ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > องค์กรต่อสู้คอร์รัปชัน ห่วงรัฐบาลแค่ “สร้างภาพ” หวังดึงภาคประชาสังคมแก้ปัญหาระยะยาว

องค์กรต่อสู้คอร์รัปชัน ห่วงรัฐบาลแค่ “สร้างภาพ” หวังดึงภาคประชาสังคมแก้ปัญหาระยะยาว

6 สิงหาคม 2013


ทีดีอาร์ไอเปิดเวทีสาธารณะระดมความเห็น “บทบาทภาคประชาสังคมกับการต่อต้านคอร์รัปชัน” โดยองค์กรและหน่วยงานปราบคอร์รัปชัน ชี้รัฐไม่จริงจังแก้ปัญหาทุจริต ทำแค่ “จัด event และ ตั้ง call center” ระบุภาคประชาสังคมคือความหวังแก้ปัญหาทุจริตระยะยาว

วันที่ 5 สิงหาคม 2556 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดเสวนาสาธารณะเรื่อง “บทบาทภาคประชาสังคมกับการต่อต้านคอรัปชัน” ภายใต้โครงการวิจัย “คู่มือประชาชนรู้ทันคอร์รัปชัน”

โดยมี ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวเปิดเสวนา และมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ พันตำรวจเอกดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม, นายภาส ภาสสัทธา รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), ดร.กนกกาญจน์ อนุแก่นทราย ผู้อำนวยการศูนย์สารณประโยชน์และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), ดร.มานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน, นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย และดำเนินการอภิปรายโดย นายอิสร์กุล อุณหเกตุ นักวิจัยทีดีอร์ไอ

คอร์รัปชันเหมือนมะเร็งแต่ป้องกันได้

ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ
ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ

ศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพันธ์กล่าวว่า คอร์รัปชันเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทย ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ หรือเงินงบประมาณเป็นจำนวนมาก แต่อีกมุมที่มากกว่านั้นคือการสูญเสียโอกาสของประเทศ เพราะการที่ประเทศไทยมีคอร์รัปชันทำให้รัฐบาล กับภาคประชาสังคมขาดความไว้วางใจ ส่งผลให้เมื่อมีโครงการลงทุนดีๆ แล้วรัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะสังคมไม่ไว้วางใจ ต่อต้านรัฐบาล เพราะเกรงว่าโครงการเหล่านั้นจะเป็นช่องทางให้รัฐบาลทุจริต

หลายคนกล่าวว่า คอร์รัปชันเป็น “มะเร็งร้าย” ของประเทศ แต่ในมุมมองของหมอ ศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพันธ์กล่าวว่า เป็น “มะเร็ง” ไม่ต้องมีคำว่า “ร้าย” ก็แย่มากมาแล้ว อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบคอร์รัปชันเป็นมะเร็งมีมูลความจริง เพราะเป็นโรคที่คนเป็นไม่รู้ตัว รู้ตัวก็ใกล้จะตายแล้ว รักษาไม่ได้ หรือรักษาก็จะแพงมาก และการฉายแสงหรือเคมีบำบัดล้วนทำลายคนไข้ และอยู่ได้ไม่นานก็ตาย

“ถ้าคอร์รัปชันเป็นมะเร็ง ประเทศไทยกำลังจะตายจากมะเร็งหรือไม่” ผู้อำนวยการ สกว. กล่าว

ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า ในมุมของแพทย์ การรักษามะเร็ง ถ้ารู้เร็วก็รักษาได้ แต่ดีที่สุดคือต้อง “ป้องกัน” เช่นเดียวกับคอร์รัปชันป้องกันได้ ประเทศไทยมีหน่วยงานปราบปรามคอร์รัปชันหลายหน่วยงาน ทั้ง ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ) แต่คอร์รัปชันไม่ได้ลดลง

“เพราะฉะนั้น เชื่อว่าการดึงภาคประชาสังคมเข้ามาแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันจะเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพแก้ไขปัญหาระยะยาวได้” ศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพันธ์กล่าว

ป.ป.ช. ตั้งเป้าปี 2560 ดัชนีคอร์รัปชัน 50 คะแนน

นายภาส ภาสสัทธา
นายภาส ภาสสัทธา

นายภาสกล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การปราบปรามคอร์รัปชันของ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. ไม่สัมฤทธิ์ผลเพราะเมื่อ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. ชี้มูลอะไรจะต้องส่งเรื่องให้หน่วยงานต้นสังกัด ทั้งนี้ การคอร์รัปชันของไทยมีปัญหาไม่ใช่น้อย เห็นได้จากการจัดอันดับดัชนีวัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ขององค์กรความโปร่งใสสากลในปี 2555 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 88 ได้ 37 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่ได้คะแนน 34 แต่อันดับหล่นจาก 80 อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช. ตั้งเป้าว่า จะทำให้ประเทศไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้นเป็น 50 คะแนนในปี 2560

ภาคประกันสังคมมีข้อจำกัดแก้คอร์รัปชัน

รองเลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ป.ป.ช. มีการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมมาตั้งแต่ปี 2547-2548 โดยการให้องค์ความรู้เรื่องการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน โดยมีภาคประชาสังคมเข้าร่วมกว่า 200,000 คน แต่ไม่สามารถนำเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้ และในปี 2550-2551 ได้จัดตั้งแกนนำ ป.ป.ช. อำเภอละ 2 คน ทั่วประเทศรวมประมาณ 1,800-1,900 คน โดยให้รวบรวมสิ่งที่เห็นการทุจริตในพื้นที่เพื่อนำออกมาเปิดเปิดสู่สาธารณะว่า พื้นที่ไหนมีเงื่อนงำการทำทุจริตอย่างไร

จากประสบการณ์ของ ป.ป.ช. ที่ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม พบว่ามีปัญหาที่สำคัญ คือ

1. การทำงานภาคประชาสังคมยังติดกับรัฐอยู่ เพราะภาคประชาสังคมที่มาช่วยเรื่องคอร์รัปชันสวมหมวกหลายใบ คือส่วนใหญ่ก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.) เป็นต้น จึงทำให้ทำงานลำบาก

2. การทำงานของภาคประชาสังคมเรื่องคอร์รัปชันมีความเสี่ยงต่ออันตราย แต่ทางการไม่มีกลไกการป้องกันหรือรักษาความปลอดภัยให้คนทำงานภาคประชาสังคม

3. เรื่องงบประมาณ ป.ป.ช. เคยให้ค่าใช้จ่ายสำหรับการจับจ้องตรวจสอบการทุจริต หรือแม้แต่การประชุมต่างๆ จังหวัดละ 100,000 บาท แต่มีภาคประชาสังคมบางส่วนนำไปตัดเสื้อแจคเก็ตติดสัญลักษณ์ ป.ป.ช การตัดเสื้อไม่เป็นไร แต่ประเด็นคือ เป็นห่วงว่าเขาจะเป็นอันตรายมากกว่า ระยะหลังจึงไม่ได้จัดงบประมาณให้

“ภาคประชาสังคมที่เข้ามาช่วยต่อต้านคอร์รัปชัน เราต้องการกลุ่มเครือข่ายธรรมชาติ ตอนนี้ก็มีหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มเครือข่ายรักทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น” รองเลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าว

รัฐบาล “สร้างภาพ” ต่อสู้คอร์รัปชัน

พันตำรวจเอกดุษฎี อารยวุฒิ
พันตำรวจเอกดุษฎี อารยวุฒิ

พันตำรวจเอกดุษฎีมีความเห็นว่า ข้าราชการที่ดีตั้งใจทำงานเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันมักถูกโยกย้ายให้ไปรับผิดชอบในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาปัญคอร์รัปชันแบบนี้คงไม่สำเร็จ และสิ่งที่รัฐบาลทำกลายเป็นว่าการต่อสู้คอร์รัปชันโดย “จัดอีเวนท์” แล้วประกาศเจตนารมณ์ว่าจะไม่ทุจริต และมีการตั้ง “call center” เพื่อเป็นตัวชี้วัดว่า ถ้าประชาชนมีความเดือดร้อนก็โทรมา คือ ทุกปัญหาจะต้องโทรมาที่ call center

“จะแก้ปัญหาคอร์รัปชันทำอย่างไรให้สำเร็จตอบไม่ได้ รู้ว่าแต่ว่าที่เคยทำมาไม่สำเร็จ แต่เชื่อว่าประเทศไทยยังมีหวังจากภาคประชาสังคม และข้าราชการดีๆ ที่ยังมีอยู่จำนวนมาก”

เพิ่มประสิทธิภาพการลงโทษ ป้องกันทุจริตได้

นายประสงค์กล่าวว่า การจะหวังให้ภาคประชาสังคมเข้ามาช่วยต่อต้านคอร์รัปชัน ต้องมี “ศรัทธา” มาก่อน แต่ด้วยระบบของ ป.ป.ช. และกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถตอบสนองสร้างศรัทธาให้ภาคประชาสังคมได้ เนื่องจากดำเนินคดีเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดหรือทุจริตใช้เวลานานมาก เพราะการไต่สวนคดีอาญาต้องมีหลักฐานที่สมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม นายประสงค์เชื่อว่า หากทำให้เห็นว่ากระบวนการตัดสินคดีและลงโทษผู้กระทำผิดมีประสิทธิภาพ จะเป็นการช่วยลดการทุจริตได้ดีที่สุด เพราะถ้าทุจริตจะต้องถูกลงโทษติดคุกอย่างแน่นอน ก็คงไม่มีใครกล้า เพราะเสี่ยงถูกลงโทษ แต่ถ้าทำผิดแล้วโอกาสถูกลงโทษหรือติดคุกมีความเป็นได้น้อย คนก็จะไม่กลัว

“รัฐธรรมนูญปี 40 ออกแบบมาเพื่อให้มีองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแบบครบวงจร มีการปรับปรุงหลายๆ หน่วยงาน แต่มีหน่วยงานหนึ่งที่ไม่เคยปรับตัวเลยคือ สำนักอัยการสูงสุด ที่น่าจะเป็นคอขวดที่สำคัญ” กรรมการปฏิรูปกฎหมาย

ปัญหาของสื่อกับการต่อต้านคอร์รัปชัน

นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์

นายประสงค์กล่าวว่า ปัจจุบันภูมิศาสตร์ของสื่อกำลังเปลี่ยนแปลง ไม่ได้มีเฉพาะสื่อหลัก คือ หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์เท่านั้น แต่เริ่มมีสื่อออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย สื่อประเภทหลังนี้หากมีการกระจายตัวมากขึ้น จะช่วยให้ภาคประชาชาสังคมเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น แต่การทำข่าวเชิงสืบส่วนสอบสวนเกี่ยวกับข่าวทุจริตคอร์รัปชัน ในอดีตหนังสือพิมพ์จะมีบทบาทมากที่สุด แต่ปัจจุบันเริ่มลดน้อยลงไป ด้วยเหตุผลหลายๆ ปัจจัย

แต่จากภูมิศาสตร์ของสื่อที่เปลี่ยนไปเน้นโซเชียลมีเดีย เริ่มมีนักข่าวออกมาเปิดสำนักข่าวเล็กๆ และข่าวสืบสวนสอบสวน ดังนั้นหากมีระบบเครือข่าย 3 จีที่มีประสิทธิภาพน่าจะช่วยกระจายข้อมูลข่าวสารได้ทั่วถึงมากขึ้น อยางไรก็ตาม การทำข่าวเชิงลึกไม่ใช่เรื่องง่าย มีปัญหาและอุปสรรคพอสมควรที่สำคัญคือ

1. ศักยภาพของนักข่าว เชื่อว่านักข่าวที่ทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนมีความตั้งใจจะทำข่าว แต่ความสามารถไม่สามารถทำได้ เพราะการทุจริตมีความซับซ้อน และเป็นเรื่องเชิงเทคนิคมากขึ้น นอกจากนี้อาจเข้าไม่ถึงแหล่งข้อมูล เพราะรัฐไม่เปิดเผย การทำข่าวก็อาจทำไมได้

2. ต้องสร้างความเป็นอิสระให้สำนักข่าว คือ ต้องไม่ทำให้สื่ออยู่ภายใต้อำนาจการครอบงำของรัฐและนายทุน

3. ต้องมีส่วนของวิชาการเข้ามาช่วยแปลข้อมูลจากเรื่องยากๆ ให้เป็นเรื่องง่ายๆ

การต่อสู้คอร์รัปชันต้องมี “political will”

ดร.มานะกล่าวว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันตั้งเป้ายุทธศาสตร์ 5 กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มนักการเมือง ข้าราชการ ประชาชน นักธุรกิจ โดยช่วง 2 ปีตั้งแต่ตั้งองค์กรฯ พบว่า การต่อสู้กับคอร์รัปชัน ถ้าไม่มี “political will” ถ้าไม่มีการแก้ปัญหาคอร์รัปชันทำได้ยาก

โดยองค์กรฯ พยายามเคลื่อนไหวทำเรื่อง “ข้อตกลงด้านคุณธรรม” ซึ่งรัฐบาลได้ให้ “ยาหอม” โดยมีรัฐมนตรีประกาศจะใช้ข้อตกลงคุณธรรมในการดำเนินโครงการของภาครัฐ คือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งตกลงว่าจะนำข้อตกลงคุณธรรมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อนำไปปฏิบัติกับกระทรวงอื่นๆ และ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งบอกว่า จะนำใช้ข้อตกลงคุณธรรมนำร่องกับโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี และ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครฯ

“รัฐมนตรี 2 ท่านแรก ประกาศร่วมมือกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแถลงข่าวกับสื่อมวลชน ส่วน ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ไม่ได้แถลงข่าวแต่มาทำข้อตกลงร่วมกับองค์กรฯ จนถึงขณะนี้เรื่องยังนิ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้นายกิตติรัตน์บอกว่าจะนำเรื่องเสนอเข้า ครม. แต่จนถึงขณะนี้ก็ไม่มีความคืบหน้า หรือรัฐมนตรีชัชชาติระยะหลังก็บอกว่าต้องรอดูระเบียบก่อน แม้แต่นายกรัฐมนตรีก็ประกาศต่อต้านคอร์รัปชันหลังปรับ ครม. ครั้งล่าสุด แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ เลย จึงเกรงว่าจะเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น”

ผลงาน 2 ปี องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

ดร.มานะ นิมิตมงคล
ดร.มานะ นิมิตรมงคล

อย่างไรก็ตาม ผลงานที่ถือว่าประสบความสำเร็จขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันที่ดำเนินการมา 2 ปีคือ 1. การแก้ปัญหาสินบนนำจับจากกรมศุลากร ซึ่งผลักดันจนมีการแก้กฎระเบียบของกรมศุลกากร ทำให้ปัญหาสินบนนำจับลดน้อยลง 2. เรื่องรถยนต์ เกรย์มาร์เก็ต ปัจจุบันได้รับการแก้ไขจากรัฐบาล 3. เรื่องการออกใบอนุญาตโรงงาน 4 ซึ่งมีการพิจารณาแล้ว โดยความต้องการคือไม่ใช่ให้ปล่อยผีใบอนุญาตโรงงาน 4 แต่ต้องการให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง ถ้าใครทำไม่ถูกต้องก็ไม่ต้องออกใบอนุญาต และ 4. การเปิดเผยราคากลางและที่มาของราคากลางต่อกรมบัญชีกลาง ซึ่งจะมีผลวันที่ 11 ส.ค. นี้

ส่วนกรณีบริษัทไร่ส้ม ดร.มานะกล่าว่า หลังจากมีการเคลื่อนไหวได้มีการต่อยอดสร้างกระแสการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันได้เชิญคณบดี คณะนิเทศศาสตร์ 6 มหาวิทยาลัย มาคุยเรื่องปัญหาจรรยาบรรณ ปัญหาสื่อมวลชนที่ถูกครอบงำจากธุรกิจ และตลาดหลักทรัพย์กับ ก.ล.ต. ได้ออกหนังสือเวียนแจ้งไปยังบริษัทจดทะเบียนทุกแห่งให้ระมัดระวังการธุรกิจกับบริษัทไร่ส้ม

จากนั้นมี 5 บริษัทใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ออกมาประกาศว่าจะไม่ลงทุนในธุรกิจใดๆ ก็ตามที่มีการทุจริต จนล่าสุดมีความพยายามเพิ่มเติมที่จะกำหนดเป็นมาตรฐานบังคับในตลาดหลักทรัพย์ คือเป็นมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันในตลาดหลักทรัพย์

“เราต้องการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ เพราะการต่อสู้กับคอร์รัปชันเป็นการทำงานระยะยาว ถ้าต้องขอให้ได้มาที่ละนิด ที่ละคืบเราก็เอา เราจึงมีความจำเป็นต้องอดทนกบเรื่องเหล่านี้และก็เงียบ” ดร.มานะกล่าว

ความหลากหลายของภาคประชาสังคม

ดร.กนกกาญจน์กล่าวว่า การแก้ปัญหาทุจริตจริงๆ เราตั้งใจจะแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันจริงหรือไม่ หรือคิดว่าการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันต้องมาจากผู้มีอำนาจเท่านั้น และในสภาพที่ผู้มีอำนาจมีปัญหาจะมีความหวังหรือเปล่า จึงต้องกลับไปหวังที่ภาคประชาสังคม

จากประสบการณ์ในต่างประเทศ ดร.กนกกาญจน์กล่าวว่า เกาหลีใต้กับสิงคโปร์ ถือเป็นประเทศที่ได้อันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันดีทั้งคู่ แต่ที่เกาหลีใต้ซึ่งมีความเจ็บปวดทางประวัติศาสตร์มายาวนานตั้งแต่ญี่ปุ่นเข้ามาครอบครอง ผ่านสงครามเกาหลี จนมาถึงประชาธิปไตยปัจจุบัน คนเกาหลีใต้เขาพบว่า ผู้นำมาแล้วไป แต่พลังประชาชนจะอยู่อย่างยั่งยืน ดังนั้น จะเห็นพลังประชาชนเกาหลีใต้ตื่นตัวเรื่องการต่อสู้คอร์รัปชัน และมีกฎหมายสั่งให้ทำ ถ้าไม่ทำจะแปลก

