ThaiPublica > เกาะกระแส > ป.ป.ช. สอบผ่านเกณฑ์ประเมินสหประชาชาติว่าด้วย “อนุสัญญาต้านโกง”

ป.ป.ช. สอบผ่านเกณฑ์ประเมินสหประชาชาติว่าด้วย “อนุสัญญาต้านโกง”

12 มิถุนายน 2017


เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2559  เนื่องในโอกาสวันต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งชาติองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้จัดงานเป็นปีที่ 6 ภายใต้แนวคิด “กรรมสนองโกง”ณ บริเวณท้องสนามหลวง

วันที่ 12 มิถุนายน 2560 นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่าตามที่ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 ของสหประชาชาติ เข้ารับการประเมินตามกลไกของอนุสัญญา ทั้งนี้ ในการประเมินมีจุดเน้นในเรื่องการกำหนดฐานความผิดที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตไว้ในกฎหมายภายในการบังคับใช้กฎหมายและความร่วมมือระหว่างประเทศ

การประเมินดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการรายงานข้อมูล ซึ่งภาพรวมของผลการประเมินออกมาเป็นที่น่าพอใจ และได้มีการรายงานผลการประเมินต่อที่ประชุมสหประชาชาติเรียบร้อยแล้ว อาจกล่าวได้ว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลการประเมินของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ดี มาจากการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่มีหลักการใหม่ที่สำคัญ เช่น การริบทรัพย์ตามมูลค่า การกำหนดให้อายุความสะดุดหยุดลงในกรณีที่ผู้กระทำความผิดหลบหนี ความรับผิดของนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น

นอกจากนี้ การประเมินตามพันธกรณีของอนุสัญญาดังกล่าว ยังส่งผลให้นานาชาติเห็นถึงเจตจำนงของรัฐบาลไทยและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการทุจริต

อย่างไรก็ตาม ผลของการประเมินชี้ให้เห็นว่าประเทศไทย จำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายภายในบางประการเพิ่มเติม เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเพื่อเตรียมการสำหรับการประเมินในรอบที่ 2 ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ มีจุดเน้นเรื่องการติดตามทรัพย์สินในคดีทุจริตกลับคืนสู่รัฐ โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ได้เสนอประเด็นไว้ในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายไปยังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาแล้ว ได้แก่ ประเด็นการกำหนดความผิดฐานขัดขวางกระบวนการยุติธรรม การเข้าถึงข้อมูล การติดต่อสื่อสารและกลไกในการติดตามทรัพย์สินที่มีการยักย้ายไปต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย

ทั้งนี้ การแก้ไขกฎหมายที่ผ่านมา รวมถึงข้อเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว จะส่งผลให้การดำเนินคดีทุจริตระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีสินบนข้ามชาติ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งช่วยให้การติดตามผู้กระทำความผิดและติดตามทรัพย์สินกลับคืนสู่ประเทศไทย เพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี