน หนึ่งในผู้ถูกฟ้อง ยืนยันว่าไม่ได้มีความคิดใดๆ ที่จะไปเจรจากับ กสทช. เพราะได้ทำหน้าที่ตามหลักวิชาชีพ ในส่วนของนักวิชาการคือ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผอ.วิจัยของทีดีอาร์ไอ ยืนยันว่าไม่มีความคิดที่จะไปเจรจาเพื่อให้ กสทช. ถอนฟ้องเช่นกัน นอกจากนี้ เฟซบุ๊กของนายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการไทยพีบีเอส ก็ระบุชัดเจนว่าไม่มีแนวทางจะไปเจรจาเพื่อให้มีการถอนฟ้อง เพราะทั้งทีดีอาร์ไอในฐานะนักวิชาการและไทยพีบีเอสในฐานะสื่อมวลชนต่างได้ทำหน้าที่ตามหลักวิชาการและหลักวิชาชีพของตัวเอง จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปขอร้องให้มีการถอนฟ้อง ฉะนั้นจึงประหลาดใจอย่างยิ่งที่ กสทช. ให้ข่าวดังกล่าวโดยเลขาธิการ กสทช. ระบุว่า นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เป็นผู้ให้ข่าวว่าจะมีผู้ที่ถูกฟ้อง 1 ราย จะไปเจรจาเพื่อให้มีการถอนฟ้อง ซึ่งเมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ข้อสรุปที่ไม่น่าจะคลาดเคลื่อนว่า 1 ใน 2 คนนี้คนใดคนหนึ่งน่าจะให้ข้อมูลที่ไม่จริงต่อสาธารณชน

“ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เพราะบุคคลทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ การให้ข้อมูลในเรื่องที่ไม่จริงและสามารถตรวจสอบได้ง่ายๆ ว่าเป็นจริงหรือไม่ก็ยังไม่ได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นถ้าเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มากๆ และประชาชนไม่ค่อยเข้าใจ จะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะให้ข้อมูลกับสาธารณชนอย่างถูกต้อง”

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า ในส่วนของทางทีดีอาร์ไอ ยืนยันว่าเป็นการทำหน้าที่ของนักวิชาการ หาก กสทช. อยากจะถอนฟ้องก็สามารถดำเนินการได้เอง ทางนักวิชาการและสื่อมวลชนทั้งสองคนไม่ได้มีแนวคิดที่จะไปเจรจาในที่ลับ หากจะมีการพูดคุยใดๆ อยากให้เป็นการเปิดเวทีสาธารณะพูดคุยกันถึงความถูกต้องเหมาะสมของการที่ กสทช. ไปขยายอายุการใช้สัมปทานคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะพูดกันในที่แจ้ง

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานทีดีอาร์ไอ
ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานทีดีอาร์ไอ

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า การที่คดีไปสู่ศาลนั้น ในมุมหนึ่งแม้จะทำให้เกิดความยุ่งยากเสียเวลากับผู้ถูกฟ้องทั้งสอง แต่ก็เป็นโอกาสอันดีที่จะได้นำเรื่องนี้เข้าสู่ขั้นตอนของศาลซึ่งจะสามารถใช้อำนาจของศาลในการเรียกข้อมูลและเอกสารต่างๆ ซึ่งเคยเป็นความลับยังไม่ถูกเปิดเผยโดยสำนักงาน กสทช. ออกมาเป็นข้อมูลสาธารณะ และเมื่อถึงเวลานั้นเชื่อว่าประชาชนจะได้ทราบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมีที่มาที่ไปอย่างไร

ขณะเดียวกัน การออกมาให้ข่าวของ กสทช. ทั้งสองคน หากเป็นจริงตามที่เป็นข่าวก็ควรอย่างยิ่งที่ กสทช. ทั้งสองคนจะต้องออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่าผู้ใดอ้างใครไปติดต่อกับท่าน คนจึงเอามากล่าวอ้างว่ามีความพยายามว่าสื่อมวลชนและนักวิชาการที่ถูกฟ้องจะไปเจรจาต่อรองเพื่อให้ถอนฟ้อง

