ThaiPublica > คอลัมน์ > เฟซบุ๊ก: ส่วนตัวหรือสาธารณะ?

เฟซบุ๊ก: ส่วนตัวหรือสาธารณะ?

19 กุมภาพันธ์ 2013


ยุทธการ ยุทธนาวุธพิทักษ์

มาถึงปัจจุบัน คำถามที่ว่า แท้จริงแล้วเฟซบุ๊กเป็นพื้นที่ส่วนตัวหรือพื้นที่สาธารณะ ก็ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงต่อสู้ช่วงชิงความหมายกันอยู่ และในบางระดับก็พัฒนาต่อไปในลักษณะที่ยอมรับว่าเฟซบุ๊กเป็นพื้นที่ที่มีทั้งอาณาบริเวณที่เป็นส่วนตัวและสาธารณะ แล้วแต่ว่าผู้ใช้จะกำหนดผ่านการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว ว่าจะให้เนื้อหาส่วนไหนเป็นส่วนตัว ส่วนไหนเป็นสาธารณะ ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ แต่เห็นว่ายังไม่มีข้อสรุปชัดเจนในเรื่องเส้นแบ่งระหว่างพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อไป และคงเป็นธรรมดาของการสร้างกฎ และการผลิตวัฒนธรรม ให้กับ “สังคมรูปแบบใหม่” ที่แม้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่ก็ไม่เคยถูกใช้อย่างเข้มข้นและแพร่หลายจนส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ในวงกว้าง กระทั่งทำให้เกิดกระบวนการถกเถียงเพื่อผลิตเส้นแบ่ง อันเป็นกฎเกณฑ์ที่คาดหวังให้ผู้ใช้ทุกคนยอมรับร่วมกันขึ้นมา

อาจเพราะสร้างมาจากมนุษย์ ซึ่งก็มีชีวิตอยู่ในโลกออฟไลน์ การกำหนดค่าความเป็นส่วนตัวในเฟซบุ๊กจึงคล้ายคลึงกับในโลกออฟไลน์ คือมีลักษณะเป็นพื้นที่ที่แสดงผ่านจำนวนคน ว่าจะมีผู้ใช้เฟซบุ๊กคนไหนบ้างที่จะได้รับอนุญาตให้ “รู้ (เห็น)” เนื้อหาที่ตนเองตั้งใจจะแบ่งปัน

การตั้งค่าความเป็นส่วนตัวให้กับแต่ละโพสต์ สามารถใช้งานผ่านองค์ประกอบการใช้งานของเฟซบุ๊กที่มีชื่อว่า “audience selector” (อยู่ข้างปุ่ม “post”) โดยค่าความเป็นส่วนตัวที่เฟซบุ๊กกำหนดไว้ให้เลือกใช้นั้นแบ่งเป็น 1. ให้รู้ (เห็น) เฉพาะ “เพื่อน/friend”, 2. ให้ “เพื่อนของเพื่อน (friends of friends)” รู้ (เห็น) ได้ด้วย, 3. “กำหนดบุคคลหรือรายการ (specific people or lists)” เฉพาะบุคคลหรือกลุ่มที่อยากให้รู้ (เห็น), 4. ให้รู้ (เห็น) เฉพาะ “แค่ฉัน (only me)”, 5. หรือกระทั่ง “ซ่อนสิ่งนี้จาก (hide this from)” บุคคลที่ผู้ใช้ไม่อยากให้รู้ (เห็น) และ 6. แบบที่เปิดเผยที่สุดคือ “สาธารณะ (public)” อันจะทำให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กคนไหนก็สามารถรู้ (เห็น) ได้

ตำแหน่งของ audience selector ในเฟซบุ๊ก
ตำแหน่งของ audience selector ในเฟซบุ๊ก

จะว่าไปก็เหมือนความตั้งใจการเล่าสู่กันในโลกออฟไลน์ “รู้แล้วเหยียบให้มิดเลยนะ”, “รู้กันแค่นี้นะ”, “อย่าให้ (คนนั้นคนนี้) รู้นะ” ฯลฯ แต่ก็นั่นแหละครับ มันก็มีจุดบอดอยู่บ้างตรงที่ ถ้าผู้บอกเล่าผ่านโพสต์นั้นๆ ไม่บอกกล่าว บางทีเพื่อนๆ ในลิสต์ก็ไม่รู้หรอกว่า “ใคร” ไม่ได้รับอนุญาตให้รู้บ้าง

