ThaiPublica > คอลัมน์ > อย่างไรเล่าจึงเรียก “คอร์รัปชัน”

อย่างไรเล่าจึงเรียก “คอร์รัปชัน”

1 กันยายน 2014


หางกระดิกหมา

ผู้คร่ำหวอดในกิจกรรมต้านคอร์รัปชันท่านหนึ่งเคยเปรยให้ฟังว่า “เมืองไทยนี่มันแปลกนะ ตั้งแต่ผมทำเรื่องต้านคอร์รัปชันมาหลายปี ผมยังไม่เห็นมีใครไม่เอากับเราเลย ถามใครๆ ก็ว่าคอร์รัปชันไม่ดีทั้งนั้น ให้มันเซ็นชื่อต้านคอร์รัปชันมันก็เซ็น ให้มันขึ้นเวทีพูดเรื่องคอร์รัปชันมันก็พูด ให้มันตัดริบบิ้นงานต้านคอร์รัปชันมันก็ตัดให้อีก แต่สุดท้ายลงจากเวทีก็เห็นมันคอร์รัปชันกันเหมือนเดิม”

ทีแรกฟังแล้วลองคิดหาคำอธิบายก็หาไม่ได้เหมือนกัน จนแต้มมากๆ เข้าก็กำลังจะซัดให้เป็นอีกหนึ่งคุณลักษณะพิเศษของประเทศไทยอย่างที่ใครๆ เขาชอบซัดกัน ซึ่งแปลว่าไม่ต้องหาคำอธิบาย ประเทศไทยก็เป็นอย่างนี้ ใครจะทำไม

อย่างไรก็ตาม พอได้ไปอ่านบทความเรื่อง “Because we’re worth it: how and why lofty ideology cohabits with rampant corruption” ในนิตยสารอีโคโนมิสต์ของเดือนที่แล้วก็เลยรู้ว่า เรื่องพูดอย่างทำอย่างในเรื่องคอร์รัปชันนี้ ไม่ใช่เรื่องเฉพาะของประเทศไทย แต่เป็นกันอีกหลายประเทศทีเดียว อีกทั้งไม่ใช่เรื่องไม่มีเหตุผลเสียด้วย

ประเทศที่ถูกยกมาเป็นตัวอย่าง ได้แก่ รัสเซีย ซึ่งทางหนึ่งมีปูตินเป็นเสมือนผู้รู้ทันความตลบตะแลงหรือจอมปลอมเห็นแก่ตัวของโลกตะวันตก แต่ปรากฏว่าในบ้านก็กลับปล่อยให้ลูกสมุนโกงกันตามอัธยาศัย หรือกรณีของตุรกี ซึ่งอดีตนายกฯ เรเซพ แทยิบ แอด์กัน พยายามจะฟื้นฟูศีลธรรมของสังคม ทั้งห้ามขายเหล้าและพยายามจะห้ามไม่ให้คนคบชู้ แต่พอถึงเวลาปรากฏว่ามีรัฐมนตรีทำผิดขึ้นมา ก็ไพล่ไปซัดตำรวจแทนที่จะจัดการกับรัฐบาล

สุดท้ายก็คือจีน ซึ่งผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ทำท่าเทพนมอยู่ในภาพของผู้นำผู้เที่ยงธรรมตามลัทธิเหมาหรือลัทธิขงจื๊อ แต่แล้วกลับปล่อยให้ลูกเมียโกยเงินโกยทองจากประเทศกันหน้าตาเฉย

แน่นอน ทั้งสามประเทศนี้พยายามกลบเกลื่อนการกระทำทุจริตของตัวเอง อย่างตุรกีก็โทษว่าข้อหาทั้งหมดถูกกุขึ้นมาโดยพวกอยากจะรัฐประหารหรือพวกฝรั่งที่หวังทำลายชาติ จีนก็ลงโทษหนังสือพิมพ์ต่างชาติที่เล่นเรื่องคอร์รัปชัน ส่วนในรัสเซียนั้น ใครเปิดโปงพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ขึ้นมาก็อาจจะถึงตาย แต่ถึงกลบเกลื่อนยังไง สุดท้ายประชาชนก็ไม่ได้เชื่อรัฐบาลอยู่ดี คำถามจึงยังมีอยู่เหมือนเดิมว่า แล้วทำไมรู้ทั้งรู้ ประชาชนถึงได้ทนพฤติกรรมสับปลับกลับกลอกอย่างนี้อยู่ได้ คำตอบก็คือ สำหรับประเทศเหล่านี้ ความโกงเป็นเรื่องที่ไม่ต้องห่วง ที่ควรห่วงคือโกงแล้วทำงานหรือเปล่า

คนตุรกีนั้นเห็นข้าราชการที่ทั้งโกงทั้งขี้เกียจมามาก จนสุดท้ายพอเจอข้าราชการที่ยักยอกงบประมาณหรือใช้อำนาจเพื่อตัวเองแต่ยังรู้จักทำงานเข้าก็เลยรู้สึกว่าเข้าท่ากว่า อย่าว่าแต่ภาษิตตุรกีก็ยอมรับกันอยู่แล้วว่า “คนที่ถือน้ำผึ้งอย่างไรเสียก็ต้องจะเลียนิ้ว” คนจีนไม่น้อยเองก็ยอมให้มีการคอร์รัปชันเพื่อแลกกับความเจริญของประเทศ ส่วนคนรัสเซียนั้นถือว่าลำพังเสถียรภาพทางเศรษฐกิจหลังจากยุคเก้าศูนย์เป็นต้นมา ก็เพียงพอแก่การจะหนุนหลังปูตินแล้ว

