ThaiPublica > สัมมนาเด่น > ThaiPublica Forum พลังการเปิดเผยข้อมูล พลังความโปร่งใส (1): “วิชา มหาคุณ” แนะใช้โมเดลสิงคโปร์ ข้อมูลคือเครื่องมือสำคัญที่สุด

ThaiPublica Forum พลังการเปิดเผยข้อมูล พลังความโปร่งใส (1): “วิชา มหาคุณ” แนะใช้โมเดลสิงคโปร์ ข้อมูลคือเครื่องมือสำคัญที่สุด

22 กันยายน 2015


เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ร่วมกันจัดเสวนาเรื่อง "การเปิดเผยข้อมูล พลังความโปร่งใส โอกาส-อนาคต ประเทศไทย"
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ร่วมกันจัดเสวนาเรื่อง “การเปิดเผยข้อมูล พลังความโปร่งใส โอกาส-อนาคต ประเทศไทย”

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ร่วมกันจัดเสวนาเรื่อง “การเปิดเผยข้อมูล พลังความโปร่งใส โอกาส-อนาคต ประเทศไทย” โดยมีวิทยากรคือ นายวิชา มหาคุณ กรรมการ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) นายวิริยะ รามสมภพ นิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล คณะบรรณาธิการ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และกรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด และนายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ผู้ดำเนินรายการคือนายพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ ณ KTC POP อาคารยูบีซี2

นายวิชาได้กล่าวเป็นคนแรกว่า วันนี้เป็นโอกาสดีที่จะได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เกี่ยวกับเรื่องข้อมูลข่าวสาร ซึ่งถือว่าเป็นพลังสำคัญอันหนึ่งที่ก่อให้เกิดความโปร่งใส ทำให้ประเทศเราเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกของการไม่มีการทุจริตหรือทุจริตน้อยที่สุด ผมในฐานะรับผิดชอบดูแลเรื่องการป้องกันและปราบปรามทุจริต ตั้งแต่ปี 2549 ได้พบเห็นข้อมูลต่างๆ มากมายที่เราอยากนำไปสู่สาธารณชน แต่ว่าอาจจะมีความขัดข้องอยู่หลายประการในเรื่องของวัฒนธรรมองค์กร ว่าข้อมูลนั้นเปิดเผยได้ไหม ข้อมูลนี้เปิดเผยได้ไหม เมื่อเข้าไปสู่การไต่สวนระยะหนึ่งแล้ว พบว่าการที่ประชาชนจะเข้าถึงข้อมูลนั้นมีความสำคัญมาก ถ้าประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ ประชาชนก็จะรู้ว่าอะไรเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน รู้ว่าจะแจ้งเบาะแส ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับเราไปประการใดบ้าง

งานของ ป.ป.ช. เป็นงานสามเหลี่ยมที่สำคัญมาก ที่มาบรรจบกัน ขาดมุมใดมุมหนึ่งไม่ได้

PPT-วิชา

มุมที่เป็นพื้นฐานคือ 1. การให้ความรู้แก่ประชาชน การให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสาร ป.ป.ช. โดยตลอด ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่ง ป.ป.ช. เริ่มทำมาตั้งแต่สมัยผมเป็นโฆษก พูดให้ชาวบ้านเข้าใจง่ายๆ แล้วสื่อไปถึงชาวบ้านโดยตรง เพราะองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านทุจริตทั่วโลก โดยเฉพาะองค์กรอิสระ จะเน้นที่การสัมผัสกับชุมชน เพราะว่าชุมชนเป็นส่วนที่สำคัญมาก การให้ข้อมูลข่าวสารผ่านชุมชนจะเกิดพลังของชุมชนขึ้นมา ว่า เอ๊ะ…เรื่องนี้มันไม่ได้ ปล่อยปละละเลยแบบนี้ไม่ได้ ทำไมรัฐถึงปล่อยให้มีการโกงขนาดหนักอย่างนี้

