ปัญหาวิกฤติของสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะสมาชิกผู้ฝากเงินประมาณ 50,000 กว่ารายเท่านั้น แต่ยังอาจลุกลามไปถึงสหกรณ์ผู้ฝากเงินจำนวนอีกพอสมควร ตามที่สำนักข่าว”ไทยพับลิก้า”เคยนำเสนอไปในข่าว กางบัญชีเงินฝากสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น ขาใหญ่เป็นสหกรณ์ด้วยกันเอง ยอดรวมกว่า 8 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตามสำนักข่าวไทยพับลิก้าได้พูดคุยกับ “ดร.เฉลิมพล ดุลสัมพันธ์” ซึ่งอยู่ในวงการสหกรณ์มาเกือบ 40 ปี และเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานดำเนินการชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทยสมัยที่ 2 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง จำกัด ให้สัมภาษณ์ “ไทยพับลิก้า” ถึงวิกฤตกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น ในประเด็นต่างๆดังนี้
ไทยพับลิก้า : ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทยมองกรณีปัญหาสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และผลที่จะตามมากรณีที่สหกรณ์ต่างๆ นำเงินไปฝากสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นอย่างไร
ต้องเรียนอย่างนี้ก่อนว่า ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทยที่บริหารอยู่ สมาชิกคือสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งเป็นสมาชิกที่เป็นนิติบุคคล ไม่มีสมาชิกที่เป็นบุคคลธรรมดา ขณะนี้มีสมาชิก 1,013 สหกรณ์ แต่ละสหกรณ์นำไปฝากที่คลองจั่นเป็นเรื่องของการดำเนินการของแต่ละนิติบุคคล ธุรกรรมของแต่ละสหกรณ์เขามีสิทธิที่จะไปฝากหรือกู้ที่ไหนก็ได้ เหตุผลที่เอาไปฝากอาจเป็นเพราะว่าเขาต้องการผลตอบแทนที่สูง ถ้าไปฝากธนาคารหรือฝากที่ชุมนุมสหกรณ์ฯก็ได้ผลตอบแทนน้อยกว่าสหกรณ์ฯ คลองจั่น เขาก็เลยนำไปฝากจำนวนมาก ผมจะพูดแค่อัตราดอกเบี้ยนะ ส่วนแรงจูงใจอย่างอื่นผมไม่อยากจะพูด มีหรือไม่มี ผมไม่ตอบ แรงจูงใจมันสูงจริงๆ การฝากเงินที่ถูกคือต้องมีเงินเหลือแล้วค่อยนำไปฝาก หรือไปกู้มาฝากก็แล้วแต่เขา ฉะนั้น ชุมนุมฯ ไม่สามารถไปควบคุมอะไรได้
ไทยพับลิก้า : บทบาทของภาครัฐ ตั้งแต่รัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ควรต้องดำเนินการอย่างไรกับเรื่องนี้
ควรต้องรีบดำเนินการโดยด่วน คนที่คิดว่าทำให้เกิดปัญหาขึ้นหรือตัวสร้างปัญหา ควรจะต้องดึงออกมาข้างนอก ไม่ควรให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสหกรณ์อีก ไม่ควรนั่งตำแหน่งประธานหรือให้มีอำนาจบริหารอีก ถ้าเรารู้ว่าบุคคลนี้เป็นคนทำให้เกิดปัญหาแล้วเข้าไปบริหารต่อ การแก้ไขปัญหาจะยาก ที่ถูกคือผมอยากจะเห็นส่วนราชการใช้อำนาจที่มีอยู่ คือ พระราชบัญญัติสหกรณ์ มาตรา 22 ให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ แล้วเอากรรมการที่คิดว่าเป็นกลางเข้าไป เพื่อสร้างศรัทธาใหม่ และการตรวจสอบจะง่าย จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ก็ได้ หรือจะใช้อำนาจของนายทะเบียนแต่งตั้งกรรมการชั่วคราวที่เป็นกลางจริงๆ เพราะถ้าความผิดเป็นจริงขึ้นมา นิติกรรมที่ผู้บริหารคนนั้นทำ ตั้งแต่รับตำแหน่งมันจะเป็นอย่างไร จะเป็นโมฆะไหม แล้วใครจะรับผิดชอบ
เพราะโดยหลักในระบบราชการ คนที่มีปัญหาก็ต้องย้ายออกจากตำแหน่งก่อน ถ้าสอบออกมาแล้วถูกต้องค่อยกลับเข้าตำแหน่งใหม่ เป็นหลัก good governance หรือหลักธรรมาภิบาล ถ้าให้คนที่มีปัญหาบริหารด้วย ตรวจสอบไปด้วยมันจะลำบาก เขาอาจจะไปปรับแก้หรือโยกย้ายหลักฐาน รัฐบาลหรือส่วนราชการอย่างกรมส่งเสริมสหกรณ์ควรจะรีบทำ ส่วนรัฐบาลควรจะเข้าไปเยียวยาให้ทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เป็นเจ้าหนี้และสมาชิกสหกรณ์ที่สุจริต
ไทยพับลิก้า : แนวทางที่เป็นไปได้คืออะไร
คณะกรรมการพัฒนาสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.) ก็ต้องคุยกันว่าจะหาทางช่วยเหลืออย่างไร ส่วนกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) มีเงินไม่มาก ประมาณ 4 พันล้าน และวัตถุประสงค์คือให้สหกรณ์ทุกประเภทกู้เพื่อนำไปบริหารเสริมสภาพคล่อง แต่ไม่ใช่ช่วยเหลือในยามที่มีปัญหา เอามาตั้งโต๊ะแจกเงินไม่ได้
เรื่องนี้ก็พูดลำบากเหมือนกัน เพราะถ้าที่นี่ (สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น) ทำได้ อีกหน่อยที่อื่นก็ต้องร้องขอบ้างเหมือนกัน คือถ้าเกิดวิกฤติจากภัยพิบัติหรือเหตุอื่นๆ ที่ไม่คาดคิดก็ยังมีคำอธิบายให้ช่วยเหลือพิเศษได้ แต่นี่เกิดจากการทุจริตแล้วมันเสียหาย นี่สมมตินะ แล้วเราไปช่วยเหลือ ก็เหมือนเราไปช่วยแบบผิดๆ
ไทยพับลิก้า : กรณีสหกรณ์ฯคลองจั่นผลกระทบจะเป็นแบบโดมิโนหรือไม่
ผมคิดว่าไม่เป็น เงินมันติดอยู่ตรงนั้น คือสหกรณ์ทุกแห่งเขารู้ แต่ละสหกรณ์ติดอยู่ (เงินฝาก) มันไม่เยอะนะ ประมาณ 40 สหกรณ์ จากจำนวนสหกรณ์ทั่วประเทศตั้ง 8-9 พันสหกรณ์ ก็ถือว่าไม่เยอะ และโดยปกติสหกรณ์ส่วนใหญ่ที่เอาไปฝากคือสหกรณ์ที่มีเงินเหลือ ยกเว้นบางแห่ง เช่น สหกรณ์ฯยโสธร ที่เจอทั้งเรื่องแชร์ล็อตเตอรี่แล้วเจอเรื่องนี้อีก ก็มีบ้างที่ไปกู้เงินเอามาฝากที่สหกรณ์ฯคลองจั่น ซึ่งก็มีไม่กี่แห่ง
แต่เมื่อเทียบความเสียหายกับสินทรัพย์แล้ว ก็หลายพันล้านบาท ยังถือว่าพอรับมือไหวกับปริมาณเงินเขาที่มีทั้งหมด หรือสหกรณ์จุฬาฯเขามีเงิน 4-5 หมื่นล้านบาท เอามาลงที่สหกรณ์ฯคลองจั่นประมาณกว่าพันล้านบาท ถ้ามันจะเสียจริงๆ เขาก็ต้องไปตัดเป็นหนี้สูญไป ถ้าเกิดว่าไม่มีใครช่วยนะ ที่ประชุมใหญ่แต่ละสหกรณ์เขาก็ต้องไปไล่เบี้ยจากกรรมการที่นำเงินมาฝาก หรือว่าในทางบัญชีผู้สอบก็ต้องตั้งส่วนนี้เป็นค่าเผื่อหนี้จะสูญ อาจจะทยอยตัดไปเหมือนกรณีของพวกแชร์ล็อตเตอรี่ แต่ว่าสมาชิกทุกคนที่ถือหุ้นก็ต้องรับสภาพนั้นไปด้วย ถ้าไม่มีใครช่วยจริงๆ ก็ต้องไปตามทวงทรัพย์สินคืนมา
ไทยพับลิก้า : ภาครัฐควรหาทางช่วยแก้สถานการณ์หรือไม่
คิดว่าควรมีมาตรการเยียวยา โดยเฉพาะรายเล็กๆ ที่เป็นสมาชิกรายบุคคล พวกนี้บางทีเป็นเงินก้อนสุดท้าย แต่พวกสหกรณ์ยังมีระบบตัดหนี้เสียได้ แต่สมาชิกบางคนทั้งชีวิตเขาเอาเงินไปซื้อหุ้นสหกรณ์ฯคลองจั่น ไปฝากเงิน ทำให้มีอาการซึมเศร้าอยากฆ่าตัวตายกันหลายคนแล้ว
“ความจริงเรื่องนี้มีสัญญาณบอกเหตุมาตั้งนานแล้ว ผมว่าไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี แต่คนไม่ค่อยรู้ หรือเห็นสัญญาณแต่อยากได้ดอกเบี้ยเยอะ แล้วเขาคิดว่าเขาเคยได้อัตรานี้เป็นปกติ ก็ไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง ผมมีญาติหลายคนเอาไปฝาก ผมก็เตือนแล้วแต่ไม่ยอมเชื่อ แกบอกว่าไม่เห็นมีอะไร ก็ได้รับดอกเบี้ยปกติ เพราะผมอยู่วงในผมจะรู้ดี อย่างไรเหตุการณ์อย่างวันนี้ก็ต้องเกิด เพียงแต่รอเวลาเท่านั้นเอง แล้วก็ส่วนราชการทั้งสองกรม (กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์) อาจทำหน้าที่ไม่เต็มที่ เพราะถ้าเข้าไปจัดการแต่แรกมันจะดีกว่า กรมก็ไปอ้างว่าทางคลองจั่นมีแบ็คดีบ้าง มีการเมืองหนุนหลังบ้าง หรือว่ามีป้ายติดที่สหกรณ์ว่าเขตปลอดเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริม ซึ่งผมว่าอันนี้ไม่ใช่ข้ออ้าง เพราะคุณเป็นข้าราชการ คุณกินเงินเดือนหลวงอยู่ แล้วหน้าที่คุณทั้งส่งเสริมและควบคุมสหกรณ์ ถ้าคุณรู้แล้ว คุณไม่ทำ ก็คือคุณละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