ขณะที่กรณีสิงคโปร์ สิ่งสำคัญที่สุดในการต่อสู้คอร์รัปชันคือผู้นำ เขาบอกว่า ถ้าผู้นำไม่เอาก็ทำไม่ได้ คนสิงคโปร์ไม่ทำผิดเลยเพราะเป็นสังคมเมือง คอร์รัปชันไม่มีเลย ทุกอย่างเข้าตามตรอกออกตามประตู แต่ไม่นับไปทำอะไรกับประเทศอื่นหรือไม่ไม่ทราบ

“จะเห็นว่า ภาคประชาสังคมมีหลากหลายมาก บางพื้นที่ก็เติบโตในพื้นที่ดินอุดม ก็เติบโตมาก หยั่งรากลึก ทำงานอย่างเข้มแข็ง บางพื้นที่เป็นดินภูเขา หรือดินที่ราบ บางกลุ่มมีองค์กรเป็นหนาม ก็พยายามทำงานตรวจจับ ตามจับ พยายามปกป้องผู้แจ้งเบาะแส บางองค์กรขอเป็นดอกไม้ ส่งเสริมคุณค่า ทำเรื่องดีๆ นี่คือภาพการต่อต้านคอร์รัปชันในหลากหลายรูปแบบ” ดร.กนกกาญจน์

ดร.กนกกาญจน์ อนุแก่นทราย
ดร.กนกกาญจน์ อนุแก่นทราย

เพราะฉะนั้น ในแง่ภาคประชาสังคม ดร.กนกกาญจน์มองว่า ไม่ใช่ตามจับเสมอไป แต่มีประเด็นเดียวกันคือ ต่อต้านคอร์รัปชั่น มันขึ้นอยู่กับบางพื้นที่ ขึ้นอยู่กับบริบท กับเงื่อนไขแต่ละพื้นที่ นี่คือความหลากหลาย ตัวอย่างเช่น องค์กรเพื่อความโปรงใสนานาชาติ ถือว่าเป็นต้นไม้ใหญ่ อยู่มาตั้งกว่า 20 ปี ปรากฏว่าออกเมล็ด แตกลูกหลาน เหมือนเป็นต้นไทร ก็ไปเกิดขึ้นที่อื่น ไม่ได้ให้เงินช่วยมากมาย แต่ช่วยสนับสนุนเครือข่าย สร้างเครือข่ายได้เป็นผืนป่า ข้ามประเทศได้ด้วย

“เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงภาคประชาสังคมก็มีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับบริบทต่างๆ ถ้าในรัฐที่เข้มแข็ง องค์กรภาคประชาสังคมอาจอ่อนแอ อย่างในสิงคโปร์ หรือในรัฐที่อ่อนแอ ภาคประชาสังคมกลับเป็นความหวังเป็นทางออกของสังคม” ดร.กนกกาญจน์กล่าว

ดร.กนกกาญจน์กล่าวว่า ในต่างประเทศมีการจัดหมวดหมู่ของภาคประชาสังคมมีดังนี้คือ 1. พวกติดตาม มีตั้งแต่ระดับพื้นที่จนถึงระดับชาติ 2. การทำงานเครือข่ายของภาคประชาสังคม 3. เป็นเกราะ เป็นกันชน ปกป้องคนที่แจ้งเบาะแส 4. การเปิดโปง เปิดเผยข้อมูล 5.การเป็นที่ปรึกษา หรือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิให้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

“การแก้ปัญหาคอร์รัปชันไม่มี quick win เพราะตามสูตรที่เขาเห็น political will เท่านั้นที่จะเป็น quick win แต่เราก็เหมือนก็รอคำตอบจากสวรรค์ ไม่รู้จริงๆ ว่าจะหวังได้เมื่อไร ดังนั้นภาคประชาสังคมต้องทำ ทำอะไรได้ก็ทำไปเถอะแล้วมันจะเกิดผลเอง เพราะในโลกข้อมูลข่าวสาร ยิ่งคนรุ่นใหม่เป็นนักรบไซเบอร์เยอะแยะ แต่ต้องปลุกเร้าสร้างเครือข่ายก็พอจะทำได้” ดร.กนกกาญจน์กล่าว