ทีนี้ ด้วยความที่เฟซบุ๊กก็เป็นเพียงพื้นที่หนึ่งในโลกอินเทอร์เน็ต ผู้เขียนก็เลยอยากรู้ขึ้นมาว่า เมื่อทำการกำหนดความเป็นส่วนตัวให้แต่ละโพสต์ในเฟซบุ๊กแล้ว ขอบเขตค่าความเป็นส่วนตัวดังกล่าวนั้นครอบคลุมพื้นที่แค่ไหน เฉพาะในเฟซบุ๊ก หรือในโลกอินเทอร์เน็ตทั้งหมด

เมื่อดูตาม “นโยบายการใช้ข้อมูล (Data Use Policy)” ของเฟซบุ๊ก 1 พบว่า สิ่งที่ถูกโพสต์และแชร์รวมทั้งคอมเมนต์นั้นถือเป็นเป็น “information” อย่างหนึ่งที่เฟซบุ๊กได้รับจากผู้ใช้ (Your information also includes the information you choose to share on Facebook, such as when you post a status update, upload a photo, or comment on a friend’s story.) 2 และภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว หากเราตั้งค่าการโพสต์สิ่งต่างๆ ให้มีค่าความส่วนตัวเป็นสาธารณะ (public) สิ่งนั้นย่อมถูกจัดเป็น “public information” ตามนโยบายการใช้ข้อมูลของเฟซบุ๊ก ซึ่งหมายความว่า สิ่งที่ถูกโพสต์และแชร์นั้นสามารถปรากฏแก่ทุกคนบนโลกอินเทอร์เน็ต รวมทั้งผู้ที่ไม่ได้ใช้งานเฟซบุ๊กด้วย (Choosing to make your information public is exactly what it sounds like: anyone, including people off of Facebook, will be able to see it.) 3

และเพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ นอกจากบัญชีหลักแล้ว (“บัญชี A”) ผู้เขียนจึงได้สร้างบัญชีเฟซบุ๊กขึ้นมาอีกหนึ่งบัญชีด้วยอีเมล์ที่ต่างกัน (“บัญชี B”) โดยไม่มีการเพิ่มทั้งสองบัญชีเป็นเพื่อนกัน แล้วทำการหาคำตอบโดยลองตั้งค่าความเป็นส่วนตัวในโพสต์หนึ่งของบัญชี A ให้เป็น “สาธารณะ” และตั้งค่าความเป็นส่วนตัวในอีกโพสต์หนึ่งของบัญชีเดียวกันให้เป็นแบบอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่สาธารณะ จากนั้น ทำการคัดลอก URL ของโพสต์ทั้งสองในบัญชี A (แต่ละโพสต์ในเฟซบุ๊กมี URL ของตัวเองนะครับ ลองกดที่เลขระบุวันเวลาที่โพสต์ดู) ไปทดสอบการเข้าถึงด้วยบัญชี B โดยทดสอบการเข้าถึงในสองแบบ คือแบบหาทางเข้าถึงหลังจากล็อกอินเข้าใช้เฟซบุ๊กด้วยบัญชี B และแบบหาทางเข้าถึงโดยไม่ล็อกอิน ซึ่งได้ผลออกมาดังนี้

1. โพสต์ในบัญชี A ที่กำหนดค่าความส่วนตัว “เป็นสาธารณะ”

หากพยายามเข้าถึงโพสต์ดังกล่าวในขณะที่ล็อกอินบัญชี B ไว้ ผู้เขียนสามารถมองเห็นโพสต์ดังกล่าวได้เลย แต่หากไม่ได้ล็อกอิน หน้าจอจะปรากฏข้อความแจ้งว่าต้องเข้าสู่ระบบก่อน จึงจะสามารถดูโพสต์ดังกล่าวได้ ดังภาพ

ภาพผลการพยายามเข้าถึงโพสต์ของบัญชี A ที่ตั้งค่าความส่วนตัวเป็นสาธารณะโดยไม่ได้ล็อกอินเข้าใช้เฟซบุ๊กด้วยบัญชี B
ภาพผลการพยายามเข้าถึงโพสต์ของบัญชี A ที่ตั้งค่าความส่วนตัวเป็นสาธารณะโดยไม่ได้ล็อกอินเข้าใช้เฟซบุ๊กด้วยบัญชี B

2. โพสต์ในบัญชี A ที่กำหนดค่าความส่วนตัว “ไม่เป็นสาธารณะ”

ในกรณีนี้ ไม่ว่าผู้เขียนจะล็อกอินเข้าใช้เฟซบุ๊กด้วยบัญชี B หรือไม่ ผู้เขียนก็ไม่สามารถเข้าถึงโพสต์ดังกล่าวได้ทั้งนั้น โดยหน้าจอจะปรากฏข้อความในลักษณะที่ว่า ไม่มีหน้าเว็บไซต์ตาม URL ที่ผู้เขียนพยายามเข้าถึง

