ThaiPublica > คนในข่าว > “วรากรณ์ สามโกเศศ” เล่าวิถีนักคิด นักอ่าน นักเขียน และนักการศึกษาแบบไทยๆ

“วรากรณ์ สามโกเศศ” เล่าวิถีนักคิด นักอ่าน นักเขียน และนักการศึกษาแบบไทยๆ

13 สิงหาคม 2013


ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

ด้วยบุคลิกที่ดูสบายๆ อ่านง่ายๆเหมือนบทความที่เขียน ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ นักคิด นักเขียน นักวิจารณ์ อาจารย์ของลูกศิษย์มากมาย เดินเข้ามาในชุดเสื้อเชิ้ตสีขาว เนคไทสีอ่อน และกางเกงสแลคสีดำพอดีตัว ไม่สวมเสื้อสูททับ พร้อมกับมีไอแพดเป็นวัตถุชิ้นเดียวที่ถือติดตัวมา ใบหน้าเปื้อนยิ้มส่งมาทักทายเราทันทีในขณะเดินมานั่งเก้าอี้เพื่อให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทยพับลิก้า

“อาจารย์” สรรพนามที่ผู้คุ้นชินมักจะเรียกขาน อาจารย์ทักทายพร้อมเปิดไอแพดตรงหน้า การพูดคุยจากสารทุกข์สุกดิบก็กลายเป็นการเล่าเรื่องราวอื่นๆ ที่ต่อกันเป็นเรื่องราวพาไป

จากเรื่องราวของคนทำข่าว ไปถึงเรื่องราวของคนอ่านข่าว รสนิยมการเสพข่าว นำเสนออย่างไรให้โดน ในฐานะนักคิด นักเขียน และนักวิจารณ์สังคมมานานกว่า 30 ปี อาจารย์มองว่าคนไทยในปัจจุบันมีความสนใจประวัติศาสตร์มากขึ้น มีความรู้เรื่องดนตรีและละครมากขึ้น อย่างละครเวที เดอะ แฟนธอม ออฟ ดิ โอเปรา เห็นได้ชัดว่ามีผู้เข้าชมจำนวนมากแม้ว่าบัตรราคาแพง อีกทั้งวัฒนธรรมในการดูละครเวทีก็ดีขึ้น คือพอละครเวทีเริ่มแสดงทั้งห้องก็จะเงียบหมด ไม่มีเสียงคนคุยหรือเสียงถุงพลาสติกเลย

เมื่อพูดถึงรัฐบาล อาจารย์บอกว่าประเทศไทยน่าจะมีผู้ที่กล้าเปิดโปงรัฐบาลบ้าง อย่างเช่นเรื่องจำนำข้าว เชื่อว่ามีข้าราชการหลายคนที่อยากจะพูดเพราะมีความลับคับอกมาก และพร้อมที่จะให้ข้อมูลโดยไม่เปิดตัว

เหมือนอย่างอเมริกาก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่ออกมาเปิดโปงรัฐบาล เช่น วิกิลีกส์ เพราะเขาเชื่อว่าประชาธิปไตยต้องอยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใส ในขณะเดียวกันก็ต้องมีเสรีภาพด้วย แต่การที่รัฐบาลมีแฮกเกอร์จำนวนมากและมีระบบคอยติดตามการเคลื่อนไหวของประชากรนั้นเป็นการทำลายประชาธิปไตย จึงออกมาเตือนให้คนทั้งโลกรู้ว่ารัฐบาลทำเรื่องละเมิดสิทธิแบบนี้อยู่

อเมริกาเอาข้อมูลอินเทอร์เน็ตของคนทั้งโลกมาจัดระบบเพื่อหาข้อมูลว่าตอนนี้ใครกำลังทำอะไร ดังนั้น เราจึงต้องใช้อินเทอร์เน็ตอย่างระมัดระวัง ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ สไกป์ เพราะว่ามันล่อนจ้อน สามารถวิเคราะห์ได้หมดทุกอย่าง

กรณี “โครงการปริซึม” ของอเมริกา ลงทุนเป็นพันๆ ล้านเหรียญ เพื่อวิเคราะห์หาคนร้ายจากข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์ หรือการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยหา pattern จาก noise เช่น จับคนร้ายที่ทุจริตทาง ATM ได้เพราะมี pattern คือ ถอนเงินเต็มขั้นที่สามารถกดจากตู้ ATM ได้ และถอนทุกวันต่อเนื่อง หรือจับผู้ร้ายคดียาเสพติดจากการดักฟังการคุยโทรศัพท์ของคน โดยมี pattern ว่าโทรหาเบอร์เดิม เวลาเดิม และมีคำพูดเดิมๆ ที่ตรงกับคีย์เวิร์ดที่ใส่ไว้ หรือการหาผู้ก่อการร้าย โดยวิเคราะห์ภาพการเคลื่อนไหวของร่างกายจากจอโทรทัศน์หรือกล้องวงจรปิด เป็นต้น

อย่าง เฟซบุ๊กไทยทุกชิ้นจะถูกส่งไปที่อเมริกาก่อนแล้วค่อยกลับมาแสดงผลที่ไทย ดังนั้นใครจะส่งภาพอะไร พูดถึงใคร อเมริกาจึงตรวจได้หมด เพราะบริษัทคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และเว็บไซต์ต่างๆ ต้องให้ข้อมูลผู้ใช้บริการกับรัฐบาลอเมริกาทั้งหมดฟรีๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย ไม่ว่าจะเป็น กูเกิล ฮอตเมล เฟซบุ๊ก ฯลฯ รวมถึงข้อมูลโทรศัพท์ด้วย หากบุคคลนั้นคือบุคคลเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นคนในประเทศหรือต่างประเทศของอเมริกาก็ตาม เพราะเขาถือว่าเป็นความปลอดภัยของประเทศชาติ ซึ่งคนอเมริกาเองก็สนับสนุนการกระทำนี้เพราะเขากลัวว่าเหตุการณ์ 9/11 จะเกิดขึ้นอีกครั้ง

ถ้าถามว่ากว่า 30 ปีที่เป็นนักคิด นักเขียน มีการวางแผนการทำงานอย่างไร อาจารย์วรากรณ์เล่าว่า “ผมหาข้อมูลโดยการอ่านเองทั้งหมด อย่างเวลาอ่านหนังสือพิมพ์ ผมก็จะจดเอาไว้ว่าเรื่องนี้คนจะสนใจหรือเปล่า หรือในฐานะที่เป็นคนอ่านเราจะสนใจไหม เพราะผมจะไม่เขียนเรื่องที่คนอื่นเขียน หรือถ้าเขียนเรื่องเดียวกันประเด็นก็จะต่างจากคนอื่น หลังจากนั้นถ้ามีเวลาผม ก็ไปค้นคว้าเรื่องที่จดเอาไว้เพิ่มเติม เริ่มจากไปดูหนังสือที่บ้านก่อน ถ้าไม่มีก็เข้าไปดูในเว็บไซต์ เวลาที่อ่านไปก็สรุปไปด้วย แล้วก็เขียนพล็อตเอาไว้ในหัวว่าจะเริ่มต้นและจบอย่างไร ส่วนตอนกลางเรื่องก็ใช้ประสบการณ์มาปะติดปะต่อแล้วแปะลงไป”

สำหรับเทคนิคของผมก็คือจดหัวข้อไว้ ไปค้นคว้าเพิ่มเติม เวลาเขียนก็ทำตัวเหมือนคนไม่รู้เรื่องอะไรเลย แล้วก็คิดว่าประโยคหรือย่อหน้าที่เราเขียนนั้น คนอ่านจะรู้เรื่องไหม เสมือนว่าคนอ่านนั้นเป็นคนฉลาด แต่ไม่รู้เรื่องที่เราเขียนมาก่อน เมื่ออ่านบทความเราแล้วรู้เรื่องทันที ดังนั้นถ้าคิดชัดเจนก็เขียนชัดเจน อีกอย่างคือผมจะเขียนย่อหน้าสั้นๆ ให้อ่านง่าย แล้วใน 1 ย่อหน้า ก็จะสรุปมาให้แล้วเหมือนย่อหน้าละไอเดีย แล้วตอนจบก็หาข้อความที่ทำให้คนอ่านรู้สึกว่าบทความนี้ก็ไม่เลวนะ