ส่วนตัวข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของประเทศเหล่านี้ก็มีเหตุผลที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกันในการคอร์รัปชัน กล่าวคือ เนื่องจากในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาทั้งจีน รัสเซีย และตุรกี ต่างเติบโตในอัตราที่ดีด้วยกันทั้งนั้น การคอร์รัปชันก็เลยมีสภาพเป็นเสมือนค่าเหนื่อยของบรรดาข้าราชการมากกว่าความผิด คือ ข้าราชการก็จะเห็นไปว่าตนนั้นมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะได้ค่าใต้โต๊ะ อย่างเช่น ข้าราชการจีนซึ่งเงินเดือนต่ำมากแต่ต้องทำงานหนักนั้น พอเจอเศรษฐีใหม่ๆ เข้าก็จะพาให้นึกว่า “กูทำงานหนักกว่ามึง กูฉลาดกว่ามึง แต่มึงกลับรวยกว่ากู (ดังนั้นกูก็จะเก็บค่าต๋งมึง)”

ยิ่งกว่านั้น คอร์รัปชันในทั้งสามประเทศยังแพร่หลายมาก จนไม่ค่อยมีใครเห็นว่ามันเป็นเรื่องผิดบาปอะไรจริงจัง สถานการณ์กลับเป็นตรงกันข้ามด้วยซ้ำ คือในสังคมที่มีแต่คนกินสินบน ใครเกิดไปถือสินบนวิรัติอยู่ ก็เหมือนกับหาเรื่องอดตาย ร้ายยิ่งกว่านั้น ใครไม่กิน ก็อาจถูกมองว่าบ้าประสาทเสียไปเลย และอาจไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง ยังไม่ต้องนับว่า คนเหล่านี้ย่อมจะไม่ได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายที่กินสินบนอีกด้วย

แล้วบางทีคนจะคอร์รัปชันนี่ก็ล้วนแต่ฉลาดสรรหาเหตุผลมาสนับสนุนการ กระทำของตน อย่างนักการเมืองมุสลิมในตุรกีนั้น มักจะเห็นไปว่าตนนั้นเป็นที่พึ่งของปวงมุสลิมทั้งในประเทศและนอกประเทศ ดังนั้น การจะหาเศษหาเลยบ้างเพื่อรักษาสถานะของตัวไว้ทำประโยชน์แก่พี่น้องมุสลิมต่อไป จึงเป็นสิ่งที่ให้อภัยได้

อาจเป็นเพราะเรื่องชัดๆ อย่างคอร์รัปชันมันไม่ชัดสำหรับหลายคน โดยเฉพาะในประเทศที่คอร์รัปชันมันเคยเป็นปกติอย่างหนึ่งของชีวิตนี่เอง ในอิตาลี ประเทศต้นกำเนิดมาเฟียและคุ้นเคยกับวัฒนธรรมคอร์รัปชันเป็นอย่างดี จึงเริ่มมีการจัดวิชาเรียนสำหรับข้าราชการ เพื่อสอนกันให้มันเด็ดขาดไปว่าอะไรคือคอร์รัปชัน อย่างเช่น มีการสอนว่าการช่วยให้ญาติหรือคนรู้จักได้โครงการของรัฐไปทำจะถือว่าโกงหรือไม่ การเอารถหลวงพาลูกไปเที่ยวทะเลผิดหรือไม่ หรือเวลางานไม่ยุ่งมาก การพักนั่งแช่กินกาแฟให้มันเย็นใจเสียหน่อยมันจะเป็นอะไรหรือเปล่า ฯลฯ

เขาบอกว่าที่ต้องสอนกันตั้งแต่ปฐม ก.กาอย่างนี้ ก็เพราะเขาพบว่าเรื่องคอร์รัปชันระดับชาตินั้นคนรู้ดีกันอยู่แล้ว แต่คอร์รัปชันในระดับชีวิตประจำวันนี่แหละที่หลายคนมองไม่ออก แต่สุดท้าย สิ่งนี้เองจะเป็นตัวทำให้คอร์รัปชันระดับใหญ่งอกงามได้หนักเข้าไปอีก เพราะมิตรภาพนั้นเผลอแป๊บเดียวก็จะกลายเป็นเล่นเส้น และการหยวนๆ นั้นในหลายกรณีก็คือการเจตนาปิดบังความผิดเลยทีเดียว ในทางตรงกันข้าม หากมีการสอนอย่างนี้แล้วบอกว่าจะมีการสุ่มตรวจ ข้าราชการก็อาจจะสำรวมประพฤติกันมากขึ้น

ในยุคปัจจุบันของประเทศไทยซึ่งข้าราชการดูเหมือนจะเป็นใหญ่ที่สุดในประเทศ หากมีการสอนอย่างนี้บ้างก็น่าจะดี เพราะการย้ายนี่ ปลดนั่น อนุมัติสัญญา ฯลฯ ที่ทำกันแบบพี่ๆ น้องๆ ไว้ใจกันนี่แหละ หลายครั้งมันก็อาจจะกลายเป็นคอร์รัปชันไปโดยไม่รู้ตัว

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ โกงกินสิ้นชาติ นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันทีึ่ 1 กันยายน 2557