ภาพผลการพยายามเข้าถึงโพสต์ของบัญชี A ที่ตั้งค่าความส่วนตัวในแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่สาธารณะ ไม่ว่าจะโดยล็อกอินหรือไม่ได้ล็อกอินเข้าใช้เฟซบุ๊กด้วยบัญชี B
ภาพผลการพยายามเข้าถึงโพสต์ของบัญชี A ที่ตั้งค่าความส่วนตัวในแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่สาธารณะ ไม่ว่าจะโดยล็อกอินหรือไม่ได้ล็อกอินเข้าใช้เฟซบุ๊กด้วยบัญชี B

เพราะฉะนั้น จากที่กล่าวมาทั้งหมดในเรื่องของการใช้ audience selector รวมถึงการเสียเวลาหาคำตอบต่อ โดยไม่รู้จะเกิดประโยชน์โภชผลอันใดหรือไม่ดังกล่าวของผู้เขียน หากพิจารณาในมิติของการ “อนุญาตให้ผู้ใช้กำหนด” จากทางผู้ผลิตเฟซบุ๊กแล้ว เฟซบุ๊กย่อมมีลักษณะอย่างผสมผสานระหว่างพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัว โดยขึ้นอยู่กับการกำหนดของผู้ใช้เป็นสำคัญ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้น การถกเถียงเรื่องเฟซบุ๊กเป็นพื้นที่สาธารณะหรือส่วนตัวก็ดูเหมือนจะจบแค่นี้ กล่าวคือสามารถเป็นได้ทั้งสองอย่าง โดยเส้นแบ่งก็คือการกำหนดของผู้ใช้นั่นเอง

ส่วนในเรื่องขอบเขตความเป็นสาธารณะ ของโพสต์ที่ได้รับการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวให้เป็นสาธารณะนั้น ก็ดำรงความเป็นสาธารณะอยู่แต่เฉพาะในโลกของเฟซบุ๊ก ไม่ใช่ในโลกอินเทอร์เน็ตทั้งหมด เพราะการจะเข้าถึงโพสต์ที่ตั้งค่าเป็นสาธารณะได้ ก็ต้องล็อกอินเข้าใช้งานเฟซบุ๊กก่อนอยู่ดี

ซึ่งตรงนี้จะสามารถเห็นได้จากในส่วนของ “คำแถลงว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบ (Statement of Rights and Responsibilities)” ข้อ 2 ซึ่งเป็นเรื่อง “การแบ่งปันเนื้อหาและข้อมูล (Sharing Your Content and Information)” ในข้อย่อยที่ 4 ระบุว่า “When you publish content or information using the Public setting, it means that you are allowing everyone, including people off of Facebook, to access and use that information, and to associate it with you (i.e., your name and profile picture).” 4 (ตัวหนาเน้นโดยผู้เขียน) ซึ่งหมายความว่า หากตั้งค่าความเป็นส่วนตัวให้เป็นสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่กำลังล็อกอินหรือไม่ได้เข้าใช้งานใช้เฟซบุ๊ก (off of facebook) ต่างก็สามารถเข้าถึงโพสต์นั้นได้

ครับ ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นก็เพื่อหาคำตอบไปด้วยกันว่า ใน “โลกอีกใบหนึ่ง” ที่เราใช้ชีวิตอยู่นั้น โลกใบนั้นมีการกำหนดขอบเขตและเส้นแบ่งระหว่างพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะอย่างไร เพราะถ้าเกิดเราจะโวยวายเรื่องการละเมิดความเป็นส่วนตัวในเฟซบุ๊กขึ้นมา ก็คงต้องว่ากันไปตามข้อกำหนดการใช้งานของเฟซบุ๊กนั่นแหละครับ ไม่ใช่โวยวายเอาตามแต่ใจเรา จะมาบอกว่าเรื่องนี้เรื่องส่วนตัวของเรา ทั้งที่ก็เห็นๆ อยู่ว่าโพสต์โดยการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวให้เป็นสาธารณะ แบบนั้นมันก็คงไม่ใช่ ซึ่งการโวยวายลักษณะนี้มักจะมีอยู่เรื่อยๆ โดย “ความชอบธรรม” ที่ใช้เพื่อการโวยวายมักจะเป็น “ก็นี่มันเฟซบุ๊กของฉัน” ซึ่งก็ดังกล่าวไปยืดยาวข้างต้นจนได้ข้อสรุปแหละครับ ในระดับของการเผยแพร่เนื้อหาแล้ว ส่วนตัวหรือไม่นั้นไม่ใช่แค่ว่าคุณมีชื่อบัญชีและรหัสผ่าน แต่มันคือคุณตั้งค่าความเป็นส่วนตัวอย่างไร

แต่ทีนี้ ลำพังการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวให้ไม่เป็นสาธารณะ เอาเข้าจริงแล้วก็ใช่ว่าจะสามารถรักษาความเป็นส่วนตัวไว้ได้

แม้จะใช้คำอย่างพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ แต่ในความเป็นจริง เมื่อใช้งานในเฟซบุ๊กแล้ว (หรือกระทั่งในโลกออฟไลน์ก็ตาม) “ส่วนตัว” และ “สาธารณะ” มันไม่ใช่เรื่องระหว่าง “คน” กับ “รัฐ” หรือก็คือผู้ออกกฎต่างๆ นะครับ คำว่า “พื้นที่ส่วนตัว” ไม่ได้ถูกใช้ในความหมายว่าคือความเป็นส่วนตัวอันเป็นสิทธิพลเมืองที่รัฐมิอาจล่วงละเมิด หากแต่มันกลายเป็นเรื่องระหว่าง “คน” กับ “คน” โดยเป็นลักษณะอย่างที่ว่า “นี่เป็นเรื่องส่วนตัวของฉันที่ฉันยินยอมจะให้มีคนรับรู้เท่านั้นเท่านี้” ซึ่งหมายความต่อไปว่า “คนอื่นนอกเหนือจากนี้ไม่มีสิทธิที่จะรับรู้ยุ่มย่าม”

ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ แม้เราจะกำหนดค่าความเป็นส่วนตัวให้ “เพื่อน/friends” หรือแคบกว่านั้นคือเฉพาะกลุ่มที่เราจัดไว้เห็น แต่ไอ้เพื่อนหรือกลุ่มเฉพาะที่ว่านี่มันไม่ใช่แค่คนรู้ใจเพียงคนสองคนนะสิครับ บางทีมันมีใครที่ไหนก็ไม่รู้ ที่เราอาจจะไม่เคยเห็นหน้าค่าตากันมาก่อนเลย แต่ก็เป็นเพื่อนเฟซบุ๊กกันด้วยเรื่องอื่นๆ ถ้าให้ยกตัวอย่างชัดๆ ก็คือ เป็นเพื่อนเฟซบุ๊กกันเพราะ “การเมือง” ซึ่งพวกเพื่อนการเมืองนี่ บางทีจะไม่ได้ถูกจัดอยู่แค่เป็นเพื่อน/friends เฉยๆ แต่ไปอยู่ในกลุ่ม “เฉพาะ/lists” อันหมายความว่า บางทีสิ่งที่เราโพสต์ภายใต้ความเป็นส่วนตัวนั้น อาจมีคนรู้เป็นสิบ เป็นร้อย หรือเป็นพันเลยก็ได้

มันกลายเป็นว่า พื้นที่ส่วนตัวที่เรากำหนดตามองค์ประกอบการใช้งานของเฟซบุ๊ก กลายเป็นพื้นที่สาธารณะในแง่ที่ว่ามีผู้คนมากมายที่รับรู้มันขึ้นมา

เละเทะก็คราวนี้ครับ อำนาจในการกำหนดขอบเขตการแพร่กระจาย “เรื่องส่วนตัว” ของเรามันหมดสิ้นกันก็คราวนี้ เอาเข้าจริง ลำพังการที่เราเล่าเรื่องส่วนตัวให้คนแค่คนเดียวฟัง นั่นก็หมายความว่าเราสร้างความเสี่ยงที่มันจะถูกแพร่กระจายออกไปจากขอบเขตที่เราคาดคิดแล้ว แล้วนี่เป็นสิบ เป็นร้อย เป็นพัน หมดครับ เราไปควบคุมอะไรมันไม่ได้อีกแล้ว เราจะไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย แม้กระทั่งความหมายของสิ่งที่เราโพสต์ก็ควบคุมไม่ได้ เพราะเรื่องราวหนึ่ง เมื่อผ่านตาคนอ่านร้อยคนมันก็มีโอกาสจะถูกจดจำและตีความไปได้ร้อยแบบครับ

ดังนั้น ถ้าอยากให้ส่วนตัวจริงๆ นะครับ เก็บมันไว้ในหัว หรือไม่ก็เลือกค่าความเป็นส่วนตัวแบบ “only me” หรือก็คือคุณเห็นของคุณคนเดียวเสียเลย

ถ้าไม่ทำแบบนั้น…คุณก็ต้องยอมรับความเสี่ยงของมันด้วยตัวเองครับ

1 https://www.facebook.com/about/privacy/
2 https://www.facebook.com/about/privacy/your-info#inforeceived
3 https://www.facebook.com/about/privacy/your-info#everyoneinfo ในหัวข้อ Public Information
4 https://www.facebook.com/legal/terms