งานที่ ป.ป.ช. เริ่มทำอย่างเป็นรูปธรรม เป็นระบบ คดีแรกคือ ทุจริตจำนำข้าว มีการวางแผนที่จะปูพื้นให้ประชาชนได้สัมผัสเรื่องของข้าวว่ามีความสำคัญอย่างไร ทำไมเราต้องยึดโยงไปที่ระดับสูงสุด ทั้งๆ ที่คดีนั้นไต่สวนเริ่มต้น แม้จะร้องเรียนระดับสูงสุด (อดีตนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ก็ไปไม่ถึงระดับสูงสุด เพราะว่าเราเก็บข้อมูล ระหว่างที่เก็บข้อมูล เราพบข้อมูลว่ามันคือสุดยอดแห่งความชั่วร้ายระดับโลก อย่างนี้ประชาชนไม่รู้ไม่ได้แล้ว และเหมาะกับการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของประชาชน และมีชาวนาฆ่าตัวตาย เรื่องอย่างนี้ปล่อยทิ้งไว้ได้อย่างไร ปล่อยไม่ได้ ประชาชนควรที่จะรู้และสัมผัสถึงความร้ายแรงนี้ เพื่อให้ช่วยกันยุติ เพราะตอนที่เราเริ่มไต่สวนกันครั้งแรกตั้งแต่มีคนร้องเรียน มีชาวนายกขบวนมาและบอกว่าอย่าไต่สวนนะ บอกว่าไต่สวนเป็นเรื่อง เพราะขณะนั้นมีการยิงอาวุธสงครามมาที่ ป.ป.ช. ด้วย ปิดล้อม มาจากเรื่องจำนำข้าว

ดังนั้นไม่ได้แล้ว ขณะเดียวกันต้องแจ้งให้ประชาชนทราบ เราต้องฟ้องประชาชนว่าเรื่องร้ายแรงขนาดนี้ เราถูกตามล่า ไม่ให้ทำงาน ไม่มีที่ไหนในโลก เราแจ้งไปที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติด้วย ซึ่งเขาก็ออกแถลงการณ์เลยว่าขอสนับสนุน ป.ป.ช. และสื่อทั่วโลกก็ออกข่าวด้วย

ป.ป.ช. ต้องเผชิญกับความรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ทำงานมา แต่ว่ามันแสดงให้เห็นว่าพลังของประชาชนมีความสำคัญ ขณะที่เราไต่สวนเรื่องนี้ไป (จำนำข้าว) ประชาชนคล้อยตามเรา เริ่มเห็นด้วย เริ่มมีองค์กรต่างๆ เข้ามาผนึกกำลังช่วย ป.ป.ช. ในการทำงาน ป.ป.ช. ได้สื่อไปที่จังหวัดทุกจังหวัด เพราะเรามีผู้อำนวยการป้องกันและปราบปรามทุจริตประจำทุกจังหวัด เราได้ตั้งคณะโฆษกประจำจังหวัด และให้ผู้ที่มีความรู้เรื่องสื่อสารทุกจังหวัดมาช่วย นอกจากส่วนกลางที่ผมเป็นประธานอนุกรรมการโฆษกของ ป.ป.ช. แล้ว เรามีคณะทำงานที่รับส่งข้อมูล รับข้อมูลว่าประชนตอบสนองความต้องการของตัวเองและอยากเข้าร่วมกิจกรรมของ ป.ป.ช. อย่างไร สามารถสื่อสารไปถึงประชาชน ถึงชาวนาได้ องค์กรต่างๆ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ หลายๆ องค์กรที่ร่วมมือกับเราอย่างแข็งขัน ต้องทำงานร่วมกัน

นื่คือฐานข้างเดียวในการให้ข้อมูลข่าวสารประชาชน เอาความรู้ที่เราไต่สวนไปบอกประชาชน ที่ยุโรป สหรัฐอเมกา ลาตินอเมริกา ทำเหมือนกันหมด คือจะต้องคดีใหญ่ทั้งหลายไปบอกประชาชน บอกให้รู้ทุกกลุ่ม

2. ป้องกัน บางคนนึกว่าในด้านการให้ความรู้เป็นการป้องกันแล้ว ไม่ใช่ ไม่เลย ระบบการป้องกันคือระบบการเฝ้าระวังและสร้างมาตรการไม่ให้เกิดซ้ำขึ้นอีก แล้วคอยป้องกัน คือประชาชนเหมือนกับหมาเฝ้าบ้าน เหมือนกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันที่สร้างระบบนี้ขึ้นมา นี่คือระบบการป้องกัน ดูว่าจะเกิดเรื่องขึ้นที่ไหนบ้าง เพราะเมื่อประชาชนมีความรู้ แล้วประชาชนก็จะตื่นตัว ก็จะคอยเฝ้าระวัง

3. การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และทำครบถ้วนบูรณาการ ดั้งเดิมเรามุ่งแต่เอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่เราไม่ได้ทำให้เป็นองค์รวม การเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษ ต้องประกอบไปด้วย 3 ด้าน คือ 1) เรื่องตรวจสอบทรัพย์สิน ทำหนักมากตอนนี้ ทำให้ผู้ที่ยื่นแสดงทรัพย์สินและหนี้สินบางรายร้องไห้หนักมาก เพราะศาลลงโทษจำคุก เดิมศาลรอการลงอาญาหมดสำหรับผู้ที่ปกปิดและไม่ยื่นรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ป.ป.ช. ส่งไปมากๆ ศาลบอกว่าอย่างนี้ปล่อยไปได้อย่างไร อย่างนี้ต้องจำคุกเลย ที่ผ่านมาทำแบบขอไปที ต่อไปนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะศาลฎีกา แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเอาจริง ตราบใดที่ศาลฎีกายังไม่เปลี่ยน คือสูงสุดของการตรวจสอบทรัพย์สินยังต้องมาที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาฯ นี่คือการวางระบบไว้ตั้งแต่แรก เอาครั้งเดียวและเด็ดขาด โดยไม่ต้องผ่าน 3 ศาล เอาจริงเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย

นายวิชา มหาคุณ
นายวิชา มหาคุณ

ถ้าสร้างระบบตรวจสอบทรัพย์สินทำให้มันจริงจัง เอาจริงเอาจัง ว่าคุณต้องยื่น เพื่อดูว่าคุณมีทรัพย์สินอะไรที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติหรือไม่ นั่นทำให้ต้องติดตามต่อเรื่องคดีร่ำรวยผิดปกติ หรือทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ เพราะสหประชาชาติบอกเลยว่า ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าคุณจับเขาได้ แต่เอาทรัพย์สินคืนมาไม่ได้ ทำให้งบประมาณแผ่นดินไหลออก ตามมาไม่ได้เลย แต่มีการเอาเข้าคุก แล้วบอกว่าฉันแน่ ไม่มีทางที่จะยุติการทุจริตได้ ถ้าคุณไม่ติดตามเอาเงินคืนมาให้ได้ นั่นคือการที่เราจะต้องไปทำข้อตกลงกับสวิสเซอร์แลนด์

นอกจากนี้ ป.ป.ช. ไปที่สถาบันบาเซิลเพื่อให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเราไปเรียนรู้วิธีการติดตามเอาทรัพย์สินคืน เขาถือเป็นเรืองใหญ่มากของโลกต่อไปในอนาคต ต่อให้คุณใหญ่แค่ไหน ตำแหน่งสูงแค่ไหน มีเงินมีทองมากแค่ไหน คุณไม่มีทางหลีกเร้น หนีจากการยึดทรัพย์ได้ เพราะมีหลายรายที่สวิตเซอร์แลนด์บอกไว้ว่า เขา freeze ไว้