ไทยพับลิก้า : ส่วนราชการทั้งสองกรมนี้ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย
ผมว่าควรจะ แม้แต่คดีแพ่งก็ฟ้องได้ ถ้าผมเป็นสมาชิกผู้เสียหายผมฟ้อง ผมฟังจากรัฐมนตรีฯ ยุคล ลิ้มแหลมทอง เองก็โยนไปให้ดีเอสไอกับ ปปง. หรือแม้กระทั่งอธิบดีกรมตรวจบัญชี ก็บอกว่ากฎหมายนี้เป็นกฎหมายส่งเสริมอะไรต่างๆ นานา ผมก็บอกว่าไม่ใช่ คืออำนาจมีแน่ๆ ไม่อย่างนั้นจะมีสองกรมนี้ไว้เพื่ออะไร ถ้ามีแล้วไม่ส่งเสริมหรือไม่กำกับ หรือเห็นแล้วไม่ทำอะไร แม้กระทั่งการส่งสัญญาณก็น้อยมาก
ไทยพับลิก้า : แสดงว่าในวงการสหกรณ์ รู้ว่ามีความผิดปกติที่สหกรณ์ฯ คลองจั่นมานานพอสมควรแล้ว
ถ้าอยู่วงนอกจะไม่รู้ แม้กระทั่งสหกรณ์ด้วยกันเองก็ไม่รู้ คนวงในต้องอย่างพวกผมระดับผู้นำจริงๆ ถึงจะรู้
ไทยพับลิก้า : แม้แต่สหกรณ์ฯ จุฬาฯ เขาก็ไม่รู้หรือว่ามีความผิดปกติ
คือช่วงนั้นสหกรณ์ฯ จุฬาฯ เปลี่ยนผู้บริหารสหกรณ์ เข้าใจว่าช่วงนั้นอาจารย์สวัสดิ์ (รศ.ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา) เว้นวรรค แล้วอาจารย์บัญชา (รศ.ดร.บัญชา ชลาภิรมย์) เป็นประธานสหกรณ์ฯ จุฬาฯแทน แล้วมันมีเหตุผลอย่างอื่น ผมเข้าใจว่าเหตุผลส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าอาจารย์บัญชาได้เข้าไปนั่งอยู่ในบริษัท สหประกันชีวิต (มหาชน)
ไทยพับลิก้า : ตอนนี้สิ่งที่สมาชิกสหกรณ์ฯ คลองจั่นควรจะทำมากที่สุด
ก็ต้องใช้สิทธิของตัวเอง อย่างไปดีเอสไอเพื่อแจ้งสิทธิของตัวเอง ถ้าหากไม่มีใครช่วยจริง จะได้มีการเฉลี่ยทรัพย์สินของสหกรณ์ เป็นการคุ้มครองสิทธิของตัวเอง
ไทยพับลิก้า : โอกาสของสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น
ถ้าดูจากฐานะการเงินของสหกรณ์ฯ คลองจั่น มีทรัพย์สินประมาณ 2 หมื่นกว่าล้าน เป็นเงินฝากข้างนอก 1.4 หมื่นล้าน เป็นหุ้นของตัวเองเกือบ 5 พันล้าน แล้วก็เป็นให้เงินกู้ประมาณ 1.5 หมื่นล้าน ในจำนวนนี้เป็นของ 27 รายที่เป็นสมาชิกสมทบประมาณ 1.2 หมื่นล้าน ส่วนใหญ่ลูกหนี้ไม่ได้ประกอบกิจการเลยก็มี ก็แปลว่าไม่มีเงินส่งทั้งต้นทั้งดอก เพราะฉะนั้น สหกรณ์ฯ คลองจั่นก็จะไม่มีเงินไปจ่ายดอกเบี้ยหรือเอาไปคืนผู้ฝากเงิน เขาก็ต้องอาศัยเงินใหม่เข้ามา ตราบใดที่มีเงินใหม่เข้ามาก็จะไม่เป็นอะไร
แต่ถ้าเงินใหม่มันสะดุด ไม่เข้าสหกรณ์อย่างตอนนี้ และมีเรื่องสุญญากาศบริหาร รวมกับข้อกล่าวหาว่ายักยอกเงิน เงินใหม่ก็ไม่เข้าแล้ว จะให้ผลตอบแทนมากน้อยแค่ไหนก็ไม่มีใครเอา แล้วถ้าไปดูในงบการเงิน จะเห็นดอกเบี้ยค้างรับพันกว่าล้านบาท (70% ของดอกเบี้ยรับ) เพราะลูกหนี้หลัก 1.2 หมื่นล้านไม่จ่ายดอกเบี้ย คิดเป็นเงินประมาณพันกว่าล้านบาท สหกรณ์ฯ ก็เลยไม่มีรายได้ เงินต้นก็ไม่ได้คืน แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาเสริมสภาพคล่อง เอาเงินไปคืนผู้ฝาก แล้วยังมีเงินยืมทดลองจ่าย (นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ประธานคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นเบิกออกไป) อีก 3 พันกว่าล้าน แล้วทีนี้จะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายได้ ผมก็พยายามมองในแง่ดี แต่ดูแล้วไปยากเหมือนกันถ้าไม่มีใครมาช่วยนะ ซึ่งใครล่ะจะเข้ามาช่วย ผมก็ภาวนาอยากให้สหกรณ์ฯ คลองจั่นรอด อย่างที่สมาชิกทุกคนหวัง แต่ถ้าดูจากฐานะการเงิน ดูจากกระแสเงินสดพวกนี้แล้ว มันลำบากมาก
ไทยพับลิก้า : สมาชิกคลองจั่นก็ต้องทำใจไว้ส่วนหนึ่ง