การเขียนบทความแค่ 1-2 หน้ากระดาษ A4 นั้น ผมใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง แต่ตอนคิดว่าจะเขียนอะไรนั้นนานเป็นอาทิตย์ จะนั่ง จะนอน ก็ต้องคิดไปเรื่อยๆ ว่าจะเขียนอะไร พล็อตอย่างไร ยิ่งมีกำหนดว่าพรุ่งนี้ต้องส่งด้วยแล้วก็จะยิ่งทำให้เรามีพลังอย่างมาก เพราะมีแรงกดดันว่าเราต้องทำให้เสร็จ ถ้าเหลือเวลาหลายวันเราก็จะใจเย็น ซึ่งผมว่าการเขียนภายใต้แรงกดดันก็ดีอย่างคือทำให้เราใช้ศักยภาพตัวเองได้อย่างเต็มที่

ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

ผมว่าคนเราถ้าไม่มีแรงกดดัน ศักยภาพจะไม่ถูกใช้ อย่างเรียนหนังสือ ถ้าไม่สอบคนก็ไม่อ่านหนังสือเท่าไหร่ แต่การสอบทำให้คนต้องใช้ศักยภาพที่ตัวเองมีอยู่อ่านหนังสือ ความจริงคนเรามีศักยภาพเยอะมาก แต่เราใช้ไม่ถึง 10% ที่เรามี ขนาดไฟไหม้ยังแบกตุ่มได้ ไม่รู้เรี่ยวแรงมาจากไหน แต่ถ้าเป็นเวลาปกติเราทำไม่ได้หรอก

ไทยพับลิก้า : ชีวิตนักเขียนของอาจารย์เริ่มต้นจากไหน

เริ่มเขียนบทความอย่างจริงจังมาตั้งแต่ พ.ศ. 2525 แต่มาเขียนเป็นเรื่องเป็นราวใน พ.ศ. 2534 ให้แนวหน้าสุดสัปดาห์ หลังจากนั้นก็เขียนสัปดาห์ละ 2 ชิ้น มาตลอด 15 ปี เขียนให้กับมติชนสุดสัปดาห์อยู่ประมาณ 14 ปี นับรวมถึงปัจจุบันแล้วก็เขียนมา 2-3 พันชิ้น

จุดขายของผมคือความหลากหลายของเรื่องที่เขียน ถ้าจะให้เขียนแต่เรื่องเศรษฐศาสตร์อย่างเดียวคนอ่านก็เบื่อ ดังนั้นผมจึงต้องพยายามหลากหลายโดยเขียนเรื่องแปลกๆ ที่คนไม่เคยรู้มาก่อน หรือประเด็นที่ไม่เคยคิดมาก่อน และโดยส่วนตัวผมก็ไม่ชอบอะไรที่จำเจน่าเบื่อด้วย

หนังสือที่เขียนก็พอมีอยู่บ้าง ลูกค้าส่วนใหญ่ก็คือกลุ่มนักศึกษา ส่วนหนังสือแปลผมเคยทำอยู่เล่มหนึ่งชื่อ “นิทานไทย” แปลจากหนังสือภาษาอังกฤษเขียนโดย เคอร์ติส เลอเน ซึ่งอยู่ในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 6 โดยเขียนนิทานที่ฟังจากคนทั่วไปเล่ากันรวมกับหนังสือนิทานไทยจากสมัยอยุธยา ซึ่งนิทานเหล่านี้เป็นเรื่องที่สนุกสนาน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องสัปดนและความเจ้าเล่ห์ แม้จะเป็นนิทานเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว แต่ผมว่าก็ยังนำมาใช้กับปัจจุบันได้ ทั้งนี้ตอนจบของนิทานทุกเรื่องจะมีคติสอนใจด้วย

ไทยพับลิก้า : มีบทความแนวไหนที่อาจารย์ชอบหรืออยากเขียนแต่ยังไม่ได้เขียน

ผมอยากเขียนแนวประวัติศาสตร์ เพราะผมชอบประวัติศาสตร์ แต่ผมยังไม่มีความมั่นใจมากพอที่จะเขียนเรื่องนี้ ส่วนเรื่องที่ค่อนข้างจะชอบและสนใจคือวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความรู้ทั่วๆ ไปเกี่ยวกับคนหรือชีวิตของคน สำหรับเศรษฐศาสตร์กับการศึกษาผมก็เขียนได้และเป็นเรื่องที่คนคาดหวังว่าผมจะเขียน ดังนั้นผมจึงอยากหลีกไปเขียนเรื่องอื่นๆ บ้าง ไม่อยากให้แฟนๆ เบื่อ และอยากให้เรื่องที่เขียนเป็นอาหารสมองกับคน

ไทยพับลิก้า : แล้วเด็กไทยในปัจจุบันกับการอ่านหนังสือ อาจารย์มองว่าเป็นอย่างไรบ้าง

ขั้นต้นผมโทษพ่อแม่ ที่ปล่อยให้สื่อและกระแสสังคมเข้ามาจับลูกมากเกินกว่าที่สมควรจะได้รับ คือถ้าปล่อยเด็กคนหนึ่งไว้โดยไม่มีผู้ใหญ่ชี้นำเด็กก็จะเป็นไปตามกระแสบริโภคนิยม ซึ่งพ่อแม่มีหน้าที่ต้องคานไม่ให้ลูกเป็นนักบริโภคนิยมหรือวัตถุนิยมมากเกินไป นอกจากพ่อแม่ก็คือโรงเรียน สุดท้ายคือ สื่อ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ต้องช่วยกันแก้ปัญหา

ถ้าคอยแต่พ่อแม่ส่วนเดียวคงไม่ไหว เพราะพ่อแม่บางคนก็ไม่มีเวลาหรือความรู้มากพอที่จะมาอบรมลูก หรือจะโยนให้โรงเรียนดูแลอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะโรงเรียนไม่มีระบบเพียงพอที่จะดูแลเด็กได้ หรือจะให้สื่อดูแลอย่างเดียวก็จะคานอำนาจของสื่อในเรื่องที่ไม่ดีได้ลำบาก ดังนั้น ถ้าพลัง 3 ส่วนนี้รวมกันทำอย่างไรเด็กก็จะออกมาเป็นอย่างนั้น

หากใช้แต่การศึกษาอย่างเดียวก็ทำได้ยาก ผมว่าเรายังไม่ค่อยพูดถึงความรับผิดชอบของพ่อแม่มากเท่าไหร่ พ่อแม่ที่มีลูกอายุ 3-4 ขวบในตอนนี้ก็ไม่ได้มีความรับผิดชอบมากพอทุกคน ส่วนใหญ่ก็อาจเอาลูกไปให้ตายายเลี้ยงที่ต่างจังหวัด ส่วนตัวเองก็ทำงานในเมือง และอาจไม่ได้ติดตามความเป็นอยู่ของลูกก็ได้ แค่นี้กลายเป็นปัญหาแล้ว

เพราะว่าตายายเติบโตเมื่อ 70 ปีก่อน แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปมาก ตายายก็ไม่เข้าใจเด็ก กลายเป็นต่างคนต่างอยู่ในบ้านเดียวกัน เราจึงได้ยินข่าวว่าหลานอยากได้รถจักรยานยนต์แต่ตาไม่ให้เลยใช้ขวานฆ่าตา ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการแนะนำตายายหรือคนในบ้านที่เลี้ยงดูเด็กในปัจจุบันว่าต้องสอนอย่างไร ควรจะพูออย่างไรกับเด็ก อะไรไม่ควรจะพูด วิธีการสังเกตพฤติกรรมเด็กทำอย่างไร ติดเหล้าติดยาหรือไม่ เวลาอยู่กับเพื่อนควรจะพูดกับเด็กอย่างไร ที่สำคัญอย่าไปว่าเพื่อนเด็ดขาด เพราะว่าวัยนี้เพื่อนคือพระเจ้า สิ่งเหล่านี้ต้องพยายามอธิบายให้ตา-ยาย-ป้า-อา เข้าใจ เพราะเติบโตกันมาคนละยุคสมัย ซึ่งผมว่ายังไม่มีใครทำตรงนี้

ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

ด้านโรงเรียน ปัจจุบันครูร้อยละ 40 มีอายุในช่วง 40-50 ปี ครูในวัย 20 กว่าๆ มีน้อยมาก เพราะรัฐไม่มีอัตรา เมื่อโรงเรียนมีครูอายุมากๆ จำนวนกว่าครึ่งของครูทั้งหมด ทำให้ความเข้าใจระหว่างเด็กกับครูน้อยลงตามช่วงวัยที่ห่างมากขึ้น ดังนั้น นอกจากประเด็นการมีระบบการศึกษาธรรมดาที่มีคุณภาพแล้ว ครูยังต้องมีความสามารถในการสื่อสารกับเด็กอย่างมีประสิทธิภาพด้วย ถึงแม้วัยจะต่างกันก็ตาม คนที่วัยต่างกันไม่ได้หมายความว่าคุยกันไม่รู้เรื่อง สามารถเป็นเพื่อนกันได้ แต่ต้องรู้ว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ

เช่น การเปรียบเทียบเด็ก ว่าทำไมเธอไม่เก่งเหมือนคนอื่นๆ ในครอบครัวหรือเพื่อนร่วมชั้น ทั้งๆ ที่เรียนโรงเรียนเดียวกัน หรือไม่ขยันเรียนเหมือนคนนั้นคนนี้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ครูพูดไม่ได้เด็ดขาด เพราะมนุษย์เปรียบเทียบกันไม่ได้ ต่างคนต่างเก่งกันคนละอย่าง

แม้แต่พ่อแม่ก็ไม่ควรบังคับลูก ผมว่าปัจจุบันพ่อแม่เห็นลูกเป็นตัวเองในอีกรูปลักษณ์หนึ่ง อะไรที่ตัวเองอยากเป็นแล้วไม่ได้เป็นก็จะให้ลูกเป็นให้ได้ เช่น พ่อแม่อยากเรียนแพทย์แต่ไม่ได้เรียนจึงให้ลูกเรียนหมอ แม้ลูกจะไม่ชอบก็ตาม ซึ่งพ่อแม่ทำแบบนี้ไม่ได้เพราะลูกก็เป็นตัวของเขาเอง เกิดมามีสิ่งแวดล้อมของเขา มีสิทธิในตัวของเขาว่าจะเลือกเป็นอะไร คนเราเก่งคนละอย่างไม่จำเป็นต้องเก่งเหมือนๆ กัน อาชีพอื่นที่ไม่ใช่แพทย์ที่เก่งๆ มากมาย และสร้างรายได้มหาศาลด้วย แต่พ่อแม่จำนวนไม่น้อยยังไม่เข้าใจประเด็นนี้ ยังบังคับให้ลูกเป็นในสิ่งที่ตัวเองต้องการอยู่ จะเห็นว่าพ่อแม่สมัยนี้อยากให้ลูกเป็นดารามาก บังคับให้เป็นตั้งแต่เด็กๆ เพราะตัวเองอยากเป็นดารา

ด้านของสื่อและสังคมนั้นมีความหลากหลายมาก เป็นเรื่องที่พูดยาก ทางภาคราชการก็ไม่เข้มแข็ง เป็นตัวอย่างของศีลธรรมความอ่อนแอ แล้วคนก็เลียนแบบความอ่อนแอนี้กัน จะหาผู้ใหญ่ที่เป็นตัวอย่างที่ดีของสังคมก็มีน้อยลง และมีในสัดส่วนที่น้อยลงกว่าเมื่อก่อนด้วย จากเมื่อก่อน 1 แสนคน จะมีคนดีสัก 100 คน จนตอนนี้ประชากรมีเป็น 10 ล้านคน แต่ก็มีคนดี 100 คน เท่าเดิม

จำนวนคนในสังคมเพิ่มขึ้นแต่ตัวอย่างดีๆ ของสังคมไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม จึงทำให้เด็กขาดฮีโร่หรือไอดอลที่จะเลียนแบบตามในเรื่องดีๆ ถึงมีก็เป็นแบบเบลอๆ เช่น เป็นไอดอลทางดนตรีบ้าง ทางการเต้นบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องฉาบฉวยผ่านมาก็ผ่านไป ไม่ใช่เนื้อหาที่แท้จริงของชีวิต อีกทั้งปัจจุบันเราก็ไม่ได้อ่าน ไม่ได้สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลหรือชีวประวัติของบุคคล จะเอาคนรุ่นใหม่ๆ มาเล่าชีวประวัติก็ไม่รู้ว่าเป็นคนจริงหรือเปล่า

ส่วนเรื่องที่บอกว่าเด็กไทยไม่อ่านหนังสือนั้นผมว่าไม่จริงนะ ปัจจุบันเด็กไทยอ่านหนังสือมากกว่าเมื่อก่อนด้วยซ้ำ เพียงแต่อ่านจากอินเทอร์เน็ต ผ่านไอแพด โทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ ในวันๆ หนึ่งผมว่าเด็กไทยใช้อินเทอร์เน็ตไม่ต่ำกว่าวันละ 2 ชั่วโมง ซึ่งผมว่านั่นคือการอ่าน เพียงแต่ไม่ใช่การอ่านที่ผู้ใหญ่อยากจะให้เด็กอ่านเท่านั้นเอง

ข้อมูลที่บอกว่าเด็กไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด ผมว่าแค่อ่านป้ายโฆษณาข้างทางวันหนึ่งๆ ก็เกินแล้วครับ ผมว่าวิจัยนี้มันเกินจริงเพราะคิดแค่ว่าการอ่านต้องหมายถึงอ่านในหนังสือที่เป็นทางการเท่านั้น แต่อย่าลืมว่าตอนนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว เด็กไม่ได้อ่านหนังสือเป็นเล่มๆ แล้ว แต่อ่านบนกระดาษเป็นแผ่นๆ แทน

ปัญหาก็คือ จะทำอย่างไรให้เขาอ่านในสิ่งที่เราอยากให้อ่าน แม้จะอยู่ในบนอินเทอร์เน็ตก็ตาม หนังสือดีๆ ที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต ถ้าเราแนะนำให้เด็กอ่านเด็กก็จะอ่าน ยิ่งถ้าเป็นหนังสือที่ดีจริงๆ เด็กอ่านแล้วก็จะจำได้ ดังนั้นผู้ใหญ่ต้องหาหนังสือดีๆ เช่น มอม ชีวิตของพรรณี ยี่เก ฯลฯ แบบนี้เข้าไปอยู่บนเว็บให้ได้มาก ให้เด็กเข้าไปอ่านได้ง่ายและฟรี ผมคิดว่านี่เป็นการศึกษานอกระบบที่ชักจูงเด็กได้มากเลย

ทั้งผู้ปกครอง โรงเรียน และสื่อ มีงานที่ต้องทำเยอะมาก แต่คนมักจะโยนไปที่โรงเรียนอย่างเดียว ซึ่งผมคิดว่าสื่อและสังคมเป็นส่วนสำคัญที่สุด และทุกคนในประเทศสามารถช่วยกันได้

ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

อย่างที่บอกว่าคนเราจะใช้ประสิทธิภาพได้เต็มที่ต้องมีแรงกดดัน แต่ปัจจุบันแรงกดดันจากสถาบันการศึกษาไทยนั้นน้อยลงมาก อย่างนักเรียนของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สอบได้เกรด 1.0 ก็ผ่านเลื่อนชั้นแล้ว และแค่เกรด 1.00 แล้วผ่านตั้งแต่ ป.1 ถึง ป.6 เลย จะเห็นว่านักเรียนไม่กดดันในการเรียนเลย พอเข้ามหาวิทยาลัยถ้ายังไม่มีแรงกดดันอีกก็ยิ่งจบ มหาวิทยาลัยต้องเข้มงวดบ้าง สอบตกก็คือตก ต้องเรียนใหม่สอบใหม่ ถ้าแค่เดินไปเดินมาในมหาวิทยาลัย แล้วให้เกรด ก็จะไม่มีใครตั้งใจเรียน

