ThaiPublica > คอลัมน์ > คนตัวเล็กก็ใหญ่ได้

คนตัวเล็กก็ใหญ่ได้

3 กรกฎาคม 2014


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

โลกเพิ่งสูญเสียนักวิทยาศาสตร์วัย 90 ปี ผู้ทิ้งประดิษฐกรรมสำคัญไว้ให้โลก เธอประสบความสำเร็จเพราะความบากบั่นมานะ ถึงแม้จะไม่มีการศึกษาสูงส่ง เกิดมาในครอบครัวชาวบ้านธรรมดาของชนกลุ่มน้อยที่ถูกเยาะเย้ยว่าโง่เขลา แต่ทว่าสิ่งประดิษฐ์ของเธอคือใยเคฟลาร์ (Kevlar) เป็นวัสดุประกอบสำคัญของสินค้าในชีวิตประจำวันกว่า 200 ชนิดในปัจจุบัน

Stephanie L. Kwolek เป็นคนอเมริกันจากครอบครัวผู้ใช้แรงงาน พ่อเธออพยพมาจากโปแลนด์ ดินแดนที่คนอเมริกันคิดว่าเต็มไปด้วยคนโง่ คนอเมริกันมี Ploish Jokes ที่เป็นเรื่องขำขันเยาะเย้ยความโง่เขลา (“คน Polish เปลี่ยนหลอดไฟโดยพ่อจับหลอดไฟ และลูกสองคนช่วยกันหมุนตัวพ่อ”) โดยลืมนึกไปว่า Madame Curie นักวิทยาศาสตร์หญิงรางวัลโนเบลของโลกผู้ค้นพบเรเดียมและศึกษากัมมันตภาพรังสีจนนำไปสู่ความก้าวหน้าของ nuclear physics ตลอดจนนักวิทยาศาสตร์ผู้เก่งกาจอีกหลายคนในประวัติศาสตร์นั้นล้วนเป็นคนโปแลนด์

เธอสอบเข้าเรียนแพทย์ได้แต่ครอบครัวไม่มีเงินจึงเรียนเคมีแทนจนจบปริญญาตรีจากวิทยาลัยเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในสมัยนั้นซึ่งต่อมาได้กลายเป็น Carnegie Mellon University มหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงของโลก เธอจบเพียงปริญญาขั้นต้นและไม่เคยเรียนในระดับบัณฑิตศึกษา

ในปี 1946 ที่เธอเรียนจบ เธอได้งานทำในบริษัท DuPont และทำมาตลอดจนเกษียณอายุ และที่นี่เองที่เธอได้สร้างชื่อเสียงและรายได้นับพันๆ ล้านเหรียญให้แก่บริษัท โดยเธอไม่ได้ร่ำรวยจากประดิษฐกรรมหลายชิ้นของเธอ เพราะในยุคนั้นในฐานะพนักงานบริษัท เธอได้ยินยอมให้สิทธิบัตรเป็นของผู้จ้าง

สิ่งสำคัญที่เธอค้นพบในปี 1964 ก็คือใยเคฟลาร์ เรื่องเล่าก็คือในสมัยนั้นบริษัทคาดว่าจะเกิดน้ำมันขาดแคลนจึงต้องการค้นหาเส้นใยที่ใช้ผสมในยางรถยนต์ที่เหนียวเป็นพิเศษและเบาเพื่อการบริโภคน้ำมันน้อยลง เธอเป็นหญิงคนเดียวในทีมของผู้ชายที่ทำงานเรื่องนี้ซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งประหลาดในยุคนั้นซึ่งมีผู้หญิงน้อยมากในงานประเภทที่เธอทำ

ทีมของเธอพยายามพัฒนาวัสดุโพลีเมอร์ ครั้งหนึ่งในงานส่วนที่เธอรับผิดชอบ เธอประสบปัญหาการเปลี่ยนโพลีเมอร์ให้เป็นของเหลวที่เหนียวใส แต่เธอกลับได้ของเหลวสีขุ่นอย่างผิดหวัง อย่างไรก็ดีเธอรู้สึกลึกๆ ว่ามันอาจเป็นสิ่งใหม่ที่ใช้ประโยชน์ได้ เธอจึงขอร้องให้เพื่อนนักวิจัยช่วยปั่นของเหลวในห้องแล็บด้วยเครื่องมือพิเศษเพื่อสกัดส่วนที่เป็นของเหลวออกและเหลือแต่วัสดุ

สิ่งที่เธอได้มาคือใยแปลกประหลาดซึ่งมีลักษณะแข็งและเหนียวมาก โดยต่อมามีชื่อว่า “เส้นใยเคฟลาร์” (Kevlar fiber) เมื่อเธอทดลองความเหนียวของเส้นใยนี้ก็พบว่าด้วยน้ำหนักเท่ากันกับเหล็ก มันแข็งแรงและเหนียวกว่าเหล็กถึง 5 เท่า และยากมากจะที่ถูกหลอมโดยไฟ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าป้องกันไฟได้