แน่นอนครับ ญาติผมก็บอกไปแบบนั้น ทั้งๆ ที่เขาเองก็ยังเชื่อว่าคุณศุภชัยจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ คือเขามองว่าเป็นคนตั้งใจ เป็นคนเก่ง แต่ถ้าดูจากฐานะการเงินสหกรณ์ฯ ยากมาก ถ้าไม่มีเงินมาช่วยนะ ถ้าหวังเงินคืนจากลูกหนี้แทบไม่มีทางเลย เพราะบางบริษัทมีแค่สำนักงาน ไม่ได้ทำธุรกิจแต่กู้เงินได้ถึง 400-500 ล้านบาท คือมันผิดตั้งแต่แรก ผิดตรงที่ว่าให้สมาชิกสมทบกู้มากกว่าสมาชิกสามัญ มันก็เป็นไปไม่ได้ โดยหลักสามัญสิทธิมันต้องมากกว่า แถมสมทบยังไม่มีธุรกิจรองรับ เอาเงินไปทำอะไร แล้วคนกู้กับคนอนุมัติเงินกู้ ยังเป็นคนเดียวกันอีก หลักประกันไม่มีหรือไม่ครอบคลุมวงเงินกู้
ไทยพับลิก้า : ปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “ประเภท” สหกรณ์เครดิตยูเนียน
ไม่ใช่ ถ้าพูดแบบนั้นก็ไม่ถูกนะ คือไม่ใช่อยู่ที่เครดิตยูเนียนนะ ผมว่าปัญหานี้เกิดจากสองส่วน ไม่ว่าที่ไหนก็แล้วแต่ อย่าให้มันเกิด คือ หนึ่ง เรื่องคน สอง ระบบงาน เรื่องคนในที่นี้คือไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์เครดิตยูเนียน สหกรณ์เกษตร หรือบริการ ถ้าเราได้คนที่มีอุดมการณ์จริงๆ ทำเพื่อส่วนรวมจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจการแบบไหน ผมว่าไม่มีปัญหาเลย แต่ถ้าเราได้คนที่ขาดอุดมการณ์ หรือว่าขาดจิตสำนึกการทำงานสาธารณะเพื่อส่วนรวม คนที่ทำงานสหกรณ์ต้องมีจิตใจที่รักและเสียสละ
ไทยพับลิก้า : แต่คุณศุภชัยก็หนักแน่นในหลักการสหกรณ์มาตลอด
ก็ต้องมีการติดตามหรือมีการพิสูจน์ ต้องใช้เวลา ซึ่งคราวนี้ก็เห็นอยู่แล้วว่าเป็นยังไง เงินมันไม่เข้าใครออกใคร พระพยอมท่านก็เคยพูดว่าเงินแม้กระทั่งพระ ถ้าอยู่ด้วยนานๆ ก็ไว้ใจไม่ได้ เงินมันเปลี่ยนนิสัยคนได้ ส่วนเรื่องระบบก็ต้องวางระบบงานให้ดี เช่น การทำงานก็ต้องมีการตรวจสอบ มีการ check and balance ไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งมีอำนาจตั้งแต่ต้นจนจบ
ไทยพับลิก้า : บทบาทของกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ตามหน้าที่ต้องทำอะไรบ้าง
ทั้งสองกรมเป็นตัวแทนของภาครัฐ กรมส่งเสริมสหกรณ์มีหน้าที่รับจดทะเบียนสหกรณ์ ใครที่จะรวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์ก็ไปคุยกับกรมส่งเสริม เมื่อรับจดทะเบียนแล้วอีกหน้าที่หนึ่งก็คือการกำกับ ควบคุม ดูแล ให้เป็นไปตามกฎหมายสหกรณ์ เป็นไปตาม พ.ร.บ. ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ นายทะเบียนมีอำนาจตั้งแต่มาตรา 16 ถึงสุดท้ายมาตรา 22 ตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ ถ้าพบการกระทำผิด ทำได้ถึงขนาดถอดถอนรายบุคคลหรือทั้งคณะกรรมการ ที่เบาคือให้แก้ไข ถ้าไม่แก้ก็ต้องให้หยุด สุดท้ายก็ถอดถอน
ส่วนกรมตรวจบัญชีสหกรณ์มีหน้าที่ให้สมาชิกหรือประชาชนทั่วไปมั่นใจได้ว่า กิจการสหกรณ์มีกรมตรวจบัญชีช่วยดูแล ถึงแม้ว่าในขณะนี้สหกรณ์ที่มีเงินทุนตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป สามารถจ้างผู้สอบบัญชีภายนอกได้ก็จริง แต่สุดท้ายกรมตรวจบัญชีก็ต้องดูอีกที เพราะผู้สอบบัญชีเอกชนก็ต้องเสนอผ่านมาที่กรมตรวจบัญชี แล้วกรมตรวจก็ต้องมีหน้าที่ควบคุมผู้สอบบัญชีอีกที เพราะฉะนั้นสองส่วนจะมีบทบาทแยกกัน อย่างเคสนี้กรมตรวจฯ มีหน้าที่แค่ตรวจสอบ ถ้าเจอปัญหาก็รายงานนายทะเบียนต่อ คือกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งถืออาญาสิทธิ์อยู่ตามมาตรา 22
ไทยพับลิก้า : ถือว่ากรมตรวจบัญชีทำหน้าที่รายงานแล้ว