แต่ผมเชื่อว่ากลไกการตลาดจะบีบให้คนสนใจคุณภาพการศึกษามากยิ่งขึ้น ปัจจุบันคนไทยคุณภาพไม่ถึงก็มีงานทำเพราะเศรษฐกิจขยายตัวเรื่อยๆ รับคนเข้าทำงานได้ทั้งหมด ต่อให้อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ก็มีงานทำ แต่ต่อไปข้างหน้าคนเหล่านี้จะไม่มีงานทำ เพราะถ้ามีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจไม่ขยายตัว การแข่งขันจะมากขึ้น เมื่อไม่มีงานทำก็จะสร้างแรงกดดันต่อตนเอง

ส่วนกรณีการเปิดเสรีอาเซียน ผมคิดว่าจะทำให้เรากลับไปเป็นอย่างเก่า คือ กลุ่มที่ไม่เก่งแต่ก็ไม่แย่จะยังมีงานทำไปเรื่อยๆ เช่น พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ก็ไปทำงานส่วนที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ เพราะในระบบมีตำแหน่งงานเหล่านี้แอบซ่อนอยู่ตลอดเวลา อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ยังพอจะหางานทำได้ แต่หากมีแรงกดดันให้ต้องแข่งขันเมื่อไหร่คนจะเปลี่ยนไป

อย่างกรณีเกาหลีใต้ ปัจจุบันเขาไปไกลกว่าเรามาก รายได้ต่อหัวต่อปีมากกว่าคนไทย 5 เท่า ทั้งๆ ที่เขามีปัญหาตอนวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งแบบไทย นั่นเพราะเขามีแรงกดดันจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งจากญี่ปุ่นก็ยึดครองเกาหลีเกือบ 10 ปี ส่วนจีนก็มีอำนาจมาก ด้านเกาหลีเหนือคนชาติเดียวกันก็คอยจ้องจะรบกันอีก ดังนั้น ถ้าเกาหลีใต้ไม่เข้มแข็งหรือไม่พัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็อยู่ไม่รอด

เทียบกับเมื่อสมัยสงครามเกาหลี ค.ศ. 1954 คนเกาหลียากจนกว่าประเทศไทยมาก แต่หลังจาก ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา โดยเฉพาะ ค.ศ. 1990 เกาหลีพัฒนาไปไกลมากในทุกๆ ด้าน ในขณะที่ประเทศไทยไม่มีแรงกดดันอะไรเลย ไม่ว่าจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะทางทหาร หรือเศรษฐกิจ หรือการเมือง ดังนั้นเราจึงอยู่สบายๆ

และผมคิดว่าประเทศเพื่อนบ้านจะไม่กดดันประเทศไทยอีกนาน ทั้งๆ ที่อยากให้กดดันบ้าง และการเป็นประชาคมอาเซียนก็ทำให้คนไทยมีงานทำมากขึ้น เศรษฐกิจขยายตัวขึ้น และทำให้ความจำเป็นที่คนจะต้องเก่งลดน้อยลง เพราะคนมีโอกาสที่จะค้าขายอะไรก็ได้ทั้งนั้นในธุรกิจท่องเที่ยว

ในอนาคตผมว่าการแข่งขันระหว่างประเทศจะไม่มากอย่างที่เราคิดไว้ คือ การแข่งขันข้ามประเทศนั้นทำได้ยาก เพราะมีกฎหมายห้ามมากมาย จะมีแต่การแข่งขันการผลิตกันภายในประเทศเท่านั้นที่แข่งขันกันทำต้นทุนให้ต่ำที่สุดเพื่อส่งออกนอกประเทศ แต่ผมว่าคนอาเซียน 600 ล้านคน และคนจีนอีก ซื้อขายกันอยู่แถวนี้ก็สบายแล้ว ไม่มีความกดดันอะไรที่ต้องมาทำตัวเหมือนเกาหลีใต้ ซึ่งผมกลัวว่าจะเป็นอย่างนั้น และมองๆ ดูแล้วก็จะดีต่อประเทศไทยด้วยเพราะเราอยู่ตรงกลาง ใครไปใครมาก็ต้องผ่านทั้งการค้าขายและการเดินทาง การท่องเที่ยวเมืองไทยก็จะมากขึ้น จาก 24 ล้านคน เป็น 50 ล้านคนภายใน 10 ปี คนไทยก็เป็นพ่อค้าแม่ค้าขายของก็รวยแล้ว ไม่จำเป็นต้องเก่งอะไร

ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

ไทยพับลิก้า : เมื่อแรงกดดันน้อยลง ประเทศไทยและคนไทยจะเป็นอย่างไร

ระยะแรกก็อาจจะเหมือนเดิม ประเทศไทยไม่มีทางที่จะเห็นแรงกดดันมากๆ เหมือนอย่างเกาหลีใต้ได้ เพราะการเมืองระหว่างประเทศและทำเลที่ตั้ง รวมถึงแรงกดดันจากการว่างงานเพราะเศรษฐกิจไม่ดี หรือเราไม่มีงานทำเพราะเราไม่เก่งนั้น ประเทศไทยไม่มี อีกทั้งการเปิดประชาคมอาเซียนเป็นการเปิดโอกาสให้ไทยมากขึ้นด้วยซ้ำ คือ คนที่ไม่เก่งก็มีโอกาสมีงานทำ ดังนั้น คนไทยจึงไม่จำเป็นต้องเก่งเพราะไม่มีแรงกดดัน

แม้จะเป็นอาเซียนแต่กฎหมายก็ยังเป็นของแต่ละประเทศอยู่ ยังไม่มีกฎหมายข้ามประเทศหรือระหว่างประเทศ เพียงแค่ยอมให้คนและสินค้าเข้าประเทศได้เท่านั้นแต่ก็ต้องเสียภาษีขาเข้า ซึ่งแต่ละประเทศก็เลือกแรงงานเข้าทำงานในประเทศของตัวเอง เช่น สิงคโปร์จะเลือกคนที่มีการศึกษาเข้าประเทศเท่านั้น และสามารถแต่งงานกับคนสิงคโปร์ได้ แต่แรงงานกลุ่มที่ใช้แรงงานจะแต่งงานกับคนสิงคโปร์ไม่ได้ แม้จะเป็นประชาคมอาเซียนแล้วก็ตาม

แรงกดดันในระดับประเทศผมว่าประเทศไทยก็ไม่ได้กดดันมาก จะมีบ้างที่กดดัน เช่น ราคาน้ำมัน ค่าครองชีพ แต่แรงกดดันในแง่ที่ว่า ถ้าเรียนจบมหาวิทยาลัยมาแล้วไม่เก่ง จะไม่มีงานทำนั้น เราไม่มี เพราะไม่ว่าจะคุณภาพแบบไหนเรามีงานทำแน่นอน แค่อาจจะไม่ตรงสายที่เรียนมาหรือเงินเดือนไม่มาก แต่ก็มีงานทำ ไม่ทำงานในระบบก็ไปเปิดร้านขายของ ขายอะไรก็ได้ มีรายได้วันละ 300-400 บาท ก็อยู่ได้แล้ว มันยังไม่ถึงจุดที่เรารู้สึกแย่จนต้องไปเรียนภาษาอังกฤษและภาษาประเทศอาเซียนอื่นๆ เพิ่ม จึงทำให้คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีแรงกดดันที่จะพัฒนาตัวเองให้เก่ง เพราะเศรษฐกิจดูเหมือนจะขยายตัวไปเรื่อยๆ

ไทยพับลิก้า : แล้วการปรับตัวของโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยทำเพื่ออะไร

จริงๆ แล้วมหาวิทยาลัยไม่ควรมีอุดมการณ์ผลิตคนเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างเดียว เพราะการสอนในมหาวิทยาลัยต้องสอนเพื่อยกระดับจิตใจผู้เรียนให้มีความรู้ขั้นพื้นฐานเพื่อให้มีความสุขในการใช้ชีวิตมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่หมกมุ่นแต่กับการท่องเที่ยวหรือนั่งบาร์ แต่ว่าต้องสอนให้คนมีความสุขจากการให้เสพหนังสือดีๆ อ่านแล้วมีความสุข สามารถฟังเพลงได้อย่างลึกซึ้ง รู้จักประวัติศาสตร์ หรือธรรมชาติอย่างแท้จริง

ความสุขที่มากขึ้นคือผลพวงจากการศึกษา เช่น ละครเวที เดอะ แฟนธอม ออฟ ดิ โอเปรา ถ้าเราไม่ได้เรียนและรู้จักละครเรื่องนี้มาก่อนในชีวิตนี้เราก็ไม่คิดจะไปดู เมื่อไม่ได้ดูเราก็ไม่รู้สึกสนุก แต่เมื่อได้เรียนหนังสือแล้วไปดูละคร เราก็รู้สึกสนุกกับชีวิตมากขึ้น ผมคิดว่าอุดมการณ์ไม่ควรอยู่ที่ตลาดอย่างเดียว แต่ต้องผลิตบัณฑิตที่เป็นพลเมืองดี เป็นพ่อแม่ที่ดีในอนาคต และมองไปถึงระดับของจิตใจว่าต้องเป็นคนมีศีลธรรม และมีความสุขกับชีวิตมากกว่าความสุขในเรื่องพื้นฐาน

ตัวอย่างคนข้างบ้านผม ลุงแกมีความสุขกับการปลูกต้นไม้และดูโทรทัศน์ ในขณะที่น้องชายของแกมีความสุขกับการปลูกต้นไม้ ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูดีวีดี ซึ่งผมดูแล้วรู้สึกว่าคนน้องนั้นมีความสุขในระดับที่มากกว่าพี่ชายของเขา อย่างเรื่องต้นไม้คนน้องไม่ใช่แค่ปลูกอย่างเดียว แต่แกไปศึกษาลักษณะของต้นไม้นั้นๆ ด้วย มีการสั่งต้นไม้จากต่างประเทศมาปลูก มีการทดลองปลูกต้นไม้ตามหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าคนที่มีการศึกษาจะมีความสุขมากขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ผมก็เห็นความแตกต่างว่าเป็นพี่น้องกัน คนหนึ่งเรียนหนังสือ คนหนึ่งไม่เรียนหนังสือ ความสามารถในการใช้ชีวิตให้สนุกก็มีขอบเขตที่หลากหลายมากกว่ากัน

เด็กบางคนถามผมว่าคนเราเรียนหนังสือทำไม เพราะจบออกไปทำงานแล้วก็ได้เงินเดือน 1-2 หมื่น ทีแรกผมก็ช็อกไม่รู้จะตอบอย่างไร แต่ก็ตอบไปว่าคนเราไม่ได้ทำงานเพื่อ 2 หมื่นบาทในวันนี้ แต่เราต้องวางพื้นฐานสำหรับการรับเงินที่มากขึ้นในวันหน้า เรียนในวันนี้ได้ 2 หมื่นบาทแน่ๆ แต่ถ้าไม่มีการศึกษาก็จะไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าคุณจะได้เงิน 2 หมื่นบาททุกเดือน

ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

มนุษย์เราไม่ได้เกิดมาเพื่อทำงานอย่างเดียว แต่ต้องมีความสนุกสนานในชีวิตด้วย การที่คนมีปัญญามากขึ้น สอนลูกในวันข้างหน้าได้ ไม่ใช่เพื่อเป็นทรัพยากรมนุษย์เพื่อเข้าไปผลิตในโรงงานเท่านั้น แต่มีอะไรที่มากกว่านั้นมาก

การศึกษาจะช่วยเติมเต็มความสนุกสนานในชีวิตของมนุษย์ได้ บ่อยครั้งที่เรามองการศึกษาแล้วลืมจุดนี้ สังคมจะบอกเสมอว่าเราขาดแรงงานในสาขานั้นสาขานี้ ดังนั้นมหาวิทยาลัยควรผลิตแรงงานสาขาดังกล่าวเพื่อตอบสนองตลาด แต่ความจริงไม่ใช่เลย บางครั้งมหาวิทยาลัยต้องชี้นำตลาดเหมือนกัน เช่น ผลิตเครื่องดนตรีออกมาแต่ไม่มีครูสอนดนตรี หรือมีโบราณสถาน มีพิพิธภัณฑ์ แต่ขาดนักโบราณคดี

บางอาชีพก็ไม่ต้องมีตลาด อย่างนักดูนก ผมเคยไปกับกลุ่มดูนกประมาณ 50 คน นั่งดูนก 2 ตัว ทั้งวัน คนกลุ่มนี้ดูนกแล้วมีความสุขมาก ผมก็รู้สึกว่า เออ…ที่พวกเขามีเป็นความสุขอีกระดับหนึ่งนะ ผมก็ถามเขาว่าเขามีความสุขอย่างไร เขาก็บอกนี่เป็นนกที่ไม่เห็นมาก่อนในประเทศไทยนะ แล้วก็เอาหนังสือมาประกอบการอธิบายลักษณะนกตัวนั้นให้ผมฟัง เขาสนุกของเขาแต่ผมไม่สนุกด้วย

ในทางกลับกัน เวลาผมไปดูมัมมี่ในพิพิธภัณฑ์ของต่างประเทศผมจะมีความสุขมาก ตื่นเต้นมากที่เห็นว่า มีมัมมี่แมว มัมมี่สุนัข อีกทั้งยังเห็นวิธีการทำมัมมี่ด้วย ได้รู้ว่ารอบๆ มัมมี่จะมีสมบัติทั้งหมดของผู้ตายมาใส่ไว้ เพราะคนอียิปต์อยู่เพื่อโลกหน้าไม่ได้อยู่เพื่อโลกปัจจุบัน ตอนที่มีชีวิตอยู่ถ้าไม่รวยจริงๆ ก็อาศัยในกระท่อม กระต๊อบ เพื่อเก็บเงินทองไว้ใช้ในโลกหน้าที่ดีกว่าปัจจุบัน นี่คือเรื่องที่ผมรู้สึกสนุก

คนเรามีความชอบแตกต่างกัน ทางใครทางมัน แต่ถ้าเป็นเรื่องช็อปปิ้ง กินอาหาร อันนี้ใครๆ ก็ชอบ แต่การศึกษาทำให้คนเรามีชีวิตที่สนุกได้มากกว่ากิน เที่ยว ซื้อของ มีความหลากหลายในการสร้างความบันเทิงให้กับชีวิตตัวเอง อย่างบางคนไปลอนดอนเพื่อช็อปปิ้ง กินอาหารอย่างเดียว ในขณะที่ลอนดอนมีละครเวทีที่สุดยอดของโลกและพิพิธภัณฑ์ดีๆ มากมาย แต่คนกลุ่มหนึ่งกลับไม่สนใจ จะเห็นได้ว่าคนที่มีความรู้มากกว่าก็จะมีทางเลือกให้กับชีวิตมากกว่า

ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องให้โอกาสคนพัฒนา และต้องพัฒนาบุคลิก (character) ของคนด้วย ให้มีความสามารถในการรักษาจริยธรรมของตนเอง สามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้มากกว่าทำลาย มีความมั่นคงในสิ่งที่ตัวเองเชื่อและกล้าหาญยืนหยัดต่อสู้กับความเชื่อของตัวเอง และมีบุคลิกที่เอื้อต่อคนอื่นในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามต่อสังคม สิ่งเหล่านี้คือความหมายของคำว่า character ในภาษาอังกฤษ