DuPont ตื่นเต้นกับสิ่งที่เธอค้นพบ และมองเห็นศักยภาพเชิงพาณิชย์ของเส้นใยนี้ที่แข็งแรงและเหนียวอย่างน่าอัศจรรย์ทันที บริษัททุ่มเงิน 500 ล้านเหรียญในการสร้างนวัตกรรมจากเส้นใยเคฟลาร์

นักต่อยอดผลิตภัณฑ์นำเส้นใยเคฟลาร์มาสร้างเสื้อเกราะป้องกันกระสุน ยางรถยนต์ รองเท้ากันไฟของพนักงานดับเพลิง ถุงมือป้องกันไฟและป้องกันการโดนของคมฉีกตัด ใยแก้วนำแสง ที่นอนที่ไฟไม่ไหม้ รถยนต์เกราะกันกระสุน ห้องป้องกันระเบิด ห้องปลอดภัยจากพายุเฮอร์ริเคน อุปกรณ์ช่วยพยุงสะพานที่เหล็กเก่าอ่อนล้า อุปกรณ์กีฬา ฯลฯ

ปัจจุบันเส้นใยเคฟลาร์อยู่ในสิ่งต่าง ๆ เกือบรอบตัวมนุษย์ซึ่งต้องการความแข็งแรงและเหนียวเป็นพิเศษเพื่อสร้างความแข็งแกร่งและเพื่อป้องกันแรงอัดกระแทก ตลอดจนป้องกันการหักเปราะ นับจนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถหาวัสดุใดที่มีคุณลักษณะเหนือกว่าเคฟลาร์ในราคาเดียวกันได้

เธอได้รับรางวัลมากมายตลอดชีวิตสำหรับการค้นพบครั้งสำคัญนี้ คนที่ยินดีกับเธอมักลืมนึกถึงความยากลำบากของเธอกว่าที่จะมีชื่อเสียงเช่นนี้ได้ จากครอบครัวที่ยากจน ถูกเยาะเย้ย ถากถาง กัดฟันทำงานที่เธอรักในบริษัท DuPont ถึง 15 ปีกว่าจะได้เลื่อนตำแหน่ง การเป็นหญิงคนเดียวในอาชีพนักวิจัยในสาขาเคมี การมีความรู้เพียงระดับปริญญาตรีซึ่งแตกต่างจากนักวิจัยคนอื่นๆ ซึ่งล้วนจบระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยมีชื่อ

เธอเอาชนะ ‘จุดอ่อน’ เหล่านี้ของเธออย่างกล้าหาญไม่หวั่นไหว หลังจากเธอประสบความสำเร็จครั้งสำคัญแล้ว เธอก็ยังคงทำงานวิจัยต่อไป ตลอดเวลา 40 ปีที่เธอทำผลงานให้ DuPont เธอยื่นขอจดสิทธิบัตร 28 ใบ และได้รับจดสิทธิบัตร 17 ใบ ในนามของบริษัท

ในอาทิตย์ที่เธอเสียชีวิตนั้น มีผู้ซื้อเสื้อเกราะเคฟลาร์ตัวที่หนึ่งล้านไปใช้ ปัจจุบันมีสินค้ากว่า 200 ชนิดที่ใช้เส้นใยเคฟลาร์เป็นส่วนประกอบ (เช่น เชือก สกี เสื้อ เครื่องบิน เคเบิ้ล ไม้เทนนิส ฯลฯ) เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ของเส้นใยเคฟลาร์แล้วสามารถพูดได้อย่างชัดเจนว่าชีวิตของ Kwolek มีผลกระทบด้านบวกต่อชีวิตของชาวโลกอย่างยิ่ง

เธอเคยกล่าวไว้ว่า “ฉันคิดว่าไม่มีอะไรที่นำมาซึ่งความสุขและความพอใจเหมือนกับการช่วยชีวิตคนอื่น” เธอกำลังนึกถึงเสื้อเกราะกันกระสุนเคฟลาร์ซึ่งปัจจุบันใช้กันอย่างกว้างขวางและป้องกันกระสุนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง ไม่มีใครนับว่ามันช่วยชีวิตคนได้กี่หมื่นกี่แสนคน

ชีวิตยิ่งใหญ่ไม่จำเป็นต้องมาจากอะไรที่ยิ่งใหญ่ ตราบใดที่มีความมุ่งมั่นและสร้างประโยชน์ให้แก่มนุษย์ได้อย่างแท้จริงแล้ว ความยิ่งใหญ่ก็จะเกิดขึ้น คนตัวเล็กก็สามารถใหญ่ได้ครับ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 1 ก.ค. 2557