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า สิทธิเสรีภาพทางวิชาการและสิทธิเสรีภาพของสื่อเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ และการทำหน้าที่ของนักวิชาการและสื่อในกรณีแบบนี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการคุ้มครองจากสังคม และเชื่อว่าเรื่องนี้จะเป็นบทเรียนในอนาคตที่จะชี้ให้เห็นว่า หากสิทธิของสื่อและนักวิชาการถูกคุกคามไปแล้วทำให้ไม่สามารถตรวจสอบองค์กรของรัฐที่บริหารเม็ดเงินบริหารผลประโยชน์เป็นแสนล้านต่อปีได้คนที่จะเสียก็คือประชาชน เพราะประชาชนก็จะไม่ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่ควรได้รับทราบ

อย่างกรณีคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ ซึ่งมีความซับซ้อนจนนำมาสู่การฟ้องร้องนั้น พูดง่าย ๆ คือ คลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ เป็นคลื่นที่ใช้กับสัมปทานโทรศัพท์ 2G (มีคนจำนวนมากใช้งานอยู่) แต่สามารถนำไปใช้กับ 4G ได้ด้วย ซึ่งโทรศัพท์ 4G จะสามารถสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงได้ การที่ กสทช. โดย กทค. ได้ไปต่ออายุการใช้คลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ ให้กับบริษัทเอกชนสองราย มีผลทำให้หมดโอกาสที่จะเอาคลื่นนั้นไปใช้กับ 4G ซึ่งมีประโยชน์กับสังคมมากกว่า ซึ่งหากมีการยืดออกไปอีก 1 ปี อย่างที่ปรากฏ ความเสียหายที่จะเกิดคือประเทศไทยจะได้ใช้บริการ 4G ล่าช้าออกไป 1 ปี และที่สำคัญ มีการตั้งคำถามจากนักวิชาการด้านกฎหมายที่มีชื่อเสียงหลายคนถึงการดำเนินการดังกล่าวของ กสทช. ว่าดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตนคิดว่าคำถามที่ กสทช. ต้องตอบในกรณีนี้ก็คือ การดำเนินการของ กสทช. นั้นได้ปรึกษาหารือกับหน่วยงานภายนอก เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือแม้กระทั่งที่ปรึกษากฎหมายภายใน คือ อนุกรรมการด้านกฎหมายของ กสทช. หรือไม่อย่างไร

สำหรับสัมปทานคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ ที่หมดอายุสัมปทานไปเมื่อวันที่ 15 กันยายน ที่ผ่านมานั้น ตามกฎหมาย กสทช. การใช้คลี่นความถี่จะต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช. โดย กสทช. และผู้ที่ใช้อำนาจ กสทช. ซึ่งรวมถึง กทค. ด้วย หากทราบว่ามีการใช้คลื่นความถี่โดยผู้ประกอบการโดยไม่ได้รับอนุญาต กสทช. หรือผู้ใช้อำนาจ กสทช. หากละเว้นก็จะมีความผิด ถ้าไม่ผิดตามมาตรา 157 กฎหมายก็กำหนดไว้ว่าให้มีความผิดฐานละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย กสทช. ด้วย กสทช. จึงควรเร่งแก้ไขการดำเนินการที่น่าจะผิดพลาดให้กลับมาโดยเร็วที่สุดและด้วยความโปร่งใส

สิ่งที่ กสทช. ควรทำ คือ การเปิดเผยผลการศึกษาของอนุกรรมการที่ กสทช. ตั้งขึ้นและปรึกษาหารือหน่วยงานด้านกฎหมายต่างๆ ก่อนจะดำเนินการที่จะผิดพลาดมากไปกว่านี้ และโดยส่วนตัวตนเห็นว่า กสทช. ควรเปิดเวทีพูดคุยสาธารณะกับนักวิชาการฝ่ายต่างๆ และกลุ่มผู้บริโภค เพื่อค้นหาว่าจะมีวิธีการเยียวยาปัญหานี้ร่วมกันอย่างไรในอนาคต

ขณะที่นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช.ด้านคุ้มครองด้านคุ้มครองผู้บริโภคและการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ได้เสนอวาระต่อที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 9/2556 เมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมา เพื่อเสนอเป็นวาระเพื่อพิจารณากรณีการยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อนางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และนางสาวณัฎฐา โกมลวาทิน จากกรณีการวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านและไม่เห็นด้วยต่อร่างประกาศ กสทช.เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ…..และนำเสนอข่าวดังกล่าวในการรายการ “ที่นี่ Thai PBS” ทั้งสองคน ได้ตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอเพื่อให้กสทช.พิจารณา (อ่านรายละเอียดวาระเสนอต่อที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 9/2556 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2556)