เช่นเดียวกับความหมายในภาษาไทย character ควรมีความหมายไม่ใช่แค่ว่ามีความรู้อย่างเดียว ซึ่งบุคลิกภาพเหล่านี้จะสอดแทรกอยู่ในกิจกรรม จิตอาสา การปฏิบัตินอกห้องเรียน ที่ทำให้นักศึกษามีประสบการณ์ชีวิต มีทักษะการใช้ชีวิต ซึ่งกิจกรรมต่างๆ นี้จะช่วยทำให้เกิดบุคลิกภาพขึ้นมา ทั้งนี้บุคลิกภาพก็ไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่ก็มีพื้นฐานปูไว้เพื่อสร้าง character ในอนาคตของเด็ก เช่น ในวัยทำงาน หรือการใช้ชีวิต

ไทยพับลิก้า : ที่ผ่านมาเหมือนเป็นวิกฤติการศึกษาไทย หลายคนบอกว่าอย่าไปคาดหวังกับระบบการศึกษา

ผมว่าเราต้องคาดหวังนะ ไม่คาดหวังไม่ได้ เพราะเราเสียเงินงบประมาณปีละ 4.6 แสนล้านบาท แล้วเราก็ต้องคาดหวัง เพียงแต่อย่าคิดว่ามันจะเป็นอัศวินม้าขาวมาช่วยให้การศึกษาของเราดีขึ้น ช่วยคนของเรามีคุณภาพดี

การศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมภายในของเรา ถ้าบ้านเรามีความมุ่งมั่นทางการเมือง มีประชาชนที่มีคุณภาพ เรียกร้องให้นักการเมืองมุ่งมั่นทางการศึกษา โดยทุกคนที่เข้ามาบริหารต้องมีความมุ่งมั่นสู่จุดหมายเดียวกันหมดว่าจะพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างไร ไม่ใช่ต่างคนต่างเข้ามาทำงานกันคนละเป้าหมาย เดินหน้าไป 5 ก้าว ถอยหลังมา 3 ก้าว ไม่ได้ แต่ต้องมี political will ว่าการศึกษาคือสิ่งสำคัญของประเทศไทย

ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

อย่างมาเลเซียมีโครงการ 20-20 ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมา เขาพัฒนาไปไกลมาก รายได้ต่อคนต่อปีสูงกว่าไทยเท่าตัว และประชากรมาเลเซียมีการศึกษา มีมหาวิทยาลัยต่างประเทศไปตั้งหลายแห่ง เพราะคนในประเทศพูดภาษาอังกฤษได้ ปัจจุบันจึงมีมหาวิทยาลัยดีๆ จำนวนมาก ซึ่งผมคิดว่าประเทศไทยควรมีเป้าหมายอย่างนี้บ้าง

เราต้องคาดหวังกับการศึกษาและต้องช่วยกันแก้ไขทั้งสังคม จะรอให้กระทรวงศึกษาธิการปรับหลักสูตรหรือปฏิรูปการศึกษานั้น ดูเหมือนจะเป็นการรออัศวินม้าขาวจากต่างดาวมาช่วย ดังนั้นทุกคนจึงต้องช่วยกันสร้างแรงกดดันจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย

ที่สำคัญ ประเทศไทยขาดกลุ่มที่สร้างแรงกดดันทางการศึกษา เรามีสมาคมผู้ปกครอง มี 2-3 กลุ่มที่ขาดการรวมตัวกัน จะมีก็แต่กลุ่มครูเท่านั้นที่รวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง ด้านผู้บริโภคก็ยังไม่เข้มแข็งเท่าไหร่ ถ้าหากเรามีกลุ่มที่เข้มแข็งเรื่องการศึกษาที่เรียกร้องเรื่องคุณภาพเมื่อไหร่ หากเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาแล้วเราโวยรัฐ รัฐก็จะไม่กล้าทำ ในขณะที่มีกลุ่มสร้างแรงกดดันเรื่องอื่นๆ จำนวนมาก ไม่ว่าเป็นเรื่องยา เกษตรกร ท่องเที่ยว ชาวนา ฯลฯ

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาบ่อยครั้ง แต่เป็นการเปลี่ยนไปเรื่อยๆ และไม่ถูกทิศทาง เพราะ

1. ไม่มีความมุ่งมั่นทางการเมือง คนละพรรคก็คิดคนละอย่าง แต่ละโครงการก็ไม่มีจุดมุ่งหมายในทิศทางเดียวกัน เปลี่ยนรัฐมนตรีก็เปลี่ยนแผน ซึ่งคนที่น่าสงสารที่สุดก็คือครูและผู้อำนวยการโรงเรียน เพราะตัวชี้วัดเปลี่ยนตลอดเวลาจนสับสนว่าจะใช้อันไหนอย่างไร

2. การจัดการ ประเทศไทยไม่มีระบบรับผิดรับชอบ เช่น ถ้าเด็กสอบไม่ได้ก็ควรต้องยุบโรงเรียน แต่ไม่ว่าคุณภาพของเด็กจะเป็นอย่างไร ครูก็ก้าวหน้าวันยันค่ำ เงินเดือนขึ้นตลอด ซึ่งปกติแล้วทำดีผลตอบแทนก็ต้องดี แต่นี่ถึงทำไม่ดีก็ได้ความก้าวหน้า ซึ่งเป็นเหตุผลที่ไม่สอดรับกัน

ในอเมริกา หากโรงเรียนไหนไม่ดีจะถูกปิด เช่น คุณภาพต่ำ ผลทดสอบระหว่างประเทศต่ำ ก็ต้องยุบไปรวมกับโรงเรียนใกล้ๆ แต่ประเทศไทยทำอย่างนี้ไม่ได้ การจัดการของรัฐไม่สามารถสั่งให้ครูย้ายไปสอนอีกโรงเรียนหนึ่งได้ เพราะมีประเพณีว่าถ้าครูไม่เห็นด้วยก็ไม่สามารถให้ครูย้ายได้ ฉะนั้นการจัดการที่เกิดขึ้นคือเฉลี่ยอัตราครูข้ามเขตพื้นที่การศึกษาในตำบลไม่ได้เลยถ้าครูไม่อยากย้าย

“ผมเองเคยไปอยู่จังหวัดหนึ่ง มีเขตพื้นที่การศึกษาเดียวพื้นที่ประมาณ 80 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น แล้วผู้อำนวยการมีความพยายามจะยุบรวม 2 โรงเรียน แต่พวกครูไม่ยอมให้ยุบ เพราะขี้เกียจขับรถไกลกว่าเดิมอีกวันละ 2 กิโลเมตร นี่คือสิ่งที่ผู้อำนวยการเล่าให้ผมฟังเมื่อ 2 ปีที่แล้ว นี่คือสิ่งเกิดขึ้นจริงว่าสั่งครูไม่ได้ เมื่อสั่งไม่ได้จึงเฉลี่ยอัตราครูได้ไม่ทั่ว บางโรงเรียนที่ขาดครู ก็เอาครูจากในเมืองไปไม่ได้ เพราะครูอยากอยู่ในเมือง ไม่อยากไปต่างจังหวัด ต่างอำเภอ ไม่อยากขับรถไกล ฉะนั้นจึงเกิดปัญหาโรงเรียนครูเกินและครูขาด ซึ่งโรงเรียนที่รับเคราะห์คือโรงเรียนเล็กๆ ต่างจังหวัดที่อยู่ในชนบท เพราะว่าโรงเรียนมีเท่าเดิม แต่คนเกิดน้อยลง โรงเรียนจึงมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ”

โรงเรียนทั่วประเทศกว่า 3 หมื่นแห่ง มีโรงเรียนที่มีเด็กต่ำกว่า 60 คน ประมาณ 6 พันโรงเรียน ต่ำกว่า 120 คน ประมาณครึ่งหนึ่งของโรงเรียนทั้งหมด แต่โรงเรียนเหล่านี้มีครูสอน 2-3 คน ซึ่งต้องสอนทุกวิชา บางครั้งก็สอนรวมกันทุกชั้น บางโรงเรียนครูก็ต้องวิ่งรอกสอน หรือเด็กต้องวิ่งรอกเรียนกับโรงเรียนที่อยู่ใกล้ๆ กัน 2-3 กิโลเมตร ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อตอนที่การเดินทางยังไม่สะดวก พอการเดินทางสะดวกแล้วโรงเรียนก็ไม่ยุบ ส่วนหนึ่งก็เป็นปัญหาทางการเมืองด้วยที่ไม่มุ่งมั่นพัฒนาโรงเรียน