3) การทุจริตคอร์รัปชัน เรามองแต่เพียงว่า ต้องจัดการเรื่องประพฤติมิชอบ แต่ที่ขาดไปคือคนให้สินบนด้วย พวกนิติบุคคลทั้งหลาย เราไม่เคยเอาเรื่องเลย เราส่งให้ตำรวจ เพราะ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจ แต่ว่าสหประชาชาติบอกว่า คุณต้องจัดการกับปัญหานี้ เรื่องที่นิติบุคคลให้สินบน เคสที่ใหญ่ที่สุดของโลกนี้ เป็นบรรษัทข้ามชาติที่ให้สินบน เป็นกรณีศึกษา คือ ซีเมนส์ เมื่อไม่นานนี้ทางเยอรมัน ยกว่ากรณี BMW บริษัทผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่เมืองมิวนิก เราไปเพื่อขอรับฟังเรื่ององค์กรเพื่อความโปร่งใส และ good governance เขายกเรื่องซีเมนส์ว่า เขาจะไม่ทำให้เกิดกรณีอย่างนี้อีก ทุกบริษัทในเยอรมนีจะต้องถูกตรวจตรา กวาดบ้านตัวเอง ทำให้ ป.ป.ช. เพิ่มกฎหมายการประหารชีวิต ความจริงกฎหมายเดิมมาตรา 149 แต่ ป.ป.ช. มาใส่เพิ่มว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าระดับก็ตาม และเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศด้วย รวมทั้งนิติบุคคลที่ให้สินทั้งให้และรับจะต้องร่วมกันรับผิดชอบ แต่นิติบุคคลที่ถูกลงโทษ ต้องถูกปรับสองเท่าของความเสียหายที่เกิดขึ้น และผู้จัดการหรือคณะกรรมการจะต้องรับผิดด้วย เราไม่ได้คิดขึ้นเอง เป็นไปตามหลักของ OECD องค์กรเพื่อการเศรษฐกิจและการพัฒนาร่วมกันในเรื่องของการพัฒนาของโลกอยู่ที่ปารีส ผมถูกรับเชิญไปเพื่อคุยว่าจะทำอย่างไรให้เป็นระบบสากล มาตรการต่างๆ อาทิ compliance คือปฏิบัติตามกฎหมาย

ผมจึงเรียนว่าตอนนี้ โลกทั้งโลกไม่เหมือนเก่าอีกแล้ว เป็นยุคของ good cooperate governance ยุคแห่ง good governance อย่างสมบูรณ์แบบ จะก้าวข้ามไปตรงนั้นได้ต้องผ่านกระบวนการเปิดเผยข้อมูลก่อน

ผมขอเรียนเลยว่า ความคิดเรื่องการเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชน ไม่ใช่ว่าเพิ่งเริ่มเกิดขึ้น มันมาตั้งแต่ยุโรปเมื่อร้อยปีมาแล้ว คือ เจเรมี เบนธัม (Jeremy Bentham) เป็นปราชญ์อังกฤษ ให้แนวคิดว่า คุณจะสร้างระบบยุติธรรมที่เข้มแข็งได้ คุณต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ จะปกปิดไม่ได้ คือประชาชนต้องมีส่วนร่วมรับรู้ได้ พูดถึงกระบวนการพิจารณาคดีของศาล กระบวนในการตรวจสอบขององค์กรต่างๆ ไม่มีทางจะปกปิดได้ หากคุณ (ศาล) ให้ความยุติธรรมแล้ว คุณต้องตีแผ่ข้อมูลตรงนี้

PPT-วิชา2

ผมยึดถือนักปราชญ์อังกฤษคนนี้ การเปิดเผยต่อสาธารชนคือจิตวิญญาณอันสูงสุดของความยุติธรรม นี่คือคอนเซปต์ เราจะแปลงมาเป็นระบบที่จะนำไปสู่ความรู้ของประชาชน แล้วในที่สุดมันจะนำไปสู่ท่านเซอร์แฮมตัน เป็นผู้ก่อตั้ง ป.ป.ช. ของฮ่องกง ให้แนวคิดปรัชญาของการไต่สวนทั่วโลก ของปราบปรามทุจริตทั่วโลก ว่า “ไม่มีทางที่จะได้ชัยชนะในการต่อสู้กับการทุจริตได้ หากไม่เปลี่ยนทัศนะคติโดยผ่านทางชุมชน”