เกือบจะครบ แต่กรมตรวจยังสามารถที่จะไม่รับรองงบประมาณประจำปี อย่างเช่น เขาบอกว่า สมาชิกสมทบเป็น “นิติบุคคล” ไม่ได้ (ลูกหนี้เงินกู้สหกรณ์ฯ คลองจั่นเป็นสมาชิกสมทบที่เป็นนิติบุคคล) เพราะ กฤษฎีกา เขาตีความว่าถ้าจะเป็นสมาชิกสมทบ หนึ่ง คือ ห้ามบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเป็นสมาชิกสมทบ สอง คือ ห้ามนิติบุคคลเป็น แต่กรณีคลองจั่น 27 ลูกหนี้สมทบเป็นนิติบุคคลได้อย่างไร รับเป็นสมาชิกได้อย่างไร รับจดทะเบียนได้อย่างไร ให้กู้เงินด้วย แถมยังกู้มากกว่าสมาชิกสามัญอีก แล้วยังให้เบิกเงินทดรองจ่ายกว่า 3,000 ล้าน มีประเทศไหนให้ยืมกันได้มากขนาดนี้ แล้วไม่มีคืน ไม่มีการกำหนดไม่มีระเบียบรองรับ คือ คนที่หน้าที่เป็นกรมตรวจบัญชีเจอแบบนี้ก็ต้องรีบแล้ว อย่าปล่อยให้มันบานปลายเพราะไม่ใช่เพิ่งเกิดเรื่อง มันหลายปีแล้ว
ถ้ากรมตรวจบัญชีฯ ไปพบ คุณก็ต้องไม่รับรองงบประจำปี สหกรณ์ก็จะประชุมใหญ่ไม่ได้ แล้วพอประชุมใหญ่ได้จ่ายปันผลได้ เขาก็ดำเนินกิจการแบบผิดๆ ต่อได้ กรมตรวจบัญชีต้องทำหน้าที่ตรงนี้ ถ้าประชุมใหญ่ไม่ได้ สมาชิกไม่ยอม ก็ต้องไปเล่นงานผู้บริหารเอง
ไทยพับลิก้า : สหกรณ์อื่นๆ ไม่มีสมาชิกสมทบเป็นนิติบุคคลเลย
เป็นไม่ได้เลย ถึงให้เป็นได้ก็ให้กู้เงินไม่ได้
ไทยพับลิก้า : มีที่นี่ที่เดียวเลย
คุณศุภชัยมักจะทำสิ่งที่ไม่ค่อยเหมือนคนอื่น แต่ทางราชการก็ไม่ได้ทำหน้าที่ อ่อนแอ ขณะที่สหกรณ์อื่นควบคุมได้หมดแต่ทำไมรายนี้ถึงยกเว้น
ไทยพับลิก้า : กฎหมายเปิดโอกาสให้สหกรณ์สามารถนำเงินไปลงทุนได้ทุกอย่างเลยหรือเปล่า มีข้อจำกัดไหม
ไม่ใช่ อันนี้มีไม่กี่แห่งที่แหกกฎเกณฑ์ คือถ้าอยู่ในกฎเกณฑ์มันไม่มีปัญหาหรอก แต่นี่ทำไม่ได้ ก็ดันทุรังทำ แล้วไปตีความกฎหมายเข้าข้างตัวเองแล้วอ้างว่าทำได้ อย่างไปตีความข้อสุดท้ายที่ว่าคณะกรรมการมีสิทธิที่จะทำได้ทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของสมาชิก แต่เขาไม่ดูกฎหมายข้ออื่นที่ต้องไปผูกโยงด้วย เช่น ถ้าลงทุนก็ต้องเข้ามาตรา 62 ของประกาศ คพช. หรือคุณต้องไปขออนุมัติจาก คพช. ก่อน
ไทยพับลิก้า : กรมตรวจบัญชีสหกรณ์เข้าไปดูบัญชีได้ปีละครั้งใช่ไหม
เข้าไประหว่างปีก็ได้ ถ้ารู้ว่ามีปัญหา เข้าไปได้ตลอด แม้ว่าตามหน้าที่จะแค่ปีละครั้ง กรณีสหกรณ์ฯ คลองจั่นจะไม่ได้ตรวจโดยตรง เพราะทรัพย์สินเกิน ก็จ้างผู้สอบบัญชีภายนอกมา แต่กรณีสหกรณ์ที่มีปัญหา กรมก็ใช้สิทธิเข้าไปตรวจบัญชีเองแทนที่เอกชน เพราะผู้สอบบัญชีเอกชนบางทีเขาอาจคิดว่าเป็นลูกจ้าง จ้างให้มารับรองงบ แต่ถ้าเป็นกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทำได้เต็มที่ แล้วยังสามารถตั้งผู้ตรวจการณ์ไปขุดคุ้ยหาข้อเท็จจริง
ไทยพับลิก้า : คุณศุภชัยมักจะพูดกับสมาชิกบ่อยๆ ว่า กฎเกณฑ์บางอย่างของแต่ละสหกรณ์เป็นกฎเฉพาะที่ ถ้าในสหกรณ์ตกลงกันเองแล้ว รัฐจะเข้ามายุ่มย่ามไม่ได้
แต่ต้องไม่ผิดกฎหมายไง หลักมันต้องมีกติกา อย่างเรื่องสมาชิกสมทบซึ่งอยู่ในมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.สหกรณ์ ที่กำหนดให้มีสมาชิกสมทบได้ แต่รายละเอียดให้นายทะเบียนเป็นคนกำหนด แต่ตอนหลังสหกรณ์ฯ คลองจั่นเขาไปขอนายทะเบียนแก้ข้อบังคับให้เพิ่มสมาชิกสมทบโดยขอให้นิติบุคคลเป็นได้ แล้วรับสมาชิกจากทั่วประเทศได้ ไม่ใช่เฉพาะบริเวณคลองจั่นแล้ว กรมส่งเสริมฯ ก็เลยไปยื่นให้กฤษฎีกาตีความผลเรื่องสมาชิกสมทบต่อ ผลปรากฏว่าก็ไม่อนุญาต (ดูคำวินิจฉัยกฤษฎีกา) แต่พอสรุปว่าทำไม่ได้ สหกรณ์ฯ คลองจั่นก็ยังทำเหมือนเดิม แล้วทีนี้คนที่คุม ก็คือกรมส่งเสริมฯ กับกรมตรวจบัญชีฯ จะบอกว่าเป็นเรื่องของรายละเอียดก็ไม่ใช่ เป็นเรื่องของกฎหมาย ถ้ากฤษฎีกาวินิจฉัยแล้วก็ต้องปฏิบัติตามอย่างเดียว คุณเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ไม่ปฏิบัติตาม ปล่อยได้อย่างไร