สำหรับโรงเรียนในกรุงเทพฯ นั้นคุณภาพดีกว่าเมื่อก่อนมาก นักเรียนก็เก่งกว่าแต่ก่อนมาก ในทางกลับกัน เด็กที่ไม่เก่งก็ไม่เก่งกว่าเมื่อก่อนมากๆ เช่นกัน ปัจจุบันช่องว่างระหว่างเด็กเก่งกับไม่เก่งห่างกันเยอะ เพราะมีเรื่องของฐานะผู้ปกครองเข้ามาเกี่ยวพันด้วย ถ้าผู้ปกครองมีเงินเด็กก็ได้เรียนในเมือง ได้เรียนโรงเรียนนานาชาติ ส่วนเด็กที่ผู้ปกครองยากจนก็ต้องเรียนใกล้ๆ บ้าน แม้จะรู้ว่าไม่มีคุณภาพแต่ก็ต้องเรียน

ครูใหญ่ก็ไม่ยอมปิดโรงเรียนเพราะกลัวว่าตำแหน่งจะหาย ก็กลายเป็นปัญหาคาราคาซัง ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ว่าแก้ไม่ได้นะ ผมคิดว่าทุกปัญหาในโลกนี้แก้ไขได้ ถ้าทุกคนพร้อมจะแก้ปัญหาด้วยกัน แต่ในเมื่อมันเป็นการศึกษาของประชาชน ไม่ใช่การศึกษาของการศึกษา มันจึงกลายเป็นการเมืองไปทั้งหมด ดังนั้นทุกคนก็ไปเอาใจครู ผู้ปกครอง และนักเรียน โดยขึ้นเงินเดือน ไม่ให้เด็กสอบตก เกรด 1 ก็ผ่านได้ ปัจจุบันอยู่ ม.ปลายแต่อ่านหนังสือไม่ออกมีเยอะมาก หรืออ่านออกก็อ่านหนังสือไม่แตกฉาน

สำหรับเรื่องการสั่งครูไม่ได้นั้น เพราะตามระเบียบคือต้องขอความเห็นชอบจากครู ผมก็เคยถามว่าระเบียบอะไรก็ไม่มีใครตอบได้ มันเป็นธรรมเนียมที่เขาปฏิบัติกันมา 50-60 ปีแล้ว จนไม่มีใครกล้าฝืน เพราะเขามีการรับรู้ว่าครูต้องมาทำงานด้วยใจ ถ้าหากถูกบังคับให้มาสอนจะทำให้การสอนไม่มีคุณภาพ ในขณะที่ข้าราชการอื่นๆ เช่น ปลัด นายอำเภอ สามารถสั่งย้ายได้หมด จนกลายเป็นปัญหาถึงการจัดสรรทรัพยากรที่ผิด คือ โรงเรียนใหญ่ได้ครูเยอะ โรงเรียนเล็กได้ครูน้อย ทั้งๆ ที่ควรจะมีครูครบรายวิชา 8 คน

ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

ปัจจุบันจะเห็นว่าครูขาดตลอด แล้วงบประมาณก็ไม่ให้ด้วย จากจำนวนครู 4.5 แสนคน ในโรงเรียน 3 หมื่นกว่าแห่งนั้นถือว่าเยอะมาก เพียงแต่ว่าครูอยู่ไม่ตรงที่ หากไปเฉลี่ยครูให้ดีๆ ก็จะพอ

เมื่อครูมีจำนวนมากก็มีผลกระทบต่อร่ายจ่ายของรัฐด้วย เมื่อก่อนข้าราชการคนหนึ่งกว่าจะเกษียณอายุราชการใช้เงินประมาณ 18 ล้านบาท ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 35 ล้านบาท เพราะว่าค่าแรงขั้นต่ำสูงขึ้น คนอายุยืนขึ้น ค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้น รวมถึงต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้พ่อแม่และลูกของข้าราชการด้วย อีกทั้งค่าใช้จ่ายบำนาญอีก ที่คาดการณ์ไว้ว่าคนจะอายุยืนขึ้นอีก 10 ปี รวมเป็นอายุหลังเกษียณ 20 ปี ดังนั้นค่าบำนาญก็ต้องเพิ่มขึ้นอีก

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการโรงเรียนบางแห่งก็พยายามเอาครูรุ่นใหม่ๆ มาสอนในโรงเรียนเล็กๆ ที่อยู่ห่างไกล แต่ก็มีปัญหาอีกว่า ประเพณีของไทยคือ เมื่อเป็นผู้อำนวยการแล้วจะไม่สอนหนังสือ มีตัวอย่างคือเด็กคนหนึ่งอายุ 26 ปี ไปเป็นครูที่ต่างจังหวัดซึ่งห่างจากตัวเมืองประมาณ 20 กิโลเมตร ทั้งโรงเรียนมีครู 3 คน คือ ผู้อำนวยการซึ่งไม่สอนหนังสือแล้ว ครูอีกคนก็รออีก 2 ปี จะเกษียณอายุ ก็ไม่ค่อยทำอะไร ดังนั้นภาระงานทั้งโรงเรียนจึงตกอยู่ที่ครูใหม่ทั้งหมด ซึ่งเขาก็ทำไม่ไหว อยากจะย้ายโรงเรียนหรือไม่ก็ลาออก

ปัญหาครูมีเยอะ เดิมทีการศึกษาภาคบังคับของไทยคือ 6 ปี แต่ต่อมาก็ขยายเป็น 9 ปี ดังนั้นจึงต้องรับครูเพิ่มมากขึ้นเป็นหมื่นคนต่อปี เป็นยุคที่เรียกว่า “ทไวไลท์” คือคนเช่ารถกัน 7-8 คัน มาเรียนครูที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจำนวนมาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ได้อยากเป็นครูหรอกแค่อยากเป็นข้าราการ แรกๆ อุดมการณ์ก็ดีอยู่หรอก แต่พอแก่ตัวเข้าทุกอย่างก็ช้าลง ไม่ค่อยอยากจะสอนแล้ว จนกลายเป็นปัญหามีครูหลายแสนคนในปัจจุบัน ซึ่งมีจำนวนมากนะครับแต่ก็ยังไม่พอกับโรงเรียนเพราะว่าไม่ได้เฉลี่ยให้ดี

ไทยพับลิก้า : แล้วคุณภาพของสถาบันการศึกษาเอกชนดีขึ้นหรือไม่

โรงเรียนเอกชนก็มีหลายประเภท อย่างโรงเรียนเอกชนเล็กๆ ต่างจังหวัดยุบเกือบหมดแล้ว ส่วนโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพฯ ที่มีประวัติยาวนานก็เข้มแข็งขึ้นด้วยแรงอุดหนุนจากจำนวนเด็ก และพ่อแม่ที่มีเงินก็อยากได้คุณภาพก็ให้ลูกไปเรียนโรงเรียนเหล่านี้ ส่วนโรงเรียนเล็กๆ คิดจะเลิกกันเยอะ และเลิกไปเยอะแล้ว ทั้งโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถม เพราะมีเงื่อนไขและตัวชี้วัดมากมายที่ต้องทำ เจ้าของโรงเรียนเบื่อก็ยุบโรงเรียน ราคาที่ดินไม่คุ้มกัน หันไปทำคอนโดมิเนียมดีกว่าได้เงินเยอะกว่า อีกทั้งโรงเรียนก็ทำยากด้วย

ด้านปัญหาของโรงเรียนรัฐบาลคือบางโรงเรียนรับนักเรียนเยอะมากจริงๆ อย่างสตรีวิทยา 2 มีนักเรียนกว่า 5 พันคน ซึ่งมากกว่ามหาวิทยาลัยบางแห่งอีก แล้วครูจะดูแลเด็กทั้งโรงเรียนได้อย่างไร ชาวต่างชาติมาเห็นก็คงงง เพราะบ้านเขาโรงเรียนมีเด็กพันกว่าคนก็ใหญ่แล้ว

ด้านครูก็ลำบาก ส่วนใหญ่มุ่งมาสอนพิเศษตอนเย็น ครูใหญ่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร มันเป็นชีวิตของเขา

ด้านสถานการณ์ปัจจุบันมีคนหันมาเรียนครูจำนวนมาก เพราะครูร้อยละ 40 ในปัจจุบันกำลังจะเกษียณอายุในอีก 10 ข้างหน้า คนส่วนใหญ่ก็อยากจะเป็นข้าราชการเพราะมีความมั่นคงกว่า บางคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยยังลาออกไปสมัคร สพฐ. เลย เพราะว่าในมหาวิทยาลัยปัจจุบันไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ จึงไม่ได้สวัสดิการจากรัฐ

โดยเฉพาะการรักษาพยาบาล ถ้าเป็นข้าราชการรักษาที่ไหนก็ได้เต็มที่ เป็น the best of the world ใช้ยาคุณภาพดีที่สุด ในขณะที่ประชาชนที่ไม่ใช่ข้าราชการต้องจ่ายค่ารักษาเอง ใช้บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือไม่ก็ประกันสังคม ซึ่งโรงพยาบาลโดยเฉพาะเอกชนก็จะแบ่งโซนสำหรับการรักษาแบบจ่ายเงินเองกับแบบใช้ประกันสังคมอย่างชัดเจน ใช้หมอคนละชุด ยาคนละแบบ

ด้วยความอยากเป็นข้าราชการคนจึงหันมาเรียนครูกันมาก อย่างครุศาสตร์ จุฬาฯ มีคนเรียนเพิ่มขึ้นเท่าตัว จากที่เมื่อก่อนไม่ค่อยมีคนเรียน เรียนจบไปก็เป็นครูไม่ถึงร้อยละ 5

ไทยพับลิก้า : แล้วทำไมไม่ทำการันตีการเรียนจบ ว่าจบแล้วต้องมาทำงานเป็นครู อย่างแพทย์บ้าง

ผมเคยทำนะ ตอนนั้นอยากได้คนคุณภาพมาเป็นครู เลยให้ทุนเต็มมาเรียนฟรี แล้วการันตีว่าจบแล้วจะได้งานทำให้อัตราครูแน่นอนไม่ต้องสอบด้วย กำหนดอัตราครูไว้ 2,500 คน แต่เลิกไปแล้วหลังจากทำมา 2 ปี เพราะรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการที่เข้ามาใหม่เขาไม่เอา ซึ่งในโครงการนี้มีคนเรียนดีๆ เกรด 3 กว่ามาเรียนเยอะมาก ซึ่งผมคิดว่าการได้คนดีๆ สักคนมาอยู่ในโรงเรียน จะทำให้ชีวิตเด็กพลิกผันได้ แต่ถ้ามีครูห่วยทั้งโรงเรียนก็ทำให้โรงเรียนแย่

โรงเรียนหลายๆ แห่งจึงไม่มีสิทธิเลือกครูได้เลย คุณภาพครูบรรจุมาแบบไหนก็ต้องรับไว้ แต่ปัจจุบันดีขึ้นหน่อยคือจะให้อิสระโรงเรียนในการจ้างครูได้เอง โดยใช้งบประมาณของโรงเรียนเอง ที่สำคัญคือสามารถปลดครูออกได้เองด้วย จากที่เมื่อก่อนไม่สามารถปลดครูออกได้

ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

ทั้งนี้ การสอบบรรจุครูแทบจะไม่มีผลทำให้ได้ครูที่ดีมีคุณภาพเข้ามาในระบบเลย เพราะมีการทุจริตการสอบเสมอ คนเหล่านี้ยอมจ่าย 5-6 แสนบาท เพื่อให้ได้บรรจุ เพราะคุ้มค่ากับสวัสดิการที่จะได้จากรัฐในอนาคต พอเข้ามาเป็นครูก็ไม่ได้ทำอะไร สิ่งแรกที่ทำคือกู้เงิน มีโครงการอะไรมาก็กู้หมด ที่เป็นอย่างนี้เพราะครูจำนวนหนึ่งเชื่อว่าถ้าครูเป็นหนี้เยอะรัฐบาลจะต้องขี่ม้าขาวมาช่วย เพราะกลัวว่าครูจะไม่มีกะจิตกะใจจะสอน ที่สำคัญคือ สิทธิในการกู้เงินนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่ครูเท่านั้น แต่รวมไปถึงคนขับรถในโรงเรียนด้วย เพราะรัฐกำหนดไว้ว่าให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งหลักค้ำประกันในการกู้คือคนค้ำประกัน 1 คน และชีวิตตัวเองเท่านั้น ก็สามารถกู้เงิน 7-8 แสนออกมาได้เลย นี่ถ้าใครรีบกู้รีบตายนะจะคุ้มมาก นอกจากจะได้กู้โดยไม่ต้องใช้หนี้แล้วยังได้เงินค่าฌาปนกิจครูอีกหลายแสน แล้วที่กู้มาก็เพื่อซื้อรถอวดกัน ทั้งๆ ที่ยังเช่าบ้านอยู่ก็ควรจะซื้อบ้านก่อนแต่ก็เลือกซื้อรถ

ด้านผู้ปกครอง บางกลุ่มก็ไม่เข้าใจเรื่องคุณภาพการศึกษา คิดว่าเรียนที่ไหนก็เหมือนกัน แต่ผู้ปกครองบางกลุ่มก็เข้าใจว่าแต่ละโรงเรียนแม้จะของรัฐเหมือนกันแต่มีความแตกต่างกัน ก็จะไม่ยอมให้ลูกเรียนใกล้ๆ บ้าน เพราะอยากได้โรงเรียนที่มีคุณภาพมากกว่า และก็เป็นเรื่องจริงที่ว่าคุณภาพไม่เหมือนกัน เรียกว่าแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงเหมือนฟ้ากับดิน

“ผมเคยอยู่ จ.ร้อยเอ็ด มี 2 โรงเรียน อยู่ห่างกันประมาณ 10 กิโลเมตร ผมขึ้นไปชั้น 5 ของโรงเรียนที่อยู่ในเมืองก็เห็นไฟตะคุ่มๆ ของอีกโรงเรียนหนึ่ง ซึ่งโรงเรียนประถมนั้นมีครู 4 คน ห้องเรียนหนึ่งก็มีเด็กเรียนน้อย ส่วนใหญ่อ่านหนังสือไม่ออก ในขณะที่โรงเรียนในเมืองที่ผมยืนอยู่มีหลักสูตรภาษาอังกฤษ มีครูต่างชาติมาสอน เด็ก 6 ขวบ มาคุยภาษาอังกฤษกับผมได้ เด็กๆ เรียนในห้องแอร์ ผมก็แปลกใจว่านี่ประเทศเดียวกันจริงหรือ อยู่ห่างแบบมองเห็นกันทำไมถึงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง”

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็เข้ามาช่วยเหลือโรงเรียนมากขึ้น

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไหนรวยก็จะมาช่วยโรงเรียนในพื้นที่ของเขา อย่างที่ จ.ปทุมธานีนั้นนายกองค์กรบริหารส่วนจังหวัดเป็นคนเก่งและเป็นเศรษฐีที่ดิน เขาจึงให้เงินโรงเรียนละ 1 ล้านบาทต่อปีทุกแห่งในจังหวัด เพื่อเป็นค่าจ้างครูมาสอน และค่าใช้จ่ายเพื่อพัฒนาการศึกษา

ผมว่าต่อไปโรงเรียนก็ไม่ต้องไปสนใจรัฐบาลหรอก รัฐจะว่าอย่างไรก็ว่าไป เพราะสุดท้ายไม่มาตรวจสอบที่โรงเรียน จะเห็นว่าโรงเรียนเอกชนหลายแห่งก็ทำหลักสูตรของตัวเองโดยไม่ได้สนใจหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการสักเท่าไหร่นัก