เปลี่ยนทัศนคติของผู้คน แล้วเราก็แปลงเป็นกระบวนการของการเปลี่ยนทัศนคติของผู้คน ประกอบไปด้วยสามเหลี่ยม คือ 1) ให้ความรู้อย่างถึงที่สุดแก่ประชาชน 2) สร้างระบบการป้องกัน การเฝ้าระวัง 3) การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง เปลี่ยนทัศคติของประชาชน เท่ากับการกลัดกระดุมเม็ดแรก กลัดให้ถูกก่อน ถ้าคุณยังคิดว่าการทุจริตไม่เป็นไร ขอให้ได้ประโยชน์ก็แล้วกัน ถือว่าคุณทำลายระบบการเข้าถึงข้อมูลตั้งแต่แรก เพราะคุณจะต้องพยายามปกปิดต่อไป เพราะฉันได้ประโยชน์ ฉันไม่มีวันร้องเรียน ฉันไม่มีวันให้ข้อมูลข่าวสารกับองค์กรที่ตรวจสอบเป็นอันขาด

ระบบการเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนได้ ต้องเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณแผ่นดินที่ลงไปยังภาครัฐ ต้องเปิดเผยข้อมูลนี้ให้ประชาชนรับทราบหมด เรียกว่าสิงคโปร์โมเดล (Singapore Model) ซึ่งผมพูดมาเป็นปีแล้ว คุณไม่มีทางปฏิรูปประเทศได้ หากไม่ทำเป็นสิงคโปร์โมเดล

ขณะนี้องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติที่ได้ให้คะแนน ปรากฏว่าให้คะแนนความโปร่งใส มีความโปร่งใสมาก ทุจริตน้อย คะแนนไทยสอบตกตลอดเวลา เราถามเขาว่าจากสาเหตุอะไร เขาบอกว่ามาจากที่เราเปิดเผยข้อมูลน้อย การที่คนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยเฉพาะข้อมูลภาครัฐ มันมีความสำคัญมาก ถึงมากที่สุด สิงคโปร์โมเดล ถ้าคุณมีบัตรประจำตัวใบเดียว คุณเสียบเข้าไปที่คอมพิวเตอร์และกดรหัสปุ๊บ จะดูงบประมาณของกรมไหน กระทรวงไหน มันออกมาหมดเลย

อดีตประธาน ป.ป.ช. จากลิทัวเนียมาที่ประเทศ มาพบกัน เขาอยากแสดงให้เห็นว่าประเทศเขามีการเปลี่ยนแปลงตามสิงคโปร์โมเดล เป็นเหตุให้เขายกระดับความโปร่งใสที่สูงขึ้น เขาทำให้ดูเดี๋ยวนั้นเลย ทำให้เราดู คุณอยากรู้งบประมาณกระทรวงกลาโหมของเขาไหม กดให้ดู ถามต่อไปว่าคุณอยากรู้ไหมว่ากระทรวงกลาดหมเปิดให้มีการประมูลจัดซื้อจัดจ้างอะไรบ้าง มีบริษัทไหนเข้าประมูลบ้าง และกดดูต่อไปอีกว่าบริษัทนั้นมีงบดุลเท่าไร กรรมการเป็นใคร

ผมยังบอกเลยว่า หากเปิดเผยข้อมูลอย่างนี้ ต่อไปสื่อเราตกงาน เพราะถ้าประชาชนรู้ดีแบบนี้ เท่ากับรู้มากกว่าสื่ออีก แม้ ป.ป.ช. เองกว่าจะได้ข้อมูลมาแทบตาย เรียกแล้วเรียกอีกก็ยังไม่ได้ แต่ว่ามันจะพัฒนาสื่อครั้งใหญ่และครั้งสำคัญที่สุด หากประเทศมีระบบการเปิดเผยข้อมูลแบบนี้ สื่อจะเปลี่ยนเป็นข่าวเจาะลึก สืบสวนสอบสวน ผมถามว่าสื่อพร้อมไหม

ดูพาวเวอร์พ้อนท์เพิ่มเติม

อ่านตอนที่ 2 นายบรรยง พงษ์พานิช

ThaiPublica-Nacc Forum