ผมเคยพูดในที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.) สมัยคุณยุทธพงศ์ (จรัสเสถียร) ยังเป็น รมช.เกษตรอยู่ กรมส่งเสริมฯ ก็รายงานว่าได้รับรองคณะกรรมการชุดนายศุภชัยไปแล้ว เพราะผ่านการเลือกตั้งมาถูกต้อง ผมก็บอกว่า จะไปคิดว่าเขามาโดยถูกต้องอย่างเดียวไม่ได้ เพราะการทำให้ชนะเลือกตั้ง ไปเกณฑ์คนหรือจะใช้อะไรก็แล้วแต่ ทำได้ทุกวิถีทาง การที่กรมส่งเสริมฯ รับรองการประชุม ก็ยิ่งเอาหนังสือของกรมไปยืนยันว่าขนาดนายทะเบียนยังรับรองเลย ถือเป็นเรื่องอันตรายมาก ผมถึงบอกว่านี่ยังไม่สายเกินไปที่จะใช้มาตรา 22
ไทยพับลิก้า : ถ้าไม่มีเหตุการณ์ที่นายมณฑล กันล้อม อดีตประธานคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ คลองจั่น ยื่นฟ้อง จนนำไปสู่สุญญากาศด้านการบริหาร 3 เดือนกว่า เหตุการณ์อย่างวันนี้จะยังเกิดขึ้นหรือไม่
มันก็จะเป็นอย่างที่มันเป็น ปัญหาก็จะลามไปเรื่อยๆ ถ้าเทียบเป็นฝีก็รอวันแตก สมาชิกที่ได้รับผลกระทบก็จะมีจำนวนมากขึ้นและจะโดนกันหนักขึ้น วงเงินความเสียหายก็จะมากขึ้น
ไทยพับลิก้า : อธิบดีดีเอสไอกล่าวไว้หลายครั้งว่า มีลักษณะคล้ายแชร์ลูกโซ่ คิดเหมือนกันหรือไม่
ก็มีลักษณะอย่างนั้น เพราะเงินที่เข้าใหม่ก็ต้องนำมาจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินปันผลให้กับสมาชิกเก่า
ไทยพับลิก้า : ปัญหาของสหกรณ์ฯ คลองจั่นจะส่งผลกระทบต่อบริษัทประกันที่เกี่ยวข้องกันอีกสองแห่ง คือ บริษัทสหประกันชีวิต และบริษัทยูเนียนอินเตอร์ประกันภัย หรือไม่ เพราะอย่างสหประกันก็มีสหกรณ์ฯ คลองจั่นเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 แล้วสหกรณ์ฯมงคลเศรษฐีเริ่มมีปัญหาสภาพคล่อง (นายศุภชัยเป็นประธาน) ถือหุ้นอันดับ 2
ผลกระทบอาจไม่โดยตรงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่กระทบแน่ เพราะสหกรณ์ฯ คลองจั่นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เรื่องของประกันหรือกรมธรรม์ กรมการประกันภัยจะดูแลอยู่แล้ว แต่เรื่องธุรกิจกระทบแน่นอนทั้งยูเนียนอินเตอร์และสหประกันชีวิต เพราะถ้าเกิดไม่เชื่อมั่นในบริษัทใครจะทำประกันกับบริษัทเหล่านี้ต้องคิดหนักขึ้น จากเดิมที่บอกว่าสหประกันเป็นของขบวนการสหกรณ์ แต่ถ้ามีปัญหาแต่ละที่ก็ต้องปกป้องตัวเองก่อน ส่วนการเพิ่มทุนที่เพิ่งระดมเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาคงจะลำบาก คงเพิ่มได้ยากเพราะความเชื่อมั่นลดลง แต่ไม่ถึงขั้นที่ต้องเลิกกิจการสำหรับทั้งสองบริษัท ยังคิดว่าเขายังทำกันต่อได้
เดิมทีเราหวังกันว่าสหประกันชีวิตเป็นของขบวนการสหกรณ์ คือสหกรณ์ทั่วประเทศเป็นทั้งเจ้าของและลูกค้า แต่ถ้ามีปัญหาแบบนี้ก็ต้องคิดว่าเวลาเคลมกรมธรรม์จะได้เงินไหม อย่างไรผมก็อยากให้ทุกกิจการไม่ล้มไป ทั้งสหกรณ์ฯ คลองจั่น สหกรณ์มงคลเศรษฐี หรือสหประกันชีวิต เพราะต้องกระทบภาพลักษณ์ขบวนการสหกรณ์ทั้งประเทศแน่นอน
ไทยพับลิก้า : กรรมการผู้จัดการของสหประกันชีวิตคือนายสหพล สังข์เมฆ ก็เป็นรองประธานสหกรณ์ฯ คลองจั่น ชุดล่าสุด
เท่าที่ทราบก็เป็นบุคคลที่มีความสนิทสนมกับคุณศุภชัย คือ มาจากชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนียนแห่งประเทศไทย เดิมเคยอยู่ด้วยกันที่ชุมนุมแต่ตอนหลังก็แยกกัน แล้วมารวมกันที่สหกรณ์ฯ คลองจั่น แล้วพยายามตั้งชุมนุมเครดิตยูเนียนใหม่ เหมือนของจุฬาฯที่มาตั้งชุมนุมสหกรณ์ธนกิจ
ไทยพับลิก้า : เงินฝากในระบบสหกรณ์ไม่มีกองทุนค้ำประกันเลย พ.ร.บ.สหกรณ์มีความจำเป็นต้องปรับให้มีกองทุนกลางเพื่อคุ้มครองเงินสมาชิกหรือไม่
ยังไม่มีในขณะนี้ กฎหมายไม่ได้เขียนไว้ แต่เราก็ใช้ระบบหุ้นค้ำประกัน บุคคลค้ำ เงินฝาก หรืออสังหาริมทรัพย์ค้ำประกันได้ ส่วนบางที่ก็จะมีประกันหนี้ ประกันชีวิต
ไทยพับลิก้า : บทเรียนครั้งนี้ จะมีมาตรการอะไรป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำในอนาคตไหม
ผมคิดว่าเรื่องหลักการหรืออุดมการณ์สหกรณ์ยังดีอยู่ แม้กระทั่งกฎหมายในขณะนี้ก็ยังใช้ได้อยู่ มันมีปัญหาอยู่ที่คน ถ้าไม่อยากให้เกิดซ้ำอีกก็ต้องพยายามเลือกผู้บริหาร ผู้นำให้ดี คนที่เป็นผู้บริหารต้องมีจิตสาธารณะ มีจิตวิญญาณของการทำงานสหกรณ์
ผมอยู่วงการสหกรณ์มาเกือบ 40 ปี วิกฤติต่างๆ เหล่านี้ผมก็ผ่านมาแล้วทั้งนั้น เรื่องล็อตเตอรี่ หรือเรื่องคุณศุภชัย หรือว่าคนมาเสนอให้ผมทำนั่นทำนี่ เยอะแยะ ผมไม่ทำเพราะผมถือว่าที่ผมได้มาเป็นกรรมการหรือประธานสหกรณ์ก็ดี ชุมนุมฯก็ดี ผมถือว่านี่คือเกียรติสูงสุดแล้ว แล้วผมมาโดยสมาชิก ฉะนั้นผมก็ต้องดูแลสมาชิก ผู้ถือหุ้น ผลประโยชน์ที่ได้ตามกติกา เช่น เบี้ยประชุม แล้วสิ้นปีได้โบนัส ผมคิดว่าพอแล้ว เพราะหนึ่งใจคิดอยากทำเพื่อที่จะให้มากกว่าที่จะรับ สองคือเสียสละ สามคือการได้ช่วยคนมันมีบุญกุศลยิ่งกว่าอะไร ผมผ่านวงการสหกรณ์มาไม่น้อยกว่าคุณศุภชัย ยังอยู่นานกว่าคุณศุภชัยด้วยซ้ำ อันนี้ก็เป็นบททดสอบหรือบทพิสูจน์คนเหมือนกัน
ไทยพับลิก้า : ตั้งแต่เกิดปัญหาสุญญากาศการบริหารของสหกรณ์ฯ คลองจั่น ที่ผ่านมากรมส่งเสริมฯ จะอ้างว่ากรมไม่มีอำนาจไปบังคับให้ทำอะไรทั้งนั้น
ไม่ถูกต้องหรอก ถ้าเป็นสหกรณ์ปกติก็ไม่เป็นไร แต่เคสที่มีปัญหาอยู่ คือยอมรับว่ามันไม่ใช่เคสปกติอย่างเช่น กรมส่งเสริมฯ ก็รู้ว่าเขามีปัญหาแล้วไปรับรอง เราจะไปใช้หลักแบบศรีธนญชัย ไม่ได้ใช้สำนึกก็ต้องรู้แล้วว่า ไม่ใช่ ทำให้ปัญหามันขมวดปมแก้ยากเข้าไปอีก ผมรู้อยู่แล้วว่าปัญหาแบบนี้มันต้องเกิดขึ้นเพียงแต่ไม่รู้ว่าช้าเร็วหรือเมื่อไร
ไทยพับลิก้า : มีสหกรณ์อื่นๆ ที่เป็นเหมือนระเบิดเวลารอวันปะทุอีกไหม
ถ้าสหกรณ์ไหนมีผู้นำที่ดีแล้วยึดมั่นในแนวทางและอุดมการณ์โดยไม่คิดถึงผลประโยชน์ ถ้าติดกับผลประโยชน์ วันนี้อาจจะดี แต่พอนานๆ เข้ามีอะไรเข้ามาเยอะ ก็อาจเปลี่ยนใจคนได้ เพราะฉะนั้นระบบมันจะช่วยได้ ต้อง check and balance อย่าให้ใครคนหนึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จ แล้วหน่วยราชการต้องทำหน้าที่อย่างเคร่งครัด
ไทยพับลิก้า : ถ้ากรมส่งเสริมฯ เข้าไปควบคุมสหกรณ์ฯ คลองจั่นเอง ตั้งกรรมการชั่วคราวแล้วขอความช่วยเหลือมาที่ชุมนุมฯ ออมทรัพย์ ทางชุมนุมฯ พอจะช่วยเหลือได้บ้างไหม
ผมก็ตอบแทนกรรมการทั้งคณะไม่ได้ แต่ถ้าหากว่าจำเป็นเราก็อาจจะให้ความช่วยเหลือได้ ก็จะเสนอเข้ากรรมการ แต่ผมคิดว่าต้องมีเงื่อนไขที่รัฐบาลค้ำประกัน
ไทยพับลิก้า : เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเก็บค่าต๋งจากสหกรณ์เพื่อตั้งกองทุนฟื้นฟู หรือตั้งสถาบันประกันสหกรณ์
นี่เป็นสิ่งที่คิดกันอยู่ ในอนาคตต้องมีกองทุนนี้เพื่อช่วยเหลือสหกรณ์ที่มีปัญหาโดยเฉพาะผู้ฝากเงินที่สุจริต มีกองทุนเสถียรภาพสหกรณ์ซึ่งต่างประเทศเขาก็มี เรายังไม่มี แล้วก็เรื่องของกฎหมายคุ้มครองต่างๆ อย่างธนาคารพาณิชย์
ไทยพับลิก้า : หลังเกิดเรื่องนี้มีแนวคิดให้ “สหกรณ์” ย้ายจากกระทรวงเกษตรฯ ไปให้กระทรวงการคลังดูแลแทน คิดว่าสมควรไหม
สหกรณ์ก็คือสหกรณ์ ผมคิดว่าไม่ใช่การแก้ปัญหา คือมีแค่สหกรณ์ส่วนน้อยที่มีปัญหา พอมีปัญหาที่หนึ่งก็ไปนั่งคิดกันทีหนึ่ง โดยส่วนใหญ่ยังดีอยู่ สหกรณ์ในประเทศไทยตั้งเกือบ 9 พันแห่ง จะมีปัญหาไม่เกิน 10 แห่ง ผมเชื่อว่าทุกบริษัทหรือกิจการก็มีแบบนี้หมด หรือแม้แต่ราชการ ฉะนั้นก็ต้องแก้ให้ตรงจุด ต้องคิดว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน อยู่ที่คนก็ต้องพยายามสร้างระบบให้มันดี
ไทยพับลิก้า : แต่ครั้งนี้มันใหญ่มาก
มันจะไม่ใหญ่ขนาดนี้ถ้าทุกส่วนทำหน้าที่ของตนเอง แต่ก็ปล่อยปละละเลย หรือแค่ราชการส่งสัญญาณให้ประชาชนรู้บ้าง จะมาอ้างว่าถ้าไปเปิดเผยข้อมูลแล้วสหกรณ์จะฟ้องฐานทำให้เสียหายไม่ได้ เพราะทีกรณีแชร์ล็อตเตอรี่ก็เห็นกรมไปบรรยายทุกที่ เปิดเผยหมดทั้งเส้นทางการเงิน ทั้งชื่อสหกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ทำไมตอนนั้นทำได้ แล้วทีสหกรณ์ฯ คลองจั่นทำไม่ได้ ซึ่งวิธีการที่กรมจะส่งสัญญาณให้ประชาชนที่สุจริตเขารู้ ไม่จำเป็นต้องเผยแพร่ตัวเลขก็ได้ ฉะนั้นมีวิธีการที่จะบอกเยอะแยะไป ก็ไม่ส่งสัญญาณ
ไทยพับลิก้า : ในวงการสหกรณ์แข่งกันจ่ายดอกเบี้ยฝาก มีทั้งข้างบนข้างล่าง ทุกที่แข่งกันแบบนี้หมด
ก็ไม่เชิง แข่งกันอย่างไรก็แล้วแต่มันหนีสัจธรรมไม่ได้ คือ คุณต้องบริหารต้นทุนของคุณให้ได้ ถ้าคุณไปแข่งแล้วคุณอยู่ไม่ได้คุณก็ตาย แข่งเพิ่มแต่ดอกเบี้ยเงินฝาก แต่เงินกู้ปล่อยใครไม่ได้ ของสหกรณ์ฯ คลองจั่นถือว่าดอกเบี้ยเงินกู้สูงมาก อยู่ที่ 12 % ให้ดอกเงินฝาก 5-6 % ก็สบายจะเอาส่วนต่างไปทำอะไรได้ตั้งเยอะ
แต่ของผมคือในสหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้านครหลวง มีเงินมากกว่าคลองจั่นอีก แต่ส่วนต่างน้อยมาก ดอกเงินกู้แค่ 5.5% ส่วนดอกเงินฝาก 4.5% ผมมีกำไรแค่บาทเดียว แล้วกู้เงินสิ้นปีมีเฉลี่ยคืนอีก (คืนดอกเบี้ยเงินกู้เป็นเปอร์เซ็นต์ตามผลประกอบการของสหกรณ์) พอกำไรมันน้อยมันต้องบีบบังคับตัวเอง ผมเลยไม่มีเงินเดือน สำนักงานก็ไม่ได้สร้างให้ใหญ่โต ไม่ได้เอาไปอวดใคร อาศัยการไฟฟ้าฯ อยู่ ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายหมดไม่มีออกนอกกรอบ เพราะระบบสหกรณ์มันดีอยู่แล้ว แต่ออมทรัพย์มันดีมากกว่าที่ว่าคนในออมทรัพย์เป็นคนที่มีความรู้ มักจะเป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นลูกจ้าง ต้องเป็นคนที่มีความรู้ ไม่อย่างนั้นสอบเข้ามาทำงานไม่ได้
ของเครดิตยูเนียนเป็นใครก็ได้ แค่กำหนดพื้นที่ดำเนินกิจการเท่านั้น เป็นแม่ค้าพ่อค้า ตำรวจ ข้าราชการ หรือบางคนเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ขับแท็กซี่สามล้อเต็มไปหมดเลย แล้วของเขาหัก ณ ที่จ่ายเหมือนออมทรัพย์ไม่ได้เพราะต่างคนต่างมา ไม่มีรายได้ประจำเหมือนออมทรัพย์ ฉะนั้นมันจะควบคุมด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว คนที่มีการศึกษาเลือกคนที่มีการศึกษา ฉะนั้นเวลาประชุมออกนอกกรอบยาก แต่ของเขาออกง่ายเพราะความต่างมันเยอะ
อย่างสหกรณ์ฯ คลองจั่นจะเอาเงินไปทำอะไรก็ได้ ไปทำบุญทีเป็นแสนๆ สิทธิขาดอยู่ที่ผู้บริหารคนเดียวไม่ต้องเข้าที่ประชุม แต่ของผมต้องเข้าคณะกรรมการก่อน ส่วนผู้ตรวจสอบกิจการไม่ใช่พวกเดียวกัน การที่มีหลายก๊กก็จะเป็นการ check and balance แต่ของเขาตั้งแต่ประธาน กรรมการ ผู้ตรวจสอบกิจการ พนักงาน เป็นพวกเดียวกันหมด ยิ่งเอื้อต่อความเสียหายหรือช่องโหว่
ผมยังไม่เป็นสมาชิกของเขาเลย ถ้ามันดีจริง หรือเอาสหกรณ์ต้นสังกัด ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ก็ไม่ได้เอาไปฝากที่สหกรณ์คลองจั่นเลย ผมเตือนสมาชิกของผมอยู่เสมอ โดยเฉพาะสมาชิกที่เกษียณ ส่วนใหญ่เห็นว่าที่การไฟฟ้าให้น้อยเลยไปฝากสหกรณ์ฯ คลองจั่นดีกว่า บางคนลาออกเอาเงินทั้งหมดไปฝากเลย ผมก็เตือนมาหลายครั้งแล้ว ถือว่าเรามีหน้าที่บอกให้รู้ จะเชื่อหรือไม่ก็แล้วแต่ จนทุกวันนี้เห็นสัจธรรมเลย
ไทยพับลิก้า : หลังเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น เงินฝากทั้งระบบสหกรณ์หายไปบ้างไหม ความไม่เชื่อมั่นมีมากไหม
ไม่หรอก สมาชิกเขาเข้าใจ แต่จะถามว่าสหกรณ์เราเอาไปฝากที่สหกรณ์ฯ คลองจั่นหรือเปล่า ถ้าเอาไปฝากก็อาจจะหวั่นไหว แต่ถ้าไม่ฝากก็คิดว่าไม่